AIS โชว์ความแกร่งโซลูชัน IoT สำหรับธุรกิจ คว้ารางวัล Thailand IoT Services Provider of the Year 2019 จาก Frost & Sullivan

หลังจากที่ AIS ได้คว้ารางวัล 2019 Frost & Sullivan Thailand IOT Services Provider of the Year และเป็นข่าวใหญ่กันไปนั้น ทางทีมงาน TechTalkThai ก็ได้มีโอกาสพูดคุยเจาะลึกกับทีมงานของ AIS ในประเด็นเรื่องโซลูชันทางด้าน IoT ที่ AIS ได้นำเสนอและให้บริการแก่ภาคธุรกิจจำนวนมากในประเทศไทยจนได้รับรางวัลในครั้งนี้ ว่าเบื้องหลังนั้นมีเทคโนโลยีใดของ AIS บ้างที่พร้อมให้บริการแล้วแก่ภาคธุรกิจในไทย นอกเหนือไปจากระบบโครงข่ายที่เคยเป็นข่าวมาหลายต่อหลายครั้งก่อนหน้านี้

AIS คว้ารางวัล Thailand IoT Services Provider of the Year ปี 2019 จาก Frost & Sullivan ด้วยคะแนนทิ้งห่างคู่แข่งอย่างชัดเจน

ในการประกาศผลรางวัลประจำปีนี้ AIS ได้รับรางวัล 2019 Frost & Sullivan Thailand IOT Services Provider of the Year จากการแจกรางวัล Asia Pacific Best Practices Awards เนื่องในฐานะที่ AIS ได้มีความสำเร็จในโครงการทางด้าน IoT อย่างหลากหลายในประเทศไทย และสามารถตอบโจทย์ความท้าทายของการเริ่มต้นนำ IoT ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างดีเยี่ยมนั่นเอง

ในรายงานของ Frost & Sullivan ได้ทำการสำรวจทั้งในแง่มุมของนวัตกรรมและเทคโนโลยี, ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ และเสียงตอบรับจากลูกค้าที่ใช้งานจริง ซึ่งคะแนนของ AIS นั้นก็สูงกว่าคู่แข่งที่ไม่เปิดเผยชื่ออย่างชัดเจนในทุกหมวดหมู่ของเกณฑ์การตัดสิน พร้อมทั้งยังได้มีการวิเคราะห์ในภาพรวมถึงจุดเด่นของโซลูชันทางด้าน IoT จาก AIS ด้วย

ตอบโจทย์ความท้าทาย IoT สำหรับธุรกิจไทย: ความครอบคลุม, ความมั่นคงปลอดภัย, การนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ และความชัดเจนของโครงการ

สำหรับประเด็นสำคัญที่ทำให้ AIS ได้รับรางวัลในครั้งนี้มานั้นก็คือการที่ AIS สามารถตอบโจทย์ความท้าทายที่ทุกๆ ธุรกิจต้องเผชิญในการริเริ่มโครงการทางด้าน IoT ขึ้นมาได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

AIS ตอบโจทย์ความต้องการด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับความต้องการด้าน IoT นี้ได้ด้วยโครงข่าย 4G ที่มีอยู่ในมือ อีกทั้งยังมีการออกแบบระบบโครงข่ายเหล่านี้ให้มีความมั่นคงปลอดภัย มีการแยกการเชื่อมต่อออกจากระบบโครงข่ายทั่วไป ทำให้ธุรกิจต่างๆ สามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่เชื่อมต่อผ่านระบบโครงข่ายของ AIS นั้นจะได้รับสัญญาณคมชัดทั่วไทย และข้อมูลจะไม่รั่วไหลออกไปสู่ภายนอกอย่างแน่นอน

ไม่เพียงแต่ในแง่มุมของระบบโครงข่ายเท่านั้น แต่ AIS ได้ให้บริการทางด้าน IoT แบบ End-to-End อย่างแท้จริงด้วยการนำนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนโซลูชันทางด้าน IoT เข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มนำ e-SIM เข้ามาใช้เพื่อให้อุปกรณ์ IoT มีขนาดเล็กลงเป็นอย่างมาก, การพัฒนา IoT Platform ต่างๆ เพื่อให้เริ่มต้นใช้งาน IoT ได้ง่าย, การนำบริการ Cloud ของตนเองเข้ามาช่วยในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล ไปจนถึงการนำบอร์ดสำหรับพัฒนามาเพื่อให้ธุรกิจต่างๆ ได้เริ่มต้นพัฒนาโซลูชันด้าน IoT ของตนเองได้อย่างง่ายดาย

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและหลายคนอาจคิดไม่ถึงก็คือ IoT นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ AIS แต่เป็นโซลูชันที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ยุค 2G แล้ว เพราะที่ผ่านมาธุรกิจในเมืองไทยหลากหลายนั้นก็มีความต้องการในลักษณะนี้มาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นตู้ ATM, ตู้บัตรเติมเงิน, เครื่องอ่านบัตรเครดิต, ระบบติดตามยานพาหนะ และอื่นๆ ทำให้ทีมงานของ AIS นั้นมีประสบการณ์กับการออกแบบระบบในลักษณะคล้ายคลึงกันมาแล้วเป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปี ทำให้ทีมงานของ AIS สามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มี เข้ามาให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจองค์กรในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่อาจยังใหม่กับเรื่องของ IoT ได้เป็นอย่างดี และทำให้ทุกโครงการมีความชัดเจน ประเมินข้อดีข้อเสียและความเสี่ยงได้อย่างรอบด้าน

5 องค์ประกอบหลักของ AIS IoT: ไม่ได้มีแค่ระบบเครือข่าย แต่มีทุกอย่างให้ภาคธุรกิจพร้อมนำไปใช้งาน

โดยทั่วไปหากพูดถึงเรื่องของ IoT กับ Mobile Operator นั้นเรามักนึกถึงแต่ภาพของการให้บริการระบบโครงข่าย 4G กันเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วในอุตสาหกรรมนี้การที่จะทำให้โครงการด้าน IoT เป็นจริงขึ้นมาได้นั้นยังต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนกันมากขึ้นว่าโซลูชันด้าน IoT ของ AIS นั้นมีอะไรให้ใช้งานกันบ้าง ทางทีมงาน TechTalkThai จึงได้พูดคุยกับทีมงานของ AIS และสรุปองค์ประกอบหลักๆ 5 ส่วนของ AIS IoT ออกมาได้ดังนี้

1. Network: โครงข่ายครอบคลุมทั่วไทย พร้อมขยายระบบตอบรับภาคธุรกิจ มีให้เลือกใช้ทั้ง NB-IoT และ eMTC

การให้บริการโครงข่ายของ AIS เพื่อตอบรับต่อความต้องการด้านการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT นั้นถือว่ามีความครอบคลุมเป็นอย่างมาก โดยทาง AIS นั้นได้มีการนำโครงข่ายทั้ง NB-IoT และ eMTC เข้ามาให้บริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันออกไป โดย NB-IoT และ eMTC นั้นมีจุดเด่นที่แตกต่างกันดังนี้

NB-IoT

  • ใช้พลังงานต่ำ ทำให้บางอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อนั้นอาจมีอายุการใช้งานได้ยาวนานถึง 10 ปี
  • รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT จำนวนมหาศาล อาจมากถึง 100,000 อุปกรณ์ต่อ Base Station ได้เลยทีเดียว
  • มีระยะไกลเกินกว่า 10 กิโลเมตรจาก Base Station และสัญญาณยังคงชัดเจนแม้อยู่ในอาคาร
  • เริ่มต้นใช้งานได้ง่าย บนมาตรฐานเดียวกันจาก 3GPP เหมือนเครือข่าย 4G

eMTC

  • เหมาะสำหรับระบบ IoT ที่เน้นการรับส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ด้วยกันเอง เช่น ระบบ Connected Car หรือระบบ Tracking ต่างๆ
  • รองรับการรับส่งข้อมูลเสียงจากอุปกรณ์ IoT สมัยใหม่ได้
  • สามารถรับส่งข้อมูลปริมาณมหาศาล เช่น ภาพ, วิดีโอ หรืออื่นๆ ที่เกินกว่าขีดความสามารถของ NB-IoT ได้
  • ใช้พลังงานต่ำกว่าการใช้งาน 3G หรือ 4G ในการรับส่งข้อมูลทั่วไป

ปัจจุบันนี้ระบบโครงข่ายแบบ NB-IoT นั้นพร้อมให้บริการทั่วประเทศไทยแล้ว ส่วน eMTC นั้นสามารถพูดคุยกับทีมงาน AIS เพื่อเพิ่มจุดให้บริการตามความต้องการในการใช้งานได้ในอนาคต โดยภายในระบบโครงข่ายเหล่านี้จะใช้ IPv6 ทั้งหมด เพื่อให้รองรับอุปกรณ์ IoT จำนวนมหาศาลได้ในอนาคต

ทั้งนี้บริการในการเชื่อมต่อเครือข่ายเหล่านี้ก็จะมีวิธีการคิดค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล และมีราคาต่ำกว่าการใช้งาน Package โทรศัพท์มือถือในทุกวันนี้เป็นอย่างมาก เพราะโดยทั่วไปแล้วอุปกรณ์ IoT มักจะไม่ได้รับส่งข้อมูลปริมาณมากนักแต่เน้นการเชื่อมต่อที่เสถียรและประหยัดพลังงานเสียมากกว่า ดังนั้นค่าใช้จ่ายต่อปีต่ออุปกรณ์นั้นก็อาจต่ำถึงหลักร้อยบาทได้เลยทีเดียว

นอกจากนี้ภาคธุรกิจเองก็ยังสามารถพูดคุยกับทีมงาน AIS เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งานได้ เช่น ช่วงที่ทำ QC/QA อุปกรณ์ในขั้นตอนการผลิตและต้องมีการทดสอบการเชื่อมต่อโครงข่ายนั้นจะไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ และเริ่มคิดค่าใช้จ่ายจริงหลังจากที่มีลูกค้าซื้ออุปกรณ์นั้นๆ ไปใช้งานจริงแล้ว โดยค่าใช้จ่ายด้านการเชื่อมต่อโครงข่ายนี้ก็ถูกเหมารวมอยู่ในราคาสินค้าเลย และมีอายุการใช้งานตามจำนวนปีที่ต้องการได้

สำหรับในแง่ของความมั่นคงปลอดภัย ระบบโครงข่ายเหล่านี้สามารถแยกการใช้งานของแต่ละธุรกิจออกจากกันได้ ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการที่อุปกรณ์ IoT ของตนเองจะถูกเข้าถึงจากบุคคลภายนอก หรือถูกโจมตีผ่านระบบ Internet ทั่วๆ ไป

2. Device: ผลักดัน IoT บอร์ด สร้าง Prototype/Pilot Project ได้จริง

สำหรับประเด็นนี้น่าจะเคยผ่านหูผ่านตาหลายคนมาแล้วจากการที่ AIS ประกาศเปิดตัว IoT Board เพื่อให้นักพัฒนาสามารถนำไปทดลองพัฒนาโซลูชันต่างๆ ด้วยตนเองได้ ซึ่งบอร์ดเหล่านี้มีชื่อว่า DEVIO Series โดยมีทั้งรุ่น DEVIO NB-SHIELD I และ DEVIO NB-XBEE I ให้เลือกนำไปใช้งานได้ตามความต้องการ

จุดเด่นหนึ่งก็คือการที่ AIS ได้เริ่มนำ Embedded SIM หรือ eSIM เข้ามาใช้งานในตัวบอร์ดเหล่านี้เพื่อลดขนาดของบอร์ดให้เล็กลง และเพื่อให้นักพัฒนาเริ่มมีความคุ้นเคยกับ eSIM ที่ต่อไปจะกลายเป็นทางเลือกหลักสำหรับอุปกรณ์ IoT ในอนาคตกันด้วย

นอกจากนี้ AIS เองก็ยังได้มีการพัฒนา AIS Library for Developers ขึ้นมาเพื่อให้นักพัฒนาสามารถเรียกใช้งานความสามารถต่างๆ และเชื่อมต่อกับเครือข่ายของ AIS ได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น โดยผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชม GitHub ของโครงการนี้ได้ที่ https://github.com/AIS-DeviceInnovation ทันที

ทั้งนี้ทาง AIS เองก็ได้มีการนำ Hardware ใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะในแต่ละโครงการที่ AIS ได้เข้าไปมีส่วนร่วมนั้น ทาง AIS เองก็ต้องสรรหา Hardware ที่จะตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะทางรูปแบบต่างๆ มาใช้งานนั่นเอง

3. Platform: พัฒนา IoT Platform ช่วยให้การทดสอบ ติดตั้ง และใช้งานระบบ IoT รวดเร็วและง่ายดายยิ่งขึ้น

ถัดจากตัวอุปกรณ์ IoT แล้ว ทาง AIS เองก็ยังได้มีการพัฒนา Platform ขึ้นมาเพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ได้อย่างมั่นคงปลอดภัยด้วยการยืนยันตัวตนอุปกรณ์และการเข้ารหัสข้อมูล ไปจนถึงการทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวม, วิเคราะห์ข้อมูล และแสดงผลข้อมูลที่ได้รับจากอุปกรณ์ IoT เหล่านั้นด้วย

Platform ดังกล่าวนี้มีชื่อว่า MAGELLAN ที่ได้รวมเอาทั้งความสามารถในการลงทะเบียนอุปกรณ์, การเชื่อมต่อกับ AIS Library for Developers, การรองรับ CoAP, ระบบ Dashboard สำหรับแสดงผลเบื้องต้น และ API เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปเชื่อมต่อกับ Business Application อื่นๆ ที่ภาคธุรกิจต้องการ

MAGELLAN นี้เปิดให้ใช้งานได้ฟรี เนื่องจากทาง AIS นั้นมองว่า MAGELLAN นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ธุรกิจองค์กรต่างๆ สามารถเริ่มต้นทดสอบโครงการด้าน IoT ได้โดยที่มีค่าใช้จ่ายแรกเริ่มน้อยมาก และสามารถเริ่มนำข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ IoT นั้นไปสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ และขยายผลต่อเป็นโครงการที่จริงจังมากขึ้นได้ในภายภาคหน้า

ส่วนธุรกิจที่ต้องการระบบ Platform ขนาดใหญ่เพื่อใช้งานในโซลูชันทางด้าน IoT อย่างจริงจังนั้น AIS ก็มีบริการ AIS Business Cloud สำหรับรองรับระบบขนาดใหญ่อยู่ด้วย โดยภายในบริการนี้จะใช้เทคโนโลยีระบบ Cloud สำหรับธุรกิจองค์กรทั้งหมด ทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้ใช้งาน Software ที่มีความมั่นคงปลอดภัยและทนทานสูง, ผ่านการรับรองมาตรฐานต่างๆ อย่างเข้มข้น และมีทีมงานในไทยคอยดูแลแก้ไขปัญหาให้ตลอด 24 ชั่วโมง

4. Solutions: มีโซลูชัน IoT สำเร็จรูปให้พร้อมใช้งาน ตอบโจทย์มาตรฐานที่ธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมต้องเผชิญ

สำหรับธุรกิจที่มีโจทย์ความต้องการที่ชัดเจนอยู่แล้ว และต้องการโซลูชันที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้วในปัจจุบัน ทาง AIS เองก็ได้มีการพัฒนาโซลูชันต่างๆ รวมถึงมีการร่วมมือกับผู้พัฒนาโซลูชันรายอื่นๆ เพื่อสร้างบริการในส่วนนี้ขึ้นมา ให้ภาคธุรกิจสามารถเริ่มต้นนำโซลูชันทางด้าน IoT เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้งานกับธุรกิจของตนเองได้เลย ไม่ต้องพัฒนาเองตั้งแต่ศูนย์ ตัวอย่างดังต่อไปนี้

  • NB-IoT Motor Tracker โซลูชันสำหรับติดตามยานพาหนะด้วยอุปกรณ์ระบุตำแหน่ง GPS ที่มีขนาดเล็กและทนทาน พร้อม Web และ Mobile Application ให้พร้อมใช้งานได้ทันที
  • Personal Tracking โซลูชันสำหรับติดตามตัวบุคคลหรืออุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ โดยจะเป็น Tag ขนาดเล็กที่มีปุ่ม Emergency Alarm ให้กดได้ รวมถึงยังมี Web และ Mobile Application ให้ติดตามข้อมูลตำแหน่งและการกดปุ่ม Emergency Alarm ได้ด้วย
  • Energy Monitor โซลูชันสำหรับติดตามการใช้พลังงานอย่างปลอดภัย ทำให้สามารถติดตามการใช้พลังงานไฟฟ้าของอุปกรณ์ที่ต้องการได้แบบ Real-time และประเมินค่าไฟได้ทันที

ทาง AIS เองนั้นก็ยังมีโซลูชันอื่นๆ นอกเหนือจากตัวอย่างดังกล่าวอีกมากมาย เช่น ระบบ Face Recognition, License Plate Recognition, Cold Chain Management, Home Automation, Smart Lighting, Smart Parking, Smart Building ไปจนถึง Smart Factory และ Smart Environment เลยทีเดียว

5. Ecosystems: สร้างชุมชน AIAP ร่วมพัฒนาโซลูชัน IoT กับภาคอุตสาหกรรมและนักพัฒนาอย่างใกล้ชิด

สุดท้ายก็คือการสร้างชุมชน AIS IoT Alliance Program หรือ AIAP ที่ได้รวมเอาทั้งเหล่านักพัฒนาที่มีโซลูชันด้าน IoT เป็นของตัวเอง และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ด้าน IoT ไปปรับใช้กับธุรกิจของตนเอง เพื่อให้ความต้องการที่แท้จริงทางธุรกิจและทิศทางในการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน รวมถึงทาง AIS เองก็จะได้สามารถกระจายข้อมูลข่าวสารอัปเดตต่างๆ ทางด้าน IoT ให้กับชุมชน และจัดอบรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับสมาชิกใน AIAP ได้อย่างง่ายดายด้วย

ปัจจุบันภายใน AIAP นี้มีสมาชิกทั้งแบบบุคคลและองค์กรวมกันมากกว่า 1,300 รายแล้ว และมีคอร์สต่างๆ มากกว่า 12 คอร์ส, มี Workgroup ทำงานร่วมกันในอุตสาหกรรมต่างๆ กว่า 16 กลุ่ม และยังมีการนำเสนอความต้องการเชิงธุรกิจสำหรับนำไปใช้งานจริงแล้วกว่า 52 โครงการ เพื่อให้เหล่านักพัฒนาได้ทำความเข้าใจและพัฒนาโซลูชันมาตอบโจทย์ธุรกิจไทยและนำไปใช้งานจริงได้

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมใน AIAP สามารถสมัครได้ที่ https://aiap.ais.co.th/

อนาคต 5G จะทำให้ภาพของ IoT พลิกโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือ และ AIS พร้อมทดสอบร่วมกับภาคธุรกิจแล้ว

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากในอนาคต ก็คือการมาของ 5G ที่จะถือว่าพลิกโฉมวงการ IoT ไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว การมาของ 5G นั้นอาจหมายถึงเพียงแค่การที่เราจะมี Bandwidth บน Smartphone มากขึ้น และทำให้ใช้งาน Application ใหม่ๆ อย่าง Augmented Reality (AR) หรือ Virtual Reality (VR) ได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่สำหรับการนำมาใช้งานในเชิง IoT นั้น มาตรฐาน 5G ได้มีการออกแบบความสามารถเพื่อตอบโจทย์นี้โดยเฉพาะอยู่มากมาย ทำให้ในอนาคตการนำ IoT มาใช้งานนั้นจะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นไปอีก

ที่ผ่านมา AIS นั้นได้เคยมีการทดสอบ 5G ร่วมกับภาคธุรกิจหรือสถาบันต่างๆ มาบ้างแล้ว ดังนั้นหากธุรกิจใดมีแผนที่จะนำ IoT Application ที่ต้องการระบบเครือข่ายที่มีขีดความสามารถเหนือยิ่งกว่า 4G ไปใช้ ก็สามารถติดต่อ AIS เพื่อทำการทดสอบได้ทันที

ติดต่อทีมงาน AIS ได้ทันที

สำหรับผู้ที่สนใจโซลูชันต่างๆ ทางด้าน IoT ของ AIS สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://business.ais.co.th/iot/ หรือลงทะเบียนเพื่อติดตามข่าวสารและเข้าร่วมชุนชน AIAP ได้ทันทีที่ https://aiap.ais.co.th/

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

Cisco เผยผลสำรวจ AI เป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ความพร้อมในไทยยังคงที่

AI ได้ปลดล็อกศักยภาพในธุรกิจต่างๆอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงเท่านั้นยังปลดล็อกคุณภาพชีวิตในหลายด้านไปพร้อมๆกัน ซึ่งจากผลสำรวจของ Cisco ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค รวมถึงประเทศไทยเองเข้าใจถึงความเร่งด่วนของการนำ AI เข้ามาเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ แต่ที่น่าสนใจคือผลศึกษาระหว่างปี 2023 และ 2024 พบว่าจำนวนองค์กรในไทยที่พร้อมสำหรับ …

เอชพีเปิดตัวนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI สำหรับอนาคตของการทำงานและความบันเทิงในงาน CES 2025 [PR]

ณ งาน CES 2025 บริษัท HP Inc. (NYSE: HPQ) ได้เปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่หลากหลายและล้ำสมัยที่ออกแบบมาเพื่อยกระดับการทำงานและความบันเทิงในอนาคต โซลูชันใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เหล่านี้ช่วยให้มืออาชีพ เกมเมอร์ และผู้สร้างสรรค์ผลงานสามารถบรรลุประสิทธิภาพ ผลงาน และการปรับแต่งส่วนบุคคลได้อย่างเหนือชั้น