[Guest Post] เอชพีอี ผนึก สวทช. ยกระดับ วทน.ไทย ด้วยระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ประสิทธิภาพสูงสุดในอาเซียน

เอชพีอี ผนึกศูนย์ไทยเอสซี ภายใต้สวทช. ยกระดับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไทย ด้วยระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ประสิทธิภาพสูงสุดในอาเซียน  เพื่อรองรับการวิจัยและประมวลผลข้อมูลขั้นสูง เผยผลงานล่าสุดประมวลผลข้อมูลทางพันธุกรรมของไวรัส เพื่อหาแนวทางป้องกัน และรักษาโรคโควิด หลายหน่วยงาน รวมถึงการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นPM2.5 ได้ล่วงหน้า3 วัน

 

(เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาเป็นประธานของงานแถลงข่าว “เอชพีอี ผนึก สวทช. ยกระดับ วทน.ไทย ด้วยระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ประสิทธิภาพสูงสุดในอาเซียน” เพราะว่า Supercomputer เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ซึ่งมีการริเริ่มมาตั้งแต่สมัยท่านพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง (อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรัฐมนตรีกว่ากระทรวงยุติธรรม) ที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยให้ทำ Supercomputer และได้รับการสานต่อจากท่าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ได้ตั้งงบประมาณสำหรับซื้อ Supercomputer ซึ่งมีการเปิดตัวแถลงข่าวในวันนี้   

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

          “ผมมาสืบสานและต่อยอดในแง่ของการใช้ Supercomputer ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในการวิจัย การพัฒนานวัตกรรม การทำนาย คาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ PM2.5 ถือว่าเป็นการต่อยอดจากที่ทั้ง 2 ท่านได้วางรากฐานไว้ โดยมุ่งหวังให้ สวทช. วางแผนดำเนินการใช้ประโยชน์ Supercomputer จากบริษัท ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) หรือ เอชพีอี ซึ่งเป็น Supercomputer ที่ดีที่สุดของโลก มาเพิ่มความสามารถของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยก้าวหน้า เช่น ด้านเทคโนโลยี วิศวกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง การเพิ่มสมรรถนะความเร็วของคอมพิวเตอร์ และ AI ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาการทำงาน และต้องมีความกล้าที่จะเริ่มต้นพัฒนา Supercomputer ด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก นอกจากนี้ยังต้องเร่งทำความเข้าใจแก่ประชาชน หน่วยงานต่างๆ และผู้บริหารประเทศให้เห็นถึงนัยยะความสำคัญของการมี Supercomputer เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างกว้างขวาง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าว

นายพลาศิลป์ วิชิวานิเวศน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย)หรือ เอชพีอี  

 

นายพลาศิลป์ วิชิวานิเวศน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย)หรือ เอชพีอี  กล่าวว่า บริษัท เอชพีอี มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจ จากศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูงหรือไทยเอสซี (NSTDA Supercomputer Center: ThaiSC) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National S&T Infrastructure) ของ สวทช. ในการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงขนาดใหญ่ หรือซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Supercomputer)  เพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม(วทน.)ในระดับประเทศ

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้นำเสนอระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่นที่ดีที่สุดของ Hewlett Packard Enterprise (HPE) คือ HPE Cray EX supercomputer ที่ประกอบด้วย CPU รุ่นล่าสุดจาก AMD EPYCTM เจนเนอเรชั่น ที่ 3 (Milan) จำนวน 496 CPUs/ 31,744 cores และมี 704 NVIDIA A100 GPU ที่ได้ประสิทธิภาพการประมวลผลในทางทฤษฎี (peak performance) ถึง 13 Petaflop ซึ่งจะเป็นระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการคำนวณสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการจัดอันดับประสิทธิภาพซูเปอร์คอมพิวเตอร์ โดย top500.org และมีขีดความสามารถการคำนวณที่สูงกว่าระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงที่ สวทช. มีอยู่เดิม (ระบบ TARA) ถึง 30 เท่า อีกทั้งมีการระบายความร้อนด้วยของเหลว (liquid cooling) ที่ให้ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานไฟฟ้า (PUE) ที่ดีที่สุด โดยมีระบบจัดเก็บข้อมูลความเร็วสูงอย่าง Cray ClusterStor E1000 ที่มีความจุรวม 12 เพตะไบต์ (petabytes) เชื่อมต่อด้วย HPE Slingshot Interconnect ที่ความเร็ว 200 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps)

ระบบดังกล่าวคาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จและเปิดใช้งานในปี 2565

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

 

ด้านดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง หรือไทยเอสซี (NSTDA Supercomputer Center: ThaiSC) เป็นหนึ่งในหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National S&T Infrastructure) ของ สวทช. เพื่อสนับสนุนนักวิจัยทั้งจากสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยฯ ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน โดยที่ระบบใหม่นี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับนักวิจัย อันได้แก่

  • ปัญญาประดิษฐ์ และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Artificial Intelligent & Big Data Analytics) ต้องใช้ระบบ HPC ในขั้นตอนการสอน AI โมเดล (training) ที่มีความซับซ้อนและแม่นยำสูงโดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ในการพัฒนา
  • พันธุวิศวกรรม และ ชีวสารสนเทศเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ (Genomics and Bioinformatics for medical research) ที่ต้องจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลรหัสพันธุกรรมปริมาณมหาศาลของคน พืช และสัตว์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ต่อยอดในงานวิจัยหรือการพัฒนา อาทิ การพัฒนาระบบการแพทย์แม่นยำ และการยกระดับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพื่อตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) ซึ่งเป็นวาระของชาติในปัจจุบัน
  • การจำลองอนุภาคในระดับนาโน และอะตอมสำหรับการวิจัยวัสดุขั้นสูง (Nanoscale and atomistic-scale simulations for advanced materials research) เช่น การพัฒนายา วัคซีน อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ แบตเตอรี่ และการพัฒนาวัสดุล้ำยุคต่างๆ
  • การทำแบบจำลองทางวิศวกรรม สำหรับการวิจัยทางอุตสาหกรรม (Engineering simulations for industrial research) เช่น การทดสอบประสิทธิภาพของยานยนต์ในด้านความเร็วและความปลอดภัย เพื่อลดการลงทุนสร้างต้นแบบเทคโนโลยี
  • บรรยากาศศาสตร์ และการจัดการภัยพิบัติ (Atmospheric science and disaster management) เช่น การคำนวณคาดการณ์สภาพอากาศ การจำลองภัยพิบัติ หรือคาดการณ์ระดับค่ามลพิษของประเทศ เพื่อแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถรับมือกับเหตุการณ์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบันไทยเอสซี (ThaiSC) ให้บริการการประมวลผลประสิทธิภาพสูง  (High Performance Computing: HPC) ภายใต้ระบบคลัสเตอร์ TARA HPC ที่ประกอบด้วย 4,320 cores และ 28 NVIDIA V100 GPU โดยมีพื้นที่เก็บข้อมูล 750 เทระไบต์ (TB) เชื่อมต่อบนระบบเครือข่ายความเร็ว 100 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) โดยให้บริการกับโครงการวิจัยภายใน สวทช. เป็นหลัก และได้มีการเปิดรับโครงการจากภายนอก สวทช. ทั้งจากภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน

“ในช่วงวิกฤต โควิด-19 ทางไทยเอสซี ได้มีโอกาสช่วยสนับสนุนการวิจัยและประมวลผลข้อมูล ทางพันธุกรรมของไวรัส (Genomes) เพื่อหาแนวทางป้องกัน และรักษาโรคโควิด-19 อาทิ การสนับสนุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการดำเนินโครงการคัดสรรสารออกฤทธิ์ต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ด้วยเทคนิคทางเคมีคำนวณขั้นสูง เพื่อใช้ Supercomputer ในการคัดกรองสารออกฤทธิ์ที่มีอยู่ในยารักษาโรคที่มีการใช้งานอยู่เดิม ว่าสามารถนำมาใช้ในการยับยั้งการทำงานของไวรัส SARS-CoV-2 หรือไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้หรือไม่ เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการผลิตยา (ขณะนั้นยังไม่มียารักษาโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ) และได้ให้บริการแก่กลุ่มวิจัย COVID-19 Network Investigations (CONI) ในการใช้ Supercomputer เพื่อการดำเนินโครงการถอดรหัสจีโนมไวรัสสายพันธุ์ SARS-CoV-2 ที่ระบาดในประเทศไทย โดยใช้ Supercomputer ในการประมวลผลยืนยันสายพันธุ์ไวรัส SARS-CoV-2 ลดเวลาในการคำนวณจาก 1 สัปดาห์ เหลือเพียง 2 ชั่วโมง ทำให้สามารถส่งมอบข้อมูลสายพันธุ์ไวรัส SARS-CoV-2 ที่กำลังระบาดให้แก่หน่วยงานทางการแพทย์ สำหรับนำไปใช้ในการวางแผนรับมือการระบาดของโรคได้ทันการณ์ นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ กรมควบคุมมลพิษ พัฒนาการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เฉพาะทาง ด้านมลพิษทางอากาศ (WRF-chem) เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือพีเอ็ม 2.5 ได้เร็วขึ้นถึง 15 เท่า ทำให้กรมควบคุมมลพิษสามารถคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ 9 จังหวัดในภาคเหนือของประเทศ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้ล่วงหน้าถึง 3 วัน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนรับมือได้ทันต่อสถานการณ์” ดร. ณรงค์ กล่าว

ดร.ปิยวุฒิ ศรีชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (ThaiSC) สวทช. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ThaiSC มีทีมนักวิจัยและวิศวกรผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีด้านการคำนวณขั้นสูง (HPC Specialist) ที่สามารถให้คำแนะนำเรื่องการใช้ Supercomputer กับงานวิจัยหลายด้าน โดยเฉพาะใน 4 สาขาหลัก ได้แก่ ชีวสารสนเทศ (Bioinformatics), การจำลองแบบวิศวกรรม (Engineering Simulations), เคมี-ฟิสิกส์ และ AI (Artificial Intelligence) โดยศูนย์ ThaiSC ยังมีเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยพัฒนากับศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ชั้นนำทั่วโลก รวมไปถึงมีพันธกิจในการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ HPC ในประเทศซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและยกระดับ วทน. ให้กับประเทศในอนาคต โดยมีแผนจะเปิดให้บริการกับผู้ใช้งานทั่วประเทศในปี 2565 ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและติดต่อขอใช้บริการได้ที่ https://thaisc.io/ หรืออีเมล thaisc@nstda.or.th ศูนย์ ThaiSC

นายพลาศิลป์ กล่าวเสริมว่า ทางเอชพีอี มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ทำงานร่วมกับไทยเอสซี           ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ทางด้านไอทีเพื่อให้คนไทยได้ใช้ความรู้ที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้มีความสามารถทัดเทียมกับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ตามคำที่ว่า “คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก”

ทั้งนี้ที่ผ่านมาเอชพีอีได้ติดตั้งซูเปอร์คอมพิวเตอร์ให้กับโครงการต่างๆมากมาย อาทิเช่น

  • US. Exascale system ภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ถึง 4 โครงการใหญ่ รวมมูลค่า 1.5 พันล้านดอลล่าห์ สหรัฐฯ โดยการนำเสนอ HPE Cray EX Supercomputer (Shasta architecture)
  • Singapore’s National Supercomputing Centre (NSCC) ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 มีพลังการประมวลผลถึง 10 Petaflops (RAW) โดยใช้ CPU จาก AMD EPYCTM จำนวนเกือบ 900 CPUs และมี 352 NVIDIA A100 GPU จัดเก็บข้อมูลด้วย Cray ClusterStor E1000 ความจุ 10 เพตะไบต์เชื่อมต่อผ่าน HPE Slingshot Interconnect
  • UK Meteorological Office ประเทศอังกฤษในปี 2020 ในการนำเสนอ HPE Cray EX Supercomputer ที่มีพลังการประมวลผล 60 petaflops สำหรับการวิจัยแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change modeling) โดยใช้ CPU จาก AMD EPYCTM และ AMD InstinctTM GPU
  • Setonix Supercomputer ติดตั้งที่ Pawsey Supercomputing Centre ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งได้เริ่มติดตั้งในปี 2021 และคาดว่าสามารถเดินเครื่องได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในปี 2022 โดยมีพลังประมวลผลถึง 50 Petaflops ที่ถูกออกแบบสำหรับประมวลผลแบบจำลอง (modeling and simulation) ที่ซับซ้อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวิจัยในด้านต่างๆ อันได้แก่ การศึกษาคลื่นวิทยุที่ได้รับจากอวกาศ (radio astronomy), พยาธิวิทยาของพืช (plant pathology), การวิจัยเกี่ยวกับยา และ AI เป็นต้น โดยใช้ CPU จาก AMD EPYCTM 2 แสนกว่า CPU cores และ 750 AMD InstinctTM GPU จัดเก็บข้อมูลด้วย HPE Cray Clusterstor E1000

 

About Maylada

Check Also

บริษัทซอฟต์แวร์คลาวด์ ServiceTitan ประกาศ IPO หวังระดมทุนสูงสุด 502 ล้านดอลลาร์

ServiceTitan ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์คลาวด์สำหรับธุรกิจ ประกาศเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO) โดยตั้งเป้าระดมทุนสูงสุดถึง 502 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการเสนอขายหุ้นจำนวน 8.8 ล้านหุ้น ในช่วงราคาหุ้นละ 52 ถึง 57 ดอลลาร์

Tuskira เปิดตัวพร้อมทุน 28.5 ล้านดอลลาร์ ยกระดับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้วย AI

สตาร์ทอัพด้านการตรวจจับภัยคุกคาม Tuskira เปิดตัวพร้อมระดมทุน 28.5 ล้านดอลลาร์จากกลุ่มนักลงทุนที่นำโดย Intel Capital และ SYN Ventures มุ่งเร่งนวัตกรรม AI การผสานระบบ และยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขององค์กรด้วยกลยุทธ์เชิงรุกที่รวมเครื่องมือเข้าด้วยกันและลดความเสี่ยงแบบเรียลไทม์