มีวนา: ธุรกิจกาแฟ Social Enterprise ลดการบุกรุกป่าในไทย ด้วย Cloud และ IoT

ทางทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้เข้าฟังเรื่องราวของโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือสังคมที่ทาง Microsoft ได้บริการระบบ Microsoft Azure ให้แก่โครงการนี้ใช้งานได้ฟรีๆ และ Betimes Solutions ได้เข้ามาช่วยพัฒนาระบบซอฟต์แวร์และ IoT เพื่อช่วยสนับสนุนธุรกิจ Social Enterprise นี้ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการรักษาผืนป่าแล้วกว่า 20,000 ไร่ จึงขอนำมาเขียนสรุปให้ทุกท่านได้อ่านกันดังนี้ครับ

 

การรุกล้ำผืนป่า เป็นปัญหาใหญ่ของการอนุรักษ์ป่าในทุกวันนี้

เรื่องราวของมีวนานี้เกิดขึ้นที่เชียงราย ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาการรุกล้ำผืนป่าเป็นอย่างมากจากการที่ชาวบ้านปลูกพืชไม้เดี่ยว และต้องคอยถางป่าเพื่อปลูกพืชเหล่านั้นซ้ำไปเรื่อยๆ เพื่อหาเลี้ยงชีพ ทำให้พื้นที่ป่าของเชียงรายค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนเกิดความขัดแย้งกับเหล่าเจ้าหน้าที่ที่ต้องการรักษาผืนป่า และกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข

ในการแก้ไขปัญหานี้ จะแก้ด้วยเชิงกฎหมายเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะหากชาวบ้านไม่ร่วมมือเนื่องจากไม่มีหนทางทำกินอื่น การรุกล้ำป่าก็จะเกิดต่อไปเรื่อยๆ ในทางกลับกันถึงแม้ชาวบ้านจะเลิกรุกล้ำพื้นที่ผืนป่าไป แต่การปลูกป่าให้กลับมาฟื้นฟูได้ดังเดิมใหม่ก็ต้องอาศัยกำลังคนเป็นอย่างมาก และต้องอาศัยความร่วมมือจากชาวบ้านอยู่ดี

 

มีวนา: ธุรกิจ Social Enterprise ลดการบุกรุกป่า และสร้างรายได้ให้ชาวบ้านด้วยกาแฟที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์กว่า 20,000 ไร่

มีวนา หรือ MiVana ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากการสนับสนุนของมูลนิธิสายใยแผ่นดินในฐานะธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มาแก้ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ป่าของเชียงรายโดยเฉพาะ ด้วยการออกแบบธุรกิจที่จะช่วยรักษาผืนป่าไปพร้อมๆ กับการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน โดยการให้ชาวบ้านปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่ปลูกใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ในป่าบนภูเขาที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป และปลูกโดยหลักเกษตรอินทรีย์และควบคุมการปลูกให้เป็นแบบออร์แกนิคทั้งหมด เพื่อให้เมล็ดกาแฟที่ได้มานั้นมีคุณภาพสูง สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้จริง อีกทั้งยังช่วยรักษาผืนป่า ทำให้ชาวบ้านสามารถปลูกกาแฟเหล่านี้ในพื้นที่ป่าได้เลยโดยไม่ทำลายธรรมชาติ และไม่ต้องเกิดการถางป่าอีกต่อไป อีกทั้งยังมีการควบคุมเพื่อไม่ให้การปลูกกาแฟนี้ทำให้คุณภาพดินเสียไป

เมล็ดกาแฟของมีวนานี้ถูกควบคุมให้ปลูกแบบออร์แกนิคทั้งหมด และได้รับการรับรองผ่านมาตรฐาน IFOAM, EU, COR และ USDA สามารถส่งออกไปขายต่างชาติได้ โดยรายได้ทั้งหมดจากเมล็ดกาแฟของมีวนานี้จะถูกนำไปใช้เพื่อรักษาผืนป่าต่อไปด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้กาแฟหนึ่งแก้ว มีคุณค่ามากกว่าเพียงแค่รสชาดหรือความอร่อยเท่านั้น โดยแรกเริ่มนั้นมีวนาได้ทำโครงการนี้ในผืนป่ากว่า 7,800 ไร่ และมีแผนจะขยายต่อไปจนถึง 20,000 ไร่ในอนาคต จากการเซ็นต์สัญญา MOU เรียบร้อยแล้ว

ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมีวนา สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mivana.co.th

 

Betimes Solution: รับบทบาทพัฒนาระบบ Internal Control System ช่วยควบคุมขั้นตอนการผลิตและการตรวจสอบมาตรฐานของเมล็ดกาแฟ

ความยุ่งยากของมีวนา คือการรับรองว่าเมล็ดกาแฟที่ปลูกทั้งหมดถูกปลูกแบบออร์แกนิก และบริหารจัดการให้การปลูกกาแฟนี้ไม่ส่งผลเสียต่อป่าจริงๆ อีกทั้งยังต้องรองรับการจัดการผืนป่าขนาดใหญ่ได้ ซึ่งแต่ละขั้นตอนนั้นต่างก็มีความยุ่งยากไม่น้อย ซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับแก้โจทย์นี้จึงถือเป็นตัวแปรที่สำคัญ และ Betimes Solutions ก็เข้ามามีบทบาทในส่วนนี้

Betimes Solutions ได้ทำการพัฒนาซอฟต์แวร์ Internal Control System (ICS) เพื่อรองรับกระบวนการทุกขั้นตอนของกาแฟมีวนาให้ได้อย่างครอบคลุม ตั้งแต่ขั้นตอนของการลงทะเบียนชาวบ้านที่จะมาเข้าร่วมโครงการ, การตรวจสอบและเตรียมป่า, การบันทึกการเก็บเกี่ยว, การบริหารจัดการการคั่วกาแฟ ไปจนถึงการบรรจุหีบห่อ พร้อมจะนำไปขายต่อได้ทันที โดยมีจุดเด่นต่างๆ ที่น่าสนใจดังนี้

  • สามารถเข้าถึงทุกๆ ข้อมูลและกระบวนการการทำงานของโครงการมีวนาได้จากบริการ Cloud โดย Microsoft Azure ได้จากทุกที่ทุกเวลา
  • ช่วยให้ชาวบ้านที่ปลูกกาแฟ สามารถบันทึกข้อมูลต่างๆ ในการปลูกกาแฟได้อย่างง่ายดาย ติดตามได้ทุกขั้นตอนการปลูกและการผลิต
  • ช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถตรวจสอบพื้นที่ป่าและทำการสำรวจป่าได้ผ่านทางระบบ Tablet ถึงแม้สัญญาณ Internet จะเข้าไม่ถึงก็ตาม ไม่ต้องใช้เอกสารกระดาษในการทำงานอีกต่อไป
  • ข้อมูลมีความถูกต้องแม่นยำสูง เก็บข้อมูลเชิงลึกของผู้ผลิตและกระบวนการในการปลูกและการผลิตอย่างครบวงจร ช่วยให้การตรวจสอบมาตรฐานอินทรีย์สามารถทำได้เร็วขึ้นถึง 4 เท่า จากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 4 เดือนก็เหลือเพียง 1 เดือนเท่านั้น
  • มีแผนที่จะพัฒนาระบบ Internet of Things (IoT) เพื่อจัดการตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายในป่าที่ปลูกกาแฟ ทั้งสภาพอากาศและสภาพดิน รวมถึงทำการรดน้ำแบบอัตโนมัติ เพื่อให้ชาวบ้านแต่ละคนสามารถรับผิดชอบพื้นที่ปลูกกาแฟในป่าได้มากขึ้น และสร้างรายได้ได้มากขึ้นในระยะยาว

 

Microsoft: สนับสนุนบริการ Cloud ด้วย Microsoft Azure ให้ใช้งานฟรีสำหรับงานเพื่อสังคม ตามโครงการ Public Cloud for Public Good

Microsoft นั้นมีโครงการ Public Cloud for Public Good ที่จะบริจาคระบบ Cloud ของ Microsoft อย่าง Microsoft Azure เพื่อให้เหล่าธุรกิจเพื่อสังคมและโครงการต่างๆ เพื่อสังคมสามารถนำไปใช้งานได้ฟรี และมีวนาก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ Microsoft ได้ให้การสนับสนุน จากงบสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 70 ล้านบาท และกว่า 430 โครงการที่ Microsoft ได้สนับสนุนไปในประเทศไทย

การนำ Cloud มาใช้ในโครงการนี้ก็ทำให้มีวนาสามารถรองรับต่อการเพิ่มขยายธุรกิจได้มากขึ้น ในขณะที่ทุกคนที่ต้องใช้งานภายในระบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ หรือพนักงานจากมีวนาเองก็สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้จากทุกที่ทุกเวลา ทำให้ง่ายต่อการนำไปประยุกต์ใช้งาน โดยนอกจาก Microsoft Azure แล้ว ทาง Microsoft เองก็ยังได้บริจาค Microsoft PowerBI เพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สามารถทำได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งยังได้บริจาค Microsoft IoT Hub เพื่อให้รองรับต่อการต่อยอดทางด้าน IoT ในอนาคตได้อีกด้วย


About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

Salesforce นำเสนอโซลูชั่น AI ใหม่ล่าสุด ต่อยอดนวัตกรรมเพื่อยกระดับ Customer Experience ให้ธุรกิจทั่วโลก [Guest Post]

กรุงเทพฯ, ประเทศไทย, 8 มิถุนายน 2566 – เมื่อเร็ว ๆ นี้ Salesforce (เซลส์ฟอร์ซ) ประกาศเปิดตัวนวัตกรรม AI ล่าสุดหลายรายการสำหรับ Data …

Google เปิดตัว Secure AI Framework แนวทางการสร้าง AI อย่างปลอดภัย

Google เปิดตัว Secure AI Framework ช่วยแนะนำแนวทางการสร้าง AI อย่างปลอดภัย