ในงาน DCD>Thailand 2017 ได้มีการพูดคุยกันถึงประเด็นทางด้านยุทธศาสตร์ IT ในระดับภูมิภาคอินโดจีนที่ค่อนข้างน่าสนใจ ทางทีมงาน TechTalkThai จึงขอนำมาสรุปให้ทุกท่านได้อ่านกันดังนี้ครับ
โครงสร้าง IT Infrastructure ที่ไม่เข้มแข็ง คือความท้าทายร่วมของหลายประเทศในภูมิภาค
ความท้าทายร่วมของเหล่าประเทศในภูมิภาคอินโดจีนซึ่งยกเว้นสิงคโปร์นั้น ก็คือการที่โครงสร้างทางด้าน IT Infrastructure นั้นไม่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของระบบไฟฟ้า, พลังงาน, การเชื่อมต่อเครือข่าย, มาตรฐานต่างๆ ไปจนถึงบุคลากรที่จะมาขับเคลื่อนระบบ IT Infrastructure เหล่านี้
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่แต่ละประเทศต่างต้องเร่งปรังปรุง เพื่อให้รองรับต่อความต้องการทางด้านการเติบโตของ IT ทั้งภายในประเทศ และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ไปจนถึงการแข่งขันกันเพื่อที่จะเป็น Digital Hub ในการเข้ามาขยายตลาดสู่ภูมิภาคอินโดจีน
ในขณะเดียวกัน ความไม่เข้มแข็งเหล่านี้เองก็เป็นสัญญาณว่าประเทศในภูมิภาคอินโดจีนนี้ยังคงสามารถเติบโตและมีอะไรให้ต้องพัฒนาอีกเยอะ ดังนั้นประเด็นนี้ก็ถือเป็นจุดบอดในปัจจุบันและยังเป็นโอกาสในอนาคตไปพร้อมๆ กัน
อย่างไรก็ดี แต่ละประเทศก็ต้องเผชิญกับความท้าทายที่แตกต่างกัน
ถึงแม้ในภาพรวมทุกๆ ประเทศนั้นจะยังขาดความพร้อมเหมือนกัน แต่ในเชิงรายละเอียดแต่ละประเทศนั้นต่างก็มีรายละเอียดปลีกย่อยในความไม่พร้อมของตนเองที่แตกต่างกันไป ในบางประเทศนั้นยังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านพลังงานที่เสถียร เป็นตัวขัดขวางการสร้าง Data Center เพื่อให้บริการได้อย่างมั่นคง, บางประเทศขาดการเชื่อมต่อเครือข่ายที่ดี ทำให้การเชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลมายัง Data Center นั่นยังมีปัญหา, บางประเทศขาดประชากรและตลาดที่ใหญ่พอ ทำให้ไม่ดึงดูดต่อนักลงทุน, บางประเทศยังมีปัญหาทางด้านข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำให้การขยับขยายเป็นไปได้ยาก ในขณะที่หลายประเทศก็ขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้ และบางประเทศก็มีประเด็นทางด้านการเมืองการปกครองที่แตกต่างกันไป
ในทางกลับกัน แต่ละประเทศนั้นก็มีจุดแข็งที่แตกต่างกันไปด้วย บางประเทศนั้นภาครัฐให้การสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติเป็นอย่างดี, บางประเทศนั้นธุรกิจทางด้าน E-Commerce เติบโตอย่างรวดเร็ว ความแตกต่างในปัจจัยหลากหลายของแต่ละประเทศในภูมิภาคอินโดจีนนี้เอง ทำให้เหล่าธุรกิจข้ามชาติและนักลงทุนทั้งหลายต้องพิจารณาให้ดีในการที่จะมาลงทุนสร้างฐานเพื่อขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้ให้ดี เพราะปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อการลงทุนในระยะยาวอย่างแน่นอน
ในเวลานี้ แต่ละประเทศในภูมิภาคอินโดจีนจึงต่างต้องแก้ไขโจทย์ปัญหาที่แตกต่างกัน เพื่อเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้าน IT ที่มีความเข้มแข็งขึ้นมาทั้งเพื่อรองรับต่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และธุรกิจต่างๆ ภายในประเทศ รวมถึงแย่งกันเป็น Digital Hub ของตลาดอินโดจีนที่ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่เป็นที่ดึงดูดต่อธุรกิจข้ามชาติหลากหลาย รวมถึงกลายเป็นฐานสำหรับการให้บริการ Cloud ต่างๆ ได้อย่างมั่นคง
การกลายเป็นฐานสำหรับเหล่าผู้ให้บริการ Cloud นี้ถือว่าสำคัญไม่น้อย เพราะนอกจากการลงทุนในบริการ Cloud นั้นจะมีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แล้ว บริการ Cloud นี้ก็ยังไม่ได้จำกัดลูกค้าแค่เฉพาะภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ยังมีโอกาสที่จะขยายไปให้บริการในต่างชาติด้วย ประเด็นนี้จึงถือเป็นอีกข้อที่ควรให้ความสำคัญ
การมาของ Cloud จะทำให้อนาคตของธุรกิจ Colocation เป็นอย่างไร?
ก่อนหน้าการมาของ Cloud นั้น Colocation ถือเป็นบริการที่เป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของ Data Center เลยก็ว่าได้ แต่ Cloud ที่ทำให้เหล่าผู้ใช้งานไม่ต้องสนใจในชั้นของ Physical กันอีกต่อไปนั้นก็ต้องส่งผลกระทบต่อบริการ Colocation ไม่มากก็น้อย ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดพึงในงาน DCD>Thailand 2017 นี้ด้วย
อย่างไรก็ดี เนื่องจากสองบริการนี้มีตลาดที่ต่างกันค่อนข้างชัดเจน Cloud นั้นจะเหมาะกับธุรกิจที่ต้องการความคล่องตัวสูง และมองที่ชั้นของ IaaS, PaaS หรือ SaaS เป็นหลัก ในขณะที่ Colocation เองก็ยังเหมาะกับธุรกิจที่ยังไม่พร้อมจะใช้ Cloud ไม่ว่าจะด้วยประเด็นทางด้านเทคนิคหรือประเด็นทางด้านกฎหมายในแต่ลประเทศก็ตาม รวมไปถึงเหล่าผู้ให้บริการ Cloud เองที่จะกลายมาเป็นลูกค้าของบริการ Colocation ก็ทำให้บริการของ Colocation นั้นจะยังคงมีอยู่ต่อไป ควบคู่กับการให้บริการ Cloud อย่างแน่นอน
ไทยนั้นมีข้อได้เปรียบอยู่มาก แต่ก็ยังมีประเด็นต่างๆ ที่ต้องเร่งพัฒนาต่อไป
ในบรรดาประเทศแถบภูมิภาคอินโดจีนนั้น ไทยถือเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบในเชิงความพร้อมของการเป็น Digital Hub อยู่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งความพร้อมของระบบ IT Infrastructure ที่ยังถือว่าเหนือว่าประเทศอื่นๆ, จำนวนประชากรที่เยอะและมีผู้ใช้งาน Mobile Device เยอะ, การเชื่อมต่อเครือข่ายที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ, การเติบโตของธุรกิจ E-Commerce อย่างก้าวกระโดด และประเด็นอื่นๆ แต่ไทยเองก็ยังมีการบ้านที่ต้องทำอยู่ค่อนข้างมากหากต้องการจะเป็น Digital Hub เพื่อให้บริการทั้งภูมิภาคจริงๆ ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างทั้งภาครัฐและเอกชน
สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจในงาน DCD>Thailand 2017 ทางทีมงาน TechTalkThai จะทะยอยสรุปให้ได้อ่านกันต่อไปนะครับ