นักวิจัยจาก University Hospital of Montpellier ในประเทศฝรั่งเศสได้ทำการพัฒนาตับอ่อนเทียมที่มีเครื่องจ่ายอินซูลิน, Sensor วัดปริมาณน้ำตาลสำหรับฝังอยู่ใต้ผิวหนัง และ Application สำหรับ Smartphone เพื่อให้ระบบทั้งหมดทำงานร่วมกันในการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบที่ 1
กล่าวอย่างคร่าวๆ เบาหวานคืออาการที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้การดูดซึมกลูโคสเข้าไปยังเซลล์ส่วนต่างๆ ในร่างกายนั้นมีปริมาณที่ต่ำกว่าปกติ และทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญพลังงานเหล่านี้ได้ ส่งผลต่อระบบการจัดเก็บไขมันและโปรตีนในร่างกายให้ทำงานผิดปกติตามไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบที่ 1 นั้นจะต้องได้รับอินซูลินทุกวัน และระบบตับอ่อนเทียมแบบ Internet of Things (IoT) นี้ก็จะเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้นั่นเอง
ตับอ่อนเทียมแบบ IoT จะทำการตรวจวัดปริมาณน้ำตาลกลูโคสในเลือดอย่างต่อเนื่องจาก Sensor ที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนัง และใช้อัลกอริธึมประมวลผลว่าร่างกายจะต้องการอินซูลินมากน้อยเพียงใดเพื่อให้ปริมาณกลูโคสในเลือดนั้นอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และข้อมูลการประมวลผลนี้ก็จะถูกส่งไปยังเครื่องจ่ายอินซูลินผ่านทางระบบไร้สาย เพื่อให้การจ่ายอินซูลินมีปริมาณตรงกับที่คำนวนได้บน Smartphone
จากการทดลองเบื้องต้นกับผู้ป่วย 21 คนพบว่าได้รับการตอบสนองที่ดี และผู้ป่วยทุกคนก็มีปริมาณกลูโคสในเลือดที่เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา โดยขั้นถัดไปทางทีมวิจัยจะเริ่มทดสอบระบบนี้กับผู้ป่วย 240 คนในสหรัฐอเมริกาและยุโรปแล้ว โดยงานวิจัยนี้จะเริ่มกลายเป็นผลิตภัณฑ์ได้ในช่วงปี 2017
เป็นอีกโครงการ IoT ที่ถือว่ามีผลกระทบต่อมนุษยชาติมากทีเดียวครับ