ทาง NetApp ได้เชิญทีมงาน TechTalkThai ไปร่วมงานสัมมนา Secure Cities ที่จัดขึ้นที่สิงคโปร์เพื่อแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการทำ Secure Cities หรือโครงการ Smart Cities ที่มีความปลอดภัยสูงในแถบภูมิภาคเอเชีย และทางทีมงาน TechTalkThai ก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ Yarime Masaru จาก University of Tokyo ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านวิชาการแก่โครงการ Smart City ของญี่ปุ่น จึงขอสรุปเนื้อหาที่น่าสนใจมาเป็นแนวทางสำหรับประเทศไทยเอาไว้ดังนี้ครับ

Smart City ของญี่ปุ่น: เริ่มต้นตามหัวเมืองใหญ่ ให้รัฐเป็นผู้สนับสนุนหลัก เสริมด้วยภาคเอกชน
ญี่ปุ่นนั้นเริ่มต้นโครงการ Smart City โดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุนหลักทั้งในแง่ของนโยบายและงบประมาณ โดยเมืองแรกที่เริ่มต้นทำโครงการนี้เมื่อ 5 ปีก่อนก็คือโยโกฮามา และตามมาด้วยหัวเมื่องใหญ่ๆ อย่างโตเกียว, เมืองรอบๆ และเมืองอื่นๆ โดยในโครงการของแต่ละเมืองนั้นก็จะมีความแตกต่างกันไปตามความต้องการของแต่ละเมือง และก็มีหน่วยงานเอกชนมาร่วมสนับสนุนในแง่ของเทคโนโลยีด้วย เช่น นิสสันและโตโยตา
การที่ภาครัฐเป็นตัวตั้งตัวตีในการทำโครงการ Smart City นี้ทำให้ความก้าวหน้าของโครงการเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ทั้งการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายในแต่ละเมือง, การนำข้อมูลการใช้ทรัพยากรต่างๆ มาประเมินและตัดสินใจ, การขอความร่วมมือจากภาคเอกชน รวมไปถึงการจัดการในแง่นโยบายและกฎหมายที่จำเป็นของญี่ปุ่นเองในการก้าวไปสู่การเป็น Smart City ที่จะเป็นก้าวแรกของการเติบโตไปเป็น Smart Nation
แน่นอนว่าความปลอดภัยในการจัดเก็บและนำข้อมูลต่างๆ มาใช้งานก็เป็นประเด็นที่ต้องพูดถึงอยู่ตลอดเวลา และทางญี่ปุ่นเองนั้นก็มองว่าการจัดการด้านความปลอดภัยแก่ระบบ Smart City นั้นถือเป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพื่อให้รองรับต่อระบบ Smart City ที่นับวันจะยิ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องไปทุกวัน
เน้นการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างภาคส่วน ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ศาสตราจารย์ Yarime Masaru เองนี้ก็เป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านวิศวกรรมเป็นอย่างดี และช่วยเริ่มต้นผลักดันโครงการ Smart City นี้ในแง่ของการใช้ทรัพยากรต่างๆ และการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในเมืองให้ดีขึ้นเป็นหลัก เช่น การตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้าในแต่ละส่วนของเมืองเพื่อทำการวางแผนระบบไฟฟ้าและพลังงานให้มีความคุ้มค่ามากขึ้น, การตรวจสอบสิ่งแวดล้อมเป็นพิษที่เกิดขึ้นภายในเมืองและเขตอุตสาหกรรม, การจัดการน้ำประปา, การจัดการการจราจร และอื่นๆ
ในการแก้ไขแต่ละปัญหานี้ การนำเทคโนโลยีที่แตกต่างกันมาใช้ให้ตรงต่อโจทย์ความต้องการถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ทำให้ระบบ Internet of Things (IoT) ที่นำมาใช้เป็น Sensor เพื่อติดตามสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นออกมาเป็นตัวเลขหรือข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประมวลผลต่อยอดนั้นต้องถูกออกแบบสำหรับแต่ละงานเฉพาะไปให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการออกแบบระบบเครือข่ายเองก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ในการนำข้อมูลจากแต่ละภาคส่วนมาประกอบรวมกันนั้น การจัดการข้อมูลคือความท้าทายที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของการทำ IoT เพราะ IoT นั้นยังเป็นเรื่องใหม่และยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานใดๆ มารองรับ ดังนั้นการวางแผนระบบงานต่างๆ ให้ดี, การออกแบบระบบให้สามารถรองรับการรับส่งข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบ และรองรับการเพิ่มขยายความต้องการในอนาคตจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ดี
ก้าวถัดไปคือให้เอกชนเริ่มต้นเอง ยังมีจุดบอดด้าน Business Model
หลังจากที่โครงการเริ่มต้นที่สนับสนุนโดยภาครัฐจบลงไป ทางญี่ปุ่นเองก็ได้เวลาที่ภาคเอกชนจะลุกขึ้นมาทำโครงการ IoT สำหรับ Smart City ของตนเองบ้าง แต่ปัญหาใหญ่ในการทำโครงการต่อยอดนี้ก็คือประเด็นของ Business Model ที่ทางเอกชนและภาครัฐยังหาจุดลงตัวกันไม่ได้หากจะผันการทำ Smart City ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมจริงๆ อยู่
IoT ยังคงเป็นเรื่องของเอกชนรายใหญ่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตและรถยนต์ ยังไม่ใช่เวลาของ Startup รายย่อย
เมื่อถามถึงประเด็นว่า IoT นั้นได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมใดของญี่ปุ่น คำตอบที่ได้รับกลับมานั้นก็ไม่ค่อยจะน่าแปลกใจนัก Connected Car หรือรถยนต์อัจฉริยะนั้นถือเป็นเทคโนโลยี IoT ที่ได้รับความนิยมสูงมากในญี่ปุ่นเนื่องจากญี่ปุ่นเองถือเป็นหนึ่งในประเทศยักษ์ใหญ่ทางด้านการผลิตรถยนต์ ในขณะเดียวกันโครงการ IoT สำหรับการใช้ปรับปรุงการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เองก็กำลังเติบโตเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ ในญี่ปุ่นเองนั้นถึงแม้จะเริ่มมีโครงการ IoT มากมาย แต่ปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นเองก็ยังถือว่าตามเทคโนโลยีฝั่งสหรัฐอเมริกาไม่ทัน โดยเฉพาะการนำ Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML) มาใช้ต่อยอดในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จาก Sensor แต่อย่างไรก็ดี การปรับปรุงกระบวนการการผลิตเองนั้นก็ถือเป็นจุดแข็งของญี่ปุ่นมาแต่ไหนแต่ไร และในการแข่งขันทางด้าน IoT นี้ ญี่ปุ่นเองก็จะสามารถแข่งขันด้วยโซลูชัน IoT สำหรับการผลิตได้อย่างแน่นอน
Smart Rail เป็นโครงการที่มีความท้าทายสูง แม้ระบบรถไฟของญี่ปุ่นจะล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นทั่วโลก
เป็นที่รู้กันดีว่าระบบรถไฟของญี่ปุ่นนั้นถือว่าเป็นเบอร์ต้นๆ ของโลกมาโดยตลอด ด้วยความเที่ยงตรงและแม่นยำในการกำหนดเวลาเดินรถไฟในแต่ละวัน และการที่รถไฟนั้นถูกใช้เป็นการเดินทางหลักของประชาชนในญี่ปุ่น จึงมีคำถามเกิดขึ้นมาว่าแล้วระบบ IoT สำหรับรถไฟหรือ Smart Rail นั้นเป็นอย่างไรบ้าง
คำตอบที่ได้นั้นสร้างความประหลาดใจไม่น้อยว่าในญี่ปุ่นเองนั้นยังไม่มี IoT สำหรับรถไฟ เพราะที่ผ่านมาเทคโนโลยีระบบรถไฟของญี่ปุ่นนั้นดำเนินการโดยเอกชน และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้นั้นก็ถือว่าก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และติดตามได้แทบทุกส่วนของระบบรถไฟอยู่แล้ว ดังนั้นความท้าทายที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญถัดไปก็คือการนำข้อมูลของระบบรถไฟจากผู้ให้บริการเอกชนแต่ละรายมาผสานรวมกันให้กลายเป็นระบบเดียวให้ได้ และก้าวถัดไปที่ยากขึ้นไปอีกคือการนำข้อมูลของระบบรถไฟไปผสานรวมกับระบบอื่นๆ ของทางภาครัฐต่อไปนั่นเอง
ก็จบเพียงเท่านี้สำหรับการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ครับ ทางทีมงาน TechTalkThai ก็ต้องขอขอบคุณทาง NetApp Thailand ที่ให้โอกาสมาร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ด้วยครับ