ในงาน IBM Think ASEAN ที่ผ่านมา ทางทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณ Marie Wieck ผู้ดำรงตำแหน่ง General Manager แห่งทีม IBM Blockchain เกี่ยวกับแนวโน้มทางด้านการนำ Blockchain มาใช้ในเชิงธุรกิจของภูมิภาค ASEAN ที่มีสิงคโปร์และไทยเป็นหัวหอก ประเด็นนี้น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว จึงขอนำมาสรุปให้ผู้อ่านทุกท่านได้อ่านกันดังนี้ครับ
มุมของ IBM: เราสนใจแต่ Blockchain ไม่ได้สนใจ Cryptocurrency และต้องการสร้างบุคลากรในตลาดนี้ให้มีจำนวนมากขึ้น
ทาง IBM ได้เล่าถึงภาพรวมจากมุมมองฝั่งของ IBM ก่อนว่าปัจจุบันนี้ทาง IBM สนใจแต่การพัฒนาเทคโนโลยีของ Blockchain ให้พร้อมต่อการประยุกต์นำมาใช้ในเชิงธุรกิจเท่านั้น ไม่ได้ลงไปสนใจในประเด็นเรื่องของ Cryptocurrency หรือ ICO เลย โดยการนำคุณสมบัติของ Blockchain ในประเด็นด้าน Immutable หรือการที่ไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้มาเป็นหัวใจหลัก เพื่อสร้างความเชื่อถือหรือ Trust ระหว่างกันในการทำธุรกรรมใดๆ บนระบบ Blockchain ร่วมกัน
ในยามนี้ที่ IBM มีทีมงานทางด้าน Blockchain ล้วนๆ มากถึง 600 ราย พร้อมทั้งยังเปิด Blockchain Garage ถึง 9 แห่งทั่วโลก รองรับให้ธุรกิจองค์กรต่างๆ มาทดลองนำ Blockchain มาสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการระดับ Prototype ได้แบบ Full Stack อีกทั้ง IBM เองก็ยังมีการสนับสนุนโครงการ Open Source ทางด้าน Blockchain หลากหลายรายการ โดยเฉพาะ Hyperledger ที่เป็นโครงการ Open Source Blockchain สำหรับการนำมาใช้งานในระดับองค์กรโดยเฉพาะ ซึ่งทาง IBM ก็นำมาใช้เป็นองค์ประกอบหลักของบริการ IBM Blockchain ในทุกวันนี้
ในการผลักดันด้านการนำ Blockchain มาใช้งานจริงในเชิงธุรกิจ IBM เองก็มีส่วนร่วมทั้งในแง่ของการเข้าไปให้ความรู้แก่ภาคธุรกิจ, การร่วมคิดร่วมออกแบบว่าจะสร้าง Business Network ด้วย Blockchain ขึ้นมาแก้ไขปัญหาใดในธุรกิจบ้าง, การร่วมพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์นั้นๆ ด้วยการเลือกใช้เทคโนโลยี Blockchain ที่เหมาะสม ไปจนถึงการร่วมประสานงานสร้าง Business Network เหล่านั้นให้เกิดขึ้นจริงได้ด้วยเครือข่ายธุรกิจของทาง IBM ที่มีอยู่ และคอยดูแลหรือเสริมความสามารถใหม่ๆ ให้กับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาใหม่ๆ เพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่อง
มุมของ IBM นั้นการผลักดัน Blockchain ให้เกิดขึ้นจริงได้นั้น เหล่าผู้พัฒนาเทคโนโลยีไม่สามารถจะมีบทบาทเพียงแค่ในส่วนงานทางด้านเทคนิคได้อีกต่อไป แต่การเข้าไปมีบทบาทในฐานะของ Partner ที่เชื่อถือได้สำหรับทุกๆ ธุรกิจที่จะมาเข้าร่วมวงใน Business Network นั้นถือเป็นบทบาทใหม่ที่สำคัญมากทีเดียว
Blockchain: สู่อนาคตของพื้นฐานสำหรับหลากหลายเทคโนโลยี ที่ผู้ใช้งานจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังใช้ Blockchain
ในอนาคตนั้น IBM มองว่า Blockchain จะกลายเป็นเทคโนโลยีในระดับ Infrastructure ที่ถูกครอบด้วย Application หรือ API และเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของแทบทุกๆ ระบบที่เกี่ยวข้องกับชีวิตการทำงานหรือชีวิตประจำวันของทุกๆ คน ผู้ใช้งานทั่วๆ ไปไม่จำเป็นต้องรับรู้ว่า Blockchain ถูกนำมาใช้ทำอะไรอย่างไร เพียงแค่รับรู้ว่าระบบดังกล่าวสามารถเชื่อถือได้ก็พอ โดยภาพรวมหลักๆ แล้วกรณีการนำ Blockchain มาใช้ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นเยอะในปัจจุบันมีดังนี้
-
การทำให้ธุรกิจต่างๆ เห็นลำดับการเกิดขึ้นของเหตุการณ์หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องใน Supply Chain แบบ End-to-End ว่าเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการได้อย่างโปร่งใส ทำให้รวดเร็วในการตรวจสอบใดๆ
-
สามารถทำธุรกรรมหรือสัญญาในแบบ Point-to-Point ได้แบบโปร่งใสและจัดเก็บข้อมูลแบบ Distributed กระจายทั้ง Business Network
-
สำหรับภาคการเงินหรือธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องมีการ Audit การที่ข้อมูลและเอกสารหรือธุรกรรมถูกบันทึกและจัดเก็บอยู่บน Blockchain ทั้งหมด ก็ทำให้สามารถทำการ Audit ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น มีต้นทุนที่ต่ำลง สามารถตรวจเจอปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับให้ธุรกิจให้ลดน้อยลงได้
ทั้งนี้การผสานเทคโนโลยี Blockchain เข้ากับเทคโนโลยีอื่นๆ เองก็จะมีกรณีการใช้งานจริงให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำ Artificial Intelligence (AI) เข้ามาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนทำการบันทึกลง Blockchain, การบันทึกข้อมูลจากอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) และเปิดสิทธิ์ให้ระบบอื่นๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ตามที่กำหนด
อย่างไรก็ดี ทาง IBM ได้ย้ำว่า Blockchain นั้นไม่ใช่เทคโนโลยีที่จะมาตอบโจทย์ได้ทุกอย่างในโลกนี้ ดังนั้นภาคธุรกิจเองก็ควรจะตีโจทย์ที่ต้องการแก้ไขปัญหาให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะมาเลือกว่าควรใช้ Blockchain หรือไม่ แล้วจึงค่อยมาเลือกว่าจะใช้ Blockchain ใดในการแก้ไขปัญหา อย่าให้เทคโนโลยีเป็นตัวนำในโครงการ การแก้ไขปัญหาในธุรกิจให้ได้ควรสำคัญเป็นอันดับแรกเสมอ
ธุรกิจใน ASEAN เริ่มทดลอง Blockchain หลากหลายรูปแบบ Business Networking คือหัวใจสำคัญในการเติบโต
ใน ASEAN นี้ถือว่าการเติบโตของการนำ Blockchain มาใช้เริ่มอยู่ในช่วงจังหวะที่น่าสนใจ โดยมีสิงคโปร์และไทยที่ตื่นตัวกับการทดลองและใช้งาน Blockchain ในภาคธุรกิจกันเป็นอย่างมาก อย่างเช่นภาครัฐของสิงคโปร์เองที่มีการผลักดันให้ธุรกิจในทุกๆ อุตสาหกรรมเริ่มนำ Blockchain มาใช้และสร้าง Business Network ให้เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างให้ได้ และทางภาคการเงินของไทยที่เริ่มนำ Blockchain มาใช้งาน
สำหรับตัวอย่างของการนำ Blockchain มาใช้ในภูมิภาค ASEAN มีดังนี้
-
IBM จับมือกับ Monetary Authority of Singapore (MAS) และ Singapore Economic Development Board (EDB) เพื่อพัฒนาระบบ Multi-party Trade Finance และพัฒนาบุคลากรทางด้าน Blockchain ในสิงคโปร์
-
IBM จับมือกับ Pacific International Lines (PIL) และ PSA International ธุรกิจขนส่งและจัดการท่าเรือ เพื่อนำ Blockchain มาใช้ในระบบการ Track สินค้า, การทำ Regulatory Compliance ในอุตสาหกรรม Logistics และการบริการข้อมูลให้สามารถตรวจสอบธุรกรรม, สัญญา และเอกสารต่างๆ แก่ธุรกิจใน Business Network
-
IBM จับมือกับ National University of Singapore (NUS) สร้างหลักสูตร Financial Technology ที่เน้นการศึกษาเทคโนโลยี Blockchain และ Distributed Ledger พร้อมให้ความรู้กรณีศึกษาด้านธุรกิจการเงินและ Supply Chain Management
-
IBM จับมือกับธนาคารกสิกรไทย พัฒนาระบบ Letter of Credit Network เพื่อเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยและลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบกวนการ Letter of Guarantee และเริ่มถูกนำไปใช้โดยธนาคารและองค์กรต่างๆ หลากหลายมากขึ้น
-
IBM จับมือธนาคารกรุงศรีอยุธยา นำ Blockchain มาใช้ในกระบวนการ Related Party Transaction (RPT) ให้สามารถบริหารจัดการสัญญาต่างๆ ได้อย่างเป็นอัตโนมัติ, ปลอดภัย และโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
-
IBM จับมือกับ Deutsche Bank, HSBC, Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) และ Treasuries of Cargill เพื่อทดสอบการทำระบบ Shared Know Your Customer (KYC) ร่วมกัน
จะเห็นได้ว่าการนำ Blockchain มาใช้ในการสร้าง Business Network ให้ประสบความสำเร็จนี้ จำเป็นที่จะต้องมีผู้นำร่วมทางด้านเทคโนโลยีและธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบ Prototype ที่สามารถแก้ปัญหาร่วมกันในหลายธุรกิจได้จริง Business Network จึงจะเกิดขึ้นมาได้สำเร็จ และการส่งต่อโครงการนี้ให้กลายเป็นโครงการร่วมกันระหว่างธุรกิจใน Business Network ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการหรือทีมงานมาพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันเองก็เป็นอีกหัวใจที่จะทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดี ก็อาจมองได้ว่ากรณีแบบนี้ผู้ที่เริ่มลงมือทดลองเป็นคนแรกจะเป็นผู้ที่เสียเปรียบ แต่หากมองให้ลึกแล้วการลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Blockchain นี้ ผู้ที่ได้ลงมือก่อนก็ย่อมได้เปรียบในแง่ของการสร้างบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ขึ้นมาได้ก่อน ทำให้สามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำทางด้านการประยุกต์นำ Blockchain ไปใช้งานในอุตสาหกรรมของตนเองได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ เหล่าองค์กรเองก็จะยังมีอีกโจทย์หนึ่งที่ควรจะต้องให้ความสำคัญ คือการตัดสินใจเลือกว่าจะสร้าง Blockchain Network ใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา หรือการเข้าร่วมในโครงการที่มีผู้อื่นเข้าร่วมอยู่แล้ว ทั้งสองแบบนี้ก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป ต้องเลือกพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจ
เทคโนโลยีด้าน Blockchain ที่น่าจับตามองหลังจากนี้
เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับคนที่กุมบังเหียนด้าน Blockchain ของ IBM ทางทีมงาน TechTalkThai จึงถือโอกาสถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางด้าน Blockchain ที่น่าจับตามองในอนาคต และได้คำตอบที่น่าสนใจมาไม่น้อยทีเดียว ดังนี้
1. การปรับปรุง Customer Experience สำหรับผู้ใช้งาน Blockchain Application
ตอนนี้การเกิดขึ้นของเหล่า Blockchain Application นั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นระบบที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก เน้นพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่า Blockchain สามารถนำมาใช้สร้างประโยชน์ให้กับเหล่าธุรกิจได้อย่างไร ซึ่งเมื่อผ่านพ้นขั้นตอนนี้ไปแล้วการปรับปรุง Application ทางด้าน Blockchain นี้ให้ง่ายต่อการเข้าถึงและใช้งานจริงก็จะตามมา ซึ่งก็แน่นอนว่าเหล่า Business Analyst, UI/UX Designer, Marketer และบทบาทอื่นๆ ในองค์กรเองก็ต้องเริ่มหันมาทำความเข้าใจในเทคโนโลยี Blockchain และการนำมาใช้งานจริงให้มากขึ้นแล้ว
2. การสร้าง Digital Twins ด้วย Blockchain
หนึ่งในกรณีทีการนำ Blockchain ไปใช้งานจริงที่สามารถนำไปใช้ได้ในแทบทุกอุตสาหกรรมก็คือการแปลงสินค้าต่างๆ ให้มีตัวตนอยู่ในรูป Digital และจัดเก็บบน Blockchain เพื่อการเพิ่มความสามารถในการติดตาม, เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการทำงานต่างๆ, ทำให้การทำ Regulatory Compliance เป็นไปได้อย่างอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากขึ้น, การแบ่งปันข้อมูลต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น, เปลี่ยนการแสดงความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์ให้อยู่ในรูป Digital และอื่นๆ
หนึ่งในกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ คือแนวคิดเรื่องของการทำให้สิ่งของต่างๆ นั้นมี E-Wallet ที่ยึดติดกับสิ่งของชิ้นนั้นๆ ทำให้สิ่งของแต่ละชิ้นที่มีรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนกัน แต่อาจมีคุณค่าหรือราคาและความสามารถที่แตกต่างกันไป รวมถึงทำให้เกิดการทำงานแบบอัตโนมัติหรือโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เช่น การฝั่งให้รถยนต์ไร้คนขับนั้นมี E-Wallet ของตนเอง สามารถขึ้นทางด่วนได้ด้วยการจ่ายเงินเองแบบอัตโนมัติ ก่อนที่จะคิดค่าใช้จ่ายกับผู้โดยสารในแบบ Pay-per-Use ภายหลัง เป็นต้น
3. เทคโนโลยีเสริมต่างๆ ที่จะทำให้การนำ Blockchain มาใช้งานจริงเป็นไปได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
นอกจากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี Blockchain ที่ถูกออกแบบมาแก้ไขปัญหาที่ต่างๆ กันแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีแวดล้อมเพื่อให้การนำ Blockchain มาใช้งานจริงได้ง่ายขึ้นนั้นก็เป็นอีกประเด็นที่น่าจับตามอง
ในมุมของ IBM เองนั้นได้มีการเข้าไปพัฒนาหลายๆ โครงการใน Hyperledger เช่น Composer เพื่อให้สามารถสร้าง Blockchain Application ได้ง่ายและหลากหลายขึ้น, Indy สำหรับใช้สร้าง Distributed Ledger เพื่อจัดเก็บข้อมูล Identity โดยเฉพาะ, Quilt สำหรับเชื่อมต่อหลายๆ Blockchain Network เข้าด้วยกัน, Burrow เชื่อมต่อ Hyperledger เข้ากับ Ethereum
นอกจากนี้ทาง IBM เองก็ยังให้ความสนใจกับโครงการอื่นๆ อย่าง Soverin หรือ Stellar ด้วย
4. การแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่าง Blockchain และกฎหมาย GDPR
ข้อขัดแย้งหนึ่งที่เป็นประเด็นใหญ่พอสมควรคือการที่ข้อมูลบน Blockchain นั้นไม่สามารถถูกลบได้ ในขณะที่กฎหมาย General Data Protection Regulation หรือ GDPR นั้นระบุว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้งานในยุโรปนั้นจะต้องทำการลบข้อมูลของผู้ใช้งานหากมีการร้องขอเกิดขึ้น
ทาง IBM ตอบอย่างมั่นใจว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ IBM ให้ความสำคัญและทำการวิจัยมาโดยตลอด จนเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ และมีหลายหนทางที่จะทำให้ Blockchain สามารถตอบโจทย์เรื่องการลบข้อมูลได้ตามข้อกำหนดของกฎหมาย เช่น การใช้แนวคิด On-Chain/Off-Chain เข้ามาช่วย หรือการใช้วิธีทำลายกุญแจเข้ารหัสข้อมูลแทน และวิธีการอื่นๆ แต่ทั้งนี้ความพยายามในการลบข้อมูลบน Blockchain เพื่อให้ตอบโจทย์ของกฎหมายนี้ได้ก็ต้องเลือกวิธีการที่เหมาะสม เพราะแต่ละวิธีเองนั้นก็มีข้อจำกัดของตัวเองอยู่
5. การมาของ Quantum Computer และผลกระทบที่จะมีต่อเทคโนโลยี Blockchain
สุดท้ายคือเรื่องการมาของเทคโนโลยี Quantum Computer ที่อาจมาทำให้เทคโนโลยีการเข้ารหัสในปัจจุบันนี้สามารถถูกถอดรหัสได้ด้วยความเร็วในการประมวลผลที่สูงมาก IBM เองในฐานะบริษัทที่ลงทุนวิจัยทั้งเทคโนโลยีด้าน Quantum Computer และ Blockchain ก็ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่าการเปลี่ยนไปใช้ Lattice-based Cryptography ก็น่าจะเข้ามาช่วยแก้ไขประเด็นปัญหาเหล่านี้ได้ในอนาคต