สรุปการพูดคุยในหัวข้อ “ภาพรวมการใช้เทคโนโลยี IoT สำหรับการค้าและอุตสาหกรรมต่างๆในปี 2563-2564” งาน SUBCON Thailand 2021

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเติบโตของเทคโนโลยี Internet of Things จากเทคโนโลยีใหม่ที่ผู้คนไม่คุ้นเคยนัก มาเป็นเทคโนโลยีที่เป็นที่รู้จักและใช้งานอย่างแพร่หลาย เบื้องหลังการเติบโตนี้คือการสนับสนุนของภาครัฐ ความตื่นตัวของภาคเอกชน และการพัฒนาความสามารถของเทคโนโลยีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่งผลให้ IoT ได้รับความนิยม และมีการใช้งานในบ้านที่อยู่อาศัยทั่วไป

ในปี 2563 ที่ผ่านมาก็เช่นกัน แม้จะอยู่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 เทคโนโลยี IoT ยังมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยโครงการสนับสนุนจากรัฐบาล การพัฒนาโซลูชันของภาคเอกชน และการส่งเสริมความรู้และการสร้างสรรค์จากสมาคมที่เกี่ยวข้อง โดยมีอุปกรณ์ในเครือข่ายเพิ่มขึ้นกว่า 33% และมีแอปพลิเคชันที่หลากหลายขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การเงิน การขนส่ง ยานยนต์ การเกษตร และการผลิต และในอนาคตการใช้งานและแอปพลิเคชัน IoT นี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G 

ตัวแทนจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล, AIS และสมาคมไทยไอโอที ได้เข้ามาร่วมพูดคุยให้ความรู้ถึงสถานการณ์และแนวโน้มของเทคโนโลยี IoT ในปัจจุบันและอนาคต ผ่านมุมมองของภาครัฐ เอกชน และสมาคม ที่มีหน้าที่และจุดโฟกัสแตกต่างกันออกไปในเซสชั่น “ภาพรวมการใช้เทคโนโลยี IoT สำหรับการค้าและอุตสาหกรรมต่างๆในปี 2563 และ 2564” ในงาน SUBCON Thailand ที่ผ่านมา สำหรับท่านที่พลาดโอกาสเข้าร่วมไป ทีมงาน TechTalkThai สรุปเนื้อหาที่น่าสนใจมาให้ได้อ่านกันในบทความนี้ 

ภาพรวมเทคโนโลยี IoT ในประเทศไทยและการส่งเสริมจากภาครัฐ

แขกรับเชิญท่านแรก คือดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้อำนวยการฝ่าย Data Solution ภาครัฐและผู้บริหารข้อมูลระดับสูง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้มาพูดคุยถึงสถานการณ์ของเทคโนโลยี IoT ในปัจจุบัน โดยเน้นไปที่มุมมองของการเติบโตและการส่งเสริมโดยภาครัฐ

ดร.มนต์ศักดิ์เล่าถึงการเติบโตของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต Broadband ในประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานขั้นต้นของเครือข่าย IoT โดยในปี 2563 นั้นคนไทยส่วนมากสามารถเข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ตได้เป็นอย่างดี และเมื่อประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ประกอบกับการมีเครือข่าย IoT โดยเฉพาะ หรือเครือข่าย LPWAN เช่น Lora, NB-IoT ก็ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมต่อการประยุกต์ใช้งาน IoT และมีการใช้งานจากทั้งผู้บริโภคทั่วไป และธุรกิจ

นอกจากความพร้อมด้านโครงสร้างของเทคโนโลยี IoT แล้ว ภาครัฐยังมีโครงการเพื่อส่งเสริมทักษะและการพัฒนานวัตกรรม เช่น IoT Institute ที่ตั้งอยู่ใน Digital Park Thailand ซึ่งเป็นสถาบันที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อวิจัย พัฒนา และสร้างทักษะและตำแหน่งงานเกี่ยวกับ IoT โดยเฉพาะ 

ด้านประชาชนคนทั่วไป เมื่อลองค้นข้อมูลจาก Google Trends ด้วยคีย์เวิร์ด IoT ก็พบว่ามีการค้นหาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะหยุดชะงักเล็กน้อยเมื่อเข้าสู่ช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งการเติบโตอย่างต่อเนื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงความสนใจจากบุคคลทั่วไปด้วย ทำให้สามารถเห็นแนวโน้มว่าเทคโนโลยี IoT จะได้รับความนิยม และมีการใช้งานเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้

ภาพรวมของการใช้งานเทคโนโลยี Internet of Things ในธุรกิจในปี 2564

เมื่อเห็นถึงภาพรวมในส่วนผู้บริโภคและภาครัฐแล้ว คุณนวชัย เกียรติก่อเกื้อ Head of Enterprise Marketing and SME Business Management Section จาก AIS ได้แชร์ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งาน IoT ในธุรกิจ

ในปี 2544 ประเทศไทยเริ่มมีการใช้งานเครือข่าย Machine To Machine หรือ M2M โดยเริ่มจากแอปพลิเคชันในสถานีตรวจอากาศ และมีการประยุกต์ใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมขนส่ง การเงิน ค้าปลีก และอื่นๆ ตามการพัฒนาของเทคโนโลยีเครือข่ายตั้งแต่ GPRS จนถึงยุค Narrowband IoT ในปี 2562 และ 5G ในปี 2563 ที่ผ่านมา 

แน่นอนว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเครือข่ายนั้นส่งเสริมการเติบโตของการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้เราได้เห็นกรณีการใช้งานที่หลากหลาย และมีประสิทธิภาพสูงกว่าในอดีต โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา ข้อมูลชี้ว่ามีอุปกรณ์ในเครือข่าย IoT กว่า 1.778 ล้านราย เพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 32.9% ซึ่งเป็นการเติบโตในอัตราเร่งที่สูงมาก 

การเติบโตส่วนใหญ่ในปีที่ผ่านมานี้ถูกนำโดยอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้ผลิตรถยนต์ที่มีเทคโนโลยี Telematics และ Connected Vehicles เชื่อมต่อข้อมูลยานยนต์เข้ากับเครือข่ายและระบบประมวลผล ประกอบกับเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทย ส่งผลให้การใช้งานจริงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้าแอปพลิเคชันอื่นๆ

ในปีที่ผ่านมา แอปพลิเคชันของ IoT ที่มีการใช้งานในธุรกิจมากที่สุด 3 อันดับแรกนั้นมีได้แก่แอปพลิเคชันจัดการ Fleet รถยนต์ขนส่ง แอปพลิเคชันเชื่อมต่อรถยนต์ และแอปพลิเคชันสำหรับเครื่อง EDC ของธนาคาร 

การเข้ามาของเทคโนโลยี 5G นั้นส่งผลให้แอปพลิเคชัน 5G หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น Arthur D. Little คาดการ์ณว่าเทคโนโลยี 5G จะส่งผลให้ภาคธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2565 และ 2566 ที่จะถึงนี้ และอุตสาหกรรมที่จะนำ 5G ไปประยุกต์ใช้ได้มากที่สุดคืออุตสาหกรรมการผลิต ด้วยแนวคิด Smart Manufacturing 

5G นั้นมีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ของ Smart Manufacturing ได้อย่างดีเยี่ยม ได้แก่

  • ความเร็วที่สูง สามารถพัฒนาแอปพลิเคชันที่ส่งผ่านข้อมูลขนาดใหญ่ได้ เช่นการเชื่อมต่อ AR และ VR และการทำ Video Analytics 
  • มี Latency ต่ำ ช่วยในการสื่อสารและตอบสนองอย่างรวดเร็วระหว่างอุปกรณ์
  • สามารถตั้ง Private Network เพื่อรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของเครือข่าย

นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งสัดส่วนเครือข่ายตามการใช้งานผ่าน Network Slicing ปรับแต่งเครือข่ายผ่าน QoS และรองรับการประมวลผลแบบ Edge Computing อีกด้วย 

กรณีตัวอย่างการใช้งาน 5G และ IoT ในอุตสาหกรรมการผลิต

คุณนวชัยได้เล่าถึงตัวอย่างการใช้งานจริงของเทคโนโลยี IoT ในโรงงานที่ AIS ได้พัฒนาร่วมกับธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับไลน์การผลิตให้ฟัง 2 เคส ได้แก่

  • AIS ร่วมมือกับ Omron พัฒนาไลน์การผลิตแบบ Layout-free ซึ่งช่วยให้กระบวนการผลิตนั้นยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ รองรับแอปพลิเคชัน เช่น Machine Vision และ Smart Sensors อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การร่วมมือกับ Mitsubishi พัฒนาโซลูชัน Remote Factory เชื่อมต่อเซนเซอร์ อุปกรณ์ และเครื่องจักรต่างๆภายในโรงงานเพื่อให้สามารถควบคุมและดูแลอุปกรณ์ต่างๆจากที่ใดก็ได้ ตอบโจทย์การทำงานในยุคโควิด 19 ซึ่งต้องเว้นระยะห่างกันมากขึ้น 

รู้จักกับสมาคม Thai IoT และโครงการของสมาคม

ถัดมาเป็นการแชร์ความรู้จากคุณนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ความรู้ สร้างทักษะ สร้างเครือข่าย และสร้างงานเกี่ยวกับเทคโนโลยี IoT ในประเทศไทย โดยทางสมาคมได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกหลายโครงการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์เหล่านี้ 

คุณนิติได้ยกตัวอย่างโครงการที่สมาคมไทยไอโอทีได้จัดทำขึ้น 3 โครงการ ดังนี้

1. ระบบมอนิเตอร์สถานที่


สมาคมไทยไอโอทีร่วมมือกับบริษทั Synnergy Technology พัฒนาโซลูชันมอนิเตอร์ภายในพื้นที่สถาบัน NIDA โดยเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้พลังงาน สภาพอากาศและน้ำ และผลกระทบที่สถาบันมีต่อสิ่งแวดล้อมรอบบริเวณ ซึ่งช่วยในการจัดการอาคารและวางแผนประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับสถาบัน

โซลูชันเช่นนี้จะได้รับความนิยมมากขึ้นสำหรับองค์กรทุกรูปแบบในอนาคต เนื่องจากทั่วโลกนั้นมีความใส่ใจในประเด็นสิ่งแวดล้อม พลังงานและความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้นนั่นเอง 

2. HandySense เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำเกษตร

สมาคมไทยไอโอที ร่วมมือกับ NECTEC พัฒนาฮาร์ดแวร์ HandySense ซึ่งเป็นอุปกรณ์แบบ Open Hardware ที่สามารถนำไปผลิตได้อย่างอิสระ HandySense นี้มาพร้อมกับเซนเซอร์วัดความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ ระดับแสง และอุณหภูมิ ผู้ใช้สามารถตรวจสอบและควบคุมค่าเหล่านี้ได้ตลอดผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน

แนวคิดหลักของ HandySense คือการส่งต่อเทคโนโลยี IoT ที่สามารถใช้งานได้ง่าย คุ้มค่ากับการลงทุน เหมาะสมกับการเกษตรทุกรูปแบบ โดยการใช้ HandySense จะช่วยให้เกษตรกรสามารถประหยัดแรงงาน ประหยัดเวลา และประหยัดทรัพยากร 

3. แพลตฟอร์มกิน-อยู่-ดี 

แพลตฟอร์มกิน-อยู่-ดี ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้มีการพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่ออำนวยความสะดวกและระวังภัยให้กับการใช้ชีวิต เช่น อุปกรณ์สวมใส่ซึ่งจะแจ้งเตือนเมื่อผู้ใส่เกิดอุบติเหตุล้ม โดยโครงการนี้ยังเปิดรับความร่วมมือจากภาคธุรกิจที่ต้องการเข้ามาพัฒนาแอปพลิเคชันหรือ Service เพื่อให้บริการผู้สูงอายุจากโครงสร้างที่มีอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังได้มีการประยุกต์แพลตฟอร์มกิน-อยู่-ดี ไปช่วยในการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 โดยพัฒนาระบบเชื่อมต่อระหว่างผู้ป่วยและ Cloud Nurse เพื่อคอยติดตามอาการป่วยและขอความช่วยเหลือไปยังสถานพยาบาลหากผู้ป่วยมีอาการที่แย่ลง ซึ่งปัจจุบัน มีการใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวร่วมกับภาครัฐในหลายจังหวัด และมีผู้ป่วยในระบบมากกว่า 12,000 ราย 

แนวโน้ม โอกาส และความเสี่ยง สำหรับเทคโนโลยี IoT 

ก่อนจบช่วงพูดคุยคุณนิติได้แชร์มุมมองเกี่ยวกับแนวโน้ม โอกาส และความเสี่ยงของเทคโนโลยี IoT ที่ธุรกิจสามารถนำไปปรับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

  1. Ageing Society จะสร้างความต้องการขนาดใหญ่ในอนาคต ธุรกิจควรเข้าไปศึกษาตลาด และทำความเข้าใจในโจทย์ต่างๆ
  2. เทคโนโลยี EV กำลังเติบโตและจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นตลาดที่น่าสนใจและมีอนาคต
  3. โมเดลพลังงาน BCG (Bio, Circular, และ Green Energy) ต้องการความแม่นยำและประสิทธิภาพในการวัดผล ซึ่งตรงกับคุณสมบัติของเทคโนโลยี IoT
  4. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกให้กับประเทศไทย เป็นเรื่องของการพัฒนาทักษะประชาชน การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน การสนับสนุนงานวิจัยและผลักดันให้ออกมาเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้จริง
  5. การมุ่งไปสู่ Sustainable Development Goal เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งในด้านความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และการพัฒนานวัตกรรม 

โลกหลังโควิด 19 จะเป็นอย่างไร จะใช้ประโยชน์จาก IoT ได้อย่างไร

ในการพูดคุยช่วงสุดท้าย แขกรับเชิญทั้ง 3 ท่าน ได้ร่วมวิเคราะห์ถึงแนวโน้มของธุรกิจในอนาคต และแนวทางในการนำเทคโนโลยี IoT มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจ

ดร.มนศักดิ์กล่าวว่าโควิดทำให้เราได้เห็นว่าโมเดลการผลิตในปัจจุบันที่กระจุกอยู่ในพื้นที่ของประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และภูมิภาคยุโรปนั้นต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องมีการกระจายฐานการผลิตมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยที่จะดึงดูดธุรกิจเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจน่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆหลังจบวิกฤตโควิด ประเทศไทยจึงต้องเตรียมโครงสร้างให้พร้อมเพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ 

ปัจจุบันนับเป็นช่วงเวลาที่ดี กฎหมายเพื่อการปฏิรูปได้มีผลบังคับใช้มาระยะหนึ่งแล้วซึ่งส่งผลให้ทุกคนเริ่มเข้าใจในความสำคัญและแนวทางเกี่ยวกับเทคโนโลยีมากขึ้น ประกอบกับวิกฤตโควิดที่ช่วยให้หน่วยงานหลายหน่วยงานหันมาพัฒนาโครงสร้างดิจิทัลและระบบออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งการเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ ปัจจัยเหล่านี้ได้เปลี่ยนแนวคิดในการดำเนินการของทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีความตื่นตัวที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ

ด้านคุณนวชัยจาก AIS มองว่าจากเทรนด์ที่ทั่วโลกมีการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา ปัจจุบันจึงเป็นโอกาสดีที่ธุรกิจทุกประเภทจะปรับตัวไปสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจพร้อมสำหรับโอกาสที่กำลังจะเข้ามาในอนาคต โดยเทคโนโลยี IoT อยู่ในจุดที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายและมีการเรียนรู้มาพอสมควร พร้อมให้ธุรกิจนำไปประยุกต์ใช้งานสร้างคุณค่าอย่างแท้จริงแล้ว

ในประเทศไทยนั้นหลายฝ่ายก็พยายามส่งเสริมการนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้ในธุรกิจ ทั้งภาครัฐ สมาคม และบริษัทเอกชนอย่าง AIS เอง ธุรกิจควรใช้โอกาสในวิกฤตครั้งนี้ให้คุ้มค่าที่สุด

แขกรับเชิญทั้ง 3 ท่าน ได้ส่งท้ายการพูดคุยในเซสชั่นนี้ไปในทำนองเดียวกัน คือให้กำลังใจผู้ประกอบการธุรกิจและเน้นย้ำให้ธุรกิจมองหาโอกาสจากวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น เตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต และสร้างความร่วมมือกับหลายฝ่ายเพื่อเติบโตอย่างเข้มแข็งไปด้วยกัน 

IoT ยังไปได้อีกไกล แอปพลิเคชันจะหลากหลายยิ่งขึ้น

จากข้อมูลและความรู้ที่วิทยากรทั้ง 3 ท่านได้แบ่งปันในเซสชั่นนี้ ทำให้เราพอจะเห็นภาพว่าเทคโนโลยี Internet of Things นั้นจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งก็เพราะความสามารถในการ”เปิด”ให้เห็นถึงข้อมูล กระบวนการ และสถานะ ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์และข้อผิดพลาดในกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในบ้านที่อยู่อาศัย หรือขั้นตอนการทำงานในธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติในปัจจุบันที่มนุษย์และธุรกิจต้องการพึ่งพาข้อมูลมากขึ้น เพื่อประสิทธิภาพและความแม่นยำในการกระทำใดๆก็ตาม 

อีกคุณสมบัติหนึ่งที่ทำให้ IoT ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คือความลื่นไหลในการประยุกต์ใช้งาน มอบประโยชน์ให้กับธุรกิจและผู้บริโภคได้หลายรูปแบบในอุตสาหกรรมหลายประเภท และเมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้นก็ขยายความสามารถในการทำงานขึ้นไปอีก ทำให้สามารถใช้งานในรูปแบบใหม่ๆได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของกรณีนี้คือการเข้ามาของ 5G ที่ทำให้การสื่อสารกับรถยนต์ที่เคลื่อนที่อยู่ทั่วประเทศเป็นไปได้ และเกิดการเติบโตของ IoT ในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างก้าวกระโดด และการที่เซ็นเซอร์คุณภาพดีที่ราคาถูกลง ทำให้อุปกรณ์ IoT มีราคาถูกลงและมีประโยชน์มากขึ้นจนเกิดการใช้งานในระดับผู้บริโภค

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากเราจะได้เห็นการนำ IoT ไปใช้งานกันมากขึ้น ในงานที่ละเอียดและซับซ้อนขึ้น สร้างเครือข่ายอุปกรณ์ที่ใหญ่และทำงานร่วมกันกับเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น AI และ Automation อย่างเป็นระบบมากขึ้นในอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้า ทั้งในพื้นที่สาธารณะ ในกระบวนการดำเนินการของธุรกิจ และที่อยู่อาศัยของบุคคลทั่วไป

Check Also

Broadcom เปิดตัวชิป 50G PON ใหม่ สำหรับเครือข่ายผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต

Broadcom เปิดตัวชิปสองรุ่นสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน PON พร้อมฟีเจอร์ AI ที่ช่วยให้งานบำรุงรักษาง่ายขึ้น โดยเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าบางรายได้ทดลองใช้งานแล้ว

Microsoft เปิดตัว Drasi ระบบ Data Processing ที่จัดการ Big Data ได้ง่ายขึ้น

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง Microsoft ได้เปิดตัว Drasi ระบบประมวลผลข้อมูล (Data Processing) ใหม่ให้เป็น Open Source ที่จะช่วยทำให้การตรวจจับและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในฐานข้อมูลได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม