ภูมิทัศน์ในด้านความมั่นคงปลอดภัยบนไซเบอร์มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับการเกิดขึ้นของภัยคุกคามรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีองค์กรอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่พร้อมต่อการรับมือ และปกป้องตัวเองจากความเสี่ยงเหล่านี้ การนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาผสานเข้ากับระบบความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กำลังก้าวขึ้นมาเป็นแนวทางสำคัญในการรับมือกับภัยคุกคามในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อองค์กรต่าง ๆ เริ่มมีการพึ่งพา Digital Twins ซึ่งเป็นแบบจำลองเสมือนที่เลียนแบบและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบทางกายภาพในการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น

ในยุคที่ภัยคุกคามบนไซเบอร์ทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การผสาน AI เข้ากับระบบไซเบอร์ซีเคียวริตีไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับและตอบสนองต่อภัยคุกคาม แต่ยังช่วยเสริมความสามารถในการฟื้นตัวจากการโจมตีอีกด้วย
บทความนี้จัดทำโดยคุณณัฐวิชช์ ว่องสิทธิโรจน์ Regional technical head, ManageEngine

ทั้งนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทย ก็ได้กำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์สำคัญในการเปลี่ยนประเทศให้เป็นศูนย์กลางดิจิทัลชั้นนำ โดยในปี 2567 เศรษฐกิจดิจิทัลคิดเป็น 23.9% ของ GDP ของไทย มีมูลค่ารวม 4.44 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% จากปี 2566 การเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคดิจิทัลทำให้การยกระดับมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อปกป้ององค์กรจากภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
AI และ Digital Twins ทางเลือกใหม่ของความมั่นคงปลอดภัยบนไซเบอร์
Digital Twins คือแบบจำลองดิจิทัลของระบบในโลกจริง ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การแพทย์ และการผลิต เมื่อนำมาผสานกับ AI เทคโนโลยีนี้จะช่วยยกระดับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ไปไกลกว่าวิธีการแบบเดิม Digital Twins สามารถให้ภาพรวมของระบบแบบเรียลไทม์ พร้อมทั้งใช้ Machine Learning และการให้เหตุผลเชิงตรรกะในการตัดสินใจ ช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
AI และ Digital Twins การทำงานร่วมกันเพื่อเสริมความมั่นคงปลอดภัยบนไซเบอร์
การผสาน AI และ Digital Twins เข้าด้วยกันสามารถสร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์

โดยมีแนวทางหลักที่ช่วยยกระดับการป้องกันภัยคุกคาม ดังนี้
การวิเคราะห์เชิงพยากรณ์: คาดการณ์ภัยคุกคามก่อนเกิดขึ้นจริง
หนึ่งในหลักการสำคัญของการผสาน AI และ Digital Twins คือการใช้ การวิเคราะห์เชิงพยากรณ์ (Predictive Analytics) AI สามารถเรียนรู้จากข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ Digital Twins สร้างขึ้น วิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรมในอดีต และทำนายภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแม่นยำ โดย AI จะตรวจจับความผิดปกติและระบุพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากปกติ ทำให้องค์กรสามารถ คาดการณ์ช่องโหว่ ที่อาจถูกโจมตีก่อนที่ภัยคุกคามจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งช่วยให้สามารถดำเนินมาตรการป้องกันล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ และเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบดิจิทัลขององค์กร
ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แบบปรับตัว: รับมือภัยคุกคามที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว
โซลูชันความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แบบเดิมไม่สามารถตามทันภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเฝ้าระวังและป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งในยุคปัจจุบัน การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing หรือ NLP) ได้กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของ AI โดยช่วยเพิ่มทั้งความเร็วและประสิทธิภาพความแม่นยำในการตรวจจับภัยคุกคาม ทำให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที
นอกเหนือจากแนวทางพื้นฐานแล้ว กลยุทธ์ AI ขั้นสูงยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมความมั่นคงปลอดภัยให้กับ Digital Twins ระบบ AI สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ผ่านการเรียนรู้แบบเสริมแรง (Reinforcement Learning) ช่วยปรับปรุงการตอบสนองตามผลลัพธ์ของเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ทำให้ระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยมีประสิทธิภาพและแม่นยำยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน เครือข่ายปัญญาประดิษฐ์เชิงปฏิปักษ์ (Generative Adversarial Networks หรือ GANs) สามารถจำลองสถานการณ์โจมตีที่เป็นไปได้ ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ทดสอบเชิงรุกเพื่อประเมินความเสี่ยงและเสริมความปลอดภัยก่อน
เกิดเหตุการณ์จริง นอกจากนี้ เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า Federated Learning ช่วยให้แบบจำลอง AI สามารถทำงานร่วมกันได้แบบกระจายศูนย์ ลดความเสี่ยงจากจุดล้มเหลวเพียงจุดเดียว (Single Point of Failure) ช่วยให้การป้องกันภัยคุกคามมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ข้อพิจารณาด้านจริยธรรม
เมื่อภาคธุรกิจนำศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงของ AI มาใช้ในการรักษาความปลอดภัยของ Digital Twin ประเด็นด้านจริยธรรมกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น จากจุดนี้ ปัญหาที่สำคัญอย่าง อคติ (Bias) ในระบบ AI ความโปร่งใส (Transparency) และการใช้งาน AI อย่างเหมาะสม (Proper Use) จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างรอบคอบ การทำให้มั่นใจได้ว่านวัตกรรมจะไม่สำคัญเหนือกว่าการดูแลจริยธรรมถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้โซลูชันความปลอดภัยที่ใช้ AI มีความน่าเชื่อถือและเป็นธรรม
แผนที่เส้นทางสู่การเสริมความมั่นคงปลอดภัยบนไซเบอร์ในอนาคต
การเสริมความมั่นคงให้กับความปลอดภัยทางไซเบอร์ในอนาคตด้วย Digital Twin และ AI จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ในหลายมิติ ตามแผนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย เพื่อให้สามารถสร้างบุคลากรที่สามารถใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อการดำเนินงานด้านไซเบอร์ซีเคียวริตีได้อย่างเต็มที่ องค์กรจำเป็นต้องลงทุนในบุคลากรที่มีความสามารถด้าน AI พร้อมให้การฝึกอบรม และเพื่อให้สามารถอยู่เหนือทั้งความเสี่ยงใหม่ ๆ และเทคโนโลยีด้าน AI ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การวิจัยและพัฒนาจึงต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
การแก้ปัญหาที่เกิดจากสภาพแวดล้อมของ Digital Twin จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทีมงานหลายสาขา ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้โซลูชันที่ครอบคลุม นอกจากนี้ ธุรกิจยังต้องให้ความสำคัญกับการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม โดยต้องคำนึงถึงการรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัว ความเท่าเทียม และความรับผิดชอบอีกด้วย
ก้าวสู่อนาคตที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การทำงานร่วมกันของ Digital Twins กับ AI ส่งมอบอนาคตอันทรงพลังสำหรับไซเบอร์ซีเคียวริตี องค์กรที่ยอมรับและนำการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีทั้งสองนี้มาใช้ จะสามารถปรับตัวรวมไปถึงรับมือกับระบบดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการใช้กลยุทธ์ที่ซับซ้อน มาตรการความปลอดภัยที่ปรับตัวได้ และการวิเคราะห์เชิงพยากรณ์ของ AI การผสานนี้จะสร้างระบบป้องกันที่แข็งแกร่งและทนทานต่อภัยคุกคามในอนาคต
อนาคตคือยุคของนวัตกรรม (Innovation) ความร่วมมือ (Collaboration) และความมุ่งมั่น (Commitment) ผ่านการใช้ AI ได้อย่างเต็มศักยภาพในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของ Digital Twins ที่กำลังกลายมาเป็นรากฐานสำคัญของโลกแห่งความเป็นจริงเมื่อโลกไซเบอร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่งกำลังจะก้าวเข้าสู่อนาคตเทคโนโลยี AI และ Digital Twin ไม่เพียงช่วยเพิ่มความปลอดภัย แต่ยังเสริมสร้างความยืดหยุ่นอีกด้วย นวัตกรรมด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฉพาะการผสานเทคโนโลยี AI และ Digital Twin เข้าด้วยกัน มีศักยภาพที่จะสร้างระบบป้องกันที่มีความคล่องตัวและตอบสนองได้ดี สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยที่กำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ