ในโลกของอุตสาหกรรม FinTech นอกจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการเงินและภาครัฐแล้ว หนึ่งฝ่ายที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือสมาคมที่เกิดจากการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญ ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ที่คอยทำงานสนับสนุนและร่วมกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรม FinTech ให้สอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่าย
ในบทความนี้ เป็นการสรุปการพูดคุยของคุณ Takeshi Kito รองประธานสมาคม FinTech แห่งประเทศญี่ปุ่น เล่าถึงการทำงานของสมาคม แนวโน้มของ FinTech ในประเทศญี่ปุ่น และแนวทางการดำเนินการในอนาคตที่ได้วางแผนไว้ จะเป็นอย่างไรบ้าง ตามมาอ่านกันได้เลย
รู้จัก Fintech Association of Japan
Fintech Association of Japan หรือสมาคม FinTech แห่งประเทศญี่ปุ่นนั้นก่อตั้งขึ้นในปี 2014 โดยในช่วงปลายปี 2021 สมาคมมีสมาชิกแล้วกว่า 450 บริษัท ซึ่งประกอบไปด้วยสตาร์ทอัพและบริษัทขนาดใหญ่ด้าน FinTech รวมไปถึงบริษัทอื่นๆที่มีความสนใจ มีการใช้งานหรือพัฒนาเทคโนโลยีการเงินด้วย
ปัจจุบันสมาคมแห่งนี้มีคณะอนุกรรมการทั้ง 9 คณะ รับผิดชอบในแต่ละสาขาของ FinTech ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความร่วมมือ ประสานงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือดำเนินการเกี่ยวกับการกำกับดูแล เช่น ในการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเงินก็จะมีการเปิดรับความคิดเห็นจากสาธารณะเพื่อนำไปประกอบการพิจารณา
ในส่วนของภาครัฐ ทางสมาคมมีการทำงานร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น กระทรวงต่างๆ และหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ในงานด้านการระดมความคิด ส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจ FinTech และการนำเทคโนโลยีการเงินไปใช้งานในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ
อีกหนึ่งบทบาทของสมาคม คือการจัดงานสัมมนาและอีเวนท์เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเงิน ซึ่งหนึ่งในนั้นคืองานสัมมนาประจำปี FinTech Japan ขึ้นเป็นพื้นที่เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นไปและแนวโน้มของอุตสาหกรรม แชร์ความรู้และประสบการณ์ แนะนำส่งเสริมสตาร์ทอัพหน้าใหม่ รวมไปถึงเป็นสถานที่พบปะให้เหล่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้มาพูดคุยเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์หรือเสาะหานักลงทุน
นอกจากนี้ สมาคม FinTech ก็ได้ทำงานเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยได้ขยายพันธมิตรไปกว่า 32 ประเทศทั่วโลก และในบางประเทศก็ได้มีการเข้าพูดคุยกับธนาคารกลาง รวมถึงการร่วมมือกับสมาคม FinTech ของประเทศอื่นๆ โดยในประเทศไทยเองก็ได้มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือ (MOU) กับสมาคม FinTech แห่งประเทศไทยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เทรนด์ของ Fintech ในประเทศญี่ปุ่น
ตลาดญี่ปุ่นนั้นเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในส่วนของอุตสาหกรรม FinTech เองก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยจากตัวเลขประมาณการตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2022 ตลาด FinTech จะสามารถเติบโตได้เฉลี่ยสูงถึง 51% ต่อปี
ในส่วนของการลงทุนในเทคโนโลยีการเงินก็เช่นกันที่มีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ จากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดน Venture Capital จากต่างประเทศได้เข้ามาร่วมลงทุนในประเทศญี่ปุ่นกันคับคั่ง
ในส่วนของเทรนด์ในประเทศญี่ปุ่นเอง ด้านภาพรวมก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆมากนัก ที่มีการให้ความสำคัญกับหัวข้ออย่าง Digital Payment และธนาคารดิจิทัล, การจัดการ Supply Chain, สินทรัพย์ดิจิทัล เทคโนโลยีการประกันภัย และอื่นๆอีกมากมาย
ซึ่งเมื่อมองลึกลงมา สิ่งที่ธุรกิจญี่ปุ่นกำลังให้ความสำคัญในปัจจุบันนั้นมีได้แก่
- Embedded Finance หรือการให้บริการด้านการเงินโดยบริษัทที่อาจะไม่ได้ทำธุรกิจการเงิน เช่น LINE
- Sustainable Finance ซึ่งเป็นการวางกรอบการดำเนินธุรกิจและขั้นตอนทางการเงินต่างๆให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น
- DeFi หรือ Decentralised Finance ระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ที่ไม่ผ่านหน่วยงานตัวกลาง และให้ Blockchain เป็นผู้จัดการแทน
- Stablecoin เหรียญดิจิทัลที่มีมูลค่าขึ้นอยู่กับสกุลเงินจริง
- eKYC หรือการยืนยันตัวตนผ่านทางระบบดิจิทัล ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์ในด้านของการทำธุรกรรมแล้วยังช่วยในการยืนยันตัวตนด้านอื่นๆ
- การป้องกันการฟอกเงินและการนำเงินไปใช้เพื่อการก่อการร้าย ซึ่งในปัจจุบันมีช่องทางให้หลบหลีกกฎหมายได้มากขึ้น เนื่องจากระบบนิเวศด้านการเงินที่เปิดกว้าง และ
- การตรวจจับสิ่งผิดปกติและการทุจริตในระบบการเงิน
ประเด็นเหล่านี้ได้รับความสนใจจากทั้งภาคเอกชน รัฐบาล และหน่วยงานกำกับดูแล บางเรื่องก็จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาหรือกำกับดูแอย่างเร่งด่วน และบางเรื่องก็เกิดจากความต้องการและความสนใจของสาธารณะ
สมาคม FinTech ญี่ปุ่น พร้อมรองรับอนาคตด้วยแผนความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ
วงการเทคโนโลยีการเงินในญี่ปุ่นนั้นกำลังเติบโตอย่างคึกคัก และมีเทรนด์ที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งสมาคม FinTech แห่งประเทศญี่ปุ่นก็ได้วางแผนโครงการเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพและเหล่าผู้พัฒนาเทคโนโลยีการเงิน ดังนี้
- พัฒนาระบบนิเวศ Open API ที่จะช่วยให้การเชื่อมต่อและสื่อสารระหว่างระบบเป็นไปได้อย่างสะดวก รวมไปถึงเตรียมการสำหรับการทำธุรกรรม และรับส่งข้อมูลข้ามระบบ ข้ามองค์กร รวมไปถึงข้ามประเทศ ซึ่งอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานและธนาคารกลางในต่างประเทศ
- คอยสนับสนุนและดูแลให้การกำกับดูแลเทคโนโลยีทางการเงินเป็นไปในทิศทางเดียวกับเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นและการนำไปใช้งานจริง เพื่อป้องกันไม่ให้การกำกับดูแลฉุดรั้งการพัฒนา และระวังไม่ให้การพัฒนามีช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดผลเสียได้ โดยรวมไปถึงการเจรจาพูดคุยกับหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ เพื่อทบทวนภาพรวมของหลักการให้สอดคล้อง ไม่กีดขวางการร่วมมือข้ามชาติของธุรกิจ
- สร้างความร่วมมือกับ Regulartory Sandbox ของประเทศอื่นๆ เพื่อให้การขยายธุรกิจจากญี่ปุ่น และการเข้ามาทำธุรกิจในญี่ปุ่นเป็นไปได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการพูดคุยกับประเทศต่างๆ เช่น อิสราเอล ไทยและฮ่องกง เป็นต้น
ภาพของ FinTech ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ FinTech นั้นเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปีก่อนหน้านี้ ทว่าด้วยความต้องการของผู้บริโภค และความสนใจจากทุกภาคส่วน FinTech ก็ได้เติบโตมาอย่างเข้มแข็งและกลายเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและมั่นคงมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง
การรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มธุรกิจ เช่นสมาคม FinTech แห่งประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตและเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรม ด้วยการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ รัฐบาล ภาครัฐและเอกชนจากต่างประเทศ รวมไปถึงผู้บริโภค ทำให้สามารถรับฟังความต้องการและความคิดเห็นได้ในทุกมุมมอง และนำไปวางแผนเพื่อสนับสนุนทุกฝ่ายได้เป็นอย่างดี
สนใจอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับสมาคมและ FinTech ในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มเติมได้ที่ https://www.jrit-ichi.com/cutting/2022/02/21/824/