เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทาง ARM ได้จัด IoT Workshop ขึ้นเพื่อนำเสนอแง่มุมต่างๆของการนำเทคโนโลยี IoT ไปใช้ในธุรกิจ ทีมงาน TechTalkThai ได้เข้าไปร่วมงาน และทำความรู้จักกับ ARM Pelion IoT Platform จึงอยากจะมาเล่าให้ผู้อ่านฟังกันคร่าวๆว่าเจ้าแพลตฟอร์ม IoT นี้มีความสามารถอย่างไร และเหมาะกับธุรกิจแบบไหนบ้าง
IoT นั้นเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่หลายองค์กรยกให้เป็นยุทธศาสตร์ในปี 2019 จากความสามารถในการรวบรวมข้อมูล ซึ่งนับว่าเป็นวัตถุดิบในการทำธุรกิจที่ขาดไม่ได้เลยในยุคปัจจุบัน จนถึงตอนนี้ หลายองค์กรอาจเริ่มต้นกับ IoT กันบ้างแล้ว แต่ความท้าทายใหม่ที่ธุรกิจมักจะเผชิญกันก็คือการจัดการและสเกลระบบ IoT ให้ใช้งานเก็บข้อมูลได้จริงเต็มประสิทธิภาพ ปลอดภัย และมีระบบจัดการที่ดี ดังนั้นจึงมีการพัฒนาแพลตฟอร์ม IoT ขึ้นเพื่อช่วยธุรกิจในการแก้ปัญหานี้
ARM Pelion IoT Platform ก็เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์ม IoT ที่จะเข้ามาช่วยลดความซับซ้อนของการนำ IoT ไปใช้งานในธุรกิจ แพลตฟอร์ม Pelion นี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามการใช้งาน คือ Connectivity Management Services, Device Management Services, และ Data Management Services โดยทั้ง 3 ส่วนจะทำงานร่วมกันภายใต้ระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่สุดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทุกๆตัวของ Arm

Pelion จะช่วยให้ธุรกิจจัดการกับเครือข่าย อุปกรณ์ในเครือข่าย และข้อมูลที่เก็บมาได้ง่ายขึ้น โดยสามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์ ระบบเครือข่าย คลาวด์ และข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบ อีกทั้งยังมีความปลอดภัย และสามารถช่วยในการนำข้อมูลไปวิเคราะห์และแสดงผลเบื้องต้นได้ด้วย
รู้จักแพลตฟอร์มนี้ไปคร่าวๆแล้ว ลองมาเจาะลึกกันว่าส่วนประกอบทั้ง 3 ส่วน อันได้แก่ Connectivity Management, Device Management, และ Data Management นั้นประกอบไปด้วยอะไร และมีจุดเด่นอย่างไรบ้าง
Connectivity Management
การเชื่อมต่อในเครือข่าย IoT นั้นมีอยู่หลายรูปแบบ และมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ธุรกิจจะต้องจัดการอยู่พอสมควร Pelion จะช่วยให้องค์กรสามารถจัดการการเชื่อมต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และพร้อมต่อการสเกลเครือข่ายขึ้นไปถึงระดับโลก โดย Connectivity Management ของ Pelion มีความสามารถที่น่าสนใจ ดังนี้
Global Cellular
Pelion จะช่วยให้อุปกรณ์ IoT สามารถเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายได้ไม่ว่าอุปกรณ์นั้นจะอยู่ที่ใดในโลก ผ่านเวนเดอร์เพียงเจ้าเดียว โดยกลไกของ Pelion จะช่วยเชื่อมต่อสัญญาณจากซิมของอุปกรณ์ไปยังเครือข่ายท้องถิ่นที่ Pelion ได้ทำข้อตกลงไว้ ลดภาระความปวดหัวในการติดต่อกับผู้ให้บริการเครือข่ายในแต่ละประเทศ
Protocol เชื่อมต่อทั้ง IP และ Non-IP
นอกจากส่งข้อมูลผ่าน IP Network แล้ว Pelion ยังรองรับ Non-IP Network เชน NB-IoT ด้วย โดยโปรโตคอลที่ Pelion รองรับนั้นมีได้แก่ MQTT(s) ,HTTPS, และ Sockets
ใช้ได้ทั้ง eSIM และซิมแบบปกติ
ธุรกิจสามารถสั่งผลิตอุปกรณ์ที่มีระบบ eSIM ผ่าน ARM ได้ตามต้องการ โดย eSIM ที่ติดมากับอุปกรณ์นั้นจะรองรับการเชื่อมต่อกับเครือข่ายกว่า 600 เครือข่ายทั่วโลก และหากต้องการเปลี่ยนเครือข่าย ก็สามารถตั้งค่าใหม่ได้ภายหลัง และในส่วนของซิมแบบปกติเอง Pelion ก็ให้บริการซิมการ์ดในทุกขนาด อีกทั้งยังมีแผนที่จะพัฒนาไปจนถึง iSIM ที่มีขนาดเล็กกว่า eSIM มากด้วย
Network Infrastructure
Pelion ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายให้สามารถทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีทั้งความเสถียร ยืดหยุ่น และเป็นไปตามกฎข้อบังคับด้านข้อมูลของแต่ละประเทศ ในการใช้ Pelion ผู้ใช้จะสามารถเลือกได้ว่าจะส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ไปยังแอปพลิเคชันผ่านเทคโนโลยีใด เช่น IPSEC, Open VPN, ผู้ให้บริการ Cloud, หรือทางเชื่อมที่ธุรกิจเช่ามาใช้โดยเฉพาะ (Leased Line)
Device Management
Device Management ของ Pelion นั้นจะช่วยให้องค์กรสามารถจัดการกับอุปกรณ์และการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ผ่านซอฟต์แวร์ได้โดยสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการเขียนซอฟต์แวร์แบบ Embedded หรือว่าการเขียนแอปพลิเคชันด้านบนอย่าง Web App ก็ตาม

โดยภายในโซลูชัน Device Management ก็จะมีโมดูลในการจัดการเรื่องต่างๆให้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่เรื่องการอัพเดท Firmware ซึ่งไม่ง่ายเลยหากมีอุปกรณ์ที่หลากหลายและมีจำนวนที่มากในเครือข่าย, Access Management ซึ่งจะช่วยจำกัดการเข้าถึงอุปกรณ์และการควบคุมแต่ละส่วน, Connector ซึ่งจัดการการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์หลากหลายประเภท การออก Certificate เข้าใช้ระบบ การขึ้นทะเบียนอุปกรณ์แต่ละตัว และการเก็บสถิติ, Device Directory ซึ่งช่วยในการแบ่งกลุ่ม ค้นหา เรียกดู และเช็คสถานะของอุปกรณ์แต่ละตัว, ไปจนถึงการรักษาความปลอดภัยในการส่งต่อรหัสผ่านเครือข่าย Wifi
โดยทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าเป็นการจัดการ Lifecycle ของอุปกรณ์ทั้งหมด ตั้งแต่การ Onboard เข้าระบบ ไปจนถึงการใช้งานและบำรุงรักษา
Device Management นั้นสามารถพูดคุยกับอุปกรณ์ IoT ผ่านโปรโตคอลหลากหลาย โดยเฉพาะ LwM2M ซึ่งช่วยให้นักพัฒนาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้ผ่านโมเดลที่มีลักษณะคล้ายๆ REST Model และ CoAP ซึ่งจะช่วยประหยัดแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ได้มากกว่า HTTP ราว 8-10 เท่า และในการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันซึ่งเป็นปลายทางอีกด้านหนึ่ง Pelion ก็ได้เตรียม REST API และ SDK ในภาษา Java, Python, JavaScript และ .NET ไว้ให้พัฒนาแอปพลิเคชันกันได้โดยง่าย
Device Management ของ Pelion นี้รองรับการทำงานร่วมกับฮาร์ดแวร์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์แบบ Bare metal (มีระบบเชื่อมต่อที่เรียกว่า Edge รองรับ) และการทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการทั้ง Mbed OS และ Linux
Data Management
เป้าประสงค์หลักของการจัดตั้งระบบ IoT นั้นคือการสร้างระบบจัดเก็บข้อมูลที่จะช่วยให้องค์กรสามารถเรียกข้อมูลเหล่านั้นขึ้นมาวิเคราะห์เป็นความรู้ที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจได้ แน่นอนว่า Pelion ย่อมไม่ลืมความสำคัญของส่วนนี้ จึงได้พัฒนาระบบจัดการข้อมูลครบวงจรที่จะช่วยตั้งแต่การจัดเก็บ นำข้อมูลมาใช้ตัดสินใจแบบ Real-time และรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล โดยมีกลไกรองรับการสเกลเต็มที่ ทำให้องค์กรไม่ต้องกังวลว่าระบบจะทำงานได้แย่ลงหากมีข้อมูลหรืออุปกรณ์ในเครือข่าย IoT เพิ่มมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
โซลูชันหลักของส่วนนี้ คือ ARM Treasure Data ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์จัดการและวิเคราะห์ข้อมูลที่เชื่อมต่อมาจาก Pelion ได้จบครบในตัวเดียว โดยมีเครื่องมือต่างๆพร้อมให้เลือกใช้งาน เช่น ระบบ Predictive Analytics การสร้าง Customer View 360 องศาจากข้อมูลการใช้งาน การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อ Cross-sell และ Upsell และการสร้างระบบ Recommendation เป็นต้น ซึ่งโซลูชันนี้หลายๆองค์กรก็ได้นำไปใช้งานเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงานในอุตสาหกรรมมากมาย เช่น อุตสาหกรรมค้าปลีก อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมอื่นๆอีกมาก
แพลตฟอร์ม Pelion นั้นปัจจุบันได้มีการนำไปใช้งานกับระบบ IoT ทั้งในโปรเจกต์ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เช่น ระบบ IoT ในการดูแลสัตว์น้ำผ่านเซ็นเซอร์รับข้อมูลจากเสียง ระบบตรวจสอบสถานะการทำงานของเครื่องจักรในโรงงาน ระบบจัดการคลังสินค้า และระบบซึ่งเป็นส่วนประกอบของ Smart City เช่น ที่จอดรถอัจฉริยะ และเสาไฟฟ้าที่เปิดปิดตามความเคลื่อนไหวของคน และสามารถควบคุมได้จากระบบส่วนกลาง เป็นต้น
ท่านใดที่สนใจอยากศึกษาเกี่ยวกับ Pelion เพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านเกี่ยวกับกรณีศึกษาการใช้งานในอุตสาหกรรมได้ที่ https://www.arm.com/products/iot/pelion-iot-platform และหากต้องการข้อมูลเชิงเทคนิคโดยละเอียด สามารถอ่าน Document เต็มๆตามลิงก์นี้ https://www.pelion.com/docs/
สำหรับในประเทศไทย ARM ได้จับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับ Advantech ในการให้บริการด้านต่างๆ ท่านที่สนใจสามารถติดต่อเพื่อพูดคุยถึงโซลูชันและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ IoT ของ ARM ได้ที่อีเมล์ chanchai.p@advantech.com