บนโลกของการศึกษาทุกวันนี้ นอกจากใบปริญญาบัตรเพียงใบเดียว อาจจะไม่เพียงพอกับความสำเร็จของอาชีพ ตำแหน่ง เงินทองและรายได้ ตลอดอายุการทำงาน 30 หรือ 40 ปี ในช่วงชีวิตของการทำงาน ในวงการหลาย ๆ อาชีพที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่อาชีพแพทย์ ต้องมีใบประกอบโรคศิลปะ วิศวกร ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ( ก.ว. ) และผู้ตรวจสอบบัญชี ก็ต้องมีใบประกาศฯ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ( Certified Public Accountant: CPA ) ซึ่งต้องยอมรับว่าใบรับรองในวิชาชีพเหล่านี้สามารถสร้างความมั่นใจ เสริมความภาคภูมิใจ อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น เป็นการเพิ่มค่าตัว ( value added ) ที่ดีและง่ายที่สุด แถมยังเป็นการแข่งกับตัวเองและแข่งกับมาตรฐานของความรู้ ทั้งที่ผ่านการศึกษาและการใช้ประสบการณ์จริงจากการทำงาน เพื่อที่จะสอบผ่านการรับรองมาตรฐานวิชาชีพเหล่านั้นให้ได้
สำหรับอาชีพด้านไอที ซึ่งปัจจุบันเป็นอาชีพที่ท็อปฮิต สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ มีเงินเดือนจำนวนหกหลักขึ้นไป สามารถทำงานได้ทั่วโลก ก็มีใบรับรองวิชาชีพในลักษณะเดียวกัน ใบรับรองวิชาชีพไอทีหรือที่เราเรียกว่า ใบมาตรฐานวิชาชีพไอที ( ITPE ) นั้นเป็นเสมือน ใบเบิกทาง สำหรับผู้ที่ต้องการรับจ้างผลิตชิ้นงานต่อจากเอกชน รวมถึงการเสนอขอใบอนุญาตทำงานในญี่ปุ่น ยังไม่นับรวมสิทธิพิเศษในการพิจารณาคัดเลือกเข้ารับทุนการศึกษาด้านไอทีจากประเทศเครือข่ายมาตรฐานวิชาชีพไอที
ทั้งนี้ใบมาตรฐานวิชาชีพไอที ( ITPE ) เกิดจากแนวคิดของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือสวทช.ที่ต้องการกระตุ้นความตื่นตัว ให้คนไทยได้มีการพัฒนาความรู้ด้านไอทีอย่างต่อเนื่องและมีมาตรฐานอยู่ในระดับสากล จึงสนับสนุนให้ประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิกประเทศเครือข่ายมาตรฐานวิชาชีพไอที ภายใต้การดูแลของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่นจึงมุ่งผลักดันให้มีการสอบมาตรฐานวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ไม่อิงผลิตภัณฑ์ในประเทศขึ้น แน่นอนว่า ในอนาคตวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่มีใบรับรองวิชาชีพไอที ย่อมมีภาษีดีกว่าคนที่ไม่มี เพราะโอกาสที่ได้รับคัดเลือกเข้าไปอยู่ในองค์กรที่มีชื่อเสียงมีมากกว่า และเมื่อเข้าไปแล้วโอกาสที่จะได้รับการพิจารณาเงินเดือนหรือสิทธิพิเศษก็ย่อมเหนือกว่าคนอื่น ๆ
อาจารย์ณัฏฐ์ โอธนาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พัฒนาความรู้และดำเนินการสนับสนุนผลักดันให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัย เข้าร่วมกิจกรรมการสอบใบมาตรฐานวิชาชีพไอที ( ITPE ) ถึงแม้ว่าจะนักศึกษาบางสาขาอาจไม่ได้เรียนด้านไอที มาโดยตรงก็ตาม ก็สามารถเข้ามาสมัครสอบได้ เพื่อเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งในอนาคตที่จะเข้าสมัครเข้าทำงานกับบริษัทต่างชาติ
“ไอทีพาสปอร์ตมีประโยชน์มากโดยจะเป็นเครื่องมือช่วยประเมินว่า ผู้สอบผ่านมีความรู้ความเข้าใจและความสามารถด้านไอทีอย่างแท้จริง รวมถึงผู้ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วและกำลังทำงานอยู่ในสถานประกอบการ มีความพร้อมด้านไอทีมากน้อยแค่ไหน ทั้งยังเป็นการอัพเดทความรู้ด้านเทคโนโลยี และที่สำคัญเป็นการเสริมความมั่นใจและภาคภูมิใจให้แก่ผู้สอบที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ได้เป็นหนึ่งในศูนย์เพื่อจัดการสอบใบมาตรฐานวิชาชีพไอที ( ITPE ) โดยเป็นโครงการความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. NSTDA ) ผู้ที่สอบผ่านจะมีโอกาสได้ทำงานกับหน่วยงานและบริษัทชั้นนำมากมาย นอกจากนี้ผู้ที่สอบผ่านระดับ FE ยังสามารถขอใบขออนุญาตทำงาน ( Work Permit ) ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ bit.ly/sauitpe หรือที่เว็บไซต์ http://www.nstdaacademy.com/webnsa” อาจารย์ณัฏฐ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ใบวิชาชีพนี้ไม่ได้แถมมาอัตโนมัติพร้อมกับปริญญาบัตร ผู้ที่ต้องการถือครองจะต้องฝึกทักษะด้านไอทีให้เชี่ยวชาญเพื่อเตรียมเข้ารับการทดสอบ ซึ่งในแต่ละปีทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ สวทช. เปิดสอบปีละ 2 ครั้ง คือ เมษายนและตุลาคม โดยโครงการสอบมาตรฐานวิชาชีพไอที จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2549 และจัดต่อเนื่องติดต่อกันทุกปี โดยสวทช. ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา 15 แห่ง สนับสนุนให้นักศึกษาและบุคลากรทั้งภายในและเครือข่ายภายนอกเข้าร่วมสอบมาตรฐานวิชาชีพไอที โดยเป็นศูนย์สอบและศูนย์ติวสอบทั่วประเทศ พร้อมนำตัวอย่างข้อสอบเก่ามารวบรวมไว้ที่หน้าเว็บไซต์โครงการ เพื่อเป็นแนวทางการทำข้อสอบหรือสอบถามรายละเอียดได้ที่สถาบันวิทยาการสวทช.โทร.0-2642-5001 และ www.nstdaacademy.com
สำหรับรูปแบบการสอบใบมาตรฐานวิชาชีพไอที ( ITPE ) จะอ้างอิงเกณฑ์การวัดความรู้ไอทีที่เป็นมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับในกลุ่มภาคีสมาชิก 7 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม พม่า มองโกเลีย และไทย ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางของการยกระดับบุคลากรด้าน IT ให้มีความพร้อมและความสามารถที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดแรงงานและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยผู้ผ่านการสอบตามมาตรฐาน ITPE สามารถไปทำงานและรับงานจากประเทศในกลุ่มภาคีสมาชิกได้ โดยเบื้องต้นพบว่าเป็นที่ยอมรับจากบริษัทชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ บ. PTT ICT Solutions จำกัด, บ. SSC Solutions จำกัด, บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น, บ.กรุงไทยคอมพิวเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นต้น รวมทั้งบริษัทร่วมทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้รูปแบบการสอบ จะมีการแบ่งระดับเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ที่เปิดให้สอบ เพื่อผู้สอบสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมความจำเป็นหรือความต้องการ ครอบคลุมระดับความรู้ได้ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ขั้นสูง และความชำนาญเฉพาะด้าน/รายสาขา ทำให้การสอบสามารถนำไปใช้ในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน ( Recruitment ) นักศึกษาจบใหม่หรือคนที่ต้องการเปลี่ยนงานได้ เพราะคะแนนจากการสอบนี้ช่วยบอกความสามารถของตัวเองได้ง่ายขึ้น
ประโยชน์ของใบมาตรฐานวิชาชีพไอที ( ITPE ) เป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้ และโอกาสใหม่ของคนไทยยุคใหม่ ทำให้ IT Passport เป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่ง ที่ไม่ว่าผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาจะเป็นใคร ทำงานอะไร อยู่ที่ไหน เป็นคน IT หรือ Non – IT ล้วนสามารถพัฒนาตนเองได้ ซึ่งการสอบใบรับรองด้านไอที ยังเป็นการเตรียมความพร้อมของบุคลากรของประเทศไทย เพื่อรองรับอุตสาหกรรมไอทีในอนาคต รวมทั้งการพร้อมรับนโยบายเปิดเสรีแรงงานของอาเซียนในปีนี้
บทความโดย
อาจารย์ณัฏฐ์ โอธนาทรัพย์
ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์