สำนักงานการขนส่งทางบกของสิงคโปร์ (LTA) ประกาศว่า การใช้ระบบติดตามรถยนต์ด้วย GPS จะช่วยเพิ่มพื้นที่การจราจรให้รองรับรถได้เพิ่มอีก 20,000 คันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยจะมาพร้อมกับระบบคิดค่าผ่านทางแบบใหม่
การเปลี่ยนแปลงจากระบบ Electric Road Pricing (ERP) 1.0 ไปสู่ ERP 2.0 เป็นการปรับปรุงครั้งสำคัญในการจัดการจราจรของสิงคโปร์ โดย ERP 1.0 เดิมใช้ระบบด่านเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติที่เรียกว่า gantry เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผ่านอุปกรณ์ในตัวรถจากผู้ขับขี่เมื่อตัวรถเคลื่อนผ่านจุดที่กำหนดในช่วงเวลาที่กำหนด ในขณะที่ ERP 2.0 จะใช้เทคโนโลยี GPS เพื่อติดตามตำแหน่งรถยนต์ตลอดเวลาที่เคลื่อนไหว ทำให้ได้รับข้อมูลการจราจรที่ครบถ้วนมากขึ้นและไม่จำเป็นต้องมีด่านผ่านทางตามจุดต่าง ๆ อีกต่อไป โดย LTA ระบุว่าระบบใหม่นี้จะช่วยให้สามารถจัดการปัญหารถติดได้อย่างยืดหยุ่นและทันท่วงทีมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการจัดการเส้นทางการจราจรในเมืองที่มีความหนาแน่นสูงอย่างสิงคโปร์
นอกจากนี้ นโยบายการเป็นเจ้าของรถยนต์ที่เข้มงวดของสิงคโปร์ยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการจราจร ผู้ต้องการมีรถยนต์ต้องได้รับใบอนุญาตการครอบครองหรือ Certificate of Entitlement (COE) ที่มีจำนวนจำกัดและอายุเพียง 10 ปี ผ่านการประมูลที่แข่งขันสูง ส่งผลให้ใบอนุญาตดังกล่าวมีราคาสูงขึ้นถึง S$100,000 (กว่า 2.5 ล้านบาท) ในทุก ๆ 10 ปี โดยยังไม่รวมถึงราคาของตัวรถเอง ค่าใช้จ่ายที่สูงมากนี้ถูกออกแบบมาเพื่อยับยั้งการครอบครองรถยนต์จำนวนมากและช่วยควบคุมความแออัดของถนนและลดมลพิษอีกด้วย
สิงคโปร์คาดว่า ด้วย ERP 2.0 การเก็บค่าผ่านทางตามระยะทางจริงแทนเฉพาะจุดผ่านทางควบคู่ไปกับการขยายระบบขนส่งมวลชน รวมถึงแนวโน้มการทำงานจากบ้านและออฟฟิศที่ยืดหยุ่นขึ้น จะช่วยให้ระบบการจราจรสามารถรองรับรถยนต์ได้เพิ่มอีก 20,000 คัน โดยในขณะนี้รัฐบาลได้เริ่มดำเนินแผนที่จะเพิ่มจำนวน COE ภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคาลดลงอีกด้วย
ที่มา: https://www.theregister.com/2024/11/03/asia_in_brief_nov_4/