สาเหตุของเรื่องคือมีกลุ่มคนร้ายที่ชื่อ RansomedVC ได้แอบอ้างว่าสามารถเจาะระบบของ Sony ได้ พร้อมกับเผยถึงข้อมูลบางส่วน ต่อมามีแฮ็กเกอร์อีกกลุ่มที่อ้างว่าตนนี่แหละตัวจริง พร้อมหลักฐานมากกว่า ในขณะที่ Sony ยังกำลังตรวจสอบคำกล่าวอ้างเหล่านี้อยู่

RansomedVC เป็นผู้เริ่มต้นอ้างความรับผิดชอบเหตุการณ์แฮ็ก SONY.com โดยชี้ว่าตนไม่ต้องการเรียกค่าไถ่อะไรหรอก ต้องการขายข้อมูลมากกว่าเพราะ Sony คงไม่ยอมจ่าย ข้อสังเกตคือแม้ RansomedVC จะอ้างว่าได้รับข้อมูลมากว่า 260 GB แต่กลับเผยข้อมูลเพื่อยืนยันเพียง 2 MB ที่ประกอบด้วย PowerPoint, โค้ด Java ภาพหน้าจอของ Eclipse IDE และอื่นๆ
เหตุการณ์เริ่มยุ่งเหยิงขึ้นเมื่อมีคนร้ายอีกกลุ่มที่ชื่อ MajorNelson อ้างว่าตนนี่แหละตัวจริง ซึ่ง RansomedVC เป็นเพียงแค่พวก Scammer เท่านั้น โดย MajorNelson ได้ยืนยันด้วยข้อมูลขนาดใหญ่กว่าถึง 3.14 GB โดยมีข้อมูล Credential จำนวนมากที่ใช้ภายใน พร้อมกับไฟล์อื่นๆหลายรายการ
อย่างไรก็ดีไม่มีใครยืนยันเหตุการณ์ได้ดีไปกว่า SONY ซึ่งหลังจากเกิดเหตุ ทางโฆษกก็ออกมาชี้แจงว่า “เรากำลังสืบสวนเหตุการณ์นี้อยู่ ขอยังไม่ให้ความเห็นใดๆ” ประเด็นสำคัญคือหากใครจำได้นี่ไม่ใช่การถูกแฮ็กครั้งแรก โดยในปี 2014 SONY กลายเป็นข่าวดังจากการถูกแฮ็กเกอร์เกาหลีเหนือเจาะได้มาแล้ว
ที่มา : https://www.bleepingcomputer.com/news/security/sony-investigates-cyberattack-as-hackers-fight-over-whos-responsible/ และ https://www.helpnetsecurity.com/2023/09/26/has-sony-been-hacked-again/