ทีมนักวิจัยจาก Nokia Bell Labs, Deutsche Telekom T-Labs และ Technical University of Munich (TUM) ออกมาประกาศความสำเร็จ หลังคิดค้นวิธีการรับส่งข้อมูลบนใยแก้วนำแสง (Optical Fibre) ได้ด้วยความเร็วสูงถึง 1 Tbps (หรือประมาณ 1,000 Gbps) บนระบบเครือข่ายจริง
ทีมนักวิจัยระบุว่า การรับส่งข้อมูลระดับ Tbps นี้ เกือบจะเป็น “อัตราการรับส่งข้อมูลสูงสุดในทางทฤษฎี” บนเครือข่ายใยแก้วนำแสง เรียกได้ว่ามีความเร็วสูงมาก ซึ่งการจะทำให้ได้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลระดับนั้นจำเป็นต้องปรับแต่งอัตราการส่งข้อมูลตลอดเวลา เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมของช่องสัญญาณและความต้องการทราฟฟิคได้แบบไดนามิค ผลลัพธ์ที่ได้คือ ทีมนักวิจัยสามารถรับส่งข้อมูลบนเครือข่ายใยแก้วนำแสงของ Deutsche Telekom ได้ด้วยความเร็วสูงถึง 1 Tbps
การเชื่อมต่อระดับ 1 Tbps ช่วยให้สามารถรับส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูงถึง 125 GB ต่อวินาที นั่นหมายความว่า ในเชิงทฤษฎีสามารถดาวน์โหลดหนังขนาด 5 GB ได้ถึง 25 เรื่องได้ภายในวินาทีเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีนักวิจัยทีมอื่นที่สามารถทำความเร็วได้ถึงระดับนี้มาแล้ว เช่น เมื่อไม่กี่ปีก่อนที่ประเทศอังกฤษ เคยมีทีมนักวิจัยที่สามารถทำความเร็วในการรับส่งข้อมูลได้สูงถึง 1.4 Tbps แต่ก็จำเป็นต้องใช้การเชื่อมต่อหลายช่องทาง หรือทำสำเร็จในห้องแล็บที่มีการควบคุมสภาวะแวดล้อมอย่างเข้มงวดเท่านั้น ซึ่งการวิจัยล่าสุดนี้เกิดขึ้นบนระบบเครือข่ายจริง จึงเป็นไปได้ที่จะมีโอกาสนำไปใช้งานจริงในอนาคตได้มากกว่า
การเชื่อมต่อระดับ Tbps นี้อาจจะยังไม่ได้นำเข้ามาใช้กับอินเทอร์เน็ตตามบ้านในเร็วๆ นี้ แต่ทางผู้ให้บริการโทรคมนาคมสามารถนำไปต่อยอดเพื่อรองรับการใช้งานร่วมกับเครือข่าย 5G หรือระบบอินเทอร์เน็ตอื่นๆ ในอนาคต เพื่อให้สามารถรับมือกับปริมาณแบนด์วิทด์อันมหาศาลที่เกิดจากการใช้งานอุปกรณ์พกพาที่นับวันจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ได้
ที่มา: http://gizmodo.com/we-re-getting-deliciously-close-to-terabit-internet-1786821537