จัด Webinar มา 50 กว่าครั้ง TechTalkThai ได้บทเรียนอะไรบ้าง?

หลังจากใช้เวลามา 1 ปีกว่าๆ ในที่สุดทาง TechTalkThai ก็จัดได้ Webinar แบ่งปันความรู้ทางด้าน Enterprise IT เกินกว่า 50 ครั้งกันไปแล้วครับ รู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่หลายๆ คนน่าจะยังไม่เคยมีโอกาสได้ทำ เลยขอนำมาแชร์กันเผื่อจะเป็นประโยชน์หรือแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ องค์กรกันได้ดังนี้ครับ

 

อะไรคือ Webinar?

Webinar คือสัมมนาออนไลน์ ที่จะเปิดให้ทั้งผู้แชร์ความรู้และผู้ฟังเข้ามาแบ่งปันความรู้และความคิดเห็นกันได้ผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น PC หรือ Mobile ก็ตาม โดยห้อง Webinar ห้องหนึ่งสามารถจุผู้ฟังได้ 100 – 200 คนพร้อมๆ กัน และผู้นำเสนอสามารถแชร์หน้าจอตัวเอง เพื่อเปิดสไลด์หรือนำเสนอ Demo ต่างๆ ได้เลย ทำให้ในเชิงการแชร์ความรู้นั้น การจัด Webinar เองก็แทบจะไม่ต่างจากสัมมนาจริงซักเท่าไหร่

 

แล้วทำไม TechTalkThai ถึงจัด Webinar?

จริงๆ แล้วเหตุผลหลักๆ ของเราในการจัด Webinar นั้นมีด้วยกัน 3-4 ประการดังนี้ครับ

  1. เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วคนไทยเก่งๆ ที่พร้อมจะแชร์ความรู้ดีๆ มีอยู่เยอะทีเดียว หรือแม้แต่ Vendor เองก็มักจะมีข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจมาเล่าให้เราฟังกันได้ เราเลยอยากสร้างพื้นที่เวทีตรงนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อให้การแชร์ความรู้เกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลา ที่ผ่านมาทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้พูดคุยกับคนเหล่านี้และอัปเดตเทคโนโลยีเรื่อยๆ กันอยู่แล้ว การเปิด Webinar ขึ้นมาก็ทำให้การกระจายความรู้ตรงนี้ทำได้ดีขึ้น
  2. เรารู้สึกว่าการเดินทางในกรุงเทพมหานครเริ่มเป็นอะไรที่ยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการจัดสัมมนาในพื้นที่จริงหากจัดช่วงสั้นๆ แค่ 1-2 ชั่วโมง ก็อาจไม่คุ้มกับเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้มา ส่วนหากจัดสัมมนายาว 3-8 ชั่วโมงก็อาจจะเสียเวลาผู้ฟังจนเกินไป Webinar ดูจะตอบโจทย์นี้ได้ดี แถมคนที่ฟังอยู่ก็ยังทำงานอื่นคู่ไปด้วยได้ หรือปลีกตัวไปทำงานฉุกเฉินได้ ไม่มีใครเสียงาน
  3. เรารู้สึกว่าคน IT ในต่างจังหวัดเองนั้นมีโอกาสได้มาร่วมสัมมนาต่างๆ ทางด้าน IT น้อยกว่าในกรุงเทพฯ มาก ช่องทาง Webinar น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้การเผยแพร่ความรู้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าแต่ก่อน
  4. เรารู้สึกว่าสังคมไทยควรเริ่มใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์กับการทำงานในหลายๆ มิติกันให้มากขึ้น การจัด Webinar เองนี้เราก็คาดหวังว่าจะทำให้ผู้นำเสนอและผู้ฟังมีโอกาสได้ลองใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ แทนที่เราจะต้องสื่อสารกันแบบเดิมๆ ซึ่งเกิดค่าใช้จ่ายทางตรงกับทุกคน เพื่อให้เกิดความคุ้นชินด้วยอีกส่วนหนึ่งครับ

ที่ผ่านมาเราจัด Webinar ไปแล้วกว่า 50 ครั้ง คนเข้าร่วมรวมๆ กันก็ราวๆ 3,000 – 4,000 คน มีทั้งครั้งที่คนเข้าจนล้นจนเกิน 200 คนต่อครั้งและเข้าห้อง Webinar กันไม่ได้ ปนไปกับคนไม่เข้าเลยก็มีเช่นกัน ซึ่งโดยรวมแล้วก็ถือว่าผลลัพธ์ออกมาตอบโจทย์ดีครับ โดย Webinar จะมีทั้งแบบที่ TechTalkThai เป็นคนเชิญวิทยากรมาแบ่งปันความรู้ที่น่าสนใจเอง ซึ่งตรงนี้จะไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับวิทยากร ในขณะที่ Sponsored Webinar ก็ถูกเพิ่มเข้ามาในภายหลังเพราะมี Vendor หลายๆ รายอยากลองใช้ช่องทางนี้ในการแบ่งปันความรู้ และอัปเดตผลิตภัณฑ์แก่เหล่าลูกค้าของตัวเองบ้างเหมือนกันครับ

ลองติดตาม YouTube Channel ที่มีคลิปย้อนหลังของ Webinar ได้ที่ https://www.youtube.com/channel/UCfPhExRni82PH-N7-5Eyq2g/feed ครับ

 

บทเรียนจากการจัด Webinar กว่า 50 ครั้งของ TechTalkThai

เกริ่นมายาวมากกว่าจะได้เข้าเรื่องที่อยากเขียนถึงจริงๆ สำหรับบทเรียนที่เราจัด Webinar มีดังนี้ครับ

 

1. ความยากของการจัด Webinar คือการเชิญคน หัวข้อและเนื้อหาที่น่าสนใจคือสิ่งเดียวที่ดึงดูดผู้ฟังได้

ก่อนเริ่มจัด Webinar เราก็คิดว่าพอเป็นระบบออนไลน์ที่สะดวกกับผู้เข้าฟังมากๆ แล้ว คนก็น่าจะลงทะเบียนกันง่ายๆ แต่ความเป็นจริงก็ไม่ได้ราบรื่นขนาดนั้น งานสัมมนาทั่วไปนอกจากเนื้อหาแล้ว อาหารการกิน, การได้ออกไปพักผ่อนนอกสถานที่ และของแจกภายในงานหรือ Lucky Draw เองก็สามารถดึงดูดผู้มาได้ส่วนหนึ่ง (แต่คนอาจจะไม่ตรง Profile ที่ผู้จัดต้องการนัก แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้งานกร่อย) แต่ Webinar นั้นไม่มีอะไรอย่างอื่นนอกจากเนื้อหาที่นำเสนอมาดึงดูดผู้ฟังเลย ดังนั้นหากหัวข้อหรือเนื้อหาไม่น่าสนใจ ทุกอย่างก็จบตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่มเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นใครที่อยากจะมาแชร์เรื่องราวใดๆ ใน Webinar ก็อาจต้องคิดเรื่องหัวข้อให้มากขึ้นเสียหน่อยครับ

 

2. Session ขายของที่นำเสนอด้วยสไลด์มาตรฐาน คนมักไม่สนใจเข้าร่วม หรือออกกลางคัน

ประสบการณ์ตรงอันหนึ่งที่เจอเลยคือ มีบาง Session เหมือนกันที่ผู้นำเสนอใช้สไลด์ขายของตามปกติ และเล่าเรื่องขายของเหมือนกำลังพรีเซนต์ลูกค้าตามปกติ ซึ่งผลลัพธ์ที่เราสังเกตได้ก็คือ Session พวกนี้ถ้า Vendor ไม่ใช่รายที่ดังจริงๆ คนก็มักจะไม่สนใจ หรือเข้ามาฟังได้ซักพักแล้วก็ออกจากห้องไป เรียกได้ว่า Session ไหนที่คนนำเสนอไม่ได้เตรียมตัวมาดีๆ ก็มักจะ Fail ด้วยประเด็นเหล่านี้ครับ

 

3. Session แชร์ความรู้ ขายของได้มากกว่า

ในทางกลับกันกับข้อที่แล้ว หากใครมาแชร์ความรู้ที่น่าสนใจจริงๆ ถึงแม้จะเป็นความรู้ที่ผูกกับผลิตภัณฑ์ แต่หากเนื้อหาไม่ได้การมุ่งเน้นเพื่อขายของ และความรู้เหล่านั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ คนฟังก็จะให้ความสนใจกันเยอะมาก และทำให้ Webinar ครั้งนั้นคึกคักขึ้นมาทันทีครับ ซึ่งเนื้อหาลักษณะนี้ก็สร้างภาพลักษณ์ที่ดีทั้งสำหรับแบรนด์เอง และยังเปิดโอกาสให้ได้รู้จักกับลูกค้ารายใหม่ๆ ด้วย

อันนี้เป็นตัวอย่างของคลิปย้อนหลังของ Webinar ที่ทั้งให้ความรู้และขายของแบบดีๆ ครับ

 

4. อัตราการถามตอบใน Webinar สูงมากจนน่าตกใจ

ปกติไปงานสัมมนาทั่วๆ ไปเรามักไม่ค่อยเห็นผู้เข้าร่วมสัมมนากล้าถามวิทยากรมากนัก แต่ใน Webinar กลับตรงกันข้าม คือคำถามถูกยิงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นไปจนถึงช่วงจบ บางคำถามก็เจาะลึกมากจนคาดไม่ถึงเลยทีเดียว ดังนั้นวิทยากรเองก็ต้องมีวิทยายุทธ์พอสมควรเหมือนกันในการรับมือกับคำถามเหล่านี้ โดยปกติถ้าพรีเซนต์ 1 ชั่วโมง ช่วงถามตอบก็ราวๆ 30 นาทีได้ครับ

 

5. ความเป็นมืออาชีพของแบรนด์ แสดงออกได้โดยตรงผ่านวิทยากร

เนื่องจากใน Webinar เราไม่มีอย่างอื่นเลยจริงๆ นอกจากเนื้อหา ดังนั้นแบรนด์ไหนมีทีมงานฝ่ายเทคนิคเก่งๆ ในไทยหรือไม่ สามารถดูได้ตรงๆ เลยจาก Webinar และแบรนด์ที่มีคนเก่งๆ มานำเสนอนั้นก็จะได้รับความไว้วางใจจากผู้ฟัง และมีคำถามให้ถามตอบกันเยอะมากเป็นพิเศษ จนถึงขั้นมีการร้องขอให้ไปนำเสนอที่บริษัททันทีเลยก็มี ในทางกลับกัน หากแบรนด์ไหนขาดแคลนทีมงานฝ่ายเทคนิค แล้วส่งฝ่ายการตลาดหรือเซลส์มานำเสนอแทน ก็อาจพบกับปัญหาในระหว่างนำเสนอได้ไม่น้อย และเนื้อหาเองก็ไม่สามารถเจาะลึกได้เท่าที่ควร ทำให้ขาดความน่าสนใจไประดับหนึ่งเลยทีเดียว

 

6. Demo สามารถดึงดูดคนได้มาก แต่ก็เป็นโจทย์ยากของผู้นำเสนอ

Webinar มีข้อดีตรงที่ผู้นำเสนอสามารถนำเสนอจาก Environment ของตัวเองได้เลย ดังนั้นการเปิดระบบทดสอบที่ใช้งานเป็นประจำเพื่อทำ Demo ให้ได้รับชมกันนั้นก็ถือว่าทำได้ง่ายกว่าการจัดสัมมนาจริงมาก ทำให้วิทยากรหลายรายได้นำเสนอ Demo และก็ดึงดูดความสนใจของผู้เข้าร่วม Webinar ได้สำเร็จ

อย่างไรก็ดี การเตรียม Demo ให้มานำเสนอได้โดยไม่ล่มเลยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย (ใครเคยทำคงพอรู้นะครับ 55) ดังนั้นถึงแม้จะเป็น Demo ใน Webinar ใน Environment ที่เราคุ้นเคย แต่ปัญหาก็อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นวิทยากรก็ต้องเตรียมตัวซ้อมมาให้ดีเช่นกัน

 

7. วิทยากรชาวต่างชาติ – โจทย์สุดยากสำหรับ Webinar ในไทย

หลาย Vendor ชอบถามมาว่าใช้วิทยากรชาวต่างชาติได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ ด้วยเงื่อนไขดังต่อไปนี้ “เท่านั้น” ครับ

  • เนื้อหาล้ำสมัยหรือลึกมากๆ จนไม่มีใครในไทยเล่าได้จริงๆ หรือมีน้อยมากและแทบไม่มีเนื้อหาให้อ่านเองในไทยเลย เช่น Quantum Computing
  • แจกสินค้าราคาสูงให้ผู้เข้าฟัง (ซึ่งบางทีก็อาจจะได้คนไม่ตรงกลุ่ม และต้นทุนสูงโดยใช่เหตุ)

จากที่เคยสอบถามผู้ฟังแล้ว หลายๆ คนอยากฟังภาษาไทยมากกว่าครับ เพื่อจะได้ตามเนื้อหาได้ทันครับ ดังนั้นวิทยากรชาวไทยก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าครับ

 

8. Internet เมืองไทยยังแย่อยู่ในหลายพื้นที่

อันนี้เป็นปัญหาที่พบเจอได้กับทั้งฝั่งวิทยากร และฝั่งผู้เข้าร่วม Webinar เลยครับ คือ Internet ในไทยยังไม่ค่อยจะเสถียรนักในหลายๆ พื้นที่ รวมถึงอาคารออฟฟิศใหญ่บางแห่งในกรุงเทพฯ เองก็ยังไม่ตอบโจทย์นัก โดยเฉพาะ 3G/4G ที่ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้กับ Traffic แบบ Real-time ใน Webinar นี้ ในทางกลับกัน หากใช้ Internet ที่บ้านแทนส่วนใหญ่ก็จะเข้าร่วม Webinar กันได้ราบรื่นยิ่งขึ้น ดังนั้นหลังๆ เราเลยแนะนำวิทยากรให้อยู่บ้านไปเลยครับ จะได้หยุดพักผ่อนด้วย 1 วัน 55

 

ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจจะทำ Webinar กันนะครับ ตอนนี้ในไทยก็เริ่มมีหลายบริษัทใช้ Webinar แทนช่องทางการสัมมนาปกติแล้ว เพราะนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าแล้ว ยังอัดคลิปย้อนหลังเอาไว้ใช้ในโอกาสถัดๆ ไปได้อีกด้วย รวมถึง Webinar ยังทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้ดี ส่วนตัวทีมงาน TechTalkThai เองก็ค่อนข้างชอบในแง่ที่เราไม่เสียเวลาทำงาน และไม่เสียเวลาเดินทางนี่แหละครับ


About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

[Black Hat Asia 2023] ทำลายห่วงโซ่: มุมมองของคนวงในเกี่ยวกับช่องโหว่ของห่วงโซ่อุปทานซอฟต์แวร์

ยินดีต้อนรับสู่มุมมองของคนวงในเกี่ยวกับช่องโหว่ของห่วงโซ่อุปทานซอฟต์แวร์ หัวข้อนี้ถูกนำเสนอโดยนักวิจัยด้านความปลอดภัยชื่อ Yakir Kadkoda และ Ilay Goldman จาก Aqua Security ซึ่งมีประสบการณ์มากมายในงานด้าน Red Team พวกเขาให้ข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าเกี่ยวกับช่องโหว่ที่แฝงตัวอยู่ในช่วงการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่เผยถึงความเสี่ยงที่องค์กรต้องเผชิญในการรักษาความปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทานซอฟต์แวร์

[Black Hat Asia 2023] สรุป Keynote วันที่ 1 เรื่อง “เตรียมตัวสำหรับการเดินทางอันยาวนานเพื่อความปลอดภัยของข้อมูล”

ข้อมูลถือเป็นปัจจัยที่ 5 ของการผลิต และความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security) ก็ได้รับการจัดอันดับให้มีความสำคัญสูงสุดโดยรัฐบาลทั่วโลก ในประเทศจีน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยข้อมูล เช่น “กฎหมายความปลอดภัยของข้อมูล” และ “กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” ได้รับการประกาศใช้และมีผลบังคับใช้ในปี 2565 …