ปฏิเสธไม่ได้ว่า งานอีเว้นต์ แบบพบเจอหน้ากันอย่างการจัดประชุมสัมมนา หรือการจัดแสดงสินค้าตามโรงแรมหรือศูนย์ประชุมนิทรรศการต่าง ๆ นั้นยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการได้พบปะเจอหน้ากันจริง ๆ เพื่อปฏิสัมพันธ์กันทางธุรกิจนั้นมีโอกาสที่จะสร้างผลลัพธ์ได้ดีกว่า อีกทั้งยังสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้เดินทางที่ต้องการมาทำธุรกิจอีกด้วย ธุรกิจกลุ่มนี้เรียกว่า อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อน GDP ของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง

และช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา TCEB หน่วยงานภาครัฐที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม MICE ของไทยได้เปิดตัว “MICE Data Platform” อย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยยกระดับการแข่งขัน MICE ไทยในระดับสากลได้อย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้นผ่านการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data
อะไรคือแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังแพลตฟอร์ม จะช่วยยกระดับ MICE ของไทยได้อย่างไร และมีทิศทางที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างไรบ้าง มาเรียนรู้วิสัยทัศน์ของ MICE Data Platform จากบทสัมภาษณ์กับ ดร.จารุวรรณ สุวรรณศาสน์ Chief Information Officer (CIO) แห่ง TCEB ได้ในบทความนี้
อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) กับ TCEB คืออะไร ?
อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และยังคงมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. หรือที่รู้จักเป็นภาษาอังกฤษคือ Thailand Convention & Exhibition Bureau (TCEB หรือ ทีเส็บ) คือหน่วยงานภาครัฐของไทยที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมธุรกิจ MICE โดยเฉพาะ

Credit : TCEB
“MICE คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางธุรกิจ (Business Travel) คือเขาไม่ได้มาเที่ยว เขาเดินทางเหมือนกันแต่เดินทางมาด้วยวัตถุประสงค์ด้านธุรกิจก่อน เช่น มาประชุมบริษัท มาร่วมงานประชุมสัมมนา (Conference) งานประชุมวิชาการหรือวิชาชีพ เป็นต้น” ดร.จารุวรรณ สุวรรณศาสน์ Chief Information Officer (CIO) แห่ง TCEB กล่าว “พอต้องเดินทางไปที่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ก็จะต้องมีเรื่องการพักผ่อนนอนโรงแรม การท่องเที่ยวหรืออาหาร ซึ่งไม่มากก็น้อยจะทับซ้อนกับนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่วัตถุประสงค์หลักจะต่างกันเพราะเขามาทำธุรกิจ ซึ่งจะอยู่ในตัวย่อ 4 กลุ่มหรือ MICE”
ดร.จารุวรรณ สุวรรณศาสน์ Chief Information Officer (CIO) แห่ง TCEB
นิยามคำว่า MICE โฟกัสที่ “นักเดินทางธุรกิจ”
MICE เป็นคำภาษาอังกฤษที่ย่อมาจาก Meetings, Incentives, Conventions และ Exhibitions โดยความหมาย 4 คำดังกล่าวนั้น ได้แก่
- M : Meetings การจัดประชุมสัมมนาระดับองค์กร เช่น การประชุมภายในหรือระหว่างองค์กร การประชุมบอร์ดผู้บริหาร การประชุมวิชาการ
- I : Incentives การที่องค์กรให้รางวัลแก่พนักงานหรือพาร์ตเนอร์ในรูปแบบการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจหรือสามารถปฏิบัติงานบรรลุได้ตามเป้าหมายได้สำเร็จ
- C : Conventions การประชุมขนาดใหญ่ ซึ่งมักจัดโดยองค์กรหรือหน่วยงานระดับประเทศ เช่น การประชุมวิชาชีพ การประชุมระดับนานาชาติหรือระดับภูมิภาค
- E : Exhibitions การจัดงานแสดงสินค้าบริการหรือนิทรรศการระดับนานาชาติ หรืองานอีเวนต์ต่าง ๆ เพื่อหนุนให้เกิดการติดต่อซื้อขายกันระหว่างธุรกิจ
จากนิยามทั้ง 4 คำจะเห็นว่า MICE เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะ MICE ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่นักท่องเที่ยวทั่วไป หากแต่จะโฟกัสไปที่ นักเดินทางธุรกิจ หรือการเดินทางเพื่อมาทำธุรกิจเป็นสำคัญซึ่งมักจะมากันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่
“ตัวอย่างในกลุ่ม Incentives เช่นประกันภัยที่ยอดขายถึงเป้าแล้วจะพาไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งจะมาเป็นกลุ่มใหญ่ไม่ได้มาทีละ 3 – 5 คน” ดร.จารุวรรณ กล่าว “หรืออย่าง Conventions ก็จะเป็นงานประชุมวิชาการที่คุณหมอหรือคุณครูจะมีจัดประชุมวิชาการ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน ซึ่งส่วนนี้จะมีเรื่องของผลกระทบทางสังคม (Social Impact) ด้วย”

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับ MICE สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ MICE ไม่ได้แปลว่าหนู ของทาง TCEB ดาวน์โหลดได้ที่นี่
MICE ต้องขับเคลื่อนให้แข็งแรงทั้งอีโคซิสเต็ม
เพราะนักเดินทางธุรกิจมักมีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป จึงทำให้ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรม MICE จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ดังนั้น TCEB จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันธุรกิจทั้งอุตสาหกรรม MICE ของไทยให้สามารถเติบโตไปด้วยกันได้ทั้งอีโคซิสเต็ม (Ecosystem) ทั้งฝั่งอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ที่ต้องขับเคลื่อนให้แข็งแกร่งไปด้วยกันในทุกภาคส่วน

“รูปแบบของลูกค้ากลุ่ม MICE จะเป็นการเดินทางที่มากันเป็นกลุ่มใหญ่ใช้จ่ายมากกว่า จึงสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ” ดร.จารุวรรณ กล่าว “ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มอุตสาหกรรม MICE ทั้งฝั่งอุปทานอย่างกลุ่มโรงแรม ศูนย์ประชุม ร้านอาหาร กับฝั่งอุปสงค์ที่เป็นกลุ่มผู้จัดงาน ผู้จัดประชุมหรืองานแสดงสินค้า”
และหนึ่งในวิธีการที่จะทำให้ทั้งอีโคซิสเต็มของ MICE แข็งแกร่งได้ คือการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันเพื่อให้ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ TCEB เริ่มดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่หรือ MICE Data Platform ขึ้นมา
สร้าง “อีโคซิสเต็มข้อมูล MICE” ด้วย MICE Data Platform
ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2025 ที่ผ่านมา TCEB ได้ประกาศเปิดตัว MICE Data Platform แพลตฟอร์ม Big Data ของอุตสาหกรรม MICE แห่งแรกของไทยและภูมิภาคเอเชียอย่างเป็นทางการเรียบร้อย

เบื้องหลังเหตุผลสำคัญของ TCEB ในการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ คือเพื่อทำให้ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มข้อมูลในอุตสาหกรรม MICE กลาง หรือ อีโคซิสเต็มของข้อมูล MICE ที่ธุรกิจกลุ่ม MICE สามารถนำไปใช้ต่อยอด พร้อมเข้าถึงหน้าแดชบอร์ด (Dashboard) หรือรายงานเชิงลึก (Insight Report) รวมทั้งข้อมูลดิบ เพื่อนำไปวิเคราะห์เพิ่มเติมและเตรียมความพร้อมในการรองรับความต้องการของนักเดินทางธุรกิจได้ดีขึ้น

โดย TCEB หวังให้แพลตฟอร์มนี้จะช่วยยกระดับให้ธุรกิจ MICE ประเทศไทยให้สามารถขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และทำให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้อย่างยั่งยืนกว่าที่ผ่านมา
“การสร้างอีโคซิสเต็มของอุตสาหกรรม MICE ให้แข็งแรงได้ เรื่องของข้อมูลควรจะต้องเชื่อมโยงกัน ข้อมูลที่กระจัดกระจายกันอยู่ ถ้าหากนำมาจัดเรียงกันแล้วนำมาวิเคราะห์ ก็จะทำให้รู้ได้ว่าคนที่เดินทางเข้ามาเหยียบแผ่นดินเราเพื่อมาทำธุรกิจ เขามาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร สนใจอะไรบ้าง ซึ่งจะทำให้เราสามารถจัดเตรียมความพร้อมได้ตรงความต้องการมากขึ้น” ดร.จารุวรรณ กล่าว

มุ่งเพิ่มศักยภาพ MICE ไทย ส่งมอบได้ตรงใจทั้งฝั่ง Demand และ Supply
เนื่องจากอุตสาหกรรม MICE มีห่วงโซ่อุปทานที่ใหญ่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร สถานที่พัก โรงแรม แหล่งท่องเที่ยว หากมีข้อมูลที่คาดการณ์ได้ว่านักเดินทางธุรกิจจะมีความต้องการในรูปแบบใดบ้างในช่วงเวลา ก็จะทำให้ธุรกิจ MICE สามารถจัดเตรียมสิ่งต่าง ๆ ได้ตรงกับความต้องการของนักเดินทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ MICE Data Platform จึงสำคัญต่ออุตสาหกรรม MICE ของไทยอย่างมากหลังจากนี้ เพราะแพลตฟอร์มข้อมูล MICE ที่รวมศูนย์ไว้อย่างครบวงจรจะช่วยทำให้ปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่ในข้อมูล เพื่อสนับสนุนฝั่งผู้จัดงานในการวางแผนจัดสรรทรัพยากรได้ดีมากขึ้น เพราะจะทำให้เห็นแนวโน้มการใช้จ่ายของนักเดินทางธุรกิจว่ามีโอกาสจะไปอยู่ในส่วนใดบ้าง รวมทั้งฝั่งผู้เข้าร่วมงานก็จะสามารถวางแผนการเดินทาง (Journey) ได้ตรงใจมากยิ่งขึ้น
“ผู้จัดงานหรือฝั่ง Demand ก็จะมี Insight Report ที่จะรู้ได้ว่าตอนนี้โอกาสของพวกเขานั้นอยู่ที่ไหน เช่นในหน้า Dashboard ที่จะบอกได้ว่าตอนนี้งานแสดงสินค้ามีแค่ไหน อุตสาหกรรมต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน และไปจัดกันอย่างหนาแน่นที่เดือนไหนบ้าง ตรงไหนที่คู่แข่งยังไม่เยอะ ก็อาจจะเห็นโอกาสใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจเพิ่มเติมได้” ดร.จารุวรรณ กล่าว

“ส่วนฝั่งผู้เข้าร่วมงานก็สามารถใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงข้อมูลได้เช่นกัน ที่จะทำให้รู้ได้ว่า ณ บริเวณที่ไปงานนั้นมีอะไรใกล้เคียงที่น่าสนใจอีกบ้าง อย่างเช่น ร้านอาหาร ร้านค้า ซึ่งแพลตฟอร์มจะสามารถช่วยสร้าง Journey ให้กับพวกเขาได้” ดร.จารุวรรณ กล่าวเสริม
ชี้กลุ่มเป้าหมายชัดเจนขึ้น หวังกระตุ้นยอดใช้จ่าย ด้วยชุดข้อมูล MICE Statistics
หนึ่งในตัวอย่างการใช้ประโยชน์จาก MICE Data Platform ได้เป็นอย่างดี คือชุดข้อมูล MICE Statistics ที่ทาง TCEB ได้จัดเก็บรวบรวมมากว่า 10 ปีและสร้างเป็นแคตตาล็อกข้อมูล (Data Catalog) เปิดให้เข้าถึงได้ฟรี
ชุดข้อมูลนี้จะทำให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่านักเดินทางธุรกิจที่เข้ามาในประเทศไทยนั้นมี Persona เป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้ธุรกิจ MICE สามารถเตรียมการที่ตอบความต้องการได้ดีขึ้น และอาจช่วยกระตุ้นยอดค่าใช้จ่ายของนักเดินทางธุรกิจได้มากขึ้นด้วย
“แม้ว่าการใช้จ่ายของนักเดินทางธุรกิจจะมากกว่านักท่องเที่ยวประมาณ 3-5 เท่า แต่ถ้าไปเทียบกับในประเทศอื่น ๆ การใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้จะเยอะกว่ามาก ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะทำให้เราสามารถตอบสนองความต้องการให้มาใช้จ่ายในประเทศไทยได้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งที่เราคำนวณมาอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาทต่อคนต่อทริป แต่ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 64,000 บาท” ดร.จารุวรรณ กล่าว

และที่สำคัญ ข้อมูล Insight ที่ค้นพบยังช่วยบอกด้วยว่าอุตสาหกรรม MICE ของไทยควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย GDP ที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ด้วย
“ถ้าหากว่าเราต้องการกระตุ้น GDP ให้ได้ถึง 2.8% หรือ 3% ส่วนใดที่จะช่วยให้ไปถึงจุดนั้นได้จริง ไม่ใช่แค่บอกว่านักท่องเที่ยวเป็นความหวังเท่านั้น แต่ด้วยข้อมูลเชิงลึกที่ค้นพบจะบอกได้ว่านักท่องเที่ยวกลุ่มใดจากประเทศใดที่ควรจะโฟกัสให้กระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้นได้” ดร.จารุวรรณ กล่าว
พร้อมให้บริการ 8 แดชบอร์ด 5 รายงานเชิงลึกในเฟสแรกแล้ววันนี้
MICE Data Platform ที่เปิดตัวในมีนาคมที่ผ่านมานี้ เรียกได้ว่าเป็นเฟสแรกที่ปล่อยออกมาให้บริการประชาชนและอุตสาหกรรม MICE ในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ TCEB ได้ประสานรวบรวมจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ให้ความร่วมมือในขั้นต้น ซึ่งพร้อมที่จะให้บริการผ่าน 8 แดชบอร์ดและ 5 รายงานข้อมูลเชิงลึกแล้ววันนี้
“เราพัฒนา 8 แดชบอร์ดขึ้นมาก่อนในเฟสแรก เพื่อดูว่าผู้ใช้งานชอบไม่ชอบอย่างไร แล้วค่อย ๆ พัฒนาเพิ่มเติมมากขึ้นในอนาคต” ดร.จารุวรรณ กล่าว “เนื่องจากแดชบอร์ดจะค่อนข้างไดนามิก เราจึงทำตัวรายงานเชิงลึกที่นำเอาข้อมูลจากแดชบอร์ดมาทำการวิเคราะห์แบบย่อย เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มในระดับเริ่มต้น (Entry Level) สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น”
นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถนำข้อมูลดิบที่ TCEB เก็บรวบรวมเองไปใช้งานต่อยอดได้ผ่านการดาวน์โหลดไฟล์หรือ API ได้ทันที หากใครสนใจใช้งาน MICE Data Platform สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://datahub.tceb.or.th/ เพื่อลงทะเบียนและเข้าสู่ระบบเริ่มใช้งานแดชบอร์ด รายงานเชิงลึก รวมทั้งสามารถเข้าถึงแคตตาล็อกข้อมูลที่เปิดให้นำไปใช้ต่อยอดได้แล้ววันนี้
เตรียมเชื่อมข้อมูลเพิ่ม เสริมฟีเจอร์ Gen AI ทรานส์ฟอร์มเป็น Data Marketplace
การทำให้ MICE Data Platform กลายเป็นแพลตฟอร์มข้อมูล MICE ที่ยั่งยืนได้จริง ย่อมต้องมีการพัฒนาปรับปรุงให้แพลตฟอร์มมีข้อมูลอัปเดตมากขึ้นเรื่อย ๆ และเชื่อถือได้ ซึ่ง TCEB ไม่ได้หวังเพียงแต่เพิ่มเติมข้อมูลอัปเดตหรือข้อมูลกลุ่มใหม่เข้าไปเท่านั้น แต่ยังเตรียมการเพิ่มเติมฟีเจอร์ Generative AI หรือแชทบอท เพื่อให้แพลตฟอร์มฉลาดขึ้น สืบค้น Insight ในข้อมูลได้รวดเร็ว ปลอดภัย และกำกับดูแลได้
“เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจในอนาคต เราจึงกำลังเตรียมเพิ่มฟีเจอร์เพื่อให้แพลตฟอร์มฉลาดขึ้น เช่น แชทบอท หรือ Generative AI ที่เวลาตอนสืบค้น ส่วนของข้อมูลจะได้ไม่หลุดออกไปข้างนอกในขณะที่ยังได้ในสิ่งที่ต้องการและถูกต้อง” ดร.จารุวรรณ กล่าว

และถ้าหากแพลตฟอร์มมีอีโคซิสเต็มของข้อมูลครบครัน พร้อมเครื่องมือชาญฉลาดแล้ว MICE Data Platform ก็อาจทรานส์ฟอร์มกลายเป็นตลาดข้อมูลหรือ Data Marketplace ที่ผู้ใช้งานจะสามารถเลือกใช้ข้อมูลที่มีในแพลตฟอร์ม ผสมผสานกับข้อมูลที่ผู้ใช้มีอยู่มาประมวลผลบนแพลตฟอร์มได้อย่างยืดหยุ่น หรืออาจจะมีการสร้างรายงานเชิงลึกขั้นสูงที่อาจเปิดขายเป็นเชิงพาณิชย์สำหรับผู้เชี่ยวชาญที่สนใจ ก็เป็นได้
“ในกลุ่มผู้ใช้ขั้นสูง ในอนาคตเราก็มองว่าพอมีเครื่องมือที่ฉลาดมากขึ้นแล้ว ก็อยากจะทำให้แพลตฟอร์มเป็นเหมือน Data Marketplace ที่ผู้ใช้งานสามารถมาเลือกช็อปข้อมูลและเครื่องมืออะไรต่าง ๆ ในนี้ได้เลย” ดร.จารุวรรณ กล่าว “และในอนาคตก็อาจจะมีเรื่องของการขายข้อมูล โดยเราอาจจะให้ดูข้อมูลระดับหนึ่งได้ฟรี แต่ถ้าต้องการเป็นเชิงลึกมาก ๆ ก็อาจจะต้องมีการซื้อรายงานกัน ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นไปตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ลดการพึ่งพาเงินจากสำนักงบประมาณได้ด้วย” ดร.จารุวรรณ กล่าวเสริม
เริ่มต้นใช้งาน MICE Data Platform ของ TCEB ได้ทันที
ทั้งหมดนี้คือแนวคิดเบื้องหลัง ความมุ่งหวังต่อ และทิศทางของ MICE Data Platform แพลตฟอร์ม Big Data ข้อมูล MICE ที่ TCEB ได้เปิดตัวช่วงปลายเดือนมีนาคม 2025 ที่ผ่านมาจากบทสัมภาษณ์ของ ดร.จารุวรรณ สุวรรณศาสน์ Chief Information Officer (CIO) แห่ง TCEB ซึ่งจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรม MICE ของไทยนั้นยังคงมีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง และแพลตฟอร์มจะช่วยปลดล็อกศักยภาพจากข้อมูล MICE ที่ประเทศไทยมี เพื่อยกระดับให้ MICE ของไทยทัดเทียมในระดับสากลได้อย่างยั่งยืน
สุดท้ายนี้ MICE Data Platform เปิดตัวอย่างเป็นทางการเรียบร้อย หากใครหรือองค์กรใดสนใจใช้งานหรือต้องการเข้าถึงข้อมูล สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://datahub.tceb.or.th/ ได้ทันที และหากมีคำแนะนำใด ๆ หรือมีความต้องการใช้งานเพิ่มเติมสามารถติดต่อทีมงาน MICE Data Platform ได้ที่อีเมล datahub.support@tceb.or.th หรือโทร 02-694-6000