- Huawei ระบุว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะต้องมี 5G, Cloud, AI เป็นหัวใจสำคัญ
- ภาครัฐไทยมีแผนสนับสนุนการเติบโตทางด้านดิจิทัลอย่างเต็มตัว วางแผนสู่การเป็น Digital Hub ของภูมิภาค
- กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมชี้ การมาของเทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้วิถีการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งภาครัฐไทยเองก็กำลังเร่งนำ 5G และนวัตกรรมต่างๆ เข้าไปเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจโรงงานและการผลิตทั่วไทย
ในงานสัมมนา Powering Digital Thailand 2022 – HUAWEI CLOUD & CONNECT ที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง Huawei ได้ออกมาจัดแสดงเทคโนโลยีและวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจหลายประการในการเติบโตของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ระบบเศรษฐกิจดิจทัลหรือ Digital Economy นี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ หลากหลายทั้งจากภาครัฐ, ธุรกิจองค์กร และ SME ในแต่ละประเทศ
คุณ Guo Ping ผู้ดำรงตำแหน่ง Deputy Chairman, Rotating Chairman แห่ง Huawei ได้ทำการกล่าวเปิดงานสัมมนาครั้งนี้พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ถึงประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในประเด็นเรื่องของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีนับหลังจากนี้ ที่ 5G, Cloud และ AI จะกลายเป็นศูนย์กลางของการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเร่งให้ธุรกิจต่างๆ กลับมาดำเนินการและเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง
คุณ Guo Ping ได้เริ่มต้นจากการเล่าถึงข้อมูลแนวโน้มทางด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น แผน ASEAN Digital Masterplan 2025 ที่ภูมิภาค ASEAN ตั้งเป้าที่จะมีระบบโครงข่ายมีสายและไร้สายที่มีคุณภาพและครอบคลุม และประเทศไทยที่มีการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีโครงข่าย 5G ที่รวดเร็วมาก จนทำให้กรุงเทพมหานครติดอันดับ 1 ใน 10 เมืองที่มี 5G ที่ดีที่สุดในโลก
ในวิสัยทัศน์ของ Huawei นั้น เทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็วและยืดหยุ่นหลังจากนี้ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทำให้ Huawei มีความมุ่งมั่น 3 ประการในการสร้าง Ecosystem สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้แต่ละประเทศในภูมิภาคนี้เปิดรับต่อเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ได้แก่ การนำ 5G, Cloud และ AI ไปเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ, การสร้าง Ecosystem และ Community ทางด้านเทคโนโลยี และการสร้างให้เกิดความมีส่วนร่วมและช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโลกแห่งเทคโนโลยีได้
นอกจาก Huawei เองแล้ว ในงานสัมมนาครั้งนี้ก็ยังมีผู้บริหารระดับประเทศและระดับภูมิภาคมาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์กันอีกหลายท่านถึงทิศทางอนาคตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และแนวโน้มทางด้านการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต
ทางด้าน Dr. Yang Mee Eng, Executive Director แห่ง ASEAN Foundation ก็ได้ออกมาเล่าถึงความร่วมมือกับ Huawei ในการผลักดันเพื่อให้เหล่าคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคได้ออกมามีบทบาทในการผลักดันเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาในระยะยาวเพื่อสนับสนุนแผน ASEAN Digital Masterplan 2025 ให้เป็นจริงขึ้นมาได้
ในขณะที่ Bangkok Post ก็เล็งเห็นเช่นเดียวกับ Huawei ว่าเทคโนโลยีนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถพลิกฟื้นกลับมาและเร่งสร้างศักยภาพใหม่ให้กับภาคธุรกิจเช่นกัน โดยไม่ว่า 5G, Cloud หรือ AI ต่างก็ล้วนมีบทบาทด้วยกันทั้งสิ้น จึงได้จัดงานครั้งนี้ร่วมกับ Huawei เพื่อหวังจะเป็นอีกกำลังสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจไทยด้วยอีกแรง
ในมุมมองจากภาครัฐฝั่งไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับนวัตกรรมใหม่ๆ นั้นก็อยู่ใน Roadmap ของไทยด้วยเช่นกัน เพื่อผลักดันให้ทั้งภาคเศรษฐกิจเติบโต, ภาคสังคมและประชาชนได้รับสวัสดิการและบริการภาครัฐที่ดีขึ้น ไปจนถึงภาครัฐที่จะได้ปรับตัวไปสู่การให้บริการประชาชนแบบดิจิทัลอย่างเต็มตัว
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีก็มีความเห็นในทิศทางเดียวกันที่เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายนั้นจะเป็นหัวใจสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต
คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุถึงความสำเร็จของรัฐบาลที่ผ่านมา และหลังจากนี้สิ่งที่ภาครัฐตั้งใจจะทำก็คือการนำเทคโนโลยีเข้าไปผสานในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างการเติบโตของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งด้วยการสนับสนุนผลักดันงบประมาณและวางนโยบายต่างๆ ให้ส่งเสริมธุรกิจกลุ่มนี้ สุดท้ายคือการสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่นการจัดการเฟคนิวส์ การจัดการกับการฉ้อโกงออนไลน์ และอื่นๆ ส่วนโครงการ Thailand Pass เองนั้นก็ประสบความสำเร็จดี ช่วยให้การเปิดประเทศรอบนี้มีความสะดวกสบายต่อนักท่องเที่ยวมากขึ้น
ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มาเผยถึงมุมมองว่าประเด็นปัญหาที่กำลังเป็น Megatrend ทั่วโลกนั้น ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีล้วนสามารถเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาได้ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยดิจิทัลเองก็เป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็มีแผนที่จะสนับสนุน 6 สิ่ง ดังนี้
- S-Curve Industry มองในระยะยาวว่าภาคอุตสาหกรรมควรจะเดินไปทางใด หนึ่งในนั้นคือ Automation ที่เข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงาน
- Smart Industry Agriculture เกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาปรับทั้งการผลิต, การตลาด และการขาย ปรับจากเกษตรกรให้กลายเป็นนักธุรกิจเกษตรกร
- SME & Startup สนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กและกลางไปจนถึง Startup โดยจะมุ่งเน้นที่การสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีซึ่งมีโอกาสที่จะเติบโตและสร้างผลกระทบต่อสังคมได้
- Special Economic Zone & Investment Promotion สร้างโซนเศรษฐกิจพิเศษ เปิดโอกาสให้คนที่กลับบ้านในต่างจังหวัดสามารถสร้างรายได้ที่ดีขึ้นในแต่ละพื้นที่ได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
- Sustainable Development ต้องมีความสำเร็จทางเศรษฐกิจ, การดูแลชุมชน, การรักษาสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เพื่อก้าวไปสู่การเป็น Factory 4.0
- Service Transformation ปรับปรุงบริการของกระทรวงให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นและให้บริการแก่ภาคธุรกิจต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว
ปัจจุบันกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็มีการศึกษาเทคโนโลยีใหม่อย่างเช่น Metaverse เพื่อทำความเข้าใจและวิเคราะห์ว่าจะสามารถนำมาสร้างประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจไทยได้อย่างไรบ้าง และจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมในแง่มุมใดในอนาคต
โดยรวมแล้วถือเป็นการร่วมแสดงวิสัยทัศน์จากหลากหลายมุมมองที่น่าสนใจไม่น้อย แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้นั้นก็คือการที่ทุกคนเชื่อมั่นในศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกันเป็นอย่างมากว่าภายในอีก 10 ปีนับถัดจากนี้จะเป็นโอกาสทองที่ทุกๆ ประเทศในภูมิภาคต้องเร่งสร้างการเติบโตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นมาเอง เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมในการส่งเสริมธุรกิจในรูปแบบของตนเอง และมีความร่วมมือกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและระหว่างประเทศเพื่อจับมือกันแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกต่อไปให้ได้อย่างเข้มแข็ง