ในงาน Dell Future Ready 2016 นั้น ทาง Dell ได้มีการสัมภาษณ์นายกตุ้ย ผู้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีแสนสุข หัวหอกแห่งโครงการ Internet of Things (IoT) ภายในเทศบาลเมืองแสนสุขหรือบางแสน ที่ได้เริ่มทำ IoT ในระดับของการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองให้ได้ประโยชน์จริงๆ และกลายเป็นเมืองทดลองระดับประเทศที่ได้รับรางวัลจาก IDC มาแล้ว ทางทีมงาน TechTalkThai จึงขอสรุปเนื้อหาเอาไว้ดังนี้นะครับ
เริ่มต้นด้วยความหวังดีต่อประชาชนและอนาคตของประเทศไทย
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้คือการที่ต้องการจะผลักดันให้คุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองแสนสุขนั้นดีขึ้นในทุกแง่มุม โดยเริ่มต้นจากการนำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เข้ามาใช้ในการจัดการเมืองด้วยข้อมูล และจากการประชุมร่วมกันระหว่างเทศบาล, หน่วยงานรัฐ, ภาคการศึกษา และประชาชน ก็ทำให้โครงการนี้ได้เริ่มต้นจากการดูแลผู้สูงอายุกันก่อน
ในเฟสแรกนั้นทางเทศบาลเมืองได้เริ่มต้นจากการพัฒนา Remote Control สำหรับผู้ป่วยบนเตียงให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น และในเฟสถัดมาของโครงการนี้ได้ใช้ IoT ในการตรวจจับการล้มของผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในบริเวณเมือง เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามได้ว่าผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียวนั้นหกล้มหรือไม่ และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือได้ทันที ซึ่งโครงการนี้ก็ได้รับความช่วยเหลือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.บูรพา, Dell และ Intel ในเชิงเทคโนโลยี
โครงการลักษณะนี้ถือว่าเป็นโครงการแนวใหม่และการประเมินความคุ้มค่านั้นไม่สามารถประเมินออกมาเป็นเม็ดเงินได้ แต่ทางเทศบาลเมืองก็มีการติดตามสถิติตัวเลขต่างๆ สำหรับใช้ในการชี้วัดถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้นได้นั่นเอง รวมถึงหน่วยงานเอกชนอย่างสมิติเวชศรีราชาเองก็ได้นำเทคโนโลยีเดียวกันไปใช้แล้วด้วยเช่นกัน
อนาคตเล็งต่อยอดจากการดูแลสุขภาพ ไปยังสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวด้วย
สำหรับในอนาคต ทางบางแสนเองก็จะขยับขยายการนำ IoT ไปใช้เพิ่มเติมในการติดตามประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการติดตามการเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเล, การเพิ่มขึ้นของแมงกระพรุน, การตายของปลาวาฬ, น้ำท่วม เพราะประเด็นเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวโดยตรง เพื่อให้ทางเทศบาลสามารถรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น
ในขณะเดียวกันทางเทศบาลเองก็มีแผนเชิงรุก ด้วยการเริ่มโครงการ Bluetooth Low Energy (BLE) สำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวสามารถรับ Push Notification แบบ Location-based เพื่อนำเสนอข้อมูลหรือโปรโมชันต่างๆ ให้แก่นักท่องเที่ยวได้ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจมากสำหรับอนาคต
ความท้าทายในการทำโครงการ IoT ระดับเมือง คนคือเรื่องที่สำคัญที่สุด
ประเด็นสำคัญที่สุดในการทำโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดีก็คือการประสานงานระหว่างคนและหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานราชการต่างๆ เปิดรับต่อการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ, การร่วมมือกับภาคการศึกษาเพื่อช่วยทำงานวิจัยและสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมา, การร่วมมือกับภาคเอกชนในการสนับสนุนต่างๆ และการร่วมมือกับประชาชนในการรับข้อมูลและความต้องการ รวมถึงนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไปใช้งานจริง ในขณะที่ทางภาครัฐไม่ได้มีการสนับสนุนหรือกฎหมายอะไรที่เป็นรูปธรรมในประเด็นนี้เพราะเป็นเรื่องใหม่มาก การจัดการเรื่องความร่วมมือต่างๆ ให้โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้จริงจึงถือเป็นประเด็นที่สำคัญมาก
อีกประเด็นก็คือในแง่ของค่าใช้จ่าย เพราะโครงการลักษณะนี้นั้นจะมีค่าใช้จ่ายตามมาเสมอ ซึ่งหน้าที่ของเทศบาลเมืองนั้นก็คือการปรับปรุงให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น แต่อุปกรณ์หรือระบบเหล่านี้ก็มักมีราคาสูง และโครงการแบบนี้ก็มีผลตอบแทนในลักษณะที่ชี้วัดเป็นเม็ดเงินได้ยาก ดังนั้นการบริหารจัดการงบประมาณของหน่วยงานให้ดี และการรับการสนับสนุนจากภายนอก รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดให้โปร่งใสเองก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ดีทั้งสิ้น เพื่อให้ประชาชนแบกรับค่าใช้จ่ายที่น้อยที่สุด แต่ได้รับบริการที่ดีที่สุดกลับไปนั่นเอง