เมื่อพูดถึงอุปกรณ์ SAN Storage กันแล้ว คนที่เคยมีประสบการณ์มักนึกถึงความยุ่งยากในการติดตั้ง, ดูแลรักษา, บริหารจัดการ และราคาที่สูง แต่หากได้มาลองทำความรู้จักกับ HPE Nimble Storage มุมมองดังกล่าวก็อาจเปลี่ยนไปบ้างไม่มากก็น้อย เพราะนี่คือเทคโนโลยี All Flash Storage ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเดิมๆ ที่เคยพบเจอใน Traditional SAN Storage ในทุกแง่มุมนั่นเอง ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ HPE Nimble Storage เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลงทุน SAN Storage กันครับผม
Nimble Storage: จากบริษัท Startup ด้าน SAN Storage ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2008 สู่บริษัทในเครือ HPE ในปี 2017

Nimble Storage นี้เป็นบริษัท Startup ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 โดยผู้ก่อตั้งสองคนคือคุณ Varun Mehta และคุณ Umesh Maheshwari ซึ่งต่างก็เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในบริษัทผู้ผลิต Storage ชื่อดังในวงการหลายราย ที่ตัดสินใจออกมาสร้างธุรกิจ Startup ร่วมกัน เพื่อตอบรับต่อกระแสการมาของ Solid State Drive (SSD) สำหรับการใช้งานใน Data Center ระดับองค์กร และเปิดตัวผลิตภัณฑ์แรกคือ Nimble Storage CS200 เมื่อปี 2010 ในฐานะของระบบ Hybrid Array ที่ผสาน SSD และ Hard Disk Drive (HDD) เข้าด้วยกันเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานนั่นเอง

เทคโนโลยีหลักที่ทำให้ Nimble Storage แตกต่างจากผู้ผลิตระบบ Storage รายอื่นๆ นั้นก็คือระบบ File System ที่มีชื่อว่า CASL ซึ่งทำให้ HDD แบบ Nearline SAS นั้นสามารถมีประสิทธิภาพในการเขียนข้อมูลได้เทียบเท่ากับ SSD พร้อมความสามารถในการปกป้องข้อมูลที่หลากหลาย ทำให้ในแง่ประสิทธิภาพและความทนทานนั้น Nimble Storage ถือว่าไม่เป็นรองใคร ในขณะที่อีกเทคโนโลยีหนึ่งซึ่งโดดเด่นไม่แพ้กันเลยก็คือระบบ Big Data Analytics บน Cloud ของ Nimble Storage ที่ได้นำข้อมูลการทำงานของระบบมาทำการวิเคราะห์และแจ้งเตือนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วหรืออาจเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า ด้วยการนำ AI และ Machine Learning มาใช้นั่นเอง
Nimble Storage พาธุรกิจขงตนเองก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ New York Stock Exchange ได้หลังจากผ่านการระดมทุนด้วยกันถึง 5 รอบเมื่อปี 2013 ภายใต้ชื่อ NMBL และกลายเป็นบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับ 6 จากการจัดอันดับ 500 Fastest Growing ของ Deloitte เมื่อปี 2015 ถือเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว
ในที่สุดเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ทาง HPE ก็ประกาศเข้าซื้อกิจการของ Nimble Storage อย่างเป็นทางการด้วยมูลค่าที่สูงถึง 1,090 ล้านเหรียญหรือราวๆ 42,000 ล้านบาท และเปลี่ยนชื่อกลายมาเป็น HPE Nimble Storage มุ่งสู่การเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์หลักทางด้าน Storage ของ HPE ไปนั่นเอง
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ HPE Nimble Storage นั้นสามารถตอบโจทย์ความต้องการ SAN Storage ได้ในทุกระดับ ดังนี้
- Adaptive Flash Array สำหรับองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลางที่ต้องการระบบเริ่มต้นในราคาประหยัดแต่ยังคงมีประสิทธิภาพสูง
- All Flash Array สำหรับองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ต้องการ SAN Storage ประสิทธิภาพสูงที่บริหารจัดการได้ง่าย
- Secondary Flash Array สำหรับผู้ที่ต้องการระบบสำรองที่ทำงานได้ด้วยความรวดเร็วในราคาประหยัด พร้อมการบีบอัดข้อมูลที่เหนือกว่าปกติ
- HPE Cloud Volumes บริการใหม่ล่าสุดที่นำเทคโนโลยีของ Nimble Storage ไปใช้ร่วมกับบริการ Cloud ชั้นนำอย่าง AWS และ Microsoft Azure โดยสามารถรองรับการทำ Multi-Cloud สำหรับการจัดการข้อมูลได้ในตัว
CASL: เทคโนโลยีหลักที่ทำให้ Nimble Storage มีประสิทธิภาพสูง และแตกต่างจาก SAN Storage อื่นๆ
หากใครที่คุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม SAN Storage ก็อาจจะคุ้นเคยกับการนำเสนอว่าที่ผ่านมาโลกของ Storage นั้นมีคอขวดของระบบอยู่ที่ HDD ที่ประสิทธิภาพไม่ได้สูงขึ้นมากนัก ในขณะที่ CPU, RAM และ Network มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตามกฎของ Moore’s Law ทำให้เหล่าบรรดาผู้ผลิต SAN Storage นั้นหันไปใช้ Flash หรือ SSD เพื่อแก้ปัญหาคอขวดดังกล่าว แต่ Nimble Storage นั้นกลับมีมุมมองที่แตกต่างออกไปมากทีเดียวในประเด็นนี้
ท่ามกลางวิกฤติคอขวดของ HDD และการมาของ SSD ทาง Nimble Storage กลับมีแนวทางที่แตกต่างที่จะเปลี่ยนสถาปัตยกรรมของระบบ Storage นั้นเพื่อให้ CPU เป็นหัวใจหลักของระบบ Storage แทน และทำให้ประสิทธิภาพของ Storage นั้นขึ้นอยู่กับ CPU แทนอย่างเต็มตัว ซึ่งแนวทางนี้ทาง Nimble Storage ก็ได้นำมาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีพร้อมสิทธิบัตรภายใต้ชื่อว่า Cache-Accelerated Sequential Layout หรือ CASL นั่นเอง โดยการทำงานของ CASL นี้จะแบ่งการทำงานหลักๆ ออกเป็น 2 ส่วน คือการเขียนข้อมูล และการอ่านข้อมูล
การเขียนข้อมูลของ CASL นี้จะรองรับการเขียนข้อมูลได้หลากหลาย Block Size พร้อมๆ กันภายในระบบเดียว โดย Nimble Storage จะนำข้อมูลที่ถูกเขียนในแต่ละช่วงจังหวะมาทำการ Deduplication/Compression เสียก่อน จากนั้นจึงนำข้อมูลมาเรียงต่อกันให้กลายเป็น Block ขนาด 10MB ก่อนที่จะทำการเขียนข้อมูลงไปยัง HDD โดยตรงทีเดียว ไม่ผ่าน SSD แต่อย่างใด ซึ่งประสิทธิภาพการเขียนข้อมูลแบบ Sequential ของ HDD นั้นก็ถือว่าสูสีหรือเหนือกว่า SSD ในบางกรณีด้วยซ้ำ ทำให้ Nimble Storage สามารถเขียนข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูงมาก โดย HDD จำนวน 21 ชุดใน Nimble Storage สามารถมีประสิทธิภาพได้สูงถึง 300,000 IOPS เลยทีเดียว

ข้อมูลที่ถูกเขียนนี้จะถูกปกป้องด้วย Triple-parity RAID หรือแปลว่า HDD สามารถเสียได้ 3 ลูกสูงสุดพร้อมกัน และข้อมูลที่เขียนลงไปนั้นหากเป็น Hot Data ที่มีแนวโน้มจะถูกนำไปใช้งาน ข้อมูลนั้นๆ จะถูกสำเนาลงไปยัง SSD ที่ทำหน้าที่เป็น Cache ทำให้อายุของ SSD ยืนยาวกว่าเทคโนโลยีอื่นๆ มาก อีกทั้งยังมีความสามารถในการทำ Thin Provisioning ได้ในตัว และมีระบบสำหรับแก้ไขปัญหา Fragmentation ที่อาจเกิดขึ้นกับการจัดเก็บข้อมูลได้ และหากต้องการเข้ารหัสข้อมูล Nimble Storage เองก็รองรับความสามารถนี้ได้ด้วยเช่นกัน
ในการอ่านข้อมูลของ CASL นั้นก็จะสามารถใช้ SSD ทำหน้าที่เป็น Cache เพื่อเพิ่มความเร็วในการอ่านข้อมูลได้ รวมถึงยังสามารถกำหนดได้ว่าแต่ละ Volume จะมีพฤติกรรมการจัดเก็บข้อมูลบน Flash ทั้งหมด (All Flash), เก็บข้อมูลผสมกันระหว่าง SSD/HDD (Auto Flash) หรือจะเก็บข้อมูลบน HDD เท่านั้น (No Flash) เพื่อให้เหมาะสมต่อความต้องการในการใช้งาน

ทั้งนี้ Nimble Storage เองก็รองรับการเพิ่มขยายได้ทั้งแบบ Scale-up และ Scale-out จึงทำให้เหล่าองค์กรต่างๆ มีทางเลือกในการลงทุนต่อยอดที่ยืดหยุ่นได้ในอนาคต สามารถเลือกหนทางที่เหมาะสมกับทั้งความต้องการและงบประมาณได้เป็นอย่างดี
ไม่ต้องซื้อ Backup Software แยก ด้วยความสามารถในการทำ Application-aware Snapshot/Replication
อีกหนึ่งจุดแข็งที่น่าสนใจมากของ Nimble Storage นี้ก็คือความสามารถในการปกป้องข้อมูลที่มากับตัวอุปกรณ์เลยโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายด้าน License การใช้งานใดๆ เพิ่ม ทำให้ความคุ้มค่าในการลงทุนเลือกใช้งาน Nimble Storage นั้นถือว่าสูงมาก เพราะทำให้องค์กรแทบไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบ Backup และ Disaster Recovery อีกเลยในหลายๆ กรณี
ในแง่ของการ Backup นั้น Nimble Storage มาพร้อมกับความสามารถในการทำ Snapshot ได้อย่างรวดเร็วและไม่จำกัดจำนวน ทำให้สามารถใช้แทนระบบ Backup ได้ทันที อีกทั้งนอกจากการ Revert Snapshot ตามปกติแล้ว ข้อมูล Snapshot เหล่านั้นยังสามารถูกนำไปทำ Cloning ได้ในเวลาเพียง 1 วินาทีเพื่อสร้างเป็นข้อมูลอีกชุดสำหรับใช้งานแยกกับข้อมูลหลักได้อย่างง่ายดาย โดย Snapshot ของ Nimble Storage นี้ยังรองรับทั้งการทำ Application-aware และ VM-aware ได้ ทำให้มั่นใจได้ว่าการกู้คืนข้อมูลจะมีโอกาสที่ประสบความสำเร็จสูง
ส่วนการทำ Replication นั้น Nimble Storage จะทำการบีบอัดเฉพาะข้อมูลของ Block ที่เปลี่ยนแปลงก่อนส่งออกไปยังระบบสำรองอีกชุด ทำให้ปริมาณ Traffic ที่ต้องใช้นั้นน้อยมากและส่งผ่าน WAN ได้ ซึ่งที่ผ่านมาในประเทศไทยเองก็เคยมีการทดสอบทำ Replication ข้ามไปยัง Data Center ที่สิงคโปร์ และกู้คืนข้อมูลได้มาแล้ว พร้อมนำไปใช้ทำ Disaster Recovery ต่อยอดได้ทันทีโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายด้าน License ใดๆ เพิ่มเติม
InfoSight: ระบบ Big Data Analytics, Machine Learning และ AI ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาดูแลอุปกรณ์ทั้งหมดของ Nimble Storage นับตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว

อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ Nimble Storage แตกต่างเหนือจากคู่แข่งรายอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ HPE นั้นเข้าซื้อกิจการของ Nimble Storage ก็คือ InfoSight ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระบบ Big Data ที่รวบรวมพฤติกรรมและรายงานจากอุปกรณ์ Nimble Storage ทั่วโลกทุกชุดเอาไว้ด้วยกัน และนำข้อมูลเหล่านั้นมาเรียนรู้และวิเคราะห์เพื่อแสดงถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น, ทำนายแนวโน้มปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมบอกสาเหตุและวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการประยุกต์ใช้ Machine Learning และ AI ในความสามารถส่วนนี้นั่นเอง
อุปกรณ์ HPE Nimble Storage จะทำการรวบรวมข้อมูลการใช้งานอุปกรณ์และ Log การทำงานต่างๆ แล้วส่งไปยัง InfoSight บน Cloud เพื่อวัถตุประสงค์ 2 ส่วนหลักๆ ดังนี้
- เรียนรู้รูปแบบการเกิดปัญหากับระบบ Data Center ใหม่เพิ่มเติมจากข้อมูลเหล่านี้ เช่น การหาความสัมพันธ์ว่าการที่ระบบไม่สามารถให้บริการได้ตามปกตินั้น มีความเกี่ยวพันกับปัจจัยแวดล้อมอย่างไรบ้าง เพื่อสร้างเป็น Pattern ใหม่ๆ ในการทำนายแนวโน้มการเกิดปัญหา, การวิเคราะห์ต้นตอของปัญหา และทำการแนะนำวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ โดยอาศัยควบคู่กันทั้ง Machine Learning และการให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญมาทำการวิเคราะห์และสร้าง Pattern ใหม่ๆ เพิ่มเติม
- การนำข้อมูลจากแต่ละอุปกรณ์มาเทียบกับ Pattern ของปัญหาต่างๆ เพื่อทำการวิเคราะห์ แจ้งเตือน และให้รายละเอียดของปัญหาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การป้องกันปัญหาล่วงหน้าหรือแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่
ข้อมูลที่ InfoSight ได้ทำการรวบรวมนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ Storage เท่านั้น แต่หากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจาก Network, Server, Datbase หรือ Application ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง InfoSight ก็สามารถวิเคราะห์ปัญหาเหล่านี้ให้ได้เช่นกัน เนื่องจากข้อมูลปริมาณมหาศาลหรือ Big Data ที่ InfoSight รวบรวมเอาไว้นั้นครอบคลุมถึง Pattern การใช้งานร่วมกับ Application และ Environment ต่างๆ ที่หลากหลาย จนทำให้ InfoSight มีข้อมูลมากเพียงพอที่จะนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบได้ ถือเป็นอีกจุดเด่นที่เหนือกว่าผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่เพิ่งมีการพัฒนาระบบ Data Analytics หรือ Machine Learning ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ HPE ยังได้นำ InfoSight มาผสานเข้ากับผลิตภัณฑ์กลุ่ม HPE 3PAR แล้วในปัจจุบัน และอนาคตก็จะนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์กลุ่ม Server และ Storage ทั้งหมดต่อไปด้วย เพื่อให้การสนับสนุนการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ของ HPE เกิดขึ้นได้ในแบบ Predictive ซึ่งสามารถช่วยลด Downtime ในระบบได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยสร้างความพึงพอใจของลูกค้าให้ได้เป็นอย่างมาก โดยที่ผ่านมา Nimble Storage นั้นได้รับคะแนน Net Promoter Score หรือ NPS ที่วัดความพึงพอใจของผู้ใช้งานนั้นมากถึง 85 คะแนน เหนือกว่าผู้ผลิตระบบ Storage ในตลาดรายอื่นๆ อย่างชัดเจน
HPE Nimble Storage แตกต่างจาก HPE 3PAR อย่างไร? เมื่อไหร่ควรเลือกใช้เทคโนโลยีไหน?
สำหรับคำถามนี้ถือเป็นคำถามที่หลายๆ คนสงสัยกันเป็นอย่างมาก ซึ่งทางทีมงาน TechTalkThai ก็ได้ทำการสอบถามและพูดคุยในรประเด็นนี้กับทีมงาน HPE นานพอสมควร จนได้รับคำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนดังนี้
HPE Nimble Storage นี้จะถูกวางให้เป็นระบบ SAN Storage สำหรับการใช้งานในแบบ General Purpose สำหรับองค์กรขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับองค์กรที่มองหาโซลูชันที่ง่ายทั้งการใช้งาน, การบริหารจัดการ, การออกแบบ, การเชื่อมต่อกับ Cloud และการขยายระบบให้รองรับการทำ Disaster Recovery เนื่องจากระบบนั้นแถม License การทำ Backup และ DR มาให้ในตัวแล้วอย่างครบถ้วน
ส่วน HPE 3PAR นั้นก็จะยังคงเป็น Storage หลักสำหรับองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ต้องการใช้ความสามารถทั้งในส่วนของ SAN และ NAS Storage รวมถึงหากต้องการนำไปใช้ในการทำ Consolidation เป็นหลัก 3PAR เองก็ยังสามารถตอบโจทย์ได้ดี และหากต้องการระบบที่ Synchronize ระหว่างหลายสาขาอยู่ตลอด รองรับการทำ Failover สำหรับ Mission Critical Application เทคโนโลยีของ HPE 3PAR ก็จะเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อกรณีการใช้งานนี้
สรุปง่ายๆ คือ สำหรับระบบที่ไม่ใหญ่มาก, ต้องการความง่าย, ความคุ้มค่า, Backup, DR ก็สามารถเลือกใช้ HPE InfoSight ได้เลย แต่หากต้องการระบบใหญ่ๆ รองรับการเพิ่มขยายและการทำ Cluster ข้ามสาขาเพื่อรองรับ Mission Critical Application ก็ควรจะต้องขยับไปใช้ HPE 3PAR แทนนั่นเอง
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ HPE Nimble Storage ได้ทันที
ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ HPE Nimble Storage ได้ที่ https://www.hpe.com/us/en/storage/nimble.html ครับ เว็บไซต์นี้เพิ่งอัปเดตมาไม่นาน มีข้อมูลใหม่เพิ่มเข้ามากขึ้นพอสมควรเลยทีเดียว
ติดต่อทีมงาน HPE ได้โดยตรง
สำหรับผู้ที่สนใจต้องการให้ทาง HPE เข้าไปนำเสนอโซลูชัน หรือต้องการใบเสนอราคา สามารถติดต่อทีมงาน HPE Thailand ได้โดยตรงที่คุณ Boontida boontida.srisawasd@hpe.com หรือโทร 0819900691