เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้ไปร่วมงานแถลงข่าวระหว่าง AIS และสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) ในการร่วมทุนตั้งบริษัท สห แอดวานซ์ เน็ทเวอร์ค (SAN) เพื่อนำ AIS 5G ไปสู่พื้นที่ EEC ให้ธุรกิจโรงงานและการผลิตในพื้นที่ดังกล่าวสามารถเริ่มต้นการก้าวสู่การเป็น Smart Industrial ด้วยการนำแนวคิด Industry 4.0, Smart Industry และเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหมดเข้าไปปรับปรุงโรงงานที่มีอยู่เดิมและสร้างโรงงานแห่งอนาคตได้ทันที ซึ่งดีลนี้ถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย และผู้บริหารเองก็ให้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจในงานแถลงข่าวด้วย ทีมงาน TechTalkThai จึงขอนำสรุปประเด็นทั้งหมดดังนี้ครับ
ทิศทางของโรงงานอัจฉริยะระดับโลก ควรเป็นอย่างไร?
ก่อนจะลงรายละเอียดของดีลนี้ เราต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจแนวโน้มของอนาคตก่อน ว่าโลกของโรงงานอุตสาหกรรมและการผลิตนั้นจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไร และโรงงานอัจฉริยะนั้นควรจะมีภาพเป็นอย่างไร
ภาพหนึ่งที่ชัดเจนมากนั้นก็คือการที่ธุรกิจโรงงานและการผลิตในประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะเปิดออกสู่ระดับโลกมากขึ้น เชื่อมโยงถึงภาคธุรกิจที่ต้องการโรงงานที่มีความถนัดและความชำนาญเฉพาะทางได้โดยไม่ติดกรอบของความเป็นประเทศและภูมิภาคอย่างในอดีต ขอเพียงสามารถผลิตสินค้าที่ต้องการได้อย่างยืดหยุ่นและสามารถทำการขนส่งไปยังตลาดปลายทางได้ในต้นทุนที่ไม่สูง รวมถึงสามารถเริ่มทำการผลิตได้อย่างรวดเร็วเพราะไม่ต้องวางแผนเรื่องกำลังคนในสายการผลิตนานอย่างที่เคยเป็นในอดีต
ในมุมของโรงงาน การปรับปรุงโรงงานให้มีความเป็นอัตโนมัติก็จะทำให้สามารถรับงานเฉพาะกิจครั้งคราวหรือ Ad-hoc ได้มากขึ้น เพราะถ้าหากสายการผลิตอัตโนมัติที่มีอยู่สามารถทำการผลิตได้ และโรงงานสามารถหาวัตถุดิบที่ต้องการมาทำการผลิตได้ในต้นทุนที่เหมาะสม ก็จะสามารถรับงานได้ทันที ไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดจ้างคนงานหรือการอบรมคนงานในสายการผลิตอัตโนมัติส่วนนี้มากนัก เหลือเพียงคนงานบางส่วนจำนวนไม่มากที่จะมีบทบาทในสายการผลิตดังกล่าวเท่านั้น
อีกความเป็นไปได้หนึ่งนั้นก็คือการที่โรงงานจะเปิดให้ธุรกิจภายนอกที่เป็นลูกค้าสามารถเข้าถึงเครื่องจักรที่ผลิตแบบอัตโนมัติได้จากระยะไกล เพื่อให้ธุรกิจนั้นๆ ทำการจัดการตั้งค่าและควบคุมการผลิตได้ด้วยทีมงานวิศวกรของตนเอง เรียกว่าเป็นแนวคิดแบบ Manufacturing-as-a-Service และ Bring Your Own Engineer หรือ Bring Your Own Recipe & Design ก็คงไม่ผิดนัก โดยโรงงานก็จะยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนด้านการผลิต, การจัดการวัตถุดิบ และการขนส่งทั้งหมดให้
ในขณะเดียวกัน แนวคิดที่เราได้ยินกันมาอย่างยาวนานไม่ว่าจะเป็นการนำ IoT หรือ AI มาใช้เสริมในสายการผลิตเดิมและสายการผลิตแบบอัตโนมัตินั้นก็จะยังคงเป็นกระแสที่ร้อนแรงต่อไป เพราะไม่ใช่สายการผลิตทุกประเภทที่จะลงทุนให้ระบบเป็นอัตโนมัติทั้งหมดแล้วจะคุ้มค่ากว่าเสมอไป ดังนั้นการปรับปรุงสายการผลิตเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น
แน่นอนว่าภาพทั้งหมดนี้ 5G คือสิ่งที่ทำให้แนวคิดเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมาได้อย่างมั่นคง ด้วยคุณสมบัติของการเชื่อมต่อที่รองรับพฤติกรรมการใช้งานที่หลากหลายตอบโจทย์ต่อการใช้งานจริง ความเร็วที่สูงเพียงพอต่อการใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น และยังสามารถเลือกใช้งานได้หลากหลายรูปแบบทั้งการเชื่อมต่อโดยตรงและการเชื่อมต่อผ่าน FWA รวมถึงการเชื่อมต่อเครือข่ายด้วย Fiber แบบเดิมนั้นก็ยังคงเป็นอีกปัจจัยที่จำเป็นเช่นกัน
สำหรับในไทย ทิศทางหนึ่งที่เราจะได้เริ่มเห็นกันก็คือการที่ธุรกิจโรงงานต่างๆ นั้นจะเริ่มลงทุนสร้างสายการผลิตแบบอัตโนมัติที่ควบคุมจากภายนอกได้เข้ามา เพื่อนำร่องและสร้าง Know How ในการดูแลรักษาควบคุมการผลิตแบบสมัยใหม่ รวมถึงลองเปิดตลาดใหม่ๆ ที่จะเหมาะกับการผลิตในรูปแบบนี้ รวมถึงก็จะมีโรงงานอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะไม่ได้ถึงกับลงทุนสร้างสายการผลิตใหม่ แต่ปรับปรุงสายการผลิตเก่าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีทั้ง IoT, Big Data, AI และ Computer Vision เข้ามาเสริม และใช้ระบบ ERP, CRM, MRP, MES เข้ามาช่วยควบคุมธุรกิจและการผลิตให้เป็นระบบมากขึ้น
จะผลักดัน EEC ให้เกิด ไทยต้องมีทั้งพื้นที่, เทคโนโลยี, ธุรกิจที่มีความรู้ และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์
ถึงแม้ว่าในเชิงยุทธศาสตร์แล้ว พื้นที่และแผนการลงทุนใน EEC ของไทยจะมีความน่าสนใจ แต่การสร้างแรงดึงดูดต่อนักลงทุนทั่วโลกนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ประเด็นดังกล่าว แต่ยังต้องมีเทคโนโลยีที่พร้อม มีธุรกิจที่มี Know How เพื่อร่วมในการลงทุนหรือช่วยในการดำเนินการ ไปจนถึงการทีมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการกับโรงงานแห่งอนาคตได้อย่างเพียงพอ
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ภาคธุรกิจไทยควรเตรียมตัวนั้นก็คือการเร่งสร้าง Know How ของการดำเนินการและการดูแลรักษาโรงงงานแห่งอนาคตกันให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีกรณีการใช้งานที่หลากหลาย มีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ต่อการใช้งานจริง และมีทีมงานที่มีความรู้และประสบการณ์ สร้างความพร้อมให้กับ EEC ของไทยให้ธุรกิจทั่วโลกมั่นใจในการลงทุน
แรงผลักดันทางเทคโนโลยีไม่เพียงพอ แต่ต้องมีหัวเรือใหญ่อย่างสหพัฒน์ช่วยผลักดันด้วย
ในดีลนี้สหพัฒน์ในฐานะของธุรกิจยักษ์ใหญ่ทางด้านโรงงานและการผลิตของไทยที่มีอายุกว่า 40 ปี ก็จะมีบททบาทสำคัญในฐานะของ Domain Expert หรือผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่จะกำหนดทิศทางได้ว่าควรจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง 5G, IoT, AI, Automation และอื่นๆ มาปรับใช้ในธุรกิจโรงงานเพื่อให้สอดคล้องต่อแนวโน้มในอนาคตได้อย่างไร โดยที่ผ่านมาสหพัฒน์เองก็ทำธุรกิจด้วยเป้าหมายว่าอยากจะประสบความสำเร็จร่วมไปกับพันธมิตรโรงงานต่างๆ มาโดยตลอด และการนำเทคโนโลยี 5G และอื่นๆ จาก AIS ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน
จุดเด่นของสหพัฒน์คือการที่มีทั้งนิคมอุตสาหกรรมของตนเอง อีกทั้งยังถือหุ้นของโรงงานจำนวนมากในนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้นทุกวันนี้สหพัฒน์จึงมี Know How ด้านการผลิตที่หลากหลายมาก และมีความเข้าใจในอุตสาหกรรมอย่างลึกซึ้ง ทำให้สามารถผลักดันการนำ 5G และเทคโนโลยีแห่งอนาคตเข้าไปใช้นำร่องในโรงงานแต่ละประเภทได้อย่างรวดเร็ว ตรงนี้เองที่จะทำให้สหพัฒน์ และ AIS สามารถสร้าง Know How ใหม่ด้านเทคโนโลยีการผลิตร่วมกันได้ รวมถึงยังทำให้เกิด Knowledge Sharing กันระหว่างธุรกิจโรงงานไทย สร้างความแข็งแรงมั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทยไปพร้อมๆ กัน
AIS จะกลายเป็นพันธมิตรด้านการให้บริการระบบเครือข่ายครบวงจร พร้อมจัดหาพันธมิตรทางด้านเทคโนโลยีสำหรับภาคอุตสาหกรรมมาเติมเต็มความต้องการของธุรกิจไทย
ทางด้าน AIS เองนั้นก็จะนำความแข็งแกร่งของตนเองมาทำในสิ่งที่ถนัด นั่นก็คือการนำเทคโนโลยีไปใช้ตอบโจทย์ของธุรกิจองค์กรนั่นเอง โดยนอกจากการนำบริการด้านโครงข่ายทั้ง 5G และ Fiber ไปเสริมให้กับธุรกิจโรงงานและเขต EEC แล้ว AIS ก็จะมีอีกบทบาทสำคัญหนึ่งนั่นก็คือการเป็นตัวกลางในการนำเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจโรงงานและการผลิตสมัยใหม่จากทั่วโลกมาสู่โรงงานไทย
โจทย์สำคัญของการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อปรับปรุงโรงงานและการผลิตนั้น คือเทคโนโลยีนั้นมักไม่ได้มาแบบสำเร็จรูป แต่ต้องมีการทดสอบ ปรับแต่ง หรือแม้แต่ร่วมกันพัฒนาใหม่ให้ตอบโจทย์การใช้งาน ซึ่ง AIS เองในฐานะของผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทยที่ต้องมีการนำปรับนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้งานหรือให้บริการธุรกิจองค์กรอยู่ตลอดก็มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ อีกทั้งด้วยการเป็นผู้ให้บริการ 5G ก็จะทำให้สามารถปรับแต่งการทำงานของเครือข่าย 5G ที่เหมาะสมกับการใช้งาน และร่วมทำการทดสอบการทำงานจริงได้
แนวทางดังกล่าวนี้จะทำให้ธุรกิจโรงงานและการผลิตไม่เพียงแต่มีระบบโครงข่ายที่ดี แต่จะยังมีเทคโนโลยีและระบบ Application ต่างๆ มากมายที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ พร้อมทั้งยังมีทีมงานที่มีประสบการณ์และมีความพร้อมในการร่วมทดสอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ก่อนจะนำมาปรับใช้จริงในโรงงานและสายการผลิต
สัดส่วนการลงทุนใน SAN
บริษัท สห แอดวานซ์ เน็ทเวอร์ค หรือ SAN ที่เกิดจากการร่วมทุนกันในครั้งนี้ SAN จัดตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 300,000 หุ้น เป็นเงิน 30,000,000 บาท โดย บริษัท แอดวานซ์ บรอดแบรนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (ABN) ถือหุ้น 70% คิดเป็นเงินลงทุน 21 ล้านบาท และ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (SPI) ถือหุ้น 30% คิดเป็นเงินลงทุน 9 ล้านบาท
อนาคตเราจะได้เห็นความร่วมมือของ AIS 5G กับธุรกิจในทุกๆ ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
วิสัยทัศน์ของ AIS นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ความร่วมมือกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งหรืออุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเท่านั้น แต่ AIS นั้นมีรูปแบบการเป็นพันธมิตรที่หลากหลาย ทั้งการร่วมมือกันในลักษณะ Joint Venture หรือการทำ Revenue Sharing เพื่อให้สอดคล้องต่อความถนัดของแต่ละธุรกิจ ในขณะที่ 5G เองก็สามารถสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ดังนั้นหลังจากนี้เราจะเห็นความร่วมมือกันระหว่าง AIS กับธุรกิจอื่นๆ จำนวนมากทั่วไทยอีกอย่างแน่นอน
สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลและสมัครใช้บริการต่างๆ กับทาง AIS Business ได้ทันที
สำหรับธุรกิจองค์กรที่สนใจสมัครใช้บริการ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ AIS Business ที่ดูแลองค์กรของท่าน หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ AIS Business ได้ที่ https://business.ais.co.th/ หรือติดต่อทีมงานของ AIS ที่ดูแลธุรกิจของคุณอยู่เพื่อประสานงานสำหรับการขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการต่างๆ หรือติดต่อ AIS CORPORTE CALL CENTER 1149 หรืออีเมล์ presalecsl@ais.co.th ได้ทันที