Edge Computing กำลังเป็นประเด็นที่มาแรงในช่วงนี้ ซึ่งมีหลายบทคาดการณ์ที่บ่งชี้ไปในแนวเดียวกันว่าในอนาคตอันใกล้จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านทางทีมงาน TechTalkThai ได้รับเกียรติจาก Schneider Electric ให้เข้าร่วมงามสัมมนาในหัวข้อ ‘Life at the Edge’ ทางเราจึงไม่รอช้าที่จะนำความหมายและมุมมองเกี่ยวกับเทคโนโลยี Edge จากทางบริษัทชั้นนำที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการการใช้พลังงานในดาต้าเซ็นเตอร์มาให้ทุกท่านได้ติดตามกันครับ

“ปี 2022 ข้อมูล 40% จะถูกประมวลผลที่ Edge และภายในปี 2025 จะเพิ่มสูงขึ้นกลายเป็น 70%” นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหัวข้อการบรรยายของคุณ Geln Duncan, ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิจัยจาก IDC ของภูมิภาค APeJ ที่ได้บรรยายถึงความสำคัญของ Edge นอกจากนี้เขายังได้กล่าวถึงประเด็นต่างๆ ที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ไว้ดังนี้
- เทคโนโลยีฝั่งมือถือล้ำหน้าไปไกลกว่า IT Infrastructure จนต้องเร่งปรับตัว
- องค์กรพยายามปรับส่วน OT ซึ่งถือเป็น Legacy เข้าหา IT มากขึ้น
- ความโดดเด่นของเทคโนโลยี AI / ML ช่วยให้ระบบมีความชาญฉลาดอย่างเห็นได้ชัด
- ผู้ใช้งานต้องการประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้น
- HCI คือปัจจัยชี้วัดการเจริญเติบโตของ Edge ซึ่งในช่วงหลังมีการเติบโตเพิ่มขั้นในหลายประเทศอย่างชัดเจน
- เหตุผลหลักจากผลสำรวจที่คนต้องการ Edge คือเรื่อง Security, Reliability และ Availability
Edge คืออะไรกันแน่ ?
คุณ Kevin Brown, SVP of Innovation and CTO, Secure Power Division ได้ชี้ว่าอันที่จริงแล้วมีคำกล่าวถึง Edge ในหลายแง่มุมซึ่งถือว่าเป็น Buzzword เลยทีเดียว ทั้งนี้เราสามารถตีความได้ตามแต่บริบทของการใช้งานเช่น หากเราใช้มือถือคุยกับดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อประมวลผลก่อนส่งขึ้น Cloud จะถือว่าดาต้าเซ็นเตอร์เป็น Edge ในอีกสถานการณ์หนึ่งคือหากเราใช้ IoT ส่งข้อมูลไปประมวลผลที่มือถือและส่งต่อให้ Cloud ตัวมือของเราก็ถือว่าเป็น Edge แต่ในมุมมองของ Schneider Electric ได้แบ่ง Edge ออกเป็นโครงสร้างตามรูปด้านล่างที่ประกอบด้วย Regional Edge และ Local Edge ที่ถูกออกแบบมาให้ตอบสนองกับแหล่งกำเนิดข้อมูลเป็นหลายระดับนั่นเอง

อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่าทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมี Edge แต่โดยหลักๆ แล้วจากประสบการณ์ของทาง Schneider Electric ได้เล็งเห็น 3 อุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์อย่างแน่นอนคือธุรกิจกลุ่ม Commercial (ค้าปลีก, Healthcare, Finance และ Education), Industrial (oil&gas, Mining, Automotive และ Manufacturing), และ Telecommunication

สำหรับเหตุผลที่เราจำเป็นจะต้องมี Edge นั้นเพราะเรื่องของ Customer Experience ที่ปฏิสัมพันธ์กับการประมวลผลได้ใกล้กว่า อีกมุมหนึ่งที่สำคัญและหลายคนคิดไม่ถึงก็คือเรื่องของ Availability ที่คุณ Kevin ชี้ว่าการทำ Tier นั้นจะสามารถลด Downtime ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ (ตามภาพด้านบน) แต่การเกิดขึ้นของ Edge ยังมีปัญหาตามมาหลายด้านที่ผู้ใช้งานจำเป็นต้องคำนึงถึงดังนี้
- Security Control
- การทำ Redundancy
- วางแผนระบบความเย็น
- ระบบติดตามการทำงานและการบริหารจัดการ
- จัดหาทีมงานที่มีทักษะในการดูแล
ด้วยเหตุนี้เองทาง Schneider Electric ซึ่งเป็นผู้นำในด้านบริหารจัดการการใช้พลังงานจึงวางแผนแก้ไขปัญหาข้างต้นด้วยองค์ประกอบ 3 ข้อคือ
1.Integrated Ecosystem
ต้องมีการบูรณาการหลายภาคส่วน (Ecosystem) เพื่อสร้างโซลูชันเหล่านั้นให้เกิดขึ้น โดยสรุปได้ดังนี้
- ระบบใน Edge ต้องมีคุณสมบัติรวมความสามารถหลายด้านไว้ในชุดเดียว เช่น Security, Power, Cooling โดย Schneider Electric ได้นำเสนอโซลูชันที่สามารถตอบโจทย์ได้ตามความต้องการ เช่น Micro data Center, Row Data Centers และ Modular all-in-one data center (ตามรูปด้านล่าง)
- Edge ไม่ได้หมายถึงแค่อุปกรณ์จาก Schneider Electric เท่านั้นแต่ยังประกอบด้วยผู้เล่นรายอื่นๆ ที่มีความถนัดแตกต่างกัน ดังนั้นจึงมีความร่วมมือเกิดขึ้นด้วยการเปิดแพลตฟอร์มให้พันธมิตรเข้ามาทำงานร่วมกันได้ เช่น HPE, Dell, Cisco และอื่นๆ
- System Integrator และ Managed Service Provider ถือเป็นหัวใจสำคัญในเข้าถึงและดูแลลูกค้าอย่างแท้จริง

2.Management Tools
ด้วยความที่ระบบมีความหลากหลายทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย ทั้งการบริหารจัดการ IP ระบบติดตามปัญหา ระบบการแจ้งเตือน ดังนั้นทาง Schneider Electric จึงได้วางแผนและพัฒนาซอฟต์แวร์โดยได้ตั้งเป้าว่าเครื่องมือจะต้องเป็น Cloud เพื่อให้เกิดตุณสมบัติจ่ายตามจริง อัปเดตล่าสุดและสำรองข้อมูลได้สม่ำเสมออย่างอัตโนมัติ เข้าถึงได้ทุกที และใช้งานได้ง่าย ทั้งหมดนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าอย่างสูงสุด
3.Analystics
คุณ Kevin ชี้ว่ากุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดความเป็น Analytics มีอยู่ 4 ปัจจัยด้วยกัน
- ต้องมีแหล่งเก็บข้อมูลที่ยืดหยุ่นอย่าง Cloud
- ต้องมี Data ปริมาณมากๆ และถูกเก็บไว้ใน Data Lake
- มีผู้เชี่ยวชาญที่รู้เกี่ยวกับข้อมูลนั้นๆ มาวิเคราะห์ข้อมูล เช่น หากเป็นข้อมูลเรื่องไฟฟ้าก็ต้องหาคนที่เชี่ยวชาญด้านนั้นมาด้วย
- มีผู้เชี่ยวชาญด้าน Machine Learning มาสร้างโมเดลให้
อย่างไรก็ดีจากแนวของแก้ปัญหาข้างต้นนั้นทาง Schneider Electric จึงได้เตรียมการจนออกมาเป็นโซลูชันที่ชื่อว่า Ecostruxture ซึ่งได้ออกมาตั้งแต่ราวปี 2016 แล้ว ที่ประกอบไปด้วยความสามารถทั้งหมดที่กล่าวมา โดยเราจะขออธิบายเพิ่มเติมในหัวข้อ “พาชม Innovation Hub ของ Schneider Electric และรู้จักกับแนวคิด EcoStruxure” ครับ