ทุกวันนี้ ใคร ๆ ก็คงรู้จักกับอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกจากอดีตไปอย่างสิ้นเชิง ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาได้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จึงทำให้ผู้คน องค์กร แบรนด์สินค้ามากมายในโลกต่างก็ต้องวิ่งเข้าไปสู่โลกออนไลน์หรือโลกดิจิทัลกันอย่างรวดเร็ว
หากมีใครเคยคิดอยากจะสร้างแบรนด์ชื่อไทย ๆ สักชื่อ แต่พอจะทำเว็บไซต์แล้วต้องคิดชื่อโดเมนเป็นภาษาอังกฤษจนต้องล้มเลิกแล้วเปลี่ยนไปเป็นชื่ออื่นเพราะ “ไม่รู้จะพิมพ์ยังไงดี” หรือ “มันอ่านยากเกินไป” ตอนนี้ปัญหาของท่านจะหมดไป เพราะบทความนี้จะพาท่านไปรู้จัก “ดอทไทย” ชื่อโดเมนและอีเมลภาษาไทยที่จะทำให้ตัวตนแบบไทย ๆ ของท่านเข้าถึงคนไทยได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
อะไรคือชื่อโดเมน เกี่ยวอะไรกับชีวิตเรา
คำว่า “ชื่อโดเมน” นั้นเป็นคำศัพท์ในวงการไอทีที่มาจากคำภาษาอังกฤษเต็ม ๆ ว่า “Domain Name” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเสมือน “ชื่อเรียกที่อยู่เว็บไซต์” ที่ทำให้ผู้คนจดจำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม โดยแทนที่จะต้องไปจำไอพีแอดเดรส (IP Address) ที่เป็นตัวเลขสี่ชุดที่จำได้ยากกว่าเพื่อเข้าเว็บไซต์ เราก็จำแค่ชื่อโดเมนแทน ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ google.com, techtalkthai.com หรือ adpt.news ซึ่งชื่อโดเมนเหล่านี้ยังถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของอีเมลอีกด้วย เช่น info@techtalkthai.com เป็นต้น
Credit : มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNiC)
ทุกวันนี้ชื่อโดเมนถือว่าเป็นอีกเทคโนโลยีที่คนอาจจะนึกว่าเป็นเรื่องทั่วไปแล้ว ด้วยความที่เว็บไซต์เกิดใหม่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และถ้าหากเจ้าของเว็บไซต์อยากจะสร้างเว็บไซต์หรือแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ เข้าถึงผู้คนได้ในวงกว้าง การตั้งชื่อและเลือกใช้ชื่อโดเมนให้สื่อความหมายนั้นเรียกว่ามีผลอย่างมากในการสื่อสารความเป็นตัวตนของเว็บไซต์ องค์กร หรือบุคคลนั้นจริง ๆ
แบรนด์ชื่อไทย หมดห่วงเรื่องทับศัพท์ภาษาอังกฤษ
จะเห็นได้ว่าชื่อโดเมนที่เข้าเว็บไซต์หรือใช้ส่งอีเมลกันทุกวันนี้มักจะเป็นภาษาอังกฤษ โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภาษาอังกฤษในตอนนี้คือภาษาสากลของโลกที่ยอมรับในการใช้งานเป็นภาษากลางเพื่อสื่อสารกัน ซึ่งส่วนท้ายของชื่อเว็บไซต์และอีเมล หรือที่เรียกกันว่าชื่อโดเมนระดับบนสุด (Top Level Domain : TLD) นั้นส่วนใหญ่มักนิยมใช้เป็นภาษาอังกฤษ เช่น “.com (ดอทคอม)”, “.net (ดอทเน็ต)” หรือ “.news (ดอทนิวส์)” เป็นต้น
Credit : ICANN
หากแต่ช่วงพักหลังมานี้คนไทยจะเริ่มได้เห็นลิงก์ชื่อโดเมนเว็บไซต์ที่เป็นภาษาไทยกันบ้างแล้ว อย่างเช่น คนละครึ่ง.com, หมอพร้อม.com หรือ เราเที่ยวด้วยกัน.com นั่นเป็นเพราะด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่น (Internationalized Domain Name : IDN) และชื่ออีเมลที่เป็นภาษาท้องถิ่น (Email Address Internationalization : EAI) ที่ทำให้ชื่อโดเมนหรืออีเมลสามารถเป็นตัวอักษรภาษาอื่นได้นอกจากภาษาอังกฤษนั่นเอง
จากตัวอย่างข้างต้น ชัดเจนว่าการที่ชื่อโดเมนสามารถรองรับภาษาไทยได้นั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดในเรื่องภาษาและช่องว่างในการสื่อสารกับคนไทยได้ดีขึ้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องแปลหรือทับศัพท์เป็นภาษาอังกฤษจากชื่อโดเมนที่เป็นภาษาไทย ส่งผลให้คนไทยทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็วด้วยชื่อโดเมนภาษาไทยที่คนไทยจดจำได้ง่ายและสื่อความหมายได้ชัดเจน
กำเนิด “ดอทไทย” เสริมชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่นที่ “เข้าใจง่ายและรวดเร็ว”
จากตัวอย่างที่เกริ่นไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าส่วนท้ายของชื่อโดเมนก็ยังคงมีภาษาอังกฤษผสมอยู่ดี แต่จะดีกว่าไหมหากว่าชื่อโดเมนตอนท้ายจะสามารถปรับเป็นภาษาไทยหรือภาษาอื่น ๆ ได้ด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง องค์กรมากกว่า 120 แห่งทั่วโลก เช่น Apple, Google, Microsoft หรือ GoDaddy รวมทั้งมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNiC) จึงได้ร่วมมือกันสร้างการยอมรับสากล (Universal Acceptance : UA) เพื่อทำให้รองรับชื่อโดเมนระดับบนสุดหรือ TLD ในภาษาอื่น ๆ ได้ด้วย จึงทำให้ “.ไทย (ดอทไทย)” กำเนิดขึ้น เพื่อทำให้ชื่อโดเมนและอีเมลสามารถใช้เป็นภาษาไทยได้ทั้งหมดทุกส่วน
สิ่งที่ดอทไทยโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด คือ การสื่อสารแบรนด์ที่เป็นชื่อไทยกับคนไทยได้ “เข้าใจง่ายและรวดเร็ว” ขึ้นกว่าเดิม เช่น ร้านค้าที่ชื่อว่า “ใครขายไข่ไก่” โดยหากใครต้องการสอบถามข้อมูลก็สามารถแจ้งให้ส่งอีเมลติดต่อมาที่ “จักรพงษ์@ใครขายไข่ไก่.ไทย” ซึ่งร้านค้าสามารถสื่อสารกับคนไทยด้วยภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว จดจำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ถ้าใช้เป็นชื่อโดเมนรูปแบบอื่น ๆ อย่าง “chakrabongse@kaikaikaikai.co.th” หรือ “จักรพงษ์@ใครขายไข่ไก่.co.th” ก็จะทำให้การสื่อสารของร้านค้านี้ลำบากขึ้นไปอีกพอสมควร
อีกกรณีหนึ่งที่จะเจอบ่อย คือ เวลาโทรศัพท์คุยกับใครก็ตามแล้วต้องการขออีเมลเพื่อส่งข้อมูลให้เพิ่มเติม สิ่งที่มักเกิดขึ้นคือ ต้องค่อย ๆ สะกดอักษรภาษาอังกฤษเป็นทีละตัว เช่น ดี ด็อก สุนัข (D) เอ แอนท์ มด (A) อี เอ้ก ไข่ (E) เอ็น นิวซีแลนด์ (N) และจี ไจแอนท์ (G) เพียงเพื่อต้องการสื่อสารคำว่า “แดง” หรือ “daeng” เป็นภาษาอังกฤษไปให้อีกฝั่ง เพื่อให้ส่งอีเมลมาที่ “daeng@kaikaikaikai.com” เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าใช้อีเมลเป็นชื่อโดเมนภาษาไทยทั้งหมด ก็จะสามารถแจ้งให้ลูกค้าคนไทยส่งอีเมลชื่อโดเมนไทยมาที่ “แดง@ใครขายไข่ไก่.ไทย” ได้อย่างรวดเร็ว
“ดอทไทย” เติบโตคู่คนไทย
ทุกวันนี้ ชื่อโดเมนภาษาไทยกำลังเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันนี้มีผู้ใช้งานเว็บไซต์ภายใต้ดอทไทยมากกว่า 30,000 โดเมนแล้ว เช่น ศิลปินแห่งชาติ.ไทย กาแฟเมืองปาน.ไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.ไทย หรือ นวนุรักษ์.ไทย เป็นต้น รวมถึงอีกหนึ่งเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด นั่นคือ ทัวร์เที่ยวไทย.ไทย เว็บไซต์แพ็กเกจท่องเที่ยวไทยราคาไม่แพงที่มีผู้ใช้งานเกินล้านคนแล้วตอนนี้ อีกทั้งยังมีโครงการชื่ออีเมลภาษาไทย “@คน.ไทย” ที่ THNiC เปิดให้บริการที่สามารถลงทะเบียนใชังานได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย
นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐของไทยก็กำลังเริ่มทยอยปรับใช้งานดอทไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วด้วยเช่นกัน เช่น สพร.องค์กร.ไทย ของทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (Digital Government Development Agency หรือ DGA) หรือ กรมการแพทย์ทหารเรือ.รัฐบาล.ไทย เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า การใช้ชื่อโดเมนภาษาไทยนั้นจะทำให้ภาครัฐเข้าถึงประชาชนคนไทยทั่วประเทศได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะคนไทยระดับรากหญ้าที่จะสามารถจดจำชื่อเว็บไซต์ภาษาไทยได้ง่ายกว่าการใช้ชื่อโดเมนภาษาอังกฤษอย่างแน่นอน
จากทั้งหมดข้างต้น เชื่อว่าในอนาคตเราคงจะได้เห็นชื่อโดเมนเว็บไซต์และอีเมลดอทไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน และน่าจะทำให้คนไทยเริ่มใช้งานอีเมลดอทไทยมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตการติดต่อกับภาครัฐผ่านอีเมล “@คน.ไทย” อาจจะมีสิทธิประโยชน์อะไรที่เหนือกว่าก็เป็นได้ ดังนั้น ทุกท่านสามารถเข้าไปจับจองชื่ออีเมลบน “@คน.ไทย” ไว้ก่อนได้แล้ววันนี้
แนะนำโครงการชื่ออีเมลภาษาไทย @คน.ไทย
เปลี่ยนระบบของคุณให้รองรับ “ดอทไทย” ได้แล้ววันนี้
นอกจากฝั่งผู้ใช้ดอทไทยที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ฝั่งระบบหลังบ้านก็กำลังเริ่มรองรับชื่อโดเมนและอีเมลดอทไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน โดยคณะทำงานขับเคลื่อนการยอมรับสากล (Universal Acceptant Steering Group : UASG) ที่มีองค์กรชั้นนำของโลกมากมายนั้นได้ร่วมมือกันผลักดันให้ระบบทั่วไปต่าง ๆ ในโลกสามารถรองรับ IDN และ EAI สำหรับภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ ให้มากขึ้นอยู่ด้วยตอนนี้ นั่นแปลว่าในอนาคตสักวันหนึ่ง “ดอทไทย” ก็จะเป็นที่ยอมรับกันสากล โดยชื่อโดเมนหรืออีเมลที่เป็นภาษาไทยนั้นจะสามารถรับเข้า ประมวลผล จัดเก็บและแสดงผลระหว่างส่วนต่อประสาน (Interface) ต่าง ๆ ได้อย่างไร้รอยต่อแน่นอน
ถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าแอปพลิเคชันต่าง ๆ ในปัจจุบันจึงควรที่จะเริ่มมองหาแนวทางที่จะรองรับดอทไทยกันบ้างแล้ว และหากองค์กรหรือหน่วยงานใดอยากจะปรับปรุงให้อีเมลเซิร์ฟเวอร์รองรับอีเมลดอทไทยได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์หรือว่าผู้ดูแลระบบ สามารถดูวิดีโอสอนการปรับแต่งเครื่องเซิร์ฟเวอร์แบบง่าย ๆ ได้ที่ YouTube Channel หรือที่ Wikipedia ของทาง THNiC เพื่อดูรายละเอียดเชิงลึกเพิ่มเติม หากมีข้อสงสัยใด ๆ สามารถโทรเข้าไปสอบถามกับทาง THNiC ได้โดยตรงที่เบอร์ 02-244-8261
สำหรับใครที่ต้องการหลักสูตรเร่งรัด ทาง THNiC จะมีคอร์สและ Online Workshop ออกมาเรื่อย ๆ โดยสามารถติดตาม “กิจกรรม .ไทย” ที่จะมีในอนาคตได้ผ่านเว็บไซต์ https://academy.THNiC.or.th/ หรือถ้าองค์กรใดต้องการคอร์สอบรมแบบ On-demand Training สามารถติดต่อศูนย์การเรียนรู้มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNiC Academy Center) เพื่อพูดคุยรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา
สนใจอยากใช้ “ดอทไทย” ติดต่อ THNiC ได้ทันที
การใช้ “ดอทไทย”ทำให้คนไทยเข้าถึงแบรนด์หรือธุรกิจนั้นได้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยระดับรากหญ้าที่จะสามารถจดจำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องการสื่อสารตัวตนเป็นภาษาไทยแบบไทย ๆ การใช้งานชื่อโดเมนและอีเมล “ดอทไทย” นั้นจะทำให้เข้าถึงคนไทยได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://รู้จัก.ไทย/ หรือติดต่อมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNiC) ได้ผ่านอีเมล info@THNiC.or.th หากมีข้อสงสัยใด ๆ เพิ่มเติม
ผู้ที่สนใจต้องการจดทะเบียนชื่อโดเมน “.ไทย” สามารถติดต่อไปที่ผู้แทนจำหน่ายหรือติดต่อ THNiC โดยตรงได้แล้ววันนี้ โดยเมื่อท่านจดทะเบียนโดเมนภาษาไทยแล้วจะได้โดเมน “.ไทย” พร้อมกับชื่อโดเมน “.th” ไปใช้งานคู่กันด้วยเผื่อกรณีที่หน่วยงานหรือองค์กรปลายทางยังไม่รองรับดอทไทยนั่นเอง
Credit : รู้จัก.ไทย
ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ทำให้ชื่อโดเมนและอีเมล“ดอทไทย”เข้าถึงคนไทยได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และเมื่อถึงวันที่ “ดอทไทย” เริ่มใช้งานกันในวงกว้างเป็นสากลแล้ว ก็อาจจะไม่มีชื่อภาษาไทยที่ต้องการใช้เหลืออยู่แล้วก็เป็นได้ ดังนั้น ถ้าไม่อยากพลาดชื่อที่ตรงกับแบรนด์หรือว่าที่องค์กรต้องการ รีบสมัครจับของชื่อที่ต้องการไว้ก่อนได้เลยตั้งแต่วันนี้