บทความโดย: นายนครินทร์ เทียนประทีป ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ยิบอินซอย จำกัด
สมัยก่อนเมื่อพูดถึงโอเพนซอร์สอาจทำให้เรานึกถึงโอเอสอย่างลีนุกซ์จนมาถึงแอนดรอยด์ในยุคโมบิลิตี้ ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นของโอเพนซอร์ส คือ การเข้าถึงโค้ดโปรแกรมได้ง่าย สามารถแก้ไขหรือเพิ่มเติมปรับปรุงได้รวดเร็ว ประหยัดต้นทุน และให้ผลลัพธ์ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งปัจจุบันได้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาระบบไอทีในการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น
เร้ดแฮท ผู้นำเทคโนโลยีโอเพนซอร์ส ได้เผยแพร่ผลสำรวจเรื่อง “The State of Enterprise Open Source : A Red Hat Report” ไว้เมื่อปี 2563 โดยการสอบถามผู้นำฝ่ายไอทีในบริษัททั่วโลกราว 1250 คน พบว่า องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีโอเพนซอร์ส เพื่อเพิ่มความทันสมัยให้กับโครงสร้างพื้นฐานไอที 64% การพัฒนาแอปพลิเคชัน 54% และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล 53% โดยนิยมนำไปใช้กับสามระบบหลัก คือ ระบบเครือข่าย 54% ฐานข้อมูล 53% ระบบความปลอดภัย 52% และเป็นการพัฒนาออกมาในรูปแบบเทคโนโลยีคอนเทนเนอร์และคูเบอร์เนตีส
เร้ดแฮทยังกล่าวว่า คอนเทนเนอร์และคูเบอร์เนตีสสำคัญต่อกลยุทธ์การพัฒนาแอปพลิเคชันแบบคลาวด์-เนทีฟ ในฐานะกุญแจเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล รวมถึงต่อยอดสู่การทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอื่นอย่างเอดจ์ ไอโอที เว็บเซอร์วิส เอไอ หรือ แมนชีนเลิร์นนิ่ง ซึ่งเริ่มมีการใช้งานมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคธุรกิจการเงิน และธุรกิจสุขภาพ
คอนเทนเนอร์กับแอปฯ แบบคลาวด์-เนทีฟ
หลายองค์กรคงเคยตั้งคำถามว่า คอนเทนเนอร์จะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแอปพลิเคชันได้อย่างไร…?
เป็นที่รู้กันว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลทำให้องค์กรต้องการแอปพลิเคชันบนหลักการทำงานของคลาวด์ซึ่งเน้นการสร้าง ติดตั้งใช้งาน และบริหารจัดการที่คล่องตัว แอปพลิเคชันแบบคลาวด์-เนทีฟที่มีเทคโนโลยีคอนเทนเนอร์ และคูเบอร์เนตีสเป็นแกนกลาง ได้สร้างกระบวนการพัฒนาแบบ DevOps เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างทีมพัฒนา ทีมทดสอบ ทีมความมั่นคงปลอดภัย ทีมดูแลระบบ และทีมส่งมอบการใช้งาน โดยทำให้
- ทีมพัฒนาและทดสอบแอปพลิเคชันสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมของระบบในขั้นตอนการพัฒนา การผลิต และทดสอบระบบให้เป็นแบบเดียวกันได้เพื่อลดความผิดพลาด และทำให้ขั้นตอนการพัฒนาแบบ DevOps มีความชัดเจน และใช้เวลาสั้นลง
- เตรียมความพร้อมรองรับสถาปัตยกรรมแบบไมโครเซอร์วิส ซึ่งช่วยให้การพัฒนาระบบมีความเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น โดยสามารถเลือกปรับปรุงแยกย่อยเฉพาะบางระบบโดยไม่กระทบต่อระบบงานอื่น
- ปรับเปลี่ยนได้ง่ายขึ้นโดยไม่ยึดติดกับสภาพแวดล้อมการใช้งานมากนัก ทั้งการขยายระบบเพื่อรองรับการใช้งานจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว หรือโยกย้ายใช้งานข้ามอินฟราสตรัคเจอร์ได้ง่ายทั้งระบบในองค์กรหรือบนคลาวด์
- ลดปริมาณทรัพยากรโดยรวมที่ต้องใช้ในระบบได้ดีกว่าการใช้งานเวอร์ช่วลแมชชีน (VM) เป็นหลัก
- ออกแบบระบบให้ทำงานทดแทนกันได้ง่ายกว่าเดิม รวมถึงเพิ่มความทนทานให้กับแอปพลิเคชันโดยรวม
Red Hat OpenShift
แนวโน้มของการใช้งานเทคโนโลยีคอนเทนเนอร์ในการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ ขององค์กรนั้นได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยข้อดีหลากหลายประการทั้งในเชิงเทคนิคและการลงทุน เร้ดแฮทเองถือเป็นหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกตลาดคอนเทนเนอร์ในองค์กรรายแรกๆ ได้พัฒนาโซลูชันที่เรียกว่า Red Hat OpenShift ซึ่งได้นำจุดเด่นของคอนเทนเนอร์และคูเบอร์เนตีสมาผสานและปรับแต่งให้เหมาะสมกับการใช้งานภายในองค์กร รวมถึงการพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบ Platform-as-a-Service (PaaS) โดยการรวบรวมเครื่องมือต่างๆที่จำเป็นในการพัฒนาแอปพลิเคชันมาให้ครบ ทำให้องค์กรสามารถมุ่งเน้นในการพัฒนาแอปพลิเคชันได้อย่างเต็มที่และยังสามารถใช้ OpenShift ในรูปแบบของ On-premise และบน Public Cloud ชั้นนำ ช่วยตอบโจทย์การทำ DevOps และ มัลติคลาวด์ภายในองค์กร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บริษัทยิบอินซอย มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษารวมถึงการติดตั้งเพื่อให้องค์กรภาคธุรกิจพร้อมก้าวไปสู่โลกดิจิตอลอย่างมั่นใจ ด้วยเทคโนโลยีคอนเทนเนอร์ กับ Red Hat OpenShift