การพัฒนา Software สำหรับใช้งานธุรกิจนั้นถือเป็นยาขมสำหรับหลายธุรกิจ ทั้งจากปัญหาที่ทีมพัฒนาทิ้งงาน ใช้เวลาทำนาน หรือค่าใช้จ่ายบานปลาย ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร? และเจ้าของธุรกิจควรมีมุมมองอย่างไรต่อการพัฒนา Software สำหรับใช้งานในธุรกิจอย่างไรบ้าง? พบคำตอบของคำถามเหล่านี้ได้ใน Leadership Vision: The Right Mindset for Business Owner in Software Development Project บทสัมภาษณ์คุณศุภกร รวยวาสนา Managing Director แห่งบริษัท ยูนิกซ์เดฟ จำกัด
ผู้ถูกสัมภาษณ์: คุณศุภกร รวยวาสนา
บริษัท: บริษัท ยูนิกซ์เดฟ จำกัด
ตำแหน่ง: Managing Director
ประวัติโดยย่อ:
คุณศุภกรจบการศึกษาระดับวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ ที่สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบังเมื่อปี 2002 มีความเชี่ยวชาญทางด้านระบบ OS และ ทางด้าน Platform เป็นพิเศษ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมามีประสบการณ์การทำงานในหลายด้านทั้งตำแหน่งด้าน Platform Development, Network Engineer, Support ไปจนถึง Sale ปัจจุบันเป็น Managing Director ของบริษัทยูนิกซ์เดฟมา 7 ปี และยังเคยได้เป็นอาจารย์รับเชิญพิเศษสอนบางส่วนในคอร์ส Online Marketing ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เกี่ยวกับ UnixDev:
บริษัท ยูนิกซ์เดฟ จำกัด เกิดจากการรวมตัวของเหล่าวิศวกรที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านอาทิเช่น System Platform Engineer, Network Engineer, Developer ซึ่งมีประสบการณ์มากว่า 15 ปี เพื่อที่จะทำให้เกิดโซลูชันที่สมเหตุผลสมผล ทั้งด้านราคาตลอดจนประเด็นทางด้านเทคนิค โดยมุ่งเน้นการให้บริการ Turn-Key Development เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญกับงานที่มีปริมาณคนใช้งานเป็นจำนวนมากพร้อมๆ กัน พร้อมทั้งดูแลหลังการพัฒนาทั้งด้าน Software ไปจนถึงระบบ Server สำหรับธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่
ช่องทางการติดต่อ:
Website บริษัท: https://www.unixdev.co.th/
อีเมล์ติดต่อบริษัท: info@unixdev.co.th
เบอร์โทรติดต่อบริษัท: 02-105-4467
Q: ในช่วงที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงในวงการ Software สำหรับการทำธุรกิจในไทยอย่างไรบ้าง?
ปัจจุบันแทบทุกธุรกิจมีความต้องการในการใช้ระบบ IT และระบบ Software เพื่อใช้ลดต้นทุนและ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานตลาดสูงขึ้น ทำให้ความต้องการในตลาดสูงขึ้นมากๆ ในขณะที่บุคลากรทางด้านนี้มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้บริษัทที่รับทำ Software นั้นมีงานเยอะมาก พอมีงานเยอะก็เร่งหาโปรแกรมเมอร์ ทำให้ค่าตัวของโปรแกรมเมอร์นั้นสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากประสบการณ์ที่ประกาศรับสมัครงานมา มีคนมาสมัครเยอะ และครึ่งนึงเลย คือเรียกค่าตัวเกินสกิลไปอย่างมาก ส่วนใหญ่แล้วในวงการจึงมักจะชอบใช้คนที่แนะนำต่อๆ กันมา ทำงานแล้วโอเค
เปรียบเทียบกันแล้ววงการ Software ก็คล้ายๆ กับผู้รับเหมาสร้างบ้านนั่นแหละครับ ซึ่งมีการรับงานไปแล้วทิ้งงานกันมากมาย ทีมที่ไว้ใจได้บางทีก็งานล้นมือ แน่นอนครับทั้งด้วยความที่งานมีเยอะกว่าคนทำแบบนี้ และคนที่ทำงานได้ดีๆ มีไม่เยอะ ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ เทียบกับยุคที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
Q: โครงการพัฒนา Software แบบใดที่เกิดขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด?
โครงการพัฒนา Software ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นพวกระบบ Workflow สำหรับธุรกิจในแผนกต่างๆ ที่ยังไม่ถึงขั้นกับเป็นระบบ ERP แต่เป็นระบบที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อใช้งานแทนระบบเอกสาร แทนแรงงานคน และทำให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น
อันที่จริงแล้วแนวโน้มของการนำระบบเหล่านี้มาใช้ในบริษัท แต่ละบริษัทเองก็ไม่ได้มีแผนที่จะลดคนที่ใช้ในการทำงานลง แต่ระบบที่วางแผนจะพัฒนาขึ้นมาเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขึ้นอย่างน้อยๆ 30% – 50% เลยทีเดียว หมายความว่าในบริษัทจะเพิ่มประสิทธิภาพละประสิทธิผลได้มากขึ้นโดยใช้คนเท่าเดิม ทำให้ระบบของธุรกิจ Scale รองรับการเติบโตได้เรื่อยๆ ไม่ต้องยึดติดอยู่กับ Skill หรือ Know-How ของพนักงานคนใดคนหนึ่งจนเกิดเป็นคอขวดอย่างในอดีต ส่วนโครงการอีกรูปแบบหนึ่งที่มีการพัฒนามากขึ้นก็คือระบบ Software สำหรับสนับสนุนงานฝั่ง Marketing หรือที่เรียกกันว่า MarTech งานส่วนนี้มีมูลค่าสูง เพราะฝ่าย Marketing ทำแล้วเห็นผลชัดเจน วัดผลได้ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น มีรายงานชัดเจน เช่นการทำแคมเปญเกม, รีวอร์ดต่างๆ, ระบบสมาชิก, ระบบที่เก็บข้อมูลมาประมวลผลเพื่อไปวิจัยเพื่อไปปรับแผน Marketing ต่อ ตรงส่วนนี้เป็นอะไรที่หลายธุรกิจยอมลงทุนกันมากทีเดียว
Q: ความเข้าใจผิดที่มักเกิดขึ้นต่อการประเมินมูลค่าของโครงการ Software ในมุมของผู้บริหารธุรกิจไทยที่พบเจอมีประเด็นใดบ้าง?
ความเข้าใจผิดหลักๆ เลยก็คือ ผู้บริหารมักจะมองว่า “เราต้องเสียเงินลงทุนเท่าไหร่” กันก่อน แทนที่จะมองว่า “เราจะได้เงินเท่าไหร่จากการลงทุนครั้งนี้” หรือ “เราจะได้อะไรบ้างจากระบบนี้”
จากประสบการณ์ในการพัฒนาระบบสำหรับตอบโจทย์ธุรกิจที่ผ่านมาของผมเอง มีหลายๆ ครั้งที่ทางผมทำระบบให้แล้วเจอลูกค้าบ่นว่าแพงเกินไป ลูกค้าชอบคิดจากมุมว่าเราใช้คนกี่คนทำงานกี่เดือน เหมือนงานแรงงานกรรมกร แต่ไม่เคยมองครับว่าทักษะและประสบการณ์ของคนที่ทำงานเหล่านี้ต้องมีระดับไหน ทำระบบเสร็จใช้งานได้จริงแล้วธุรกิจได้อะไรกลับคืนมาเท่าไหร่
ในการพัฒนา Software นั้นเราจะมองต้นทุนจากแค่เวลาและจำนวนของทีมที่ใช้พัฒนาไม่ได้ครับเพราะในระหว่างการทำงานคุณค่าที่ถูกสร้างขึ้นมามันเกิดจากการคิดสร้างสรรค์และการนำประสบการณ์มาใช้เติมเต็มการตอบโจทย์ มีการปรับโจทย์ ตีโจทย์ต่างๆ วิเคราะห์ แก้ไข ปรับปรุง เสนอแนะภายในหลายขั้นตอนอีกมากมายเพื่อให้ระบบที่พัฒนานั้นเหมาะสมทั้งในแง่ของธุรกิจและเชิงเทคนิค เช่นการทำ Business Analysis, Systems Analysis, Business/Technical Design, Develop, Testing, M/A ซึ่งถ้าเกิดอยากจะได้ Platform ที่ใช้งานได้จริง ไม่ทิ้งกันไปกลางทาง ก็ต้องใช้ทีมที่มั่นใจได้ว่าจะทำเสร็จและไม่ทิ้งกันกลางทางครับ ไม่มีใครอยากเปลี่ยนม้ากลางศึกครับ ดังนั้นต้องเลือกม้าดีๆ ตั้งแต่ต้นครับ ไม่งั้นจะเสียโอกาสการทำธุรกิจไปเปล่าๆ
ส่วนในมุมของผลลัพธ์ หลายครั้งที่พอผมอธิบายผลลัพธ์และประเมินกลับมาเป็นตัวเลขว่าธุรกิจจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้กี่บาทในเวลากี่เดือนจากระบบที่พัฒนาขึ้นมา และหลังจากนั้นจะกลายเป็นกำไรล้วนๆ เปรียบเทียบกับการที่ต้องขยายธุรกิจด้วยกระบวนการและการจ้างพนักงานเพิ่มอย่างในอดีต สุดท้ายผู้บริหารทุกคนก็เห็นภาพความเป็นจริงว่าการลงทุนครั้งนี้ต้องเกิดขึ้นเพื่อการลดค่าใช้จ่ายและสร้างโอกาสใหม่ในอนาคต โครงการก็เดินหน้าไปต่อได้ ซึ่งผมเสียดายแทนหลายธุรกิจมากที่พลาดโอกาสเหล่านี้ไปจากความไม่เข้าใจในการพัฒนา Software และทำให้ภาพวิสัยทัศน์ของอนาคตไม่ชัดเจน
Q: ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา Software และการเข้าไปมีส่วนในการทำ Digital Disruption ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาตอบโจทย์ตลาด เห็นว่ามุมมองในการประเมินมูลค่า Software ที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร?
มุมมองที่ถูกต้องคือการทำ Software เราควรจะมองว่า Software นี้มันให้อะไรกับบริษัทบ้าง คุ้มค่าไหมที่จะทำในระยะกี่ปี ถึงจะคืนทุน ต้องมีค่าดูแลเท่าไหร่เพื่อให้เห็นตัวเลขการลงทุนในระยะยาวที่ชัดเจนครับ
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะประเมินฝั่งเดียวว่าเราจะได้อะไรกลับมาบ้างเท่านั้นนะครับ เราก็ต้องดูราคาที่ทางบริษัททำ Software เสนอมาด้วย เพราะปกติแล้วยิ่งบริษัทใหญ่เท่าไหร่ ก็จะเป็นเรื่องธรรมดาครับที่สิ่งที่ได้จากระบบ Software ที่พัฒนาขึ้นมานั้นมันจะสร้างคุณค่าได้มากกว่าธุรกิจขนาดเล็กเป็นอย่างมาก
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัททั่วไปที่ปกติมียอดขายปีละ 10 ล้านบาท ถ้าทำระบบออนไลน์เพิ่ม จะขายได้มากขึ้น 20% ก็ราวๆ 2 ล้าน แต่ถ้าบริษัทใหญ่มากๆ เช่นยอดขายปีละ 100 ล้าน ถ้าออนไลน์ยอดขายเพิ่มขึ้น 20% เท่ากันก็เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านบาทแล้ว แต่ในมุมการลงทุนนั้น ค่าพัฒนาระบบมันก็ไม่ได้ต่างกันขนาดนั้นครับ อาจจะต่างกันนิดหน่อย แต่ในภาพรวมระบบที่เป็นผลลัพธ์นั้นก็คล้ายๆ กัน มี Workflow ที่ไม่แตกต่างกันมาก
ปัจจุบันนี้ผมก็เห็นว่ายังมีอีกหลายๆ ธุรกิจที่ยังไม่ได้ใช้ระบบ IT เข้ามาช่วยในการบริหาร ทั้งฝั่งหลังบ้าน และฝั่งหน้าบ้านครับ ดังนั้นก็อยากฝากเป็นโจทย์ว่าในการประเมินมูลค่าของ Software ที่จะพัฒนานี้ถือเป็นขั้นตอนสำคัญของธุรกิจในการก้าวต่อไปข้างหน้าครับ
Q: ค่าใช้จ่ายแอบแฝงที่เหล่าผู้บริหารธุรกิจมักจะพลาดในการประเมินภายในโครงการพัฒนา Software นั้นมีอะไรบ้าง?
ค่าใช้จ่ายแอบแฝงที่เป็นความเสี่ยงสูงที่สุดก็คือ “ลูกค้าไม่รู้ครับว่าตัวเองไม่รู้อะไร” ดังนั้นถ้าเรียกเข้าไปคุยแล้ว Requirement ที่ลูกค้าให้มาเป็นโจทย์ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าดีขึ้นจริงๆ ครับ กระบวนการในการทำ Software จึงมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างโครงการบ่อย และทำให้การประเมินหรือการวางแผนนั้นผิดไปจากที่คาดเยอะ แต่ถ้าคนประเมินฝั่งลูกค้าเป็นสายไอทีอยู่แล้วรู้กระบวนการอยู่แล้วเคยพัฒนาระบบมาบ้างอันนี้ก็จะแม่นยำขึ้นครับ
โดยส่วนตัวแล้ว ผมแนะนำให้เลือกบริษัทที่เคยทำหรือมีความเชี่ยวชาญในตัวธุรกิจนั้นๆ หรือไม่ก็ต้องนั่งคุยกันมากพอจนเข้าใจกันชัดเจนว่าสิ่งที่ต้องการในปลายทางคืออะไร ทางบริษัทที่พัฒนา Software ถึงจะสามารถช่วยแนะนำในสิ่งที่ลูกค้ายังไม่รู้ได้อย่างเหมาะสม ในทางกลับกัน ทางทีมพัฒนา Software ก็ต้องให้ความรู้กับลูกค้าด้วยเช่นกัน แล้วจึงตัดสินใจร่วมกันว่าจะใช้หรือไม่ใช้อะไร ทำหรือไม่ทำอะไร
ผมมีเพื่อนที่เคยทำ Software ระบบ Stock ให้กับร้านอะไหล่เจ้านึง เจ้าของสั่งมาแบบมั่นใจมากๆ ว่าต้องทำแบบนี้ๆ เพราะเค้าทำมา 20 ปีแล้ว วางโจทย์แรกสุดมาใหญ่มากว่าต้องทำอะไรยังไงบ้าง จนระบบมีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนสูง สุดท้ายเพื่อนผมคนนี้ก็ทำงานเสร็จตาม Requirement เป๊ะๆ อย่างที่เจ้าของต้องการเลยครับ แต่สุดท้ายคือเหล่าลูกน้องร้านอะไหล่นี้ไม่มีใครยอมใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นมาสักคนครับ เพราะใช้ยาก ซับซ้อน ทำให้การทำงานยากขึ้น
ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำแม้ทางผู้บริหารจะรู้อยู่แล้วก็คือการ “จัดลำดับความสำคัญ” และ “ทำสิ่งที่จำเป็นขึ้นมาก่อน” ครับ เพราะทุกครั้งที่คุยกันไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดจินตนาการไปเรื่อยๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุดทุกรอบครับ ในการประชุมงานถ้าคุมงานให้อยู่ในร่องในรอยได้ เลือกเฉพาะสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจขึ้นมาพัฒนาระบบ Software ให้เกิดการใช้งานจริงก่อน แล้วค่อยๆ ขยายต่อยอดไปในอนาคต ก็จะช่วยลดความเสี่ยงสำหรับค่าใช้จ่ายแอบแฝงไปได้เยอะมากครับ
บางธุรกิจที่ยังมองว่าทุกอย่างในการทำงานก็สำคัญหมดเลยจะต้องทำทุกๆ อย่างพร้อมกันไปทีเดียวเลย ซึ่งนี่ต้องเป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนให้ได้ครับเพราะนั่นแปลว่าธุรกิจเองยังประเมินตัวเองไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่ากิจกรรมใดในธุรกิจของตนเองมีคุณค่าและมีค่าใช้จ่ายมากน้อยเพียงใด ทำให้ไม่สามารถเลือกปรับปรุงในสิ่งที่สำคัญหรือแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ ก่อนได้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหลักการเบื้องต้นของการทำ Optimization เลยครับ

Q: กลยุทธ์ในระยะยาวสำหรับภาคธุรกิจที่ต้องการลงทุนในโครงการพัฒนา Software ควรมองปัจจัยใดบ้าง?
ในระยะยาวควรมองทั้งด้านการดูแลทางด้านระบบ Server Infrastructure และการดูแลทางด้าน Software ให้ดีครับ
ในการดูแลด้านระบบ Server Infrastructure นั้นปัจจุบันเราก็มีระบบ Cloud มาเป็นทางเลือกในการลดรายจ่ายลง แต่ในบางกรณีนั้นการใช้ Cloud ก็แพงกว่าการลงทุนระบบเองเยอะมากครับ ดังนั้นธุรกิจจึงควรจะตัดบางส่วนของระบบกระจายออกเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายลง โดยการใช้สถาปัตยกรรมแบบ Hybrid Cloud เช่น ถ้าเกิดว่าระบบกิน CPU ในการประมวลผลสูงมากๆ แทบจะตลอดเวลาแน่นอนครับว่าถ้าเราย้ายเอามารันบน Server เราเองก็ประหยัดกว่าอยู่แล้ว และส่วนที่ต้องการความทนทานสูงๆ ก็ให้ทำงานอยู่บน Cloud แทน ด้วยแนวทางนี้คือถ้าฝั่ง Server ของเรามีปัญหาก็ไม่เป็นไร ระบบก็จะไปทำงานบน Cloud และเพิ่มขยายแบบ Auto Scale ได้เอง แต่ในระหว่างที่ Server เรายังใช้งานได้ดีอยู่ ก็จะลดค่าใช้จ่ายในภาพรวมลงไปได้มาก เป็นต้นครับ
ทางด้าน Software อย่าลืมว่าทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก ยิ่งถ้าเป็นระบบที่ต้องออนไลน์ก็จะมีเรื่องการป้องกันการเจาะระบบ ซึ่งควรจะต้องมีการทดสอบและอัปเดตระบบอุดช่องโหว่ การอัปเกรดเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อให้รองรับกับโจทย์ทางธุรกิจ ดังนั้นควรมองระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้าไว้ก่อนเลย วาง Roadmap เอาไว้ก่อนเลยครับ ทำไม่ทำก็ว่ากันอีกเรื่องนึง ควรจะกันงบและวางแผนตรงนี้เอาไว้ด้วยเลยคร่าวๆ ก็ยังดี
อีกอย่างครับ หลายๆคน เข้าใจว่าระยะเวลาการพัฒนาระบบสมมติว่าวางเอาไว้ 6 เดือน แล้วพอดีดนิ้วให้เริ่มพรุ่งนี้เลย อันนี้มันเป็นไปไม่ได้นะครับ ทีมที่ได้รับการไว้วางใจ และมีการบริหารจัดการที่ดี ก็จะมีการวาง Resource Plan เอาไว้อยู่แล้วครับ ดังนั้นถ้าจะเริ่มพัฒนาต้องบอกทีมที่เราจ้างไม่ว่าจะทีมไหนก็ตามล่วงหน้าสัก 1-2 เดือนครับ เขาถึงจะเคลียร์ Resource มาทำงานให้ได้ทันตามเวลาดังนั้นให้เผื่อระยะเวลาตรงนี้ไว้ด้วยครับ
Q: ฝากถึงทุกธุรกิจ การประเมินพาร์ทเนอร์ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนา Software นั้น ควรประเมินจากปัจจัยใดเป็นสำคัญ?
ในส่วนของการเลือกทีมหรือพาร์ทเนอร์ที่เข้ามาช่วยจัดการพัฒนาระบบ Software นั้น แนะนำให้ประเมินจากปัจจัยตามนี้ก่อนครับ
- จำนวนบุคลากรในทีม – ไม่ใช่ยิ่งมีเยอะยิ่งดี บางทีมมีเป็น 10 คนแต่ทุกคนประสบการณ์ยังไม่ถึง 5 ปีเลยครับ ให้เน้นไปที่ Senior หรือคนที่คุมงานทั้งหมดว่าเก่งระดับไหนทำอะไรมาบ้าง ทำมากี่ปี มีกี่คน เพราะเค้าคือที่ปรึกษาของทั้งทีมครับ และบางทีมก็มีแต่ทีม Programmer เท่านั้น ไม่ได้มีทีม UX/UI หรือทีม QA หรือทีม System Engineer อยู่ด้วย ในข้อนี้ให้ประเมินจากตัวงานที่ทำครับว่าเหมาะสมกันไหม
- ประสบการณ์ของทีม – ไม่ใช่ว่าทุกทีมจะทำได้ทุกอย่างทุกชนิดบนโลกนี้นะครับ เช่น ทีมที่ไม่เคยทำ E-Commerce มาก่อนเลย ถึงแม้เขียนโปรแกรมมาเป็น 10 ปี ก็สู้คนที่มีประสบการณ์ทำ E-Commerce อย่างเข้มข้นมา 4-5 ปีแล้วไม่ได้ครับ การเลือกใช้ทีมที่ไม่มีประสบการณ์งานก็คงเสร็จเหมือนกันแต่จะใช้ระยะเวลานานกว่ามากครับ ทำให้ต้นทุนการพัฒนาสูงขึ้นตามไปด้วย ทีมที่เขียนโปรแกรมมาก็จะมีประสบการณ์ในแต่ละด้านอย่างเฉพาะทางระดับหนึ่ง การเลือกทีมที่มีความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมกับงานจะทำให้งานออกมาเร็วและมีคุณภาพสูงกว่า แน่นอนครับทำให้ต้นทุนต่ำลงด้วยแน่ๆ ครับ
- ความใหญ่ของโครงการที่เคยรับมา – ลองถามดูครับว่าช่วงนี้รับงานมูลค่าต่ำสุดกี่บาท และ เคยรับงานที่สูงสุดกี่บาทครับ ทีมที่เคยทำงานระดับ 1-2 ล้าน ปกติถ้าจะไปรับงานระดับ 10 ล้านนี่ก็จะเหนื่อยหน่อยครับ เพราะทั้งความคาดหวังและการคุมงานระดับหลัก 10 ล้านนี่ต่างกันกับงานหลัก 1-2 ล้านพอสมควรเลยครับ
- ภาษาตลอดจนเทคโนโลยีที่ใช้ – ในส่วนนี้จะยากหน่อยครับ เพราะต้องประเมินเทคโนโลยีในระดับ 4-5 ปีข้างหน้าว่าเราจะใช้อะไร เช่น สมัยก่อนมี Flash/Flex ที่เป็นที่นิยม แต่ปัจจุบันก็ไม่เกิดจนเทคโนโลยีนั้นๆ ก็ตายจากไปแล้ว ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีที่ใช้ แต่ต้องประเมินขนาดว่าอีก 5 ปี จะมีคนมาทำงาน Support ให้ได้เราไหม มหาลัยสอนอะไรกัน เด็กจบใหม่จบมาแล้วสกิลมาด้านไหนกัน ซึ่งถ้าเลือกได้ถูกทางก็จะหาคนมา Support ระบบต่อได้ไม่ยากครับ
- เจตนาของพาร์ทเนอร์ – บางทีมทำแค่ให้มันเสร็จๆ ไปตาม Requirement นะครับ บางทีมตั้งใจทำเพื่อให้มาตอบโจทย์แบบจริงจัง ในส่วนนี้ลองคุยๆดู ก็จะรู้สึกได้เองครับว่าเค้ามารับโจทย์ไปทำตามเฉยๆ หรือว่ามีการเสนอแนะในส่วนต่างๆ ด้วยครับ แต่บางทีทีมที่ตั้งใจทำก็ถูกปัดตกด้วยเรื่องของราคาที่สูงกว่า อันนี้ก็ต้องดูกันให้ดีครับ
- พาร์ทเนอร์ของพาร์ทเนอร์ – อย่างที่บอกไปแล้วว่าในทุกๆ ทีมก็ไม่ได้เก่งสุดๆ หรือมีประสบการณ์ในทุกๆ ด้านครับ ดังนั้นทีมที่สามารถดึงพาร์ทเนอร์ที่มีจุดแข็งแต่ละด้านเข้ามาช่วยกันทำงานได้ คุยกันง่าย คุยกันรู้เรื่อง ดึงมารวมพลังกันได้ ก็จะได้เปรียบกว่า ทางเราก็ไม่ต้องไปนัดแต่ละเจ้ามานั่งทะเลาะกันในที่ประชุมกันว่าสรุปงานหรือปัญหาที่มันงอกมานี่คืองานส่วนของใครกันแน่ เพราะเราก็ให้พาร์ทเนอร์เจ้าที่เราจ้างนั่นแหละครับทำไปทั้งหมดเลย แต่ถ้าพาร์ทเนอร์ของเราไม่มี Connection เลยแล้วเราต้องหามาประกอบร่างเอาเอง อันนี้ก็จะบริหารจัดการยากขึ้นไปอีกหน่อยครับ