[รีวิว] Lenovo ThinkCentre M90n-1 Nano เครื่องคอมขนาดกะทัดรัด ตอบโจทย์โต๊ะทำงานที่ต้องการความโล่ง

สำหรับธุรกิจใดที่กำลังมองหาเครื่อง Business PC ขนาดเล็กเพื่อนำไปใช้งานในองค์กรให้เกิดความเรียบร้อยสวยงาม หรือต้องการใช้งานในโรงงานที่มีสภาพแวดล้อมที่เข้มข้นไม่ว่าจะเป็นในเชิงอุณหภูมิหรือความชื้น Lenovo ThinkCentre M90n-1 Nano ที่เป็น Rugged PC ขนาดเล็กมากๆ และมีความทนทานสูงนี้อาจเป็นคำตอบให้กับคุณ

ในบทความนี้เราจะทำการรีวิว Lenovo ThinkCentre M90n-1 Nano ให้ทุกท่านได้รู้จักเป็นอีกทางเลือกในการลงทุน PC สำหรับการใช้งานในเชิงธุรกิจกันครับ

Lenovo ThinkCentre M90n-1 Nano เครื่องคอมขนาดกะทัดรัด ตอบโจทย์โต๊ะทำงานที่ต้องการความโล่ง

สำหรับธุรกิจใดที่กำลังมองหาเครื่อง Business PC ขนาดเล็กเพื่อนำไปใช้งานในองค์กรให้เกิดความเรียบร้อยสวยงาม หรือต้องการใช้งานในโรงงานที่มีสภาพแวดล้อมที่เข้มข้นไม่ว่าจะเป็นในเชิงอุณหภูมิหรือความชื้น Lenovo ThinkCentre M90n-1 Nano ที่เป็น Rugged PC ขนาดเล็กมากๆ และมีความทนทานสูงนี้อาจเป็นคำตอบให้กับคุณ

ในบทความนี้เราจะทำการรีวิว Lenovo ThinkCentre M90n-1 Nano ให้ทุกท่านได้รู้จักเป็นอีกทางเลือกในการลงทุน PC สำหรับการใช้งานในเชิงธุรกิจกันครับ

Lenovo ThinkCentre M90n-1 Nano เครื่อง Micro Desktop สำหรับทำงานขนาดเล็กที่สุดในตระกูล Lenovo ThinkCentre

หากพูดถึงเครื่อง Business PC จาก Lenovo สำหรับใช้ในการทำงานทั่วๆ ไปแล้ว สิ่งแรกที่ต้องรู้จักกันก่อนเลยก็คือการแบ่งรุ่นของ Lenovo ThinkCentre M Series ที่มีด้วยกัน 6 กลุ่มหลักๆ ได้แก่

  • Lenovo Think Centre M Series Tower เครื่อง Tower ขนาดใหญ่
  • Lenovo Think Centre M Series SFF เครื่อง Small Form Factor ขนาดเล็ก
  • Lenovo Think Centre M Series All-in-One เครื่องที่ผสานรวมอยู่ในจอ
  • Lenovo Think Centre M Series Tiny เครื่อง Micro Desktop ขนาดเล็กยิ่งกว่า Small Form Factor
  • Lenovo Think Centre M Series Thin Client เครื่อง Thin Client สำหรับ Remote เชื่อมต่อไปยัง Server หรือ VDI
  • Lenovo Think Centre M Nano Series เครื่อง Rugged ที่มีขนาดเล็กที่สุดยิ่งกว่า Tiny รองรับทั้งการใช้งานทั่วไปและงาน IoT

Lenovo ThinkCentre M90n-1 Nano นี้จัดอยู่ใน M Nano Series ที่เป็นรุ่นแบบ Rugged Device โดยจุดเด่นของเครื่องคือนอกจากขนาดที่จะเล็กที่สุดในบรรดา ThinkCentre ทุกตระกูลด้วยปริมาตรเพียง 0.35 ลิตรในขนาด 179 x 88 x 22 mm แล้ว ตัวเครื่องยังมีความทนทานในระดับ MIL-STD-810-H สำหรับใช้งานได้ในทางการทหาร และยังสามารถทำงานได้ในหลายสภาวะแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิสูงหรือต่ำ, มีความชื้น, มีฝุ่นทราย, มีการกระแทกหรือการสั่นสะเทือน และอื่นๆ อีกมากมาย

เทียบขนาดกันแล้วจะเห็นได้ชัดว่า Lenovo ThinkCentre M Nano Series นี้ขนาดเล็กกว่า Lenovo ThinkCentre Series Tiny ที่เป็นเครื่องขนาดเล็กแล้วอยู่มากทีเดียว Credit: Lenovo

สำหรับ Hardware ภายในเครื่องเองนี้ก็ถือว่าออกแบบมาให้รองรับความทนทานได้หลายระดับ โดยถึงแม้เครื่องจะมีขนาดเล็กแต่ก็ยังรองรับการทำ RAID 0/1 ได้ด้วยการใช้ M.2 SSD 2 ชุดมาทำ RAID ร่วมกัน

ในการเชื่อมต่อจอ Monitor เครื่องนี้ก็ถือว่าน่าสนใจมาก เพราะสามารถต่อได้ 2 จอพร้อมกันผ่าน DisplayPort 1 จอและ USB-C อีก 1 จอ โดยสามารถสั่ง Dongle แปลงพอร์ตไปรองรับ HDMI, VGA เพิ่มเติมได้

พอร์ตอื่นๆ ที่ให้มาในเครื่องก็ถือว่าเหลือเฟือมากๆ โดยด้านหน้าเครื่องจะมี USB 3.2 Gen 2 ให้ใช้ 2 ช่อง, USB-C 3.2 Gen 2 อีก 1 ช่อง และ 1x Headphone/Microphone Combo แบบ 3.5mm ให้อีก 1 ช่อง ส่วนด้านหลังเครื่องนั้นก็จะมี USB 3.2 Gen 2 ให้ 2 ช่อง, USB-C 3.2 Gen 2 อีก 1 ช่อง (สำหรับจอ), DisplayPort 1 ช่อง (สำหรับจอ) และ RJ-45 สำหรับ Ethernet อีก 1 ช่อง พร้อมหัวต่อสาย Antenna เพื่อเชื่อมต่อ Wi-Fi

Credit: Lenovo

ในแง่ของ Security เครื่องนี้ใส่ความสามารถมาให้สำหรับรองรับการใช้งานในภาคธุรกิจองค์กร ไม่ว่าจะเป็น TPM 2.0, Chassis Intrusion Switch และ BIOS Security รวมถึงยังมี Kensington Security Port สำหรับล็อคตัวเครื่องไว้ไม่ให้ถูกยกออกไปได้ด้วย ส่วนการบริหารจัดการเครื่องก็สามารถทำได้ผ่าน Intel vPro Technology และ DASH

ตัวเครื่องรุ่นนี้เป็นรุ่นสำหรับใช้งานทั่วไปเป็นหลัก ซึ่งจริงๆ แล้ว Lenovo ยังมีรุ่นใกล้เคียงกันที่เป็นรุ่น IoT ให้สั่งไปใช้งานได้ด้วย โดยรุ่น IoT จะรองรับพอร์ตสำหรับเชื่อมต่อกับ Sensor หรือเครื่องจักรมากขึ้น, ระบายความร้อนได้ดีขึ้น และยังรองรับ 4G LTE ในตัว สำหรับนำไปใช้ทำเป็น IoT Gateway โดยเฉพาะ

แน่นอนว่าในฐานะของเครื่อง Business PC เครื่อง Lenovo ThinkCentre M90n-1 Nano นี้ก็มาพร้อมกับประกันจาก Lenovo หลากหลายรูปแบบ อาทิ แบบพื้นฐาน เริ่มต้นที่  1 ปี แบบ on-site service ทั่วประเทศไทยด้วยเช่นกัน

Credit: Lenovo

ราคาเริ่มต้นของ Lenovo ThinkCentre M90n-1 Nano นี้อยู่ที่ 13,900 บาท โดยราคาอาจแตกต่างกันตามสเป็คที่เลือกและบริการเสริมต่างๆ ดังนั้นถ้าสนใจก็สามารถติดต่อทีมงาน Lenovo ในประเทศไทยหรือพันธมิตรของ Lenovo ทั่วไทยได้ทันทีครับ

ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Lenovo ThinkCentre M90n-1 Nano สามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ https://www.lenovo.com/us/en/desktops-and-all-in-ones/thinkcentre/m-nano-series/ThinkCentre-M90n-1/p/11TC1MNM93N

แกะกล่อง ลองใช้งานของจริง

ในการเริ่มเปิดกล่องของ Lenovo ThinkCentre M90n-1 Nano นี้ตอนแรกก็ถือว่าแปลกใจพอสมควรครับ เพราะตัวกล่องที่ให้มามีขนาดใหญ่มากกว่ากล่องของเครื่อง PC ทำงานไซส์เล็กๆ แบบนี้อยู่พอสมควร แต่พอเปิดมาก็พอจะเข้าใจได้ เพราะในตัวกล่องนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่คือใช้เก็บพวก Keyboard, Mouse, Adapter และโฟมกันกระแทกเป็นส่วนใหญ่ ตัวเครื่องจริงๆ กินที่แค่ราวๆ 10% ของกล่องเท่านั้น

ตอนหยิบเครื่อง Lenovo ThinkCentre M90n-1 Nano ออกมาครั้งแรกก็ถือว่าค่อนข้างตกใจครับ เพราะเครื่องนี้ขนาดเล็กกว่าเครื่องที่เป็น Small Form Factor ทั่วๆ ไปอยู่พอสมควรเลย และน้ำหนักก็ถือว่าหนักกว่าที่คาดอยู่เล็กน้อย คงเป็นเพราะข้างในอัด Hardware มาให้แน่นๆ เพื่อให้ทุกอย่างอยู่ในขนาดที่เล็กได้นั่นเองครับ

ตัวเครื่องถือว่าสวยดีและไม่เรียบเกินไปจนน่าเบื่อสำหรับเครื่องทำงาน โดยตัวด้านบนและด้านข้างของเครื่องจะเป็นสีดำ ในขณะที่ด้านล่างของเครื่องนั้นจะเป็นสีแดงแบบ Lenovo ทำให้มีสีสันอยู่บ้างเหมือนกันเมื่อเทียบกับเครื่องทำงานทั่วไปที่มักใช้สีเข้มโทนเดียวทั้งเครื่องอย่างสีดำล้วนๆ ไปเลย

ด้านหน้าของเครื่องมีพอร์ตต่างๆ สำหรับให้ถอดใส่หรือรองรับพอร์ตที่สายสั้นๆ อย่างหูฟังและไมโครโฟนแบบ Combo ส่วนด้านหลังเองก็มีพอร์ตจออย่าง DisplayPort และ USB-C กับ USB Type A สำหรับต่อ Mouse และ Keyboard ให้ใช้ครับ และยังมีช่องสำหรับเสียบ Wi-Fi Antenna อีกหนึ่งช่องเพื่อรับสัญญาณ Wi-Fi ได้ถึง 802.11ac ในตัว

สำหรับเครื่องนี้ สเป็คที่ได้รับมาทดสอบเป็นดังนี้ครับ

  • CPU: Intel Core i5-8265U @ 1.6GHz (4 Cores/8 Threads)
  • RAM: 8GB
  • Disk: 240GB SSD
  • GPU: Intel UHD Graphics 620
  • OS: Windows 10 Pro

ก็ถือว่าเป็นสเป็คกลางๆ ที่ไม่เล็กไม่ใหญ่ น่าจะเพียงพอต่อการใช้ทำงานได้ถ้าหากไม่ได้นำไปใช้งานกราฟฟิกหรือเล่นเกม แต่แน่นอนว่าด้วย CPU รุ่น 8th Gen Intel Core นี้ก็ย่อมไม่แรงเท่ารุ่นใหม่ๆ อย่าง 10th Gen หรือ 11th Gen อย่างแน่นอน

คราวนี้ได้เวลาเปิดเครื่องมาทดลองใช้งานจริงกัน ประสบการณ์ใช้งานดังนี้ครับ

  • บูทเครื่องค่อนข้างเร็ว เป็นเพราะ SSD ที่ใช้งาน
  • ทำงานได้ปกติลื่นไหลดี ใช้งานทั่วไปไม่มีปัญหา โดยทั่วไปเครื่องจะทำงานค่อนข้างเงียบ
  • เปิดคลิปความละเอียดระดับ 4K บน Microsoft Edge ได้ ใช้ GPU ไปประมาณ 50-60% แต่เครื่องก็ยังทำงานเงียบอยู่

  • ทดลองอัปเดต Windows ดู ก็ไม่ได้ติดปัญหาอะไร แต่ช่วงที่ CPU วิ่งเต็ม 100% พัดลมในตัวเครื่องก็จะทำงานเสียงดังขึ้นมาพอสมควร
  • มีพอร์ต Combo ของหูฟังกับไมโครโฟนให้ใช้หน้าเครื่อง สะดวกต่อการประชุม
  • เครื่องมีลำโพงในตัว เปิดฟังเพลงดูคลิปต่างๆ ได้เลย
  • สามารถต่อเสา Wi-Fi ด้านหลังเครื่องได้ 1 เสา และยังมีช่อง RJ-45 ให้ต่อสาย LAN ได้ด้วย
  • พอร์ต USB ถือว่าพอให้ใช้งานได้สบายๆ แนะนำว่า Keyboard กับ Mouse ควรเสียบหลังเครื่อง เพื่อให้พอร์ตที่หน้าเครื่องยังเหลือเอาไว้ใช้งานอย่างอื่นได้ง่ายๆ ครับ
  • มี Lenovo Vantage ติดตั้งมาให้ สามารถตรวจสอบสถานะของเครื่อง และอัปเดต Driver, BIOS, Firmware ได้สบายๆ รวมถึงตรวจระยะเวลาประกันของเครื่องได้ง่ายดีด้วยครับ

เท่าที่ลองใช้งานดูก็ถือว่าดีทีเดียวสำหรับเครื่องที่มีขนาดเล็กมาก เสียงอาจจะดังกว่าเครื่องแบบ Fanless บ้างในบางจังหวะแต่ก็ถือว่าไม่ได้มีประเด็นอะไรมากมาย การมีพอร์ต USB ทั้งแบบเดิมและ USB-C ให้ใช้งานได้ทั้งหน้าเครื่องและหลังเครื่องก็ถือว่าเป็นจุดที่สะดวกดีครับ การรองรับพอร์ตเชื่อมต่อจอได้แค่ DisplayPort และ USB-C ก็อาจทำให้ใช้งานยากสำหรับบางท่านบ้าง แต่จอสมัยนี้ส่วนใหญ่ก็มักจะมาพร้อม DisplayPort อยู่แล้ว ถ้าซื้อพร้อมกันไปเลยก็ไม่น่ามีปัญหาครับ

สรุปข้อดีข้อเสีย

ข้อดี

  • ขนาดเล็กมาก น้ำหนักเบา แต่เครื่องยังทนทานระดับใช้งานได้ในทางการทหาร นับเป็น Rugged Device ได้
  • มีพอร์ตให้ใช้ครบถ้วน และมี USB-C ให้ใช้ด้วย รองรับการใช้งานกับอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ ได้เยอะ
  • ช่องหูฟังกับไมโครโฟนเป็นพอร์ตแบบคอมโบ ทำให้ใช้กับหูฟังสมัยใหม่ได้ค่อนข้างดี ง่ายต่อการใช้ประชุมงาน
  • ชิป Onboard GPU ถือว่าตอบโจทย์การใช้งานทั่วไป ดูคลิป 4K ได้ไม่กระตุก
  • มีพัดลมให้ ไม่ต้องห่วงเรื่องความร้อนหรือประสิทธิภาพของเครื่องอย่างเครื่อง Fanless อื่นๆ

ข้อเสีย

  • หน่วยประมวลผลยังเป็น 8th Gen Intel Core อยู่ แต่ตอนใช้งานทั่วๆ ไปก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก
  • พอร์ตเชื่อมต่อจอมีเฉพาะพอร์ต DisplayPort และ USB-C ทำให้อาจจะใช้กับจอที่เป็น HDMI หรือ VGA ไม่สะดวกนัก ต้องสั่ง Dongle แปลงพอร์ตเพิ่ม
  • ถึงแม้เครื่องจะมีขนาดเล็ก แต่ Adapter ไฟใหญ่มากเมื่อเทียบกับเครื่อง ดังนั้นตอนใช้จริงต้องเก็บดีๆ เพื่อความสวยงาม
  • บางจังหวะที่ CPU ทำงานหนักๆ เช่น Update Windows พัดลมจะเสียงดังพอสมควร แต่โดยทั่วไปที่ใช้งานก็ไม่มีปัญหาอะไร

Check Also

Microsoft แพตช์ช่องโหว่ Zero-day 4 รายการในการอัปเดตประจำเดือนพฤศจิกายน 2024

Microsoft ออกแพตช์ความปลอดภัยประจำเดือนพฤศจิกายน 2024 แก้ไขช่องโหว่ 91 รายการ รวมถึงช่องโหว่ Zero-day 4 รายการ โดยมี 2 รายการที่ถูกนำไปใช้โจมตีแล้ว

Red Hat เตรียมเข้าซื้อกิจการ Neural Magic เสริมทัพด้าน AI Optimization

Red Hat ประกาศเข้าซื้อกิจการ Neural Magic สตาร์ทอัพด้าน AI ที่พัฒนาเทคโนโลยีการปรับแต่งโมเดล AI ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพบนฮาร์ดแวร์ทั่วไป