ในช่วงบ่ายของงาน SAP NOW SEA 2024 ณ ประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา ทางทีมงานได้มีโอกาสเข้าเซสชัน Media Roundtable พูดคุยกับ คุณกุลวิภา ปิยวัฒนเมธา กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอินโดจีน แห่ง SAP และ คุณพีรพงศ์ กรินชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานวิศวกรรมกลางและประธานคณะกรรมการ Net-Zero Digital Platform แห่ง CPF
ผู้บริหารระดับสูงทั้งสองท่านได้มาแบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องเทรนด์การทำ Digital Transformation ในปัจจุบัน แนวโน้มในการใช้ซอฟต์แวร์ ERP ในอนาคต และเรื่องราวความสำเร็จในการประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์ SAP ทรานส์ฟอร์มองค์กรให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ซึ่งทีมงานได้สรุปเรื่องราวที่น่าสนใจไว้แล้วในบทความนี้
5 มุมมองการทำ Digital Transformation จาก SAP
แม้ว่า Digital Transformation จะเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว หากแต่ก็ยังมีอีกหลากหลายภาคส่วนที่ยังคงเพิ่งเริ่มตื่นตัวและเร่งดำเนินการทรานส์ฟอร์มเข้าสู่โลกดิจิทัล ซึ่งจากมุมมองของ คุณกุลวิภาแห่ง SAP แนะนำว่า ณ วินาทีนี้จะต้องมองหาความต้องการทางธุรกิจเป็นหลักก่อน
“เราจะต้องมองภาพรวมก่อน โดยต้องมองโจทย์ของธุรกิจเป็นหลัก” คุณกุลวิภา ปิยวัฒนเมธา กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอินโดจีน แห่ง SAP กล่าว “โจทย์หลักคือต้องมองว่าธุรกิจต้องการอะไร แล้วไอทีจะต้องรองรับตามให้ได้เร็วที่สุด”
และ 5 มุมมองที่คุณกุลวิภาได้แบ่งปันว่าการทำ Digital Transformation ในปัจจุบันและอนาคตที่กำลังเดินหน้าต่อไป จะเป็นการทรานส์ฟอร์มเพื่อสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้
- ความคล่องตัว (Agility) เพื่อทำให้เกิด Agility ทางธุรกิจ ทำให้เกิดความต่อเนื่อง และดำเนินสิ่งต่าง ๆ ไปได้อย่างรวดเร็ว
- นวัตกรรม (Innovation) การสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่การแปลงให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Digitization) จากกระดาษมาเพียงเท่านั้นแล้ว
- กระบวนการ (Process) ที่ต้องทรานส์ฟอร์มไปพร้อมกันกับเรื่องของคน (People) และเทคโนโลยี (Technology) ด้วย
- ช่องว่างทักษะ (Skill Gap) ของคนภายในองค์กร ที่จะต้องเร่งพยายามปิดช่องว่างให้มีน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- ความยั่งยืน (Sustainbility) และ AI แม้ว่าจะเน้นโจทย์การทรานส์ฟอร์ม แต่ก็ต้องตอบโจทย์เรื่อง Sustainability และ AI ที่ต้องพิจารณาไปพร้อมกันด้วย เพราะสิ่งนี้คือตัวชี้วัดความยั่งยืนของการทำ Digital Transformation อย่างแท้จริง
แนวโน้มของการใช้ซอฟต์แวร์ ERP ในภูมิภาค SEA จากมุมมอง SAP
คุณกุลวิภาเผยว่า การเติบโตของ SAP ในภูมิภาค SEA นั้นยังมีโอกาสเป็นไปได้อย่างมาก ซึ่งเป้าหมายของ SAP ต้องการเติบโตถึงระดับ 2 เท่าของตลาด ซึ่งแม้ว่าจะดูก้าวร้าวและดูทะเยอทะยาน แต่ก็เป็นไปได้เนื่องจากการคาดการณ์ของ Gartner ที่ชี้ว่าการใช้จ่ายไอที (IT Spending) ในด้านซอฟต์แวร์ของปี 2024 นั้นจะไปแตะถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเทียบจากปีที่แล้วเพิ่มขึ้นถึง 13.9%
“Compound Annual Growth เรา Project ไว้ที่ 25% ณ ตอนนี้จนถึงปี 2027 ซึ่งเวลาสั้นมาก แต่เป้าหมายคือเราต้องการที่จะเติบโตถึงสองเท่าของที่ตลาดโต” คุณกุลวิภา กล่าว
คุณกุลวิภายังเน้นย้ำอีกครั้งด้วยว่า SAP มองว่าตลาด SEA นี้มีโอกาสในการเติบโตก้าวกระโดดอย่างสูง โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่ใช้งาน SAP คิดเป็นจำนวนกว่า 80% ของทั้งหมด จึงทำให้ SAP มีเป้าหมายที่จะพยายามผลักดันช่วยองค์กรธุรกิจทุกขนาด ให้สามารถใช้เทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปได้พร้อมกัน เพื่อทำให้ธุรกิจของลูกค้าเติบโตได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยหลังจากนี้ SAP มีกลยุทธ์ที่จะพุ่งเป้าเจาะธุรกิจที่เป็นเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ภาคการผลิต พลังงาน หรือ Telco รวมทั้งเตรียมปรับโมเดลที่จะขยายตลาด SME ให้มากขึ้นด้วยการขับเคลื่อนผ่านพาร์ตเนอร์ (Partner) เพื่อให้ทางพาร์ตเนอร์ของ SAP สามารถเข้าถึงลูกค้าต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งการขับเคลื่อน AI ที่จะต้องดูเรื่องความเกี่ยวข้องทางธุรกิจ ความน่าเชื่อถือในข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และความมั่นคงปลอดภัย
CPF เลือกใช้ SAP ทรานส์ฟอร์มความยั่งยืน ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
จากบทความก่อนหน้าที่ คุณพีรพงศ์ แห่ง CPF ได้บอกเล่าถึงการปรับใช้โซลูชัน SAP Sustainability เพื่อติดตามการปล่อยคาร์บอนแบบ End-To-End ภายใน CPF ที่ทำให้สามารถติดตาม Emission Gas ผ่าน Blockchain ได้ทั้ง Supply Chain เป็นส่วนแรก สิ่งนี้เรียกว่าเป็นช่วงของการเปลี่ยนจากองค์กร Digital Transformation ให้กลายเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven) แล้วก็ว่าได้
“CPF ในช่วง 3-4 ปีที่แล้ว เราได้เริ่มใช้เทคโนโลยี IoT เข้าในธุรกิจ CPF” คุณพีรพงศ์ แห่ง CPF กล่าว “แต่วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้น คือเราทรานส์ฟอร์มตัวเองเข้าสู่ Data-Driven เรากำลังเอาข้อมูลมาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป เอา AI มาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อมองดูผลและสามารถนำไปปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ของเราได้”
ด้วยเป้าหมาย Net Zero ของ CPF และการเป็น “ครัวโลกที่ยั่งยืน” จึงทำให้ CPF เริ่มเปลี่ยนกระบวนการเก็บข้อมูลจาก Manual ให้กลายเป็นระบบแทน และใช้ SAP ดึงข้อมูลแหล่งข้อมูลและจาก ERP มารวมศูนย์บน Blockchain เพื่อคำนวน Emission Gas ตาม Scope 1 – 3 และรายงานผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างรวดเร็ว
“SAP เข้ามาในช่วงเฟสที่ 2 ของโครงการในการคำนวน Greenhouse Emission Gas โดยเราต้องการคนที่ให้คำปรึกษาและสอนว่าการคำนวนตาม Scope 1 – 3 จะต้องทำอย่างไร ซึ่งมองไปในอดีตแล้ว ถ้าหากยังเดินหน้าต่อไปแบบเดิมก็คงไม่เสร็จ” คุณพีรพงศ์ แห่ง CPF กล่าว
และสิ่งที่น่าตกใจของ CPF หลังจากสามารถขึ้นระบบ SAP Sustainability ได้สำเร็จ ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า จำนวน Emission Gas ที่สูงของ CPF นั้น ส่วนใหญ่มาจาก “Scope 3 หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม” ที่มาจากกิจกรรมหรือสินทรัพย์อื่น ๆ ใน Supply Chain ซึ่งก่อนหน้านี้ CPF พยายามจัดการกับ Scope 1 และ Scope 2 มาตลอด จึงเหนือความคาดหมายมาก
“หนึ่งในสิ่งที่ต้องเข้าใจใน CPF คือ Emission Gas ทั่วโลกของ CPF 92% มาจาก Scope 3 ซึ่งในปีที่แล้วเอง CPF ก็ยังโฟกัสใน Scope 1 และ 2 ที่เป็นการปล่อยก๊าซของตัวเองอยู่เลย แต่พอมีข้อมูลเข้ามากลายเป็นว่าส่วนใหญ่เป็น Scope 3” คุณพีรพงศ์ แห่ง CPF กล่าวเสริม “ถ้าหากไม่มี SAP เราคงไม่สามารถรู้ได้ว่ามาจาก Scope 3 มันเหนือกว่าที่เราเข้าใจและความคาดหมายมาก”
บทส่งท้าย
ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวมุมมองที่น่าสนใจจากการได้โอกาสพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงทั้งสอง ซึ่งเชื่อว่ามุมมองเทรนด์ Digital Transformation จาก SAP และกรณีศึกษาในการทรานส์ฟอร์มเพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลจาก CPF นี้ น่าจะเป็นประโยชน์และอาจจุดประกายไอเดียให้กับองค์กรธุรกิจให้สามารถปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานและการใช้ซอฟต์แวร์ ERP ให้มีความทันสมัยและสามารถปรับตัวตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ทันท่วงที