นักวิจัยจาก University College London และ University of Sheffield ในอังกฤษ และนักวิจัยจาก University of Pennsylvania จากสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์งานวิจัยวิชาการที่พัฒนาระบบ Artificial Intelligence (AI) สำหรับใช้ตัดสินคดีความทางด้านสิทธิมนุษยชน โดยผลการตัดสินคดีความต่างๆ โดย AI นั้นเหมือนกับผลการตัดสินจากผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์ถึง 79% เลยทีเดียว

งานวิจัยชิ้นนี้ได้นำเอกสารประกอบการตัดสินคดีความทางด้านสิทธิมนุษยชนจากศาลทั้งสิ้น 584 คดีและตัวบทกฎหมายมาให้ AI ได้ลองเรียนรู้, แบ่งหมวดหมู่, หาความสัมพันธ์ และใช้ Support Vector Machine (SVM) ในการทำ Machine Learning เพื่อทำนายผลการพิพากษาคดีต่างๆ เทียบกับผลการพิพากษาจริง และพบว่าผลการทดสอบที่ดีที่สุดนั้นมีความแม่นยำมากถึง 79%
อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยนั้นเชื่อว่า AI ระบบนี้จะยังคงไม่สามารถมาทดแทนผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์จริงๆ ได้ในตอนนี้ แต่ AI นี้ก็จะสามารถช่วยให้การตัดสินคดีความต่างๆ เป็นไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการช่วยค้นหาคดีที่มีความใกล้เคียงกันขึ้นมาเป็นข้อมูลให้ผู้พิพากษาสามารถตัดสินใจได้ง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจากในแต่ละปีนั้นมีคดีความที่เหล่าผู้พิพากษาต้องตัดสินอยู่เป็นจำนวนมาก และข้อมูลประกอบต่างๆ ก็มีปริมาณมหาศาล
งานวิจัยนี้ยังน่าสนใจขึ้นไปอีกในประเด็นที่ว่า ในหลายๆ คดีความนั้น ผู้พิพากษาก็ไม่ได้ตัดสินจากตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูข้อมูลความเป็นจริงต่างๆ และเจตนาประกอบไปด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องยากที่ AI จะมาตัดสินได้อย่างแม่นยำ