ในวันแรกของการมาร่วมงาน Microsoft Worldwide Partner Conference 2016 หรือ #WPC16 ณ Toronto, Canada ทางทีมงาน TechTalkThai ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมใน Session “Ecosystem Transformation in Asia Pacific” ซึ่งเป็นหัวข้อของการเล่าถึงพฤติกรรมของเหล่าลูกค้าระดับองค์กรที่เริ่มเปลี่ยนไปใช้งานระบบ Cloud มากขึ้น และการปรับตัวของธุรกิจ SI ในแต่ละประเทศ รวมถึงบทบาทของ Microsoft ที่ต้องการช่วยให้ทั้งองค์กรและ Partner สามารถก้าวไปพร้อมกันในการทำ Digital Transformation ได้ จึงขอสรุปเอาไว้ดังนี้ครับ
4 แนวทางเบื้องต้นกลยุทธ์การทำ Digital Transformation สำหรับธุรกิจองค์กร
จากประสบการณ์ของ Microsoft ในช่วงปีก่อนหน้านี้ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำ Digital Transformation ให้แก่องค์กรหลากหลายนั้น สามารถสรุปกลยุทธ์การทำ Digital Transformation ออกได้เป็น 4 รูปแบบหลักๆ ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงวิธีการเข้าถึงลูกค้าต่างๆ ขององค์กร เพื่อดึงดูดลูกค้าเอาไว้ และเข้าถึงลูกค้ารายใหม่ๆ
- การเปลี่ยนรูปแบบของ Operation ต่างๆ ภายในองค์กรเพื่อลดค่าใช้จ่าย
- การช่วยให้เหล่าพนักงานภายในองค์กรสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น
- การเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และบริการขององค์กรให้เป็น Digital มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้จากการสำรวจกลุ่มลูกค้าองค์กรโดย Microsoft เองนั้น ก็ได้พบว่าองค์กรกว่า 88% นั้นมองว่าการทำ Digital Transformation มีความสำคัญเป็นอันดับ 1 ในเวลานี้ และ 50% ของเหล่าองค์กรเองก็มีกลยุทธ์ในการทำ Digital Transformation ที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีของเหล่าผู้ทำธุรกิจ Systems Integrator (SI) ที่จะได้เข้าไปมีบทบาทในกลยุทธ์ Digital Transformation ขององค์กร รวมถึงการเข้าไปช่วยนำเสนอแนวทางการทำ Digital Transformation แก่องค์กรที่ยังไม่มีกลยุทธ์เป็นของตนเอง
มีประโยคที่น่าสนใจจากทาง Microsoft ต่อการทำ Digital Transformation ที่น่าสนใจและชวนคิดมากๆ คือ ในปัจจุบันนี้ ไม่สำคัญอีกแล้วว่าองค์กรจะปรับตัวมากน้อยขนาดไหน แต่อยู่ที่ว่าจะเริ่มต้นปรับตัวได้เร็วแค่ไหนมากกว่า
Microsoft ให้บริการ Platform, ลูกค้าให้ Requirement, SI คือผู้ผสาน Requirement เข้ากับ Platform
บทบาทที่ Microsoft ตั้งใจจะเป็นก็คือการเป็นผู้ให้บริการ Platform อย่างเต็มตัว เพื่อให้เหล่า SI นั้นสามารถนำ Platform ของ Microsoft ไปต่อยอดและเพิ่มคุณค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการหรือ Intellectual Property จนกลายเป็นโซลูชันของ SI แต่ละราย และนำไปตอบโจทย์การทำ Digital Transformation ให้กับธุรกิจองค์กรต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจากที่ผ่านมานั้นมีสถิติว่าทุกๆ รายได้ 1 เหรียญจากธุรกิจ Cloud ของ Microsoft นั้น เหล่า Partner รายต่างๆ นั้นสามารถสร้างรายรับให้แก่ตัวเองได้มากถึง 5.87 เหรียญเลยทีเดียว
เพื่อตอบรับต่อแนวทางนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทาง Microsoft จึงได้เปิดกลุ่ม Partner ใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า Cloud Service Provider (CSP) ที่ทำหน้าที่ในการทำ Value Added ให้กับบริการ Cloud ของ Microsoft เองโดยเฉพาะ โดยปัจจุบันนี้มี CSP ทั่วโลกแล้วมากกว่า 100 ราย ในขณะที่มี Reseller สำหรับเหล่า CSP เหล่านี้อีกมากกว่า 2,000 ราย
จุดเด่นของบริการจาก CSP เหล่านี้ที่เหนือกว่าระบบแบบ On-premises ในอดีตก็คือการที่องค์กรทุกขนาดจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ดีที่สุดที่อยู่บน Cloud ได้เสมอ เนื่องจากการลงทุนกับระบบ Cloud นี้จะไม่มีค่าใช้จ่ายทางด้าน IT Infrastructure แบบก้าวกระโดด ดังนั้นบริการ Cloud ที่ตอบโจทย์ธุรกิจในอุตสาหกรรมหนึ่งๆ นั้นก็จะสามารถนำไปขายให้แก่องค์กรทุกขนาดในอุตสาหกรรมเดียวกันนั้นได้อย่างง่ายดาย

Cloud คือทางออกในระยะยาวของการทำ Digital Transformation ของทุกองค์กร
เมื่อประเด็นที่สำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งในการทำ Digital Transformation ของแต่ละองค์กรคือความเร็ว ดังนั้นบริการ Cloud เองนั้นก็จะสามารถตอบโจทย์ทางด้านความเร็วได้ โดยองค์กรต่างๆ สามารถเริ่มต้นทำ Digital Transformation ได้ทันทีบนระบบ Cloud และทดลองใช้ Application ต่างๆ หรือพัฒนาระบบใหม่ๆ ต่อยอดได้ทันที และในอนาคตหากองค์กรมีการเติบโตขึ้น การเพิ่มขยายต่างๆ บนระบบ Cloud นั้นก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย ทั้งในแง่ของการเพิ่มปริมาณ Resource เพื่อรองรับผู้ใช้งานจำนวนที่มากขึ้น หรือการกระจายทรัพยากรให้เข้าถึงได้ทั่วโลก เพื่อตอบรับต่อสาขาใหม่ๆ ในภูมิภาคใหม่ๆ ที่ทำการขยายธุรกิจเข้าไป
ตัวอย่างของธุรกิจ SI และ CSP ในเอเชียที่นำบริการ Cloud ของ Microsoft ไปนำเสนอแก่ลูกค้าองค์กร
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ทาง Microsoft จึงได้ให้เหล่าผู้บริการจากบริษัท SI และ CSP ในแถบเอเชียมาเล่าประสบการณ์ของตนดังต่อไปนี้
Kloud เป็นผู้ให้บริการจากออสเตรเลียที่เน้นบริการการย้าย IT Infrastructure เดิมขององค์กรขึ้นไปยังระบบ Cloud โดยธุรกิจของ Kloud นั้นเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยมุมมองในการช่วยลูกค้าวางกลยุทธ์ในการ Transform ธุรกิจตัวเองให้สำเร็จ ด้วยการนำบริการ Cloud ที่หลากหลายเข้าไปช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า การมาของ Cloud นี้ช่วยให้ Kloud สามารถมุ่งเน้นไปที่การให้บริการลูกค้าได้อย่างเต็มที่ และองค์กรขนาดใหญ่ชั้นนำในแต่ละอุตสาหกรรมเองนั้นก็ตอบรับต่อการมาของ Cloud กันอย่างรวดเร็วเพราะต้องการที่จะเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น
Astoria เป็นอดีต SI สัญชาติสิงคโปร์ที่พบว่าการให้บริการในรูปแบบของ SI นั้นเป็นงานหนักที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่มีวันหยุดหย่อน จนกระทั่งวันหนึ่งคุณ Dominic แห่ง Astoria ได้ไปเห็นการทำงานของเหล่าผู้คนในอุตสาหกรรมพลังงานและน้ำมัน และพบว่างานเหล่านั้นสามารถแปลงให้เป็นอัตโนมัติได้ด้วย Internet of Things (IoT) ทาง Astoria จึงได้เริ่มดำเนินธุรกิจทางด้าน IoT ควบคู่ไปกับ Microsoft Azure สำหรับทำหน้าที่เป็น Platform เพื่อเชื่อมต่อระหว่างระบบ IoT เข้ากับ Mobile และสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ เป็นกลุ่มองค์กรในธุรกิจทางด้านพลังงานทุกขนาดทั่วโลก จนปัจจุบันนี้ Astoria กลายเป็น SaaS Provider ที่มีออฟฟิศกระจายอยู่ทั่วโลกแล้ว
SaaSPlaza เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Microsoft Dynamics จากเนเธอร์แลนด์ ที่เริ่มต้นจากการย้ายระบบ Microsoft Dynamics แบบ On-premises ขององค์กรขึ้นมาเป็นระบบ Cloud แทน จนปัจจุบันธุรกิจมีการเติบโตเป็นอย่างมาก โดยมีลูกค้าทั่วโลกรวมกันกว่า 1,800 ราย โดยในแถบเอเชียเองก็มีลูกค้ามากกว่า 200 รายแล้ว ซึ่งการที่องค์กรย้ายระบบ ERP และ CRM ขึ้นมาเป็น Cloud นี้เพราะระบบเหล่านี้เป็นระบบที่มีความสำคัญและส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรเป็นอย่างมาก การย้ายขึ้นมายัง Cloud นี้ก็ช่วยให้เหล่าองค์กรสามารถเพิ่มความสามารถต่างๆ และปรับเปลี่ยนระบบได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงเปิดขยายสาขาใหม่ได้แทบจะทันที ในขณะที่ไม่ต้องเสียทรัพยากรขององค์กรมาดูแลระบบเหล่านี้มากอย่างแต่ก่อนอีกต่อไปทั้งในแง่ของความทนทาน, ความปลอดภัย และการทำ Compliance อีกทั้งการใช้ระบบ Cloud เองก็ยังเอื้อให้องค์กรเหล่านี้สามารถใช้อุปกรณ์ Mobile ในการทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นสาเหตุให้ธุรกิจของ SaaSPlaza เติบโตอย่างรวดเร็วจนขยายไปทั่วโลกได้สำเร็จนั่นเอง
rhipe เป็นผู้ให้บริการ Cloud Aggregator จากออสเตรเลียนั้นมีมุมมองที่น่าสนใจต่างออกไป โดย rhipe มองว่าการที่ทุกๆ วันนี้คนเราสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ในระดับของ Consumer กันอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นตัวเร่งหนึ่งให้เหล่าองค์กรเองสามารถคุ้นเคยต่อการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้มากขึ้น และตลาดของ Cloud เองก็เติบโตขึ้นได้ด้วยเหตุนี้เช่นกัน และด้วยจุดเด่นของระบบ Cloud ที่องค์กรไม่ต้องลงทุนระบบ Infrastructure ด้วยตนเองนั้น ก็ทำให้องค์กรทุกๆ ขนาดสามารถเปิดรับต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกใช้บริการต่างๆ ได้มากขึ้น และก็กลายเป็นโอกาสใหม่ๆ เพิ่มเติมให้แก่เหล่าผู้ให้บริการ Cloud ต่างๆ ที่จะนำเสนอบริการของตนต่อองค์กรได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่ง Microsoft เองนั้นก็มีบริการ Cloud ให้องค์กรใช้งานได้โดยตรง หรือจะเลือกใช้งานกับเหล่า Cloud Service Provider ที่มักจะพ่วงบริการมืออาชีพเพิ่มเข้ามาให้ก็ได้เช่นกัน