SD-WAN เป็นเทคโนโลยีที่หลายองค์กรทั่วโลกกำลังจับตามองในปัจจุบัน ด้วยความง่ายในการบริหารจัดการการเชื่อมต่อระหว่างสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขา ความเสถียรในการใช้งาน และความมั่นคงปลอดภัยที่เทียบเท่าเครือข่าย MPLS ในขณะที่มีราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว จึงทำให้เทคโนโลยี SD-WAN เริ่มเข้ามาแทนที่อุปกรณ์ Router ของสำนักงานสาขามากขึ้นเรื่อยๆ
ระบบ Cloud ทำเครือข่าย WAN เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
โลกกำลังหมุนเข้าสู่ยุคดิจิทัล การใช้งานระบบ Cloud โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอปพลิเคชันประเภท Software as a Service (SaaS) เริ่มกลายเป็นที่นิยมสำหรับหลายๆ องค์กร การผลักทราฟฟิกที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั้งหมดจากสาขากลับมายัง Data Center ของสำนักงานใหญ่เริ่มฉุดรั้งประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ เหล่านี้ส่งผลให้หลายองค์กรเริ่มหาทางปล่อยทราฟฟิกไปยังแอปพลิเคชันบนระบบ Cloud โดยตรงจากสำนักงานสาขา ส่งผลให้เครือข่าย MPLS ที่เชื่อมต่อระหว่างแต่ละสำนักงานถูกลดระดับความสำคัญลงไป
SD-WAN เตรียมพลิกโฉมตลาด Router สำนักงานสาขาเร็วๆ นี้
องค์กรทั่วโลกต่างเริ่มนำโซลูชัน SD-WAN ที่มาพร้อมกับฟีเจอร์การทำ Routing แบบ Software-based มาแทนที่สถาปัตยกรรม Router ของสำนักงานสาขามากขึ้นเรื่อยๆ จากการวิจัยของ Doyle Research พบว่า SD-WAN มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นแพลตฟอร์มหลักในการพลิกโฉมตลาด Router ของสำนักงานสาขาในอนาคต ในขณะที่ Gartner เองก็คาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2020 เกินครึ่งของการปรับปรุง WAN Edge Infrastructure เทคโนโลยี SD-WAN จะกลายเป็นตัวเลือกที่มาท้าชนกับการใช้ Router ปกติ
แน่นอนกว่าการนำเทคโนโลยี SD-WAN เข้ามาแทนที่ Router นอกจากจะช่วยให้สามารถค้นหาเส้นทางสู่ WAN ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีข้อได้เปรียบอื่นๆ อีกมาก ได้แก่
1. ลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน
Router ระดับ High-end ที่ใช้ตามสำนักงานสาขาอาจมีราคาสูงถึง $10,000 (ประมาณ 320,000 บาท) ซึ่งนับว่าเป็นการลงทุนที่สูงมากสำหรับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่สามารถนำระบบ Cloud เข้ามาใช้แทนได้ในปัจจุบัน ที่สำคัญคืออุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกฟังก์ชันสามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมากกว่าเดิม
2. ลดภาระด้านการดำเนินงาน
การอัปเดตและเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าบน Router ของแต่ละสาขาด้วยตัวเองเป็นงานที่กินเวลามหาศาล และอาจเกิดความผิดพลาดอันเนื่องมาจาก Human Error ได้ง่าย แต่ด้วยเทคโนโลยี SD-WAN การทำงานต่างๆ จะถูกควบคุมจากศูนย์กลาง ช่วยให้สามารถตั้งค่าและอัปเดตซอฟต์แวร์ได้โดยอัตโนมัติ ลดภาระการทำงานของผู้ดูแลระบบ เหมาะสำหรับการใช้งานในสำนักงานสาขาที่มีทรัพยากรบุคคลจำกัด
3. บริหารจัดการและควบคุมจากศูนย์กลาง
SD-WAN สามารถบริหารจัดการและควบคุมการทำ Routing ขององค์กรทั้งหมดได้จากศูนย์กลาง ช่วยให้ผู้ดูแลระบบเครือข่ายสามารถมองเห็นและวิเคราะห์ภาพรวมของระบบเครือข่ายได้ชัดเจนกว่าเดิม ในขณะที่อุปกรณ์ Router ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันทำงานแยกขาดจากกัน ผู้ดูแลระบบเครือข่ายต้องรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดด้วยตนเอง ซึ่งสิ้นเปลืองแรงและเวลาอย่างมหาศาล
4. รองรับการขยายระบบในอนาคต
การขยายระบบเครือข่ายที่ใช้ Router มักถูกจำกัดด้วยจำนวนอุปกรณ์ที่ติดตั้ง วิศวกรระบบเครือข่ายจำเป็นต้องเพิ่มจำนวน Router เข้าไปหรือเปลี่ยนไปใช้ Router รุ่นที่ใหญ่ขึ้นมากกว่าเดิมโดยที่ไม่สามารถเตรียมความพร้อมล่วงหน้าได้ ในขณะที่ SD-WAN สามารถขยายระบบได้แบบ “On Demand” ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ลง รวมไปถึงเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งานในอนาคตอีกด้วย
5. ระบบเครือข่ายมีความเสถียรขึ้น
ในยุคดิจิทัล ระบบเครือข่ายกลายเป็นหัวใจสำคัญขององค์กร การมี Downtime เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ Router ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มักต้องใช้เวลาหลายนาทีในการคำนวณและเปลี่ยนเส้นทางใหม่เมื่อการเชื่อมต่อหลักถูกตัดขาดหรือมีปัญหาเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม SD-WAN มีเทคโนโลยี Dynamic Multi-path Control ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถเชื่อมต่อกับปลายทางได้หลายเส้นทางพร้อมกัน ส่งผลให้เมื่อเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งมีปัญหาย่อมสามารถย้ายไปใช้อีกเส้นทางหนึ่งได้ทันที ธุรกิจขององค์กรจึงสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่หยุดชะงัก
กล่าวโดยสรุปคือ ธุรกิจใดก็ตามที่ลงทุนนำเทคโนโลยี SD-WAN เข้ามาใช้แทนที่ Router จะสามารถกอบโกยผลประโยชน์จากความคล่องตัวและความเสถียรของระบบเครือข่ายได้มากกว่า และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการก็ไม่ได้สูงอย่างที่หลายๆ คนคิด เตรียมโบกมือลาอุปกรณ์ Router ตามสำนักงานสาขาได้เลย
สำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยี SD-WAN สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ Silver Peak: https://www.silver-peak.com