รู้จักกับ FinTech เทคโนโลยีการเงินเปลี่ยนโลก อนาคตจะเป็นอย่างไร ธุรกิจจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง

FinTech หรือ Financial Technology เป็นสาขาของสตาร์ทอัพที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งผู้บริโภคและธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะการเงินและเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการเงินนั้นมีแง่มุมการให้บริการมาก สัมผัสกับวิถีชีวิตและการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย และมีความสำคัญในทุกประเทศทั่วโลก 

คุณแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด พาเราไปทบทวนว่า FinTech คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ มีการเติบโตอย่างไรในช่วงที่ผ่านมา และจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต ซึ่งทีมงาน TechTalkThai ได้สรุปมาให้อ่านกันแล้วในบทความนี้ 

คุณแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด

FinTech คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ

อุตสาหกรรมการเงินนั้นเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ โดยในสมัยก่อน อุตสาหกรรมการเงินมีผู้เล่นที่สำคัญอย่างธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่คอยคิดค้น พัฒนา และกำหนดทิศทางของผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ๆเข้ามานำเสนอต่อผู้บริโภค โดยธนาคารและสถาบันการเงินเหล่านี้ก็มีความพยายามในการพัฒนา Financial Technology ออกมาให้ผู้บริโภคได้ใช้กันอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง หรือการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์ ที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง

FinTech หรือ Financial Technology นั้นไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ถูกจำกัดว่าจะต้องเกิดจากบริษัทสตาร์ทอัพเสมอไป แต่สิ่งที่เรามักจะได้เห็นอยู่เสมอจากสตาร์ทอัพด้าน FinTech คือไอเดียที่แปลกใหม่ โซลูชันที่เกิดขึ้นและมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มได้ดีเยี่ยม ที่เป็นอย่างนี้ก็อาจเพราะสตาร์ทอัพ FinTech นั้นมักมีเป้าหมายที่โฟกัสไปอย่างชัดเจน และใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงสิ่งต่างๆได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากธนาคารและสถาบันการเงินที่ต้องโฟกัสกับตลาดหลายแง่มุม และมักมีขนาดองค์กรที่ใหญ่ ไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้รวดเร็วนัก

สตาร์ทอัพ FinTech ในปัจจุบันนำเสนอเทคโนโลยีที่เข้ามาให้บริการทางการเงินในหลายๆด้าน เช่น ขั้นตอนการชำระเงินออนไลน์ ระบบชำระเงินสำหรับร้านค้าออฟไลน์ (Stripe) ระบบสินเชื่อสำหรับรายย่อย ระบบดูแลการลงทุนและ AI แนะนำการลงทุน (Finnomena) กระเป๋าสตางค์ดิจิทัลครบวงจร (Alipay) ระบบบัญชีสำหรับธุกริจ ไปจนถึงธุรกิจ Cryptocurrency ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน

Finnomena คือแพลตฟอร์มซื้อขายกองทุนรวมที่ใช้งานง่าย มีคำแนะนำการลงทุน และใช้ AI ในการวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อคัดเลือกกองทุน

FinTech มีผลิตภัณฑ์สำหรับทุกคน

ขึ้นชื่อว่าเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเงินแล้วก็ใช่ว่า FinTech นั้นจะมีผลิตภัณฑ์แค่สำหรับธุรกิจรายใหญ่หรือผู้ที่มีรายได้มากเท่านั้น เพราะในปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีการเงินจำนวนมากที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อผู้ใช้งานที่อาจยังไม่ได้รับการซัพพอร์ตที่ดีพอจากสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม เช่น บริการ Micro Lending ที่ใช้อัลกอริทึมในการพิจารณาคำขอกู้ยืมสำหรับผู้รายได้น้อยที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อแบบดั้งเดิมที่มีเกณฑ์การปล่อยกู้ที่ค่อนข้างเคร่งครัด, บริการกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลโอนและรับเงินสำหรับผู้ไม่มีบัญชีธนาคาร, หรือแอปพลิเคชันการลงทุนที่สามารถเริ่มลงทุนได้แม้งบน้อย

นอกจากบริการแบบ B2C แล้ว FinTech เองก็มีการให้บริการในรูปแบบ B2B ด้วย และสตาร์ทอัพด้าน FinTech จำนวนไม่น้อยก็มีผลิตภัณฑ์​ที่เหมาะกับการนำไปใช้ในธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดก็ตาม เช่น PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการบัญชีบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพได้ง่ายๆ และ ICON CRM ระบบออนไลน์ที่ช่วยบริหารระบบงานขายและข้อมูลลูกค้าอย่างเต็มรูปแบบ 

ตัวอย่างเครื่อง Terminal จาก Square (https://squareup.com/us/en) ที่ช่วยให้ร้านค้าขนาดเล็กรับการชำระเงินจากหลายๆช่องทางได้อย่างปลอดภัย เชื่อมต่อกับร้านออนไลน์ อีกทั้งยังมีระบบเสริมอื่นๆ เช่น ระบบสมาชิก ระบบจัดการทีมงาน และระบบจัดการเงินสด (Credit: Clay Banks)

FinTech ใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง 

FinTech นั้นโดยรวมแล้วไม่มีการใช้งานเทคโนโลยีที่ตายตัว แต่จะเป็นการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้พัฒนาโซลูชันตามไอเดียที่ได้คิดขึ้นมามากกว่า ซึ่งเทคโนโลยีที่มักจะพบว่ามีการใช้งานเยอะในการสร้างสรรค์ FinTech จะมี เช่น 

  • AI และ Machine Learning – ใช้ในงานวิเคราะห์ข้อมูล ทำนายผลลัพธ์ และการตัดสินใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานของหลายๆระบบ
  • Cloud – โครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการต่างๆออนไลน์ ช่วยให้ธุรกิจสามารถพัฒนาโซลูชันได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ
  • Blockchain – ช่วยเพิ่มความโปร่งใส (Transparency) ให้กับขั้นตอนการดำเนินงาน และเป็นวิธีการเก็บรักษาข้อมูลที่ปลอดภัย ปลอมแปลงไม่ได้ อีกทั้งยังมีระบบ Smart Contract ช่วยในการสร้างขั้นตอนที่ทำงานได้โดยอัตโนัมติ 

ในอนาคตเราอาจได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆชนิดอื่นเข้ามาสร้างความตื่นเต้นให้กับเทคโนโลยีการเงินอีกมาก เช่น Quantum Computing ที่จะช่วยให้การประมวลผลเร็วขึ้นและอาจจะเปลี่ยนหลายๆอย่างไป

อนาคตของ FinTech 

การเข้ามาของ FinTech กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากในอุตสาหกรรมการเงิน โดยในระยะหลังๆเราจะเห็นได้ชัดว่าธนาคาร สถาบันการเงิน หรือแม้กระทั่งหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ต่างก็ต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมมากขึ้นสำหรับนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ๆ และโมเดลธุรกิจการเงินใหม่ๆที่เกิดขึ้นเพราะสตาร์ทอัพ FinTech 

ในช่วงแรกของกระแส FinTech หลายฝ่ายมองว่าคลื่นลูกใหม่ของวงการการเงินนี้อาจเข้ามาทำลายและแทนที่การให้บริการของธนาคารแบบเก่าอย่างสิ้นเชิง แต่ในวันนี้เราได้เห็นแล้วว่า FinTech นั้นไม่ได้ทำลาย แต่เปลี่ยนแปลงการให้บริการหลายๆอย่างของธนาคารไป และนอกจากการแข่งขันกับธนาคารแล้ว บริษัท FinTech จำนวนไม่น้อยก็ได้ปรับแนวทางมาเป็นการร่วมมือกับสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมเพื่อส่งมอบเทคโนโลยีที่ดีและครอบคลุมยิ่งขึ้นให้กับผู้ใช้งาน ปรับปรุงการให้บริการของธนาคารให้สะดวกขึ้น ดีขึ้น และเป็นมิตรกับผู้ใช้มากยิ่งขึ้น 

โดยในปัจจุบัน หากผู้บริโภคหรือธุรกิจใดสนใจนำ FinTech เข้ามาใช้งานก็สามารถติดต่อผ่านทางธนาคารที่เป็นลูกค้าอยู่ได้ทันที ซึ่งธนาคารส่วนมากจะมีความร่วมมือกับสตาร์ทอัพ FinTech อยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง และสามารถให้คำแนะนำได้ในระดับหนึ่ง

ความร่วมมือและการแข่งขันไปพร้อมๆกันของธนาคารและสตาร์ทอัพ FinTech เช่นนี้ เป็นแนวโน้มที่เราจะได้เห็นกันไปเรื่อยๆในอนาคตอย่างแน่นอน ก็ต้องมารอลุ้นกันว่าสถาบันการเงินและบริษัท FinTech จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและยกระดับบริการทางการเงินไปในทิศทางไหนต่อไป

อ่านเกี่ยวกับ FinTech เพิ่มเติมได้ที่ https://www.jrit-ichi.com/cutting/2022/01/19/691/ 

Check Also

สรุปข่าวเด่น Enterprise IT ประจำสัปดาห์ [13- 17 ม.ค.2024]

ผ่านปีใหม่มาแล้วครึ่งเดือนอย่างรวดเร็ว นอกจากเข้าสู่ยุคของเด็ก Gen Beta แล้ว ยังอาจเรียกได้ว่าเข้าสู่ยุคของ Agentic AI หรือการใช้ AI Agent หลาย ๆ ตัวช่วยกันแก้ไขปัญหาใน Task …

IBM เตรียมเข้าซื้อกิจการ AST เสริมแกร่งผู้เชี่ยวชาญ Oracle Cloud Applications

IBM ได้ประกาศเตรียมเข้าซื้อกิจการ Applications Software Technology LLC (AST) บริษัทที่ปรึกษา Oracle ระดับโลกที่เชี่ยวชาญเชิงลึก เพื่อเสริมแกร่งการสนับสนุนทรานส์ฟอร์มธุรกิจด้วย Oracle Cloud Applications โดยเฉพาะภาครัฐและภาคการศึกษา