บทความนี้เป็นบทสัมภาษณ์พิเศษจากคุณสุเทพ อุ่นเมตตาจิต กรรมการผู้จัดการ และคุณปาจารีย์ แสงคำ ประธานบริหารกลุ่มงานโซลูชันและเทคโนโลยี กลุ่มบริษัท จีเอเบิล จำกัด ซึ่งได้สรุปเทคโนโลยีสำหรับพลิกโฉมธุรกิจในไทย 5 รายการที่ควรจับตามองในปี 2018 พร้อมแนะทุกอุตสาหกรรมควรเริ่มศึกษาและเตรียมพร้อมนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ เพื่อมอบประสบการณ์การให้บริการอันแสนยอดเยี่ยมแก่ผู้บริโภค และคงความเป็นผู้นำในตลาด
5 เทคโนโลยีพลิกโฉมธุรกิจที่น่าจับตามองในปี 2018
5 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองนี้ ทาง G-ABLE ระบุว่า ได้พิจารณาถึงปัจจัย สำคัญ 2 ประการ คือ
- การเข้าถึง – จำนวนผู้บริโภคที่จะได้ใช้หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดังกล่าว
- ผลกระทบ/มูลค่า – เทคโนโลยีจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้บริโภคและสร้างมูลค่าให้แก่ธุรกิจได้มากน้อยเพียงใด
ซึ่งทั้ง 5 เทคโนโลยีนี้ ประกอบด้วย
1. Voice & Visual Search
การค้นหาด้วยภาพและเสียงจะเริ่มเข้ามาแทนที่การพิมพ์ข้อความค้นหา เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทุกคนต้องการความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทคโนโลยี Voice Personal Assistant (VPA) เช่น Alexa, Google Assistant, Bixby, Cortana และ Siri เริ่มกลายเป็นที่นิยม ผู้คนสามารถสั่งการอุปกรณ์เหล่านั้นด้วยเสียงเพื่อให้ช่วยค้นหาข้อมูลตามความต้องการได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเปิดแอปพลิเคชันเพื่อพิมพ์ข้อความอีกต่อไป
สำหรับการค้นหาด้วยภาพนั้น เริ่มปรากฏให้เห็นในเว็บ e-Commerce เช่น ASOS จากสหราชอาณาจักร ผู้บริโภคสามารถอัปโหลดรูปภาพสินค้าที่ตัวเองต้องการลงไป แล้วระบบของ ASOS จะช่วยค้นหาสินค้านั้นๆ หรือสินค้าที่ใกล้เคียงพร้อมเปรียบเทียบราคาได้ทันที ช่วยให้การค้นหามาความถูกต้อง แม่นยำ และสะดวกรวดเร็วกว่าการค้นหาด้วยข้อความ
2. Conversational Platform
Conversational Platform เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้โต้ตอบสนทนากับมนุษย์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ Chatbot ซึ่งในปี 2018 นี้คาดว่าจะเห็นผู้ให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ e-Commerce นำ Chatbot เข้ามาใช้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและอัตโนมัติ ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของ Call Center ลงอีกด้วย นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบว่า การสนทนาผ่านทาง Chat จะช่วยให้ลูกค้าเปิดใจ ผู้ให้บริการสามารถเก็บข้อมูลจากลูกค้าได้มากกว่าการสนทนาผ่านช่องทางอื่นๆ ซึ่งนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจได้เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ด้วยขีดจำกัดด้านการประมวลผลภาษาไทย ทำให้ Chatbot จะเริ่มให้บริการในรูปของ Virtual Customer Assistant (VCA) ที่รองรับการสนทนาทั่วๆ ไประหว่างผู้ให้บริการและผู้บริโภคภายใต้กรอบที่กำหนด เช่น ข้อมูลสินค้า การส่งของ หรือบริการหลังการขาย เป็นต้น แต่ก็นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานแบบอัตโนมัติ (Automation) ที่จะเข้ามาแทนที่คนในอนาคต
3. Cryptocurrency
Cryptocurrency หรือเงินดิจิทัลมีแนวโน้มว่าจะถูกนำมาใช้ทำธุรกรรมมากขึ้นในขณะที่อัตราการใช้เงินสดจะลดลง ซึ่งหลายรัฐบาลทั่วโลกเริ่มให้การสนับสนุนการใช้เงินดิจิทัลเนื่องจากช่วยลดค่าดูแล ขนส่ง และตรวจสอบเงินสดลงได้อย่างมาก ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นเองก็มีการประกาศเรื่องการรวมตัวของกลุ่มธนาคารเพื่อสร้างเงินดิจิทัล J-Coin ผูกกับเงินเยน เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้จับจ่ายซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ แทนเงินสดได้ทันที
นอกจากนี้ เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งอยู่เบื้องหลังเงินดิจิทัลยังเป็นที่สนใจของกลุ่ม Fintech ในการนำไปใช้พัฒนาบริการใหม่ๆ ทางด้านการเงินอย่างหลากหลาย ส่งผลให้หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องวางกรอบและกฎระเบียบให้ครอบคลุม เพื่อไม่ให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาใช้งาน
4. Counterfeit Reality
Gartner ได้ให้คำนิยามของ Counterfeit Reality หรือ “ความจริงเสมือน” ว่า เป็นการสร้าง Content แบบสมจริงขึ้นมาโดยการลอกเลียนแบบมาจากเหตุการณ์จริง สถานที่จริง และสิ่งมีชีวิต ผ่านทางเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Augmented Reality, Virtual Reality หรือ Digital Twin เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ที่มีความสมจริงให้แก่ผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น การใช้ VR สร้างบ้านจำลองเพื่อให้ลูกค้าเข้าไปดูภายในก่อนก่อสร้างจริง หรือการใช้ AI ในการสร้างรูปปากและสังเคราะห์เสียงของบุคคลที่ต้องการแล้วใส่บทพูดใหม่ลงไปเพื่อช่วยให้ CG ที่สร้างตามบุคคลนั้นๆ มีความสมจริงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเทคนิคนี้เริ่มถูกนำไปใช้ในวงการสื่อและภาพยนตร์แล้ว
อย่างไรก็ตาม Counterfeit Reality ก็มีประเด็นด้านความมั่นคงปลอดภัยตามมา ไม่ว่าจะเป็น การสร้างข้อมูลเท็จ หรือการละเมิดลิขสิทธิ์ เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงขององค์กรได้ ผู้ใช้บริการ Social Network ยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook, YouTube และ Google ยังได้ลงทุนเป็นจำนวนเงินมหาศาลเพื่อจัดการกับ Content ปลอมเหล่านี้
5. Internet of Things
Gartner ระบุว่า ภายในปี 2020 ร้อยละ 95 ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่จะถูกฝังด้วยเทคโนโลยี Internet of Things ซึ่งช่วยให้อุปกรณ์เหล่านั้นสามารถเชื่อมต่อหากัน รับรู้ถึงสถานะรอบตัว และนำข้อมูลไปประมวลผลร่วมกันเพื่อตอบสนองหรือตัดสินใจได้แบบเรียลไทม์และอัตโนมัติ เช่น การผสานการทำงานของ VPA เช่น Alexa หรือ Google Home กับอุปกรณ์ Home Automation ต่างๆ เช่น ระบบ Security & Access Control เป็นต้น
สถิติจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ยังแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยี IoT ในประเทศไทยยังคงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยจำนวนครัวเรือนที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตปัจจุบันมีมากถึง 10.7 ล้านครัวเรือน ในขณะที่ภาคการเกษตรมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท และจำนวนโรงงานทั่วประเทศมีมากถึงเกือบ 140,000 โรงงาน เหล่านี้ พร้อมที่นำเทคโนโลยี IoT เข้าไปใช้เพื่อก้าวไปสู่ความเป็น Smart Home, Smart Farm และ Smart Factory ในอนาคต
“ในปี 2017 เราได้เห็นหลายๆ เทคโนโลยีเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่มีการพึ่งพาระบบ IT เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมสื่อ/ภาพยนตร์ เทคโนโลยี โทรคมนาคม หรือสถาบันการเงิน บริษัทภายใต้อุตสาหกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องปรับตัวด่วน ให้กลายเป็นบริษัทที่พร้อมขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เพื่อสร้างโอกาสความเป็นผู้นำ หรือคงความเป็นผู้นำต่อไปได้” — คุณปาจารีย์กล่าว
ผลกระทบจากเทคโนโลยีพลิกโฉมธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ
แน่นอนว่าการมาถึงของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในแง่ดีและไม่ดี ซึ่งทาง G-ABLE แนะนำให้ทุกองค์กรควรศึกษาและประเมินเทคโนโลยีใหม่อย่างสม่ำเสมอ พร้อมหาวิธีนำมาปรับใช้เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และขยายตลาดที่ตนเองมีอยู่ได้ ซึ่งผลกระทบของเทคโนโลยีทั้ง 5 ต่ออุตสาหกรรมหลัก มีดังนี้
- ค้าปลีก – การมาถึงของ Voice & Visual Search จะเข้ามาพลิกโฉมแอปพลิเคชันสำหรับซื้อของออนไลน์ การค้นหาสินค้าที่ต้องการได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วจะช่วยให้ผู้บริโภคเลือกที่จะมาใช้บริการมากขึ้น ธุรกิจมีการขยายตัวตาม
- หน่วยงานกำกับดูแล – เงินดิจิทัลและเทคโนโลยี Fintech จะเป็นตัวกระตุ้นให้หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเข้ามาศึกษาและวางกรอบเพื่อควบคุมการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นให้มีความมั่นคงปลอดภัย และรัฐบาลไม่เสียผลประโยชน์ ในขณะเดียวกัน เมื่อเทคโนโลยีดังกล่าวกลายเป็นที่ยอมรับ ย่อมก่อให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ และการนำเทคโนโลยีไปใช้เพื่อในธุรกิจมากยิ่งขึ้น
- สื่อและภาพยนตร์ – เป็นอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจาก Counterfeit Reality อย่างชัดเจนที่สุด การนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้จะช่วยเพิ่มความเสมือนจริงของสิ่งที่นำเสนอและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม Counterfeit Reality อาจนำไปสู้การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงขององค์กรได้
- ธุรกิจบริการ – ธุรกิจประกันหรือบัตรเครดิตที่มีการให้บริการหรือแนะนำสินค้าผ่าน Call Center จะเริ่มถูกแทนที่ด้วย Chatbot และอาจยกระดับไปสู่การทำ Virtual Customer Assistant มากขึ้น เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการตอบสนองและลดภาระค่าใช้จ่ายของการใช้ Call Center
- อุตสาหกรรมการผลิตและอสังหาริมทรัพย์ – เป็นภาคธุรกิจหลักที่ IoT จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ เนื่องจากสามารถนำอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความสะดวกสบายและลดต้นทุนในการทำงาน เช่น ระบบ Home Automation หรือ Smart Factory นอกจากนี้ การผสาน IoT เข้าด้วยกันกับระบบ AI จะช่วยเพิ่มความเร็วในการตัดสินใจและทำให้ระบบทุกอย่างเป็นแบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น
“ตอนนี้ไม่ใช่ว่า เราจำเป็นต้องปรับตัวไหม ทุกคนต้องปรับตัวอยู่แล้ว แต่จะปรับยังไงให้ถูกทางและยังคงแข่งขันในยุค Digital Transformation ได้ ผมแนะนำว่า เราควรเริ่มจากการประเมินตนเองก่อนว่า เราอยู่ตรงจุดไหน แล้วเราจะไปจุดไหน พร้อมประเมินความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจ รวมไปถึงทำการศึกษาและพิจารณาว่า จะทำเอาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาสร้างโมเดลทางธุรกิจใหม่ได้อย่างไร ที่สำคัญคือ ต้องดูความเร็วในการเปลี่ยนแปลงของตลาดด้วย ไม่ใช่ว่าพอเริ่มจะทำแล้ว ปรากฎว่าตลาดเปลี่ยน ทุกอย่างเป็นอันจบกันพอดี” — คุณสุเทพแนะนำถึงการปรับตัวขององค์กร
G-ABLE เข้ามาช่วยสนับสนุนองค์กรในการพลิกโฉมธุรกิจได้อย่างไร
G-ABLE ในฐานะที่เป็น Digital Transformation Agent และมีประสบการณ์ในการผลักดันให้หลายองค์กรนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในธุรกิจของตนเอง ได้แบ่งบทบาทการให้บริการออกเป็น 3 ระดับ คือ
- Accelerator – สำหรับองค์กรที่มีความพร้อมและมีทรัพยากรอยู่แล้ว G-ABLE พร้อมเข้าไปผลักดันและสนับสนุนกระบวนการต่างๆ เพื่อให้นำเทคโนโลยีมาผลิกโฉมธุรกิจได้เร็วยิ่งขึ้น เช่น การจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม การแบ่งเบาภาระทางด้าน IT ได้แก่ การทำ IT Outsourcing และ IT Operation Services เพื่อให้องค์กรสามารถโฟกัสกับธุรกิจของตนได้ดียิ่งขึ้น
- Digital Builder – สำหรับองค์กรที่พร้อมแต่ยังขาดทรัพยากร G-ABLE จะช่วยเข้าไปสร้างแพลตฟอร์มพื้นฐานที่สำคัญ เช่น Cloud Platform, Security Platform, Big Data Platform, IoT Platform เพื่อให้องค์กรสามารถมุ่งเน้นที่การพัฒนาสินค้าและบริการตามที่ตนถนัด แทนที่จะถูกถ่วงด้วยการบริหารจัดการเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน
- Digital Partnership – การร่วมลงทุนหรือสร้างธุรกิจใหม่ไปด้วยกันกับ G-ABLE เพื่อให้เกิดสินค้าและบริการใหม่ หรือช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ เหมาะสำหรับองค์กรที่ต้องการทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตีตลาด หรืออยากลงทุนบางส่วน เป็นต้น
“เราพร้อมสนับสนุนลูกค้าทั้งทางด้าน People, Process และ Technology รวมไปถึง Partner Ecosystem ซึ่งช่วยให้การพลิกโฉมธุรกิจขององค์กรมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือเรามีประสบการณ์กับทุกอุตสาหกรรม ทำให้เราเข้าใจความต้องการเชิงธุรกิจของลูกค้าประเภทต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จึงมั่นใจได้ว่า การทำ Digital Transformation จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” — คุณสุเทพกล่าวปิดท้าย
เกี่ยวกับ G-ABLE
G-ABLE เป็นผู้นำด้าน Digital Transformation Agent ชื่อดัง ซึ่งนอกจากนี้จะให้บริการโซลูชัน IT ระดับ Enterprise-class แบบครบวงจรตั้งแต่ IT Infrastructure, Big Data Analytics และ Cloud Computing มายาวนานกว่า 28 ปีแล้ว G-ABLE ยังให้คำปรึกษาและแนะนำองค์กรให้สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนธุรกิจได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม พร้อมทั้งสร้างมูลค่าและผลกำไรจากการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ตามนโยบาย Thailand 4.0