เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาทาง Ruckus และ TechTalkThai ได้ร่วมมือกันจัดงาน “IT Trends and Prediction in 2019 for Education Industry” โดยเราจะขอสรุปสาระสำคัญของงานในวันนั้นในด้านเทรนด์เทคโนโลยีและโซลูชันที่เกี่ยวข้องกับภาคการศึกษาในประเทศไทย รวมถึงเรื่องน่ารู้ของมาตรฐาน WiFi6 มาให้ได้ติดตามกันครับ

แนวโน้มภาคการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในหลายปีที่ผ่านมาพบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุเนื่องจากจำนวนประชากรเด็กลดลง ทั้งนี้จากสถิติปี 2552-2559 พบว่ามีผู้เรียนลดลงกว่า 1 ล้านคนและครูลดลงกว่า 6 หมื่นคน อย่างไรก็ตามการลงทุนจากภาครัฐนั้นยังเติบโต และไทยเริ่มมีการลงทุนในตลาด Startup ด้านนี้เข้ามาบ้างราว 150-300 ล้านบาทแต่ก็ถือว่ายังเล็กมากเมื่อเทียบกับเงินทุน Startup ทั่วโลกที่มีกว่า 290,000 ล้านบาท โดย 8 แนวโน้มที่น่าสนใจของการศึกษาไทยในปี 2019 มีดังนี้
1.สถาบันการศึกษาปรับตัวเป็น Platform คือจากการเป็นเพียงผู้ให้ความรู้ได้พัฒนาตัวเองให้ปรับตัวสู่ระบบดิจิตอล (E-learning) และเปิดตัวเองสร้าง Ecosystem เช่น ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ดึงศึษย์เก่ามาให้ความรู้ และผลักดันการสร้างธุรกิจ Startup จากในสถาบันการศึกษา
2.Lifelong Learning หมายถึงปัจจุบันผู้คนไม่ได้ให้ค่าแค่ใบปริญญาแต่ยังมีสิ่งอื่นๆ ให้เรียนรู้ตามความสนใจซึ่งการมาถึงของ E-learning ทำให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเฉพาะทางด้านต่างๆ หรือข้ามสาขาวิชาและสถาบันได้ แถมยังมีการออกใบรับรองให้ด้วย
3.New Basic Skills คือปัจจุบันไม่ว่าจะทำงานสายไหนต่างต้องประสบพบเจอกับเทคโนโลยีเฉพาะด้านนั้นด้วย ทำให้เราจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เช่น การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ การจัดการข้อมูลเบื้องต้น การเขียนโปรแกรมขั้นพื้นฐาน การใช้เครื่องมือ Automation ต่างๆ เป็นต้น
4.Borderless Learning เนื่องจากผู้เรียนชาวไทยมีจำนวนลดลง ดังนั้นการรับนักเรียนจากต่างชาติเข้ามาจึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจต่อธุรกิจของสถาบันการศึกษา ทั้งนี้ก็ต้องออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนักศึกษาต่างชาติด้วย เช่น การเรียนผ่าน E-Learning เป็นต้น
5.Student Well-being หมายถึงนอกเหนือจากเรื่องการศึกษาแล้ว การดูแลสุขภาพและจิตใจของผู้เรียนก็เป็นเรื่องที่มิอาจละเลยได้ โดยอาจมีการส่งเสริมกิจกรรมภายในสถาบันการศึกษา เช่น บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต มีโรงยิมให้ออกกำลังกาย จัดเวทีให้รุ่นพี่หรือศิษย์เก่ามาแชร์ประสบการณ์ หรือแม้กระทั่งกีฬา E-Sports ที่อาจเป็นอาชีพใหม่ควบคู่กับการเรียนไปด้วย
6.Public Knowledge Sharing แนวโน้มที่อาจารย์หลายท่านออกมาใช้พื้นที่สื่อออนไลน์ เช่น Facebook หรือ Youtube เพื่อแชร์ความรู้อย่างไม่หวังผลกำไรเพียงแต่อยากบอกเล่าในสิ่งที่ไม่มีโอกาสได้ทำในการสอน ทั้งนี้หากเป็นเรื่องดีสถาบันก็จะได้รับชื่อเสียงด้วยแต่ยังมีประเด็นที่น่ากังวลและจัดการได้ยาก คือถ้าหากเรื่องที่เผยแพร่นั้นส่งผลกระทบในด้านลบ เช่น เรื่องความเชื่อและการเมือง เป็นต้น
7.EdTech Booming จำนวนของ Startup ด้านเทคโนโลยีด้านการศึกษากำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเนื่องจากนักลงทุนสนใจและเข้ามาสนับสนุน สังเกตได้จากโครงการประกวดความสามารถต่างๆ
8.Industry Specific Content คือการที่มีผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจผันตัวมาเปิดคอร์สที่ให้ความรู้เฉพาะทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเป็นทั้งคู่แข่งหรือพันธมิตรกับสถาบันทางการศึกษาได้

แนวโน้มด้านเทคโนโลยีที่น่าสนใจในวงการศึกษาในปี 2019-2020
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีเทคโนโลยีกำเนิดขึ้นมากมาย แต่หากจะวิเคราะห์ถึงแนวโน้มของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการเรียนการสอนจริงๆ แล้ว คงหนีไม่พ้นกับ 8 เทคโนโลยีดังนี้
- Data Security & Privacy เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สถาบันการศึกษาต้องใส่ใจอย่างจริงจังเพราะหลายประเทศมีกฏหมายรองรับแล้ว ซึ่งปัจจุบันเราอาจได้ยินข่าวสถาบันการศึกษาตกเป็นเป้าของการโจมตีทางไซเบอร์อยู่บ่อยครั้งด้วย
- Hybrid Cloud จะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักสำหรับ Data Center และการศึกษาด้วย
- Student Success หรือการใช้เทคโนโลยีเพื่อวิเคราะห์ความสำเร็จของการเรียนการสอนว่าเข้าถึงผู้เรียนได้มากน้อยแค่ไหน
- API และ Blockchain จะเข้ามาสนับสนุนทางการศึกษา ตัวอย่างเช่น API อาจเข้ามาช่วยเชื่อมต่อระบบในสถาบัน หรือ เชื่อมต่อกับสถาบันและหน่วยงานภายนอก รวมถึงเราอาจประยุกต์ใช้ Blockchain ในกรณีเช่น เก็บข้อมูลประกาศนียบัตรให้บริษัทภายนอกเข้าถึงได้ตอนสมัครงานเพื่อป้องกันการแอบอ้างวุฒิการศึกษา
- AR & VR จะกลายเป็นสื่อการสอนที่เปิดโลกทัศน์ให้ผู้เรียนเข้าถึงภาพได้สมจริงมากขึ้น
- Mobile Application มีความสำคัญกับการเรียนมากขึ้นเพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่ต้องมีสมาร์ทโฟน ทั้งๆที่หลายคนอาจไม่มีโน๊ตบุ๊คด้วยซ้ำ
- Smart Whiteboard ก็เป็นอีกสื่อการเรียนการสอนหนึ่งที่รองรับการประชุมทางไกล เชื่อมต่อกับพีซีและมือถือได้ ทั้งนี้ในอนาคตหากราคาปรับลดลงอาจมีความน่าสนใจมากขึ้น
- ระบบ IT ของสถาบันการศึกษาจะถูกเรียกใช้งานเข้าถึงตลอดเวลา ไม่เหมือนกับในอดีตที่อาจพุ่งสูงแค่ช่วงลงทะเบียนเพราะเทคโนโลยีทำให้เราออนไลน์กันมากขึ้น
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ WiFi6
หลายคนคงทราบแล้วว่า 802.11ax หรือ WiFi6 นั้นเป็นมาตรฐานใหม่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการเชื่อมต่อในพื้นที่ที่ผู้ใช้หนาแน่น รวมถึงมีประสิทธิภาพความเร็วระดับกิกะบิตอย่างแท้จริง แต่ใครทราบบ้างว่าเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังนั้นมีอะไรบ้าง วันนี้ทาง Ruckus Networks ได้กล่าวถึงฟีเจอร์ที่น่าสนใจ 6 ข้อของ WiFi6 ไว้ดังนี้

- OFDMA – Orthogonal frequency-division multiple access เป็นการต่อยอดเพิ่มจาก OFDM ให้รองรับการใช้งานได้มากขึ้นและปรับปรุงวิธีการจัดการส่งเพ็กเกจเพื่อช่วยลด Latency ได้
- MU-MIMO – เพิ่มจำนวนของการรับส่งข้อมูลได้พร้อมกันหรือ MU-MIMO ของมาตรฐาน 802.11ac สูงสุดที่ 4×4 เป็น 8×8 ใน 802.11ax
- Power Efficiency – มีการ Synchronization จัดคิวการส่งให้อุปกรณ์ ดังนั้นเมื่อจัดสรรการส่งข้อมูลดีขึ้นก็กินไฟน้อยลงด้วย
- 1024-QAM – Modulate สัญญาณได้ละเอียดมากขึ้นทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่ก็ทำให้ระยะสัญญาณก็สั้นลงด้วย
- Long OFDM Symbol – ทำให้ได้ค่า Peak Throughput สูงขึ้น
- BSS Coloring – แก้ปัญหา AP ที่อยู่ใกล้กันและมีการใช้ช่องสัญญาณเดียวกัน
- WPA3 (เสริม) – WPA2 ได้ถูกค้นพบช่องโหว่เมื่อไม่นานมานี้ซึ่งก็ได้มีการพัฒนา WPA3 มาพร้อมแล้วและคาดว่าจะมาพร้อมๆ กับการมาถึงของอุปกรณ์ที่รองรับ WiFi6 ด้วย
ความท้าทายของการปรับตัวสู่ WiFi6
แน่นอนว่าเมื่อมาตรฐานใหม่ยกระดับมากขึ้น ตัวอุปกรณ์เองก็ต้องมีการปรับปรุงใหม่ตั้งแต่ตัว AP ไปจนถึง Network Switch เพื่อให้รองรับกับมาตรฐาน WiFi6 และที่สำคัญต้องมั่นใจได้ว่าจุดเชื่อมต่อสายจะไม่เป็นคอขวดเสียเอง ดังนั้น Ruckus Networks จึงได้นำเสนอ AP ที่รองรับ WiFi6 และการเชื่อมต่อแบบ Multi-gigabit (พอร์ทที่รองรับได้ทั้ง 1/2.5/5 กิกะบิต) รุ่นใหม่ออกมาแล้ว 2 รุ่นคือ R730 และ R750 นอกจากนี้ในฝั่งของ Switch ก็มีการออกผลิตภัณฑ์รุ่น ICX 7850 และ ICX 7150 ที่รองรับ Multi-gigabit มาให้เลือกหากันได้ด้วย

จุดเด่นของ Ruckus Networks
ในตลาดของอุปกรณ์ไร้สายนั้นมีผู้ผลิตหลายรายแต่มีหลายปัจจัยที่ทำให้โซลูชันจาก Ruckus นั้นมีความโดดเด่นอย่างชัดเจนดังนี้
1.ปัจจุบัน Ruckus มองว่าตัวเองต้องการนำเสนออุปกรณ์ที่มีความสามารถรองรับการเชื่อมต่อได้อย่างหลากหลายหรือคอนเซปต์ ‘Convergence Solution’ นั่นคือการที่ AP หรือ Switch ของ Ruckus นั้นรองรับการเชื่อมต่อของโปรโตคอล เช่น LTE, Zigbee, BLE และอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้จะทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายกับอุปกรณ์เพิ่มเติมอย่าง Gateway เพื่อแปลงการเชื่อมต่อเหล่านี้ก่อนส่งต่อให้แอปพลิเคชัน
2.เทคโนโลยี Beamforming หรือการที่ AP สามารถโฟกัสการส่งสัญญาณวิทยุไปยังทิศทางที่กำลังเชื่อมต่อกับ Client เพื่อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น อย่างไรก็ตาม Ruckus มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Beamflex+ หรือมีเสาสัญญาณ 2 แกนเข้าช่วย (Adaptive Antenna) ทำให้ฟีเจอร์นี้มีความโดดเด่นกว่าผู้เล่นรายอื่น
3.เทคโนโลยี ChannelFly หรือการปรับแต่งช่องสัญญาณระดับเรียลไทม์เพื่อเลี่ยงการชนกันของสัญญาณทั้งเครือข่ายภายในและภายนอก
4.เทคโนโลยี Transient Client ช่วยในด้านของการบริหารจัดการ User
5.เทคโนโลยี Adaptive Cell Size ที่ช่วยแก้ปัญหาขอบเขตที่ซ้อนทับกันของสัญญาณทำให้รองรับของการใช้งานหนาแน่นได้
โซลูชัน Smart Campus จาก Ruckus Networks

ปัจจุบันคุณภาพของอินเทอร์เน็ตในมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งนักศึกษามีความต้องการมากที่สุด สาเหตุเพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นแค่สถานที่เรียนเพียงเท่านั้น แต่ยังถือเป็นสถานที่สำหรับการค้นคว้าวิจัยซึ่งจำนวนไม่น้อยที่ต้องอาศัยเครือข่ายภายในเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ Ruckus Networks เองได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวสำหรับสถานศึกษาจึงได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อนำเสนอโซลูชันที่เรียกว่า ‘Smart Campus’ ตัวอย่างเช่น
- Smart Parking – การตรวจสอบพื้นที่จอดรถว่าว่างหรือไม่ รวมถึงสามารถดูสภาพจราจรในมหาวิทยาลัยได้ว่ามีความหนาแน่นบริเวณใด
- Smart Space – ตรวจสอบ Facility ของมหาลัย เช่น โรงยิมว่ามีคนเล่นมากหรือน้อยเพื่อช่วยนักศึกษาวางแผนการใช้บริการ
- Smart Lightning – โดยการใช้หลอดไฟแบบ Motion Sensor ทั้งนี้จะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ของสถาบันได้
- Smart Lock – ประตูสำหรับเข้าหอพักหรือห้องแลปที่มีการจดจำใบหน้า
- Smart Learning – นักศึกษาสามารถเข้าเรียนหรือทำแลปจำลองจากที่ไหนก็ได้ แม้กระทั่งติดตามได้ว่านักศึกษาเข้าเรียนครบจริงหรือไม่
- Smart Security – การป้องกันการทะเลาะวิวาทและอบายมุขในสถานศึกษาเพราะสามารถใช้กล้องตรวจจับกลุ่มควันหรือพฤติกรรมที่ไม่ดีได้
อย่างไรก็ตามแอปพลิเคชันข้างต้นนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดโครงข่ายไร้สายที่ดี ดังนั้นเหตุ Ruckus จึงได้นำเสนอโซลูชัน ‘IoT Suite’ ซึ่งสามารถรองรับการเชื่อมต่อของโปรโตคอลมาตรฐานจากเซนเซอร์ได้มากมาย เช่น Zigbee หรือ Bluetooth Low Energy(BLE) และอื่นๆ เพื่อนำส่งข้อมูลไปให้เซิร์ฟเวอร์ประมวลผลต่อได้อย่างมั่นใจ ผู้สนใจสามารถศึกษาเรื่องราวของ IoT Suite เพิ่มเติมได้ที่นี่
ถอดบทเรียน : แนวทางการรับมือแนวโน้มใหม่ๆ ของวงการการศึกษาไทย

“ปัจจุบันผู้สอนในสถาบันการศึกษาต้องเปลี่ยนตัวเองจาก Teaching เป็น Coaching” นี่เป็นคำกล่าวส่วนหนึ่งในระหว่างช่วงเสวนาที่เกิดขึ้นจาก ผศ.ดร.ศิริลักษณ์ เกตุฉาย ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยเธอได้แชร์ประสบการณ์จริงที่พบในการสอนว่าหากผู้สอนยังใช้เพียงการสอบรูปแบบเดิม อย่างเช่น การใช้สไลด์และบรรยายอาจไม่ดึงดูดนักเรียนอีกต่อไป เพราะสมัยนี้มีช่องทางให้นักเรียนศึกษาได้เอง ดังนั้นผู้สอนต้องเปลี่ยนบทบาทจากการให้ความรู้เป็นการแนะนำความรู้ไปใช้ได้จริงจะดีกว่า นอกจากนี้เธอยังได้ฝากถึงสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไว้ดังนี้
- เจ้าหน้าที่และบุคลากรผู้เกี่ยวข้องต้องเรียนรู้ศึกษาถึงความคาดหวังจากผู้เรียนด้วยว่าต้องการอะไร ซึ่งตรงนี้ไม่แน่ว่าเทคโนโลยีอย่าง AI อาจเข้ามาช่วยเหลือได้
- เจ้าหน้าที่ต้องพร้อมเปิดรับเทคโนโลยีใหม่แต่ต้องฉลาดเลือกอย่างเหมาะสมด้วยว่าสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัย บุคคลากร ทั้งนี้ต้องอยู่ในงบประมาณที่กำหนดด้วย
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ศิริลักษณ์ ยังได้เล่าให้ฟังถึงเทคโนโลยีที่ทางมหาวิทยาลัยนำมาใช้ด้วย เช่น ซอฟต์แวร์การบริหารการเงิน หรือการใช้ Tablet ในการสอบนักศึกษาในวิชาทั่วไปทำให้สามารถทราบผลสอบได้ทันทีหลังทำเสร็จ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี Electronic Office ซึ่งเป็นการทดแทนขั้นตอนการดำเนินงานจากเอกสารสู่รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากทีมงานเล็งเห็นแล้วว่าจะช่วยลดการใช้กระดาษ และทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมนำสิ่งสำคัญที่สุดกลับคืนมานั่นก็คือ ‘เวลา’ แต่สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นไปไม่ได้เลยหากผู้บริหารไม่ยินยอมและอนุมัติให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นก้าวแรกคือการทำให้ผู้บริหารเข้าใจให้ได้ว่าเทคโนโลยีนั้นสำคัญและสนับสนุนให้เกิดขึ้น

สำหรับทางคุณ Akkachai Chaiwuth ตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Ruckus Networks ประจำประเทศไทย ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไว้ว่า “หากไม่มีการทำลายล้าง ย่อมไม่บังเกิดสิ่งใหม่” ทั้งนี้ไม่มีใครที่จะสามารถหยุดยั้งวัฏจักรการเปลี่ยนแปลงนี้ได้จึงต้อง “ปรับ Mindset และทำใจยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นแน่ไม่ช้าก็เร็ว” อย่างไรก็ดีอยากให้ทุกคนมองด้านดีที่จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีด้านการเชื่อมต่อสามารถมอบโอกาสแก่ผู้คนในพื้นที่ห่างไกลให้สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ นอกจากนี้ คุณ Akkachai ได้แนะนำถึงการปรับตัวของสถาบันการศึกษาไว้ด้วยดังนี้
- คณาจารย์ต้องยกระดับมหาวิทยาลัยและตัวเองสู่ Platform เนื่องจากในอดีตเราจะพยายามป้อนข้อมูลมากมายให้แก่ผู้เรียน แต่ในปัจจุบันข้อมูลเหล่านั้นสามารถหาได้ผ่าน Google ดังนั้นสิ่งที่ผู้เรียนทุกวันนี้คาดหวังจริงๆ คือการให้ผู้สอนแนะนำถึงวิธีการนำความรู้ไปใช้ต่างหาก
- สถาบันการศึกษาต้องทำตัวเป็น Playground เพราะ “เราทุกคนจะมีความสุขเมื่อได้เล่น ดังนั้นเด็กจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดคือตอนเล่น” โดยสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องทำก็คือการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้การเรียนเป็นเรื่องน่าสนุก เช่น AR, VR หรือการจัดการเรียนการสอนแบบ Adaptive Learning
- Personalize Learning หรือการที่ผู้เรียนสามารถออกแบบและเลือกศึกษาหาความรู้ตามความสนใจได้ สาเหตุเพราะ “แท้จริงแล้ว Disruption ของสถาบันการศึกษาไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยีแต่เกิดจาก Youtuber ที่กำลังทำหน้าที่เป็น Coaching ให้ผู้เรียนเหล่านั้น” นอกจากนี้เทรนด์ของปัจจุบันคือบริษัทใหญ่ๆ ไม่ได้สนใจกับวุฒิการศึกษาอีกต่อไปแล้วว่าเรียนจบมาจากที่ไหน แต่คือโปรไฟล์ต่างหากที่เป็นตัวชี้วัดมูลค่าที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้เองในอนาคตสิ่งที่จะเกิดคือเด็กจะสนใจการสร้างโปรไฟล์ของตัวเองมากกว่า อีกทั้งเป็นหลักสูตรระยะสั้นซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาด้วย ดังนั้นสิ่งที่มหาวิทยาลัยควรทำคือการเปิดคอร์สเฉพาะกลุ่มหรือ ‘nano class’
อย่างไรก็ตาม คุณ Akkachai ยังได้ไขข้อข้องใจว่าการมาถึงของ 5G จะมีผลกระทบกับผู้ให้บริการด้าน WiFi หรือไม่ โดยกล่าวว่า “ทั้งสองเทคโนโลยีจะทำงานเกื้อหนุนกันเสมอเพราะ 5G คือ WAN ในขณะที่ WiFi คือ LAN ดังนั้นไม่ว่า 5G 6G หรือ 7G ก็ไม่ส่งผลกระทบกับอนาคตของ WiFi อย่างแน่นอน” ทั้งนี้สิ่งที่ขับเคลื่อนการพัฒนาของ WiFi เองไม่ใช่มาตรฐานหรืองค์กรใดแต่คือความต้องการของฝั่ง Business หรือผู้บริโภคที่ต้องการความเร็วในการเข้าถึงได้มากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งนั่นเอง
สนใจโซลูชัน WiFi Network ติดต่อ Ruckus ได้ทันที

สำหรับผู้สนใจโซลูชันเกี่ยวกับ WiFi เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อทีมงาน Ruckus Networks (Thailand) ได้ทันทีที่คุณ Pongwut Assaneewuttikorn อีเมล Pongwut.assaneewuttikorn@Commscope.com หรือโทร 086-609-7719 และสำหรับผู้ที่สนใจอยากทดลอง Ruckus Cloud WiFi สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่