นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT เปิดเผยว่า ในการประกวดผลงานนวัตกรรมการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันภาครัฐ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2558 ( Mobile Enterprise d-Government Award 2015 ) “MEGA 2015” โดย สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ( องค์การมหาชน ) ในครั้งนี้ เป็นแผนที่กระทรวงไอซีทีต้องการให้ภาคเอกชนและนักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถนำชุดข้อมูลภาครัฐจากโครงการ Open Data ซึ่งขณะนี้มีการเปิดเผยข้อมูลจากภาครัฐออกมาจำนวนหนึ่งแล้ว ข้อมูลเหล่านี้เปิดเผยในรูปของมาตรฐาน ทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถดึงไปใช้งานได้ในทันที
โดยปัจจุบันเว็บไซต์ data.go.th นั้นมีชุดข้อมูลจำนวน 490 ชุดข้อมูล แบ่งเป็นหมวดหมู่ที่หลากหลาย เช่น ข้อมูลด้านสาธารณสุข, ด้านเศรษฐกิจ การเงิน และอุตสาหกรรม, ด้านคมนาคม และโลจิสติกส์, ด้านสังคมและสวัสดิการ เป็นต้น ชุดข้อมูลเหล่านี้ยังมีที่น่าสนใจอีกจำนวนมาก และรอให้นักพัฒนาได้นำไปใช้และต่อยอด ทั้งการนำชุดข้อมูลนั้นมาพัฒนาโดยตรง หรือนำมาประยุกต์ใช้กับแอปพลิเคชั่นที่มีอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งนำไปบูรณาการกันเองระหว่างชุดข้อมูลที่มีเกิดเป็นแอปพลิเคชั่นใหม่ ดังนั้นการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อเข้าประกวดครั้งนี้คงต้องมีความยืดหยุ่นและเน้นการใช้ข้อมูลของภาครัฐให้เป็นประโยชน์ที่สุด
โครงการ MEGA2015 ที่ผ่านการบ่มเพาะความสามารถเชิงดิจิทัลและส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ในครั้งนี้ คือการตอบโจทย์การสร้างความเข้มแข็งในภาคเอกชนที่ร่วมกับภาครัฐ เพราะเป็นการจัดกิจกรรมการประกวดการพัฒนาโมบายแอปฯภาครัฐ เพื่อให้เกิดแอปฯภาครัฐ และนำผลงานที่มีความพร้อมมาต่อยอดเพื่อให้เกิดการบริการขึ้นจริง โดยเน้นหานักพัฒนารุ่นใหม่ทุกกลุ่ม ทั้งนักศึกษา นักพัฒนาทั่วไป และผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ( องค์การมหาชน ) หรือ EGA เปิดเผยว่า MEGA 2015 ถือเป็นครั้งที่สองที่มีการจัดประกวด จากการเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ MEGA2015 ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนักพัฒนา สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนรวม 243 ทีม รวมกว่า 280 ผลงาน โดยแบ่งเป็นกลุ่มนักศึกษา หรือมือสมัครเล่นร่วมเข้าประกวดกว่า 179 ทีม และนำผลงานเสนอ 200 แอปพลิเคชัน ถือได้ว่าเป็นผลงานที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่การพัฒนาเป็นนวัตกรรมต้นแบบ ที่พร้อมจะต่อยอดได้ในอนาคต ซึ่งในเบื้องต้น ทาง EGA จะต้องเข้าไปชี้ช่องว่า กระบวนการภาครัฐที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับแอปพลิเคชั่นที่มีอยู่แล้วจะสามารถดำเนินการอย่างไรต่อไป หรือการนำข้อมูลจากเว็บไซต์ data.go.th ซึ่งเป็นชุดข้อมูลจากภาครัฐที่เปิดให้เป็นข้อมูลสาธารณะจะสามารถนำไปใช้ได้ด้วยวิธีใด รวมถึงการแนะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ การเขียนโปรแกรมด้วยเทคนิคต่าง ๆซึ่งจะส่งผลให้นักศึกษา และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในระดับมหาวิทยาลัยได้มีประสบการณ์ สามารถนำแหล่งข้อมูลจากภาครัฐไปพัฒนาแอปพลิเคชันที่ดีในอนาคตต่อไปได้
นอกจากนั้น ยังมีอีกกลุ่ม คือ นักพัฒนาอาชีพและผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย ขณะนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 64 ทีม นำผลงานเสนอกว่า 80 แอปพลิเคชัน ซึ่งมีการนำเสนอผลงานซอฟต์แวร์ในหลากหลายหมวดเข้ามา หลายโปรแกรมเป็นแอปพลิเคชั่นที่บริษัทซอฟต์แวร์เหล่านั้นอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อเข้าสู่ตลาด และมีโปรแกรมบางส่วนดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว EGA เชื่อว่าด้วยแนวคิดใหม่ของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐในครั้งนี้ที่มีมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา และจะมีมากขึ้นในปีต่อ ๆ ไปนั้น จะทำให้นักพัฒนามืออาชีพเข้ามาสนใจดึงข้อมูลจาก data.go.th ไปใช้พัฒนาแอปพลิเคชันกันตั้งแต่แรกเริ่ม และสามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจแบบยั่งยืนต่อไปได้
อย่างไรก็ตามในปีนี้ EGA ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลอันทรงเกียรติ เพื่อส่งต่อให้กับผู้ชนะเลิศทั้งในส่วนของประเภทสุดยอดแนวคิด ซึ่งเป็นการนำเสนอความคิดของนวัตกรรมในรูปแบบของแผนธุรกิจ ประกอบด้วยแนวคิดที่ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ ทั้งด้านเทคนิค เทคโนโลยี การตลาด และการลงทุน และประเภทสุดยอดนวัตกรรม ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงาน หรือ นวัตกรรม ที่กำลังพัฒนา หรือพัฒนาสำเร็จแล้ว ถือเป็นการเปิดช่องให้นักพัฒนาอย่างมาก ดังตัวอย่างของผู้ประกวดในปีที่ผ่านมา ที่ผลงานบางส่วนได้รับความสนใจจากหน่วยงานราชการ จนมีการติดต่อเพื่อนำผลงานนั้นไปพัฒนาต่อยอดใช้งานจริง ๆ ต่อไป และการมอบรางวัลอันทรงเกียรติครั้งนี้ ก็ทำให้มีผู้สมัครเข้ามาจำนวนมากขึ้น ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น การคัดกรองก็จะเข้มข้นขึ้น และอาจมีผู้ที่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานรัฐ จนนำไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ใช้งานได้จริง มากกว่าปีที่ผ่านมา
ขณะนี้โครงการ MEGA2015 อยู่ในรอบคัดเลือกข้อเสนอโครงการ โดยจะมีกิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายได้เพิ่มพูนความรู้รอบด้านจากมืออาชีพทางด้านการบ่มเพาะทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยเนื้อหาจะมีตั้งแต่ด้านเทคโนโลยี เครื่องมือซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน และชุดข้อมูลในการพัฒนาแอปพลิเคชัน นอกจากนั้นยังมีการอบรมเพิ่มทักษะทางธุรกิจ และ Product to Market ที่มีหลักสูตรด้านการตลาด การสร้างแผนธุรกิจ การฝึกทักษะการนำเสนอ การสร้างภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ การเจรจาต่อรอง การเงิน ภาษี กฎหมาย บริหารการจัดการต่าง ๆ และระเบียบหลักการร่วมงานกับหน่วยงานภาครัฐ ฯลฯ หลังจากนี้ก็จะเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ หรือ รอบนำเสนอ Prototype ซึ่งจะมีการประกาศผลรางวัลชนะเลิศเดือนมิถุนายนนี้