ในงาน HPE Aruba Atmosphere 2016 ( #ATM16APAC ) ที่จัดขึ้นที่สิงคโปร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้ไปเข้าร่วมและได้ฟังเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับนโยบายของสิงคโปร์ในการปรับปรุงระบบคมนาคมทั่วประเทศด้วย Internet of Things (IoT) และ Big Data โดย Dr.Chin Kian Keong, Group Director & Chief Transportation Engineer มาครับ จึงขอเขียนสรุปมาให้อ่านกันดังนี้

Smart Transportation ในวันนี้ของสิงคโปร์
ปัจจุบันระบบ Smart Transportation หรือการคมนาคมอัจฉริยะนั้น ได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ดังนี้
- Intelligent Sensors and Equipment ประกอบไปด้วยระบบกล้องวงจรปิด, ป้ายสัญญาณจราจร, ป้ายที่จอดรถ, ระบบบริหารจัดการทางด่วน หรือระบบตรวจสอบสภาพการจราจร
- Integrated Traffic Control & Monitoring ศูนย์ควบคุมและติดตามการจราจรทั้งประเทศ โดยผสานรวมเทคโนโลยีทั้งหมดให้สามารถนำข้อมูลมาผสานรวมกันได้ภายในระบบเดียว และนำไปใช้ต่อยอดในการจัดการปัญหาจราจร, จัดการอุบัติเหตุ, การวิเคราะห์แนวโน้มต่างๆ และการบริหารจัดการอุปกรณ์จราจรทั้งหมด
- Optimizing Traffic Operations นำข้อมูลทั้งหมดที่มีเข้าสู่กระบวนการการปรับปรุงการจราจรภายในประเทศ
ระบบทั้งหมดนี้ทำให้สิงคโปร์สามารถดูแลการจราจรและคมนาคมภายในประเทศได้อย่างเป็นระบบระเบียบ รวมถึงมีข้อมูลเพียบพร้อมสำหรับการแก้ไขปัญหาและการวางแผนต่อยอดได้ในระยะยาว
พื้นที่มีจำกัด แต่ประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิงคโปร์จึงต้องปรับตัวต่อไป
ถึงแม้จะดูเหมือนว่าระบบ Smart Transportation ของสิงคโปร์นั้นจะมีความสมบูรณ์แล้วในหลายๆ แง่มุม แต่สิงคโปร์เองนั้นก็ถือเป็นประเทศที่มีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถสร้างถนนเพิ่มได้อีกแล้ว แต่กลับมีประชากรจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และประชากรเหล่านั้นก็ต้องการการโดยสารส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ หากสิงคโปร์ไม่ทำการปรับปรุงโครงสร้างการคมนาคมครั้งใหญ่เตรียมเอาไว้ ในอนาคตการจราจรก็อาจจะติดขัดได้นั่นเอง โดยจากข้อมูลนั้นระบุว่าปัจจุบันนี้สิงคโปร์มียานพาหนะรวมกันทั้งสิ้น 972,000 คันแล้วบนท้องถนน
นอกจากนี้จำนวนผู้สูงอายุในสิงคโปร์เองก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วย การวางระบบให้เหล่าผู้สูงอายุเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างสะดวกก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญต่อสิงคโปร์เช่นกัน
การนำข้อมูลมาใช้เพื่อปรับปรุงระบบคมนาคมของทั้งประเทศให้แม่นยำและตรงตามความต้องการของประชากรอย่างแท้จริงจึงเป็นประเด็นสำคัญในเวลานี้ของสิงคโปร์
จาก Smart Transportation สู่ Smart Mobility ให้ได้ภายในปี 2030
ด้วยเหตุดังกล่าว โครงการ Smart Mobility หรือการเดินทางอัจฉริยะนั้นจึงได้เกิดขึ้นมาและมีเป้าหมายระยะยาวไปถึงปี 2030 ที่จะทำให้การคมนาคมภายในสิงคโปร์รองรับประชากรที่มีจำนวนมากขึ้นให้ได้ดังนี้
- ทำให้ 75% ของประชากรนั้นหันไปใช้รถโดยสารสาธารณะในชั่วโมงเร่งด่วนให้ได้ โดยในปี 2014 นั้นมีอัตราการใช้งานอยู่ที่ 66%
- รับประกันให้ได้ว่า 85% ของการเดินทางในระยะ 20 กิโลเมตรด้วยรถโดยสารสาธารณะนั้น จะต้องไปถึงที่หมายให้ได้ภายในเวลา 60 นาที จากในปี 2014 นั้นมีเพียง 77%
- มีบ้าน 8 ใน 10 หลังที่อยู่ในระยะเดิน 10 นาทีจากสถานีรถไฟ โดยในปี 2014 นั้นมีเพียง 5.85 หลังเท่านั้น
ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้โครงการ Smart Mobility ได้วางยุทธศาสตร์หลักเอาไว้ 4 ประเด็นที่จะทำการปรับปรุงการคมนาคมทั่วประเทศ ดังนี้
- Information มีข้อมูลเกี่ยวกับการจราจรและการคมนาคมทั้งหมด สามารถนำเสนอหรือนำไปใช้งานได้หลากหลาย
- Interactive มีระบบสำหรับให้นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามข้อมูลต่างๆ ได้ เน้นอำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยวเป็นหลัก
- Assistive ถนนหนทางทั้งหมดนั้นจะต้องมีความปลอดภัยสูงยิ่งขึ้น
- Green Mobility โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในการคมนาคมจะต้องเริ่มหันไปใช้พลังงานสะอาด
สำหรับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับปรุงสภาพการจราจรก็มีดังนี้
- เพิ่มจำนวนกล้องและป้ายบอกทางที่ติดตั้งตามถนนต่างๆ ให้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลแผนที่และการจราจรให้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะบนอุปกรณ์ Smart Device
- ใช้ Beacon เพื่อติดตามเส้นทางการเดินทางของรถโดยสารสาธารณะ และรถฉุกเฉินอย่างเช่นรถพยาบาลหรือรถดับเพลิง เพื่อนำข้อมูลตำแหน่งของรถเหล่านี้ไปใช้ในการคิดคำนวนการเปิดไฟเขียวและไฟแดงตามสี่แยก อำนวยความสะดวกให้รถเหล่านี้เป็นพิเศษได้
- นำเทคโนโลยี Data Analytics มาใช้ปรับปรุงการจราจรและโต้ตอบกับเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงใช้การทำ Prediction มาทำนายการจราจรและปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านั้น
- ทำระบบควบคุมรถโดยสารสาธารณะแบบอัจฉริยะ เพื่อใช้งานร่วมกันระหว่างทุกฝ่าย และทำให้คนขับรถสามารถทำงานได้อย่ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- ระบบ Smart Junction ใช้ 3D Laser Scanner เพื่อตรวจจับรถยนต์ที่ติดอยู่ตรงสี่แยก และใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบ Vehicle-to-Infrastructure (V2I) เพื่อเชื่อมต่อรถยนต์ทุกคันเข้ากับระบบของสี่แยก จากนั้นจึงใช้อัลกอริธึมคำนวนว่ารถจะชนกันหรือไม่ ก่อนจะส่งคำสั่งให้รถเหล่านั้นหยุดหรือเปลี่ยนทิศทางก่อนจะเกิดอุบัติเหตุ
- ต่อยอดจาก Smart Junction สามารถนำข้อมูลจากรถยนต์แต่ละคันจากระบบการสื่อสารแบบ V2X เพื่อนำไปแจ้งเตือนคนที่เดินข้ามถนนได้ว่ากำลังมีรถมา และแจ้งเตือนคนขับได้ว่าทิศทางที่กำลังไปนั้นมีคนกำลังข้ามถนน
- นำดาวเทียมมาใช้ในระบบคิดค่าใช้จ่ายในการใช้งานถนนหนทาง
- รองรับรถยนต์ไร้คนขับอย่างเต็มตัวในอนาคต ทั้งรถยนต์ส่วนตัวแบบไร้คนขับ, รถโดยสารไร้คนขับแบบ On-Demand, รถโดยสารสาธารณะแบบไร้คนขับ, รถขนส่งสินค้าแบบไร้คนขับ
- ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้น
สุดท้ายนี้ก็ต้องขอขอบคุณทีมงาน HPE Aruba Thailand ที่ให้โอกาสไปร่วมงานในครั้งนี้ด้วยนะครับ