ปิดฉากลงไปอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้วสำหรับเอเชียนเกมส์ “The 19th Asian Games Hangzhou 2022 (Hangzhou Asian Games)” งานแข่งขันกีฬาสุดยิ่งใหญ่ในทวีปเอเชียครั้งที่ 19 ณ เมืองหางโจวประเทศจีน หลังจากต้องเลื่อนการจัดการแข่งขันมาถึงหนึ่งปีเต็ม แต่ก็เรียกได้ว่า “สมกับการรอคอย” ตั้งแต่เริ่มพิธีเปิดสุดอลังการ ตลอดจนการแข่งขันที่ถ่ายทอดสดตลอดทั้งงาน มาจนถึงพิธีปิดงานจบลงอย่างสวยงาม ส่งไม้ต่อให้กับเจ้าภาพครั้งถัดไปเป็นที่เรียบร้อย
เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ในการแข่งขันกีฬากว่า 40 ชนิด จากประเทศที่เข้าร่วม 45 ประเทศที่มีตัวแทนนักกีฬากว่า 12,500 คน เพื่อมาชิงชัย 481 เหรียญทองกันในสถานที่จัดงาน (Venue) 56 แห่ง นอกจากแรงกายแรงใจของทีมผู้จัดงานและอาสาสมัครมากมายแล้ว ยังมีเรื่องของเทคโนโลยีจาก “Alibaba Cloud” ที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลังหลากหลายรูปแบบ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการทรานสฟอร์มรูปแบบการจัดงานแข่งขันไปอีกระดับขั้นเรียบร้อยแล้ว แล้วเทคโนโลยีและโซลูชันจาก Alibaba Cloud ที่ได้ถูกนำมาใช้ในการจัดงาน Hangzhou Asian Games มีอะไรบ้าง รวบรวมไว้แล้วในบทความนี้
1. ครั้งแรกที่รัน “Core Systems ทั้งหมดบน Alibaba Cloud”
เรียกได้ว่าเป็น “ครั้งแรก” สำหรับการจัดงานการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาคอย่างเอเชียนเกมส์ ที่ระบบแกนหลักสำคัญ (Core Systems) “ทั้งหมด” ในการจัดงานแข่งขันรันอยู่บน Alibaba Cloud เป็นที่เรียบร้อย
โดยระบบ Core Systems ในการจัดการแข่งเอเชียนเกมส์นั้น ประกอบไปด้วย
- Games Management Systems (GMS) ระบบบริหารจัดการเกมการแข่งขัน ที่รวมทั้งเรื่องการจัดการสถานที่แข่ง (Venue) นักกีฬา บัตรผ่าน ผู้เข้าชม อาสาสมัคร เป็นต้น
- Results Distribution Systems (RDS) ระบบกระจายผลลัพธ์การแข่งขันจากสถานที่แข่งขันต่าง ๆ เพื่อนำมารวมเข้ากับระบบกลางสำหรับการเผยแพร่ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่าน API
- Games Support Systems (GSS) ระบบสนับสนุนเกมการจัดการแข่งขันอื่น ๆ อาทิ ระบบสื่อสารระหว่างทีมงาน
ในงาน Hangzhou Asian Games ครั้งนี้ ทั้งสามระบบสำคัญได้ถูกใช้งานผ่าน Alibaba Cloud เพื่อสนับสนุนการแข่งขันแต่ละ Venue ทั้ง 56 แห่งทั้งหมด ทั้งการจัดการนักกีฬา คิวการแข่งขัน การออกอากาศ (Broadcasting) ที่เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้ออกอากาศจะได้รับภาพฟุตเทจสดคมชัดระดับ HD และ UHD ผ่าน Alibaba Cloud ทั้งหมด รวมทั้งการคัดไฮไลท์ระหว่างการแข่งขันที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอดทั้งงานเอเชียนเกมส์ Hangzhou Asian Games การดำเนินการแข่งขันและการแพร่ภาพนั้นล้วนมีความราบรื่นตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงาน
Credit : cloudintelgrp
2. รองรับแขกคนสำคัญด้วย “Smart Asian Games Villages”
นอกจากการแข่งขันแล้ว การดูแลทัพนักกีฬาจากนานาประเทศกว่า 12,500 รวมทั้งผู้สื่อข่าว เจ้าหน้าที่จากแต่ละประเทศที่รวมแล้วมากกว่า 2 หมื่นคนนั้น ก็ยังมีเทคโนโลยีคลาวด์อยู่เบื้องหลัง โดยมีเทคโนโลยีที่ Alibaba Cloud มารองรับแขกคนสำคัญของเมืองหลากหลายอย่าง อาทิ
- Intelligent Operation Platform สนับสนุนการบริหารจัดการดำเนินงานของหมู่บ้านเอเชียนเกมส์ทั้ง 3 แห่งให้มีความราบรื่น เช่น การจราจร ความหนาแน่นของมวลชน สภาพอากาศ เหตุการณ์ไฟดับไฟไหม้ ที่วิเคราะห์ได้แบบ Real-Time และแจ้งเตือนได้ทันที
- Intelligent Customer Services บริการผ่านแชทบอทที่พร้อมให้คำปรึกษากับผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านเอเชียนเกมส์ โดยรองรับการตอบสนองภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนผ่านเว็บแอปพลิเคชัน เกี่ยวกับบริการภายในหมู่บ้านได้ตลอดเวลา
- Low-Carbon Activities กิจกรรมสนับสนุนให้ทุกคนในหมู่บ้านนึกถึงความยั่งยืน (Sustainabilty) ตลอดเวลา โดยมีคะแนน (Point) ให้กับกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การเดินหรือปั่นจักรยาน ซึ่งสามารถนำ Point ไปแลกของขวัญที่เป็น Low-Carbon ได้ด้วย
3. “DingTalk for Asian Games” มากกว่าแค่การสื่อสาร
ไม่ว่าการทำงานรูปแบบใด ช่องทางการสื่อสารคือส่วนสำคัญ และเครื่องมือที่เลือกใช้นั้นจะมีผลกับกระบวนการทำงานว่าจะมีความไหลลื่นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าหากเป็นสายนักพัฒนาระบบอาจจะเลือกใช้ Slack หรือที่กำลังนิยมในกลุ่มวัยรุ่นอย่าง Discord ส่วนในงาน Hangzhou Asian Games นั้น “DingTalk for Asian Games” หรือ DingTalk เวอร์ชัน Enterprise คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการสื่อสารทั้งหมด
คนทั่วไป อาจจะมองว่า DingTalk นั้นเป็นเหมือนเครื่องมือสื่อสารเหมือนกับ LINE หรือ Messenger สามารถประชุมออนไลน์ได้เหมือน Google Meet หรือ Zoom แต่สำหรับ DingTalk for Asian Games นั้นคืออีกเวอร์ชันที่เหนือกว่าอย่าง “มหาศาล” ไม่ว่าจะเป็น
- Versatile Coordinator ช่วยให้การค้นหาผู้ติดต่อในแผนกอื่น ๆ หรือองค์กรอื่นง่ายขึ้น ทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ และการอนุมัติเข้าออกพื้นที่ต่าง ๆ รวมศูนย์อยู่ในที่เดียว
- Mobile Digital Workplace พื้นที่ทำงานดิจิทัลที่สามารถสร้างทีมทำงาน (Work Group) ประชุมผ่านเสียงหรือวีดีโอได้บนแพลตฟอร์มทันที รวมทั้งติดตามความคืบหน้าโครงการ Venue ต่าง ๆ และอนุมัติเดินหน้าโครงการแบบ Paperless ได้อย่างรวดเร็ว
- Intelligent Assistant แชทบอทผู้ช่วย AI ที่ช่วยผู้จัดงานและอาสาสมัครสามารถเข้าใจกฎกติกาของเกมการแข่งขันได้ง่ายขึ้น รวมทั้งสามารถถอดข้อความ (Transcription) 9 ภาษาพูดได้แบบ Real-Time และสรุปประชุมให้อย่างรวดเร็ว
- Developer-friendly Platform แพลตฟอร์ม Low-Code พร้อมสนับสนุนการการพัฒนามินิแอป (Mini App) หรือมินิเกม (Mini Game) ขึ้นมาได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาทีมไอทีใด ๆ
ในงาน Hangzhou Asian Games ครั้งนี้ได้มี Mini App เกิดขึ้นมามากกว่า 300 แอปแล้วที่ใช้งานใน DingTalk for Asian Games โดยตัวอย่างแอป เช่น Team Venue Management System เกมสำหรับจองสระว่ายน้ำ พร้อมสร้าง Guest List ที่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ได้ทันที และถ้าหากผู้ใช้งานต้องการฟีเจอร์หรือฟังก์ชันที่เหนือกว่าในแพลตฟอร์ม Low-Code ทำได้ ก็ยังสามารถติดต่อทีม DingTalk ในการช่วยปรับแต่ง (Customize) ในเชิงเทคนิคเพิ่มเติมได้อีกด้วย
DinkTalk for Asian Games จึงเป็นเหมือน One-Stop Collaboration ที่รวมศูนย์การสื่อสารทุกอย่างภายในงาน Hangzhou Asian Games ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2023 ที่ผ่านมานั้นมีข้อความที่ส่งผลในแพลตฟอร์มมากกว่า 4.5 ล้านข้อความ และมี Work Group มากกว่า 12,000 กลุ่มแล้ว อีกทั้งปัจจุบันได้มีลูกค้าองค์กรมากกว่า “23 ล้านองค์กร” แล้วด้วย ซึ่งในอนาคต Alibaba Cloud กำลังจะต่อยอดออกมาเป็น DingTalk for Business เวอร์ชัน Enterprise ที่พร้อมสนับสนุนการใช้งานได้ทั่วโลกและในเกมการแข่งขันถัด ๆ ไป
4. Digital Art จาก “ทงอี้ว่านเซียง (Tongyi Wanxiang)” ผสมผสานภาพจริง
นอกจากบริการ AI ใหม่ในงาน Alibaba Cloud Global Summit ที่ประกาศออกมาแล้ว ในงาน Hangzhou Asian Games ยังมี Use Case การใช้งาน “Tongyi Wanxiang หรือ ทงอี้ว่านเซียง (จีน : 通义万相; พินอิน : Tōng yì wàn xiāng)” โมเดล generative AI สร้างภาพ Digital Art ใส่ไว้ในภายในงานตามที่ต่าง ๆ รวมถึงในแสตมป์ไปรษณีย์ที่ได้ร่วมมือกับทาง China Post
ด้วยขีดความสามารถของ Tongyi Wanxiang ที่สามารถสร้างภาพจากข้อความ (Text-To-Image) พร้อมทั้งทำ Style Transfer จึงทำให้การสร้าง 6 ภาพแลนด์มาร์กที่มีชื่อเสียงของเมือง Hangzhou แห่งอนาคตทำได้อย่างสวยงาม ผสมผสานกับภาพของแต่ละแลนด์มาร์กจริง ๆ ได้อย่างแนบเนียน ซึ่งจะเห็นได้ว่าฝั่งซ้ายของภาพจริงและฝั่งขวาเป็นภาพจาก Tongyi Wanxiang นั่นเอง
Credit : Data & Storage Asean
5. เอเชียนเกมส์ที่ยั่งยืนมากกว่าเดิมด้วย “Energy Expert”
เรื่องความยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกคนบนโลกต้องให้ความสำคัญ และภายใน Hangzhou Asian Games นี้ได้มีโซลูชัน Energy Expert จาก Alibaba Cloud อยู่เบื้องหลังในการบริหารจัดการคาร์บอนด้วย AI เพื่อวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) และสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมงานปรับการกระทำให้อยู่ในแนวทางคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon) โดย 3 สิ่งที่ Alibaba Cloud สนับสนุนด้านความยั่งยืนในงาน Hangzhou Asian Games นี้ ได้แก่
- Sustainability Web Application เว็บแอปพลิเคชันแบบ Interative ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อเก็บคะแนนคาร์บอนของผู้ใช้งาน เพื่อสนับสนุนให้ใช้การขนส่งสาธารณะ รีไซเคิลของเสีย และลดขยะอาหาร โดยคะแนนสะสมสามารถนำไปแลกของรางวัลเป็นเข็มกลัดหรือผลิตภัณฑ์ Low-Carbon ได้
- Low-Carbon Product ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำที่มีให้เลือกซื้อหรือมาแลกของรางวัลได้ โดยจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคำนวณ Carbon Footprint ด้วย Energy Expert ทั้งหมดแล้วว่าได้มาตรฐาน ตั้งแต่ดีไซน์ วัตถุดิบ รวมถึงกล่องผลิตภัณฑ์
- Low-Carbon Store ร้านค้าคาร์บอนต่ำทุกภาคส่วน ตั้งแต่วัสดุก่อสร้างที่คาร์บอนต่ำ รวมไปถึงการประหยัดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือการปรับใช้โซลูชันประหยัดไฟและแอร์ได้ด้วยเซ็นเซอร์ IoT เป็นต้น
6. “เสี่ยวโม่ (Xiaomo)” ล่ามภาษามือรูปแบบ Digital Avatar
จากข้อมูลของ WHO เผยว่ามีประชากรกว่า 1.5 พันล้านคน (ราว 20% ของทั้งโลก) นั้นมีภาวะสูญเสียการได้ยิน เช่นนี้เองใน Hangzhou Asian Games ครั้งนี้ Alibaba Cloud จึงมีโซลูชันที่ช่วยสนับสนุนให้กับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ด้วย “Xiaomo หรือ เสี่ยวโม่ (จีน : 小莫 ; พินอิน : Xiǎomò)” Digital Avatar ที่เป็นผู้ช่วยภาษามือแบบเสมือน (Virtual Sign Assistant)
โดย Alibaba Cloud ได้เชื่อมโยง Xiaomo เข้าไปเป็น Mini App บนแพลตฟอร์มรับชำระเงิน Alipay ที่สนับสนุนการรู้จำภาษามือ (Sign Language Recognition) ได้ทั้งสองทาง คือแปลงจากภาษามือเป็นเสียงและแปลงเสียงเป็นภาษามือได้ โดยผู้ใช้งานสามารถพูดเป็นเสียงเข้าไปแล้ว Xiaomo จะทำท่าทางภาษามือขึ้นมาให้ได้ทันที และเช่นเดียวกันสามารถแปลงจากภาษามือของคนกลับไปเป็นเสียงได้ด้วย ทำให้การลดอุปสรรคการสื่อสารระหว่างกันไปอีกรูปแบบหนึ่ง
Credit : Alibaba Cloud Blog
เบื้องหลังของ Xiaomo คือโมเดล Transformer ที่ได้ฝึกฝนกับข้อมูลภาษามือที่เป็นวีดีโอราว 25,000 ข้อมูล จากผู้เชี่ยวชาญภาษามือและอาสาสมัครในเมือง Zhejiang ที่ช่วยกันสร้างข้อมูลเหล่านี้ขึ้นมาถึง 2 ปีเนื่องจากข้อมูลภาษามือที่ใช้เทรนได้นั้นมีอยู่น้อยมาก ๆ
หลังจากสร้าง Xiaomo ได้สำเร็จ Digital Avatar ตัวนี้ได้ช่วยเหลือผู้ที่เข้าร่วมงาน Hangzhou Asian Games ในการตอบคำถามทั่ว ๆ ไปได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ เช่น การถามทาง ซื้อของ หรือการพูดคุยกับคุณหมอ ทำให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินที่มาร่วมงาน Hangzhou Asian Games นั้นเข้าถึงเกมการแข่งขันได้สนุกมากขึ้น และสามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้ดีขึ้นอีกด้วย
Credit : Alibaba Cloud Blog
บทส่งท้าย
ทั้งหมดนี้คือเบื้องหลังของเทคโนโลยีจาก Alibaba Cloud ที่สนับสนุนในงาน Hangzhou Asian Games การจัดการแข่งขันกีฬาอย่างยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทีม TechTalkThai และ ADPT.news เชื่อเหลือเกินว่าเราอาจจะได้เห็นเทคโนโลยีและโซลูชันเหล่านี้จาก Alibaba Cloud หรือโซลูชันที่มีลักษณะคล้ายกันแบบนี้ไปมีบทบาทกับการแข่งขันกีฬาสุดยิ่งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งถัด ๆ ไปในอนาคตอย่างแน่นอน