กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security) ซึ่งมีสถานะเป็นคณะกรรมการความมั่นคงของสหรัฐฯ ได้จัดตั้งโครงการ Distributed Denial of Service Defense (DDoSD) เพื่อป้องกันและลดจำนวนการโจมตี DDoS ลง หลังจากปัญหาได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา

โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์หลักสองส่วนคือ 1) สนับสนุนการนำ best practice มาใช้เพื่อลดความเสียหายจากการโจมตีและทำให้การเพิ่มขยายสเกลของการโจมตีช้าลง และ 2) ป้องกันการโจมตีแบบ DDoS ขนาด 1 Tbps ด้วยเครื่องมือที่องค์กรขนาดกลางสามารถนำไปใช้ได้ พร้อมๆกันนี้ โครงการยังให้ความสนใจในการป้องกันการโจมตี DDoS กับสายด่วนฉุกเฉิน 911 เช่นการวางระบบสายด่วน 911 ใหม่
ในส่วนของ best practice DDoSD แนะนำให้มีการนำ BCP 38 best practice ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2000 ไปใช้ ซึ่ง BCP 38 ดังกล่าวพูดถึงการลดความเร็วของการขยายขนาดของโจมตีด้วยการบล็อค packet ที่ถูกสร้างขึ้นณ จุดที่มีการโจมตีหรือบริเวณใกล้เคียง โดยได้แนะนำ Open Source Spoofer Toolset ที่สร้างขึ้นโดย มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แซนดิเอโก เพื่อช่วยตรวจสอบว่า network ได้มีการนำ BCP 38 ไปใช้ได้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน
โครงการ DDoSD ยังได้มีการสนับสนุนการวิจัย DDoS Defense for a Community of Peers ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้าง peer to peer network ของ service provider ในอินเทอร์เน็ต โดยแต่ละ node สามารถส่งข้อความหา node อื่นๆหากสงสัยว่ามีการโจมตีเกิดขึ้น เพื่อให้ node อื่นๆตรวจสอบ flow ข้อมูลในระบบตัวเอง และเมื่อพบ flow ที่ผิดปกติ ระบบจะได้ทำการปิด flow นั้นลงเพื่อหยุดหรือลดความรุนแรงของการโจมตี
นอกจากนี้ DDoSD ยังมีทีมวิจัยที่กำลังศึกษาการป้องกันการโจมตีสเกลใหญ่ โดยปัจจุบัน นักวิจัยสามารถต้านทานการโจมตีขนาด 250 Gbps ได้แล้ว