วันนี้ทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้เข้าร่วมการสัมภาษณ์กลุ่มกับทางคุณวีระ อารีรัตนศักดิ์ ผู้ดำรงตำแหน่ง Managing Director แห่ง NetApp ผู้ดูแลภูมิภาคอินโดจีน, ไทย และมาเลย์เซีย รวมทั้งสิ้น 9 ประเทศ กับแนวโน้มต่างๆ ของวงการ Storage ในระดับองค์กรของประเทศไทย และการใช้ Cloud จริงในระดับองค์กร จึงขอนำมาสรุปให้ได้อ่านกันดังนี้ครับ
NetApp เติบโตทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง All Flash มาแรง
ภาพรวมทั่วโลกนั้น NetApp มีกำไรจากการขาย Product อยู่ที่ 65% และเติบโต 22% y/y โดย Clustered ONTAP ที่ช่วยให้ขยายระบบได้แบบ Scale-out ก็ทำให้ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดขายดีขึ้นด้วย ในขณะที่ All Flash เติบโตสูงสุดที่ 160% y/y และมีรายรับประมาณ 1,400 ล้านเหรียญต่อปี ขายไป 300PB Flash และขาย AFF ได้ 175% y/y ซึ่งตลาดหลักของ NetApp คือกลุ่มพลังงาน, การเงิน และโรงงาน ในขณะที่ปีที่ผ่านมาก็ได้มีทีมงานสำหรับสนับสนุนตลาดภาครัฐมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์การก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันนี้คุณวีระแห่ง NetApp ขยายมาดูแลถึง 9 ประเทศทั่วอินโดจีนยกเว้นสิงคโปร์ เนื่องจากประเทศไทยนั้นเติบโตสูงสุดใน 9 ประเทศ ทำให้ไทยได้กลายเป็นประเทศศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ และปัจจุบัน NetApp ก็มีทีมงานในประเทศไทยเกินกว่า 20 คนแล้ว
สำหรับเป้าหมายในประเทศไทย NetApp ก็จะยังคงอัตราการเติบโตที่ 2 หลักต่อไป และช่วยให้ลูกค้าของ NetApp สามารถสร้าง Next Generation Data Center และ Hybrid Cloud ที่คิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริงได้ ทั้งในมุมขององค์กรที่ต้องการก้าวไปสู่การทำ Hybrid Cloud อย่างเต็มตัว และผู้ให้บริการ Cloud ในประเทศไทยก็ตาม ในขณะที่จะช่วยเปลี่ยนคำถามขององค์กรจากควรจะใช้ Cloud หรือไม่ ให้กลายเป็นควรจะเลือกใช้ Cloud อย่างไรให้คุ้มค่ามากที่สุดแทน รวมถึงจะผลักดันสภาวะแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้นตามเมืองนอกที่ได้รับรางวัล Best Company to Work For มาอย่างต่อเนื่องหลายปี และจะจับมือกับ Partner ให้มากขึ้น เพื่อให้โซลูชันต่างๆ ออกมาเหมาะสมต่อความต้องการของภาคธุรกิจให้มากที่สุด
คุณวีระได้วิเคราะห์ตลาดในเมืองไทยแต่ละภาคส่วนเอาไว้ว่า ภาครัฐในไทยถึงแม้จะมีงบประมาณเยอะแต่ก็ยังติดขัดเรื่องความเร็วในการลงทุน ตลาดพลังงานปีนี้ก็เริ่มกลับมาแล้วจากราคาน้ำมัน ในขณะที่ตลาดการเงินนั้นก็มีการลงทุนทางด้าน IT เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเพราะการแข่งขันที่รุนแรง ส่วนโรงงานนั้นก็เริ่มมีการปรับตัวมาหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น และทางด้านประเทศเพื่อนบ้านเองนั้นก็มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจเช่นกัน
ปัจจุบัน NetApp กลายเป็นธุรกิจ Data Management Vendor ที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว เพราะเป็นผู้ผลิตแบบ Pure Play ที่พัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการจัดการข้อมูลอย่างเดียว
4 Trend Storage ของประเทศไทยและ ASEAN ในมุมของ NetApp
NetApp นั้นมองว่าแนวโน้มของตลาด Storage ในปี 2017 นั้นมีด้วยกัน 4 ประการใหญ่ๆ ดังนี้
- Hybrid Cloud องค์กรต้องเลือกแล้วว่าจะใช้บริการ Cloud ที่ประกอบจากผู้ให้บริการรายใด หรือลงทุน Private Cloud เองในส่วนใดบ้าง
- Software-Defined Storage (SDS) ระบบ Storage มีความยืดหยุ่นมากขึ้นทั้งในแง่การติดตั้งใช้งาน และการอัปเดต รวมถึงเลือก IT Infrastructure ที่ต้องการติดตั้งเองได้
- Flash Storage มาแรงที่สุดในตลาดนี้ เพราะเป็นยุคของการเปลี่ยนจาก Storage แบบเดิมกลายเป็น Flash Storage แทน
- เปลี่ยนจาก CAPEX เป็น OPEX แทน ลดการลงทุนจัดซื้อเป็นก้อนลง และเปลี่ยนไปเป็นการเช่าใช้งานตามจริงแทน
ปัจจุบันนี้ องค์กรส่วนใหญ่กำลังอยู่ในยุคถัดจาก Virtualization มาถึงขั้นตอนของการทำ Automation ซึ่งเป็นทางผ่านไปสู่การทำ Hybrid Cloud และเปลี่ยนระบบ IT Infrastructure ให้กลายเป็น IT as a Service ไม่ว่าจะเป็น IaaS, PaaS, SaaS หรือ XaaS ก็ตาม ในขณะที่แผนก IT ขององค์กรจะต้องปรับตัวจากการเป็นผู้ให้การสนับสนุนแผนกอื่นๆ กลายมาเป็นด่านหน้าขององค์กรและกลายเป็นหัวใจหลักของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรไปแทน
เปลี่ยนคำถามจากควรใช้ Cloud หรือไม่ กลายเป็นควรเลือกใช้ Hybrid Cloud อย่างไรให้คุ้มค่า
ในไทยนั้นผู้ให้บริการ Cloud ส่วนใหญ่มักจะเป็น Infrastructure as a Service (IaaS) ในขณะที่ผู้ใช้บริการ Cloud ในไทยจำนวนมากนั้นคือกลุ่มของ SME ที่ลงทุนใช้บริการ Cloud เนื่องจากความง่ายและความคุ้มค่าในการลงทุนที่สูงกว่าการสร้าง Data Center ของตัวเอง และทำให้ธุรกิจ SME สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้นด้วยบริการต่างๆ ที่มีอยู่บน Cloud
ถึงแม้ว่าปัจจุบันหลายๆ องค์กรจะยังคงมีคำถามว่าจะใช้ Cloud หรือไม่อยู่ แต่ในมุมของ NetApp นั้นปัจจุบันประเด็นนี้ไม่ควรเป็นคำถามกันอีกแล้ว เพราะหากทุกองค์กรต้องการอยู่รอดและแข่งขันให้ได้ การใช้ข้อได้เปรียบจากความคล่องตัวและรูปแบบการลงทุนของ Cloud นั้นก็ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น และองค์กรใหญ่จำนวนมากก็เริ่มใช้งานแบบ Hybrid Cloud กันบ้างแล้วถึงแม้จะยังไม่สมบูรณ์ดีนักก็ตาม ดังนั้นงานใหม่ขององค์กรก็คือการประเมินว่าจะเลือกใช้ Cloud อย่างไรให้คุ้มค่าสูงสุด
ในมุมของ NetApp นั้น แบ่งองค์ประกอบของ Hybrid Cloud ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
- Hyperscale Cloud Providers ผู้ให้บริการ Cloud รายใหญ่ เช่น AWS, Microsoft Azure, Google Cloud และ IBM Cloud
- Cloud Service Providers ผู้ให้บริการ Cloud ในท้องถิ่น เน้นความยืดหยุ่นในการให้บริการเป็นหลัก
- Private Cloud ลงทุนพัฒนาระบบ Cloud เพื่อใช้งานเอง หรือเช่า Infrastructure ภายนอกมาใช้ Cloud
ประเด็นทางด้าน Security ก็ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในการที่องค์กรต่างๆ จะเลือกใช้ Cloud แต่ปัจจุบันผู้ให้บริการ Cloud นั้นก็พัฒนาจนระบบมีความปลอดภัยสูง, มีประสิทธิภาพดี และบริหารจัดการได้ในเชิงลึกมากขึ้น
การเคลื่อนย้ายข้อมูลระหว่าง Cloud ให้ได้ คือ IT Infrastructure ที่องค์กรต้องเริ่มลงทุนเพื่อความคล่องตัวและคุ้มค่าในระยะยาว
มุมมองของ NetApp นั้น ข้อมูลทั้งหมดขององค์กรไม่ว่าจะอยู่บนที่ใดก็ตาม ก็ควรจะต้องเชื่อมต่อกันและโยกย้ายได้อย่างง่ายดาย เพื่อให้องค์กรนั้นสามารถเลือกใช้งาน IT Infrastructure ที่เหมาะสมต่อธุรกิจและคุ้มค่าสูงสุดได้อยู่เสมอ รวมถึงสามารถขยายระบบต่างๆ ได้อย่างง่ายดายและต่อเนื่องด้วยการผสานระบบ Hybrid Cloud ที่ชั้นของข้อมูลให้สมบูรณ์ก่อนเป็นก้าวแรก โดย NetApp นั้นได้พัฒนาเทคโนโลยี Data Fabric ซึ่งประกอบไปด้วยเทคโนโลยีอย่าง SnapMirror Connected ในการเชื่อมข้อมูลจาก NetApp Storage ไปยัง NetApp Private Storage ที่อยู่บน Cloud Service Providers ในแต่ละประเทศ หรือ Cloud Storage อย่าง Cloud ONTAP และ AltaVault-C บน Public Cloud เข้าด้วยกัน และทำให้การโยกย้ายข้อมูลระหว่าง Hybrid Cloud จากผู้ผลิตแต่ละรายนั้นทำได้อย่างง่ายดาย และปลอดภัย โดยที่องค์กรนั้นยังมีสิทธิ์ในการควบคุมข้อมูลทั้งหมดขององค์กรอยู่ตลอด
Data Fabric นี้จะยังช่วยเข้ามาแก้ปัญหาในข้อจำกัดด้านการ Migrate ข้อมูลบนระบบ Cloud ซึ่งมักเป็นคอขวดใหญ่ของหลายๆ ธุรกิจในการเปลี่ยนผู้ให้บริการ Cloud เสมอ เพราะการย้ายข้อมูลขึ้นลงระหว่างบริการ Cloud นั้น นอกจากจะมีปัญหาด้านเวลาและความปลอดภัยแล้ว ก็ยังมีปัญหาเรื่องกระบวนการที่มีความซับซ้อนสูงและอาจเกิดความผิดพลาดในระหว่างการย้ายข้อมูล ซึ่งอาจเป็นประเด็นใหญ่ได้ในหลายๆ ครั้ง การเปลี่ยนให้ชั้นของการจัดเก็บข้อมูลกลายเป็นผืนเดียวกันได้ด้วย NetApp Data Fabric จึงทำให้องค์กรสามารถบริหารจัดการข้อมูลของตนเองได้อยู่ตลอด และประเด็นนี้ก็ควรเป็นหนึ่งในประเด็นที่เหล่าองค์กรควรพิจารณาด้วยว่าถ้าหากจะเปลี่ยนผู้ให้บริการ Cloud แล้ว จะย้ายข้อมูลออกมาอย่างไรด้วยค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
ในไทยมีการใช้งาน Data Fabric จำนวนมากในหลากหลายองค์กรแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำ Backup as a Service, การทำ Storage Virtualization ไปจนถึงการใช้ Cloud ONTAP เพื่อสร้างบริการ Cloud Storage เพื่อรองรับการให้บริการ Cloud ในประเทศไทย
ความสามารถนี้จะช่วยเข้ามาเสริมกลยุทธ์ CloudFirst ของหลายๆ องค์กร ที่มักจะทำการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่บน Cloud ก่อนเป็นหลัก และพอพัฒนาจนระบบนิ่งแล้วถึงค่อยเลือกว่าจะย้ายระบบลงมาที่ IT Infrastructure ใด ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเพราะค่าใช้จ่ายในการลงทุนเริ่มต้นนั้นต่ำ และระยะยาวก็ยังสามารถเปลี่ยนจากระบบ Development ให้กลายมาเป็น Production ได้อย่างรวดเร็ว
ความสามารถของ Data Fabric นี้ทำให้ NetApp สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้การมาของ Cloud จะทำให้การซื้อระบบ Storage ภายในองค์กรน้อยลงก็ตาม แต่ก็ทำให้ความต้องการของ Hybrid Cloud เติบโตไปด้วย และทำให้ NetApp มีผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับนำเสนอทั้งในตลาดขององค์กรที่ยังมีระบบ IT แบบ Traditional และแบบ Cloud-native ได้ทั้งคู่
สั่งซื้อ NetApp Cloud ONTAP ได้ง่ายๆ ทันทีบน AWS และ Microsoft Azure
สำหรับองค์กรที่เป็นลุกค้าของ NetApp อยู่แล้วนั้น สามารถต่อยอดระบบเป็น Hybrid Cloud ได้ทันทีด้วยการเชื่อมต่อกับ NetApp Cloud ONTAP ดังนั้นองค์กรจึงสามารถทำการโยกย้ายข้อมูลไปมาระหว่าง NetApp ภายในองค์กร และ NetApp Cloud ONTAP ที่อยู่บนผู้ให้บริการอย่าง AWS (https://cloud.netapp.com/cloud-ontap) และ Microsoft Azure (https://cloud.netapp.com/cloud-ontap-azure) ได้อย่างง่ายดาย ทำให้การพัฒนา Application ต่างๆ บน Cloud ก่อนแล้วค่อยย้ายระบบลงมายัง Private Cloud ขององค์กร หรือการย้ายข้อมูลระหว่าง 2 ผู้ให้บริการ Cloud นี้สามารถทำได้ผ่านเทคโนโลยีของ NetApp ทั้งหมด เสมือนกำลังใช้งาน NetApp Storage อยู่ภายใน 2 Data Center นั่นเอง
Converged Infrastructure ยังคงเติบโต
นอกจากระบบ Storage แล้ว ทาง NetApp ก็ยังมีการจับมือกับ Cisco เพื่อนำเสนอระบบ Converged Infrastructure ร่วมกับระหว่างเทคโนโลยีของ 2 ผู้ผลิตภายใต้ชื่อ FlexPod ทำให้องค์กรต่างๆ สามารถลงทุนใน IT Infrastructure ภายในองค์กรได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดย NetApp และ Cisco เองก็ได้มีการจับมือกับเหล่าผู้พัฒนา Software ต่างๆ มากมาย ทั้ง SAP, Oracle, Microsoft รวมถึงเทคโนโลยี Open Source อย่างเช่น OpenStack เพื่อผนวกรวมโซลูชันแต่ละชุดเข้ากับ Converged Infrastructure เกิดเป็นระบบสำเร็จรูป ให้ลูกค้ามีทางเลือกในการใช้งานเทคโนโลยีที่ผ่านการทดสอบและรับรองโดยผู้ผลิตเองแล้วได้อย่างมั่นใจ
ทั้งนี้ในประเทศไทยเองก็มีการใช้งาน Converged Infrastructure อย่างหลากหลาย ทั้งการใช้งานในฐานะของ Cloud Infrastructure เพื่อนำไปให้บริการเป็น Cloud Service Provider, การใช้งานเป็น IT Infrastructure เฉพาะสำหรับ Core Business Application เช่น SAP, Oracle หรือ Microsoft รวมไปถึงการสร้างระบบ DevOps ขนาดใหญ่สำหรับองค์กรที่กำลังเร่งสร้างนวัตกรรมของตัวเอง
การเช่าใช้ IT Infrastructure แบบ Pay per Use ภายในองค์กรคืออนาคตของการลงทุน
อีกหนึ่งแนวโน้มที่น่าสนใจคือการที่ NetApp นั้นเริ่มมีการจับมือกับ Partner รายต่างๆ ในไทยและให้บริการแบบ Pay per Use ในไทยได้แล้ว ทำให้ลูกค้าสามารถนำ Hardware ของ NetApp ไปติดตั้งใช้งานภายในองค์กรของตนและจ่ายเงินตามการใช้งานจริงได้เสมือนกำลังใช้งานระบบ Cloud อยู่เลย รวมไปถึงกรณีที่องค์กรต่างๆ อยากมี Private Cloud เป็นของตัวเองแต่ไม่อยากลงทุนเองทั้งหมด ทาง NetApp ก็มีโซลูชัน Cloud On Premise ที่ยก Cloud Infrastructure ไปตั้งของใน Data Center ขององค์กรได้เลย แล้วให้องค์กรจ่ายเงินแบบเช่าใช้ตามการใช้งานจริง ถือเป็นอีกการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างใหญ่ และก็มีลูกค้าในไทยใช้บริการนี้จริงๆ แล้วเช่นกัน
สุดท้ายนี้ทางทีมงาน TechTalkThai ต้องขอขอบคุณทาง NetApp Thailand ที่ให้โอกาสเข้าร่วมสัมภาษณ์ในครั้งนี้ด้วยครับ