พอดีทางทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้ไปช่วยเฝ้าบูธหนึ่งในงาน Startup Thailand มาครับ ก็ได้ไปเดินเล่นดูภาพบรรยากาศในงาน และมีข้อแนะนำอยากจะแนะนำเหล่าบริษัทต่างๆ ที่ไปออกบูธดังต่อไปนี้ครับ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆ บริษัทที่ต้องออกบูธ และผู้ที่ต้องเตรียม Artwork ต่างๆ สำหรับใช้ในงานครั้งหน้ากันดังนี้ครับ

1. Artwork ทุกอย่างควรจะต้องสื่อว่าบริษัททำอะไรให้ได้เร็วที่สุด (และควรมีภาษาไทยด้วย)
หนึ่งในความผิดพลาดที่ผมเห็นคือ Banner และ Backdrop ของหลายๆ เจ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจว่าตกลงทำธุรกิจอะไร แถมยังใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษกันค่อนข้างเยอะทั้งๆ ที่คนมาเดินงานเป็นคนไทย ในการตั้งบูธที่พื้นที่ค่อนข้างจำกัดและหลายๆ บูธต่างก็มี Artwork ของตัวเองกันเต็มที่แบบนี้ การพยายามสื่อคุณค่าของสิ่งที่ทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีครับ
ภาพที่เห็นในช่วงจัดงานคือ ไปเดินในแต่ละโซนที่ผู้จัดจัดเอาไว้ให้ธุรกิจแต่ละกลุ่มอยู่ด้วยกัน เจ้าที่ไม่สื่อว่าตัวเองทำอะไรในโซนนั้นนี่ก็คือต้องเข้าไปเดินคุย ซึ่งถ้ามีคนอื่นเคุยอยู่ หรือทางเดินมันค่อนข้างแน่น ผู้เข้าชมอย่างผมก็คงไม่ได้ทำความรู้จักธุรกิจนั้นๆ ด้วยซ้ำครับ
2. การมี Brochure จะช่วยให้คนเฝ้าบูธมีเรื่องไปคุยกับผู้เข้าชมบูธได้ง่ายขึ้น
โบรชัวร์เป็นอุปกรณ์เปิดบทสนทนาที่ง่ายที่สุดอันหนึ่งของการไปออกบูธเลยครับ อย่างน้อยๆ ตอนเดินเข้าไปยื่นโบรชัวร์ให้ เราก็มีเวลาประมาณ 5-10 วินาทีในการพูดคุยสั้นๆ กับผู้เข้าร่วมงานแต่ละคน และถ้ายิ่งในโบร์ชัวร์เป็นการอธิบายธุรกิจ และมีข้อเสนอพิเศษให้กับผู้เข้าร่วมงาน บทสนทนาก็จะยิ่งยาวได้ครับ
เช่นเดียวกัน โบรชัวร์ควรจะอ่านง่าย ดังนั้นถ้าผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เป็นคนไทย ก็ทำโบรชัวร์ภาษาไทยนะครับ และกระดาษที่ใช้ก็ควรเป็นกระดาษดีๆ นิดนึง ไม่ใช่กระดาษพิมพ์เอกสารทั่วๆ ไปครับ
3. ผู้เฝ้าบูธควรซ้อมสรุปเนื้อหาต่างๆ ในบริการของตัวเองมาให้ดี
หลายๆ บูธเหมือนให้ลูกน้องมาเฝ้า และลูกน้องก็นำเสนอได้ไม่ดี ถึงธุรกิจจะน่าสนใจ แต่ถ้าหากผู้เฝ้าบูธอธิบายธุรกิจหรือปัญหาการใช้งานเชิงลึกให้ดีๆ ไม่ได้แล้ว ภาพรวมของธุรกิจก็จะดูไม่ดีตามไปด้วยนะครับ
แต่อีกมุมนึงก็เข้าใจว่าจริงๆ เวลาที่มาใช้เฝ้าบูธ เอาไปทำอะไรอย่างอื่นได้อีกเยอะ 55 ดังนั้นอย่างน้อยๆ ก็ซ้อมคนที่มาเฝ้าบูธให้นำเสนอได้ดีๆ ถามตอบลึกๆ ได้หน่อยก็น่าจะดีขึ้นครับ
4. เตรียมนามบัตรกันไปให้เยอะๆ
เป็นอีกปัญหาเลยที่หลายๆ บูธเตรียมนามบัตรกันไปไม่พอ เวลามีคนอยากติดต่อภายหลังในเชิง Partnership ก็กลายเป็นเรื่องยาก ทางคนจัดบูธก็บอกให้ติดต่อทางเว็บไซต์ แต่ในมุมคนที่ไปคุยคืออยากโทรคุยกับเจ้าของหรือคนที่ตัดสินใจได้มากกว่า ดังนั้นนามบัตรถือเป็นเรื่องสำคัญมากนะครับสำหรับงานแบบนี้ เจอหลายบูธมากๆ ที่นามบัตรหมด
5. การ Demo ผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่สำคัญ
พลังของบูธที่มี Demo ให้ลูกค้าชม กับไม่มี Demo ใช้วิธียืนคุยนั้นจะแตกต่างกันมาก รวมถึงลูกเล่นที่มีในการนำเสนอด้วย ดังนั้นขอแนะนำว่าถ้าจะจริงจังกับการออกบูธ มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ หรือมีจอ 30-50 นิ้วมาเปิด Application ให้ลูกค้าดูได้ก็จะดีครับ
มีบูธนึงที่เห็นคือของ REFUN เป็น Startup ทำธุรกิจแยกขยะ ก็มีตู้แยกขยะมาโชว์จริงๆ และคนก็มายืนดูแน่นตลอด การนำเสนอก็เลยเป็นแบบ 1:N เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพสูงมากครับ
6. นำเสนอให้ชัดเจนว่าจบงานแล้ว ผู้เข้าชมจะติดตามเราต่อได้อย่างไร
บางบูธไปออกงานแบบไม่มี Website, ไม่มีนามบัตร, ไม่มี Contact บางบูธไปออกงานแบบคนมาอธิบายบอกไม่ได้ว่าผลิตภัณฑ์ของตนมีวางจำหน่ายที่ไหนยังไงบ้าง ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายครับ อย่างน้อยๆ คิดมาให้แตกครับว่าหลังจากนี้ไปถ้าลูกค้าเค้าคิดถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการของเรา เค้าจะมาเข้าใช้ได้ยังไงกันบ้างแบบง่ายๆ
ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยครับ วันนี้คงไม่เขียนข่าวเยอะ ขอพักฟื้นก่อนครับ 55