เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมงาน TechTalkThai ได้มีโอกาศเข้าร่วมงานสัมมนาเรื่อง Cognitive Computing ซึ่งจัดโดย IBM ซึ่งภายในงานได้มีการแนะนำโซลูชัน Watson หนึ่งในเซอร์วิสอัจฉริยะของ Bluemix บริการแอพพลิเคชันและแพลทฟอร์มบนระบบคลาวด์ของ IBM ซึ่งคาดว่าจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ส่งผลต่อวงการคอมพิวเตอร์ในอนาคตอย่างแน่นอน
Cognitive Computing คืออะไร
อธิบายด้วยการยกตัวอย่างง่ายๆ คือ คนเหล็กในเรื่อง Terminator ที่สามารถเข้าใจภาษามนุษย์ คิด วิเคราะห์ และพูดโต้ตอบกลับไปได้ โดย Cognitive Computing มีเป้าหมายหลัก คือ สร้างคอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์ให้ประพฤติตัวเหมือนมนุษย์ โดยใช้ระบบ Artificial Intelligence (AI) เข้ามาช่วย เพื่อให้สามารถนำคอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์มาใช้งานทดแทนมนุษย์ในอนาคตได้
ทำความเข้าใจเล็กน้อย
- Cognitive Computing จะต้องเข้าใจสิ่งที่มนุษย์พูด แล้วเรียนรู้ จดจำ เมื่อเจอเหตุการณ์รูปแบบเดียวกันจะต้องโต้ตอบกลับมาแบบเดิมได้ หรืออาจไม่เหมือนเดิมถ้ามีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
- Cognitive Computing ไม่ใช่เครื่องพยากรณ์ที่สามารถทำนายอนาคตได้ แต่สามารถ “เดา” ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
- Cognitive Computing ไม่ใช่เครื่องมือให้คำแนะนำ แต่สามารถใช้ Cognitive Computing เพื่อสร้างเครื่องมือให้คำแนะนำได้ โดยอาศัยปัจจัยต่างๆ เช่น ความชื่นชอบ หรือประสบการณ์ส่วนบุคคล
- Cognitive Computing เป็นมากกว่า Machine Learning (ML) ดั่งเช่นที่ Amazon AWS หรือ Microsoft Azure ให้บริการ ML จำเป็นต้องสร้างโมเดลจากปริมาณข้อมูลอันมหาศาลก่อน เสมือนเป็นสมองในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากนั้นจะคิดและโต้ตอบกลับไปโดยอาศัยสิ่งที่เรียนรู้มาเหล่านั้น ในขณะที่การสร้างโมเดลของ Watson นั้นเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ภายใน IBM เอง Watson จึงเป็นเซอร์วิสที่พร้อมใช้งานโดยทันที และใช้งานได้ง่าย โดยแลกกับข้อจำกัดด้านความยืดหยุ่น กล่าวคือ ปัจจุบันสามารถเข้าใจและโต้ตอบความต้องการได้เพียงแค่ 28 รายการ และไม่สามารถปรับแต่งตามความต้องการได้
คุณสมบัติสำคัญ 4 ประการของ Cognitive Computing
- Adapting to the unknown – ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่ไม่รู้ ไม่เคยเห็นมาก่อนได้ เช่น การแก้ปัญหาเรื่อง Ambiguity ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของ AI คือ ไม่รู้ ไม่แน่ใจว่าสิ่งนั้นคืออะไร ยกตัวอย่าง เมื่อเอาสระภาษาอังกฤษออก ต้องยังสามารถอ่านและเข้าใจข้อความนั้นๆแบบที่มนุษย์ทำได้
- Interacting with other humans – ต้องสามารถสื่อสาร โต้ตอบกับมนุษย์ได้ อาจผ่านทางข้อความ หรือเสียง เป็นต้น รวมทั้งต้องสามารถสรุปข้อมูลเป็นใจความสำคัญให้มนุษย์สามารถเข้าใจได้โดยง่ายหรือเป็นธรรมชาติ
- Understanding the context – นอกจากรับฟังสิ่งที่มนุษย์พูดหรือ Input เข้ามาได้แล้ว ต้องสามารถเข้าใจบริบทของเนื้อหาเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของข้อความ หรือรูปภาพ
- Reasoning the best answer – สามารถใช้คำตอบที่ดีในคำถามต่างๆได้ ซึ่งคำตอบที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง แต่ต้องมีเหตุผลมารองรับว่าทำไมถึงตอบแบบนี้
Watson ระบบคอมพิวเตอร์เสมือนมนุษย์
Watson คือบริการของ IBM ที่พัฒนาตามแนวทางของ Cognitive Computing ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด หรือสมบูรณ์แบบ แต่ก็นับได้ว่าพัฒนามาไกลเพียงพอที่จะตอบโจทย์ความต้องการของการใช้งานอันหลากหลายในปัจจุบัน โดยหลักๆแล้วสามารถแบ่งการใช้งานได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
- Natural Language Processing (NLP) – ประมวลผลภาษามนุษย์ ได้แก่ อังกฤษ สเปน จีน และภาษาอื่นๆในอนาคต ให้สามารถเข้าใจบริบทเนื้อหาได้ เช่น ประมวลผลสัญญาตามกฏหมาย แล้วสรุปสาระสำคัญให้ฟังเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายๆได้
- Vision and Speech – มองเห็น และโต้ตอบกับมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูด หรือในรูปข้อความ ยกตัวอย่างเมื่อรวมความสามารถกับ NLP เช้ร ประมวลผลวิดีโอออนไลน์ โดยสกัดเสียงในวิดีโอออกมาเปลี่ยนเป็นข้อความ ใช้ NLP วิเคราะห์ว่าเนื้อหาบริบทเกี่ยวข้อกับอะไร จากนั้นสร้าง Keyword เพื่อให้คนสามารถค้นหาวิดีโอนี้เจอ เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างชัดเจนที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรมนุษย์หรือการนำหุ่นยนต์มาแทนที่มนุษย์นั่นเอง
- High Level Reasoning and Insights – ฟีเจอร์ที่เหนือกว่า Machine Learning ที่สามารถโต้ตอบได้เฉพาะรูปแบบที่เคยพบมาก่อนเท่านั้น นี่เป็นเทคโนโลยีอัจฉริยะที่สามารถตอบคำถามมนุษย์ได้ครบทั้ง 5 อย่าง คือ อะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ และทำไม โดย Watson ใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Corpus ในการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์หาคำตอบที่ “ดีที่สุด” เช่น บริการ Question and Answer ที่สามารถตอบคำถามด้านสุขภาพ และการเดินทางได้
การันตีความเหนือชั้นด้วยชัยชนะในเกม Jeopardy
สิ่งที่ยืนยันผลลัพธ์ของการทำงาน 3 อย่างนี้ได้อย่างขัดเจนมากที่ คือ ชัยขนะในเกม Jeopardy เมื่อ 4 ปีก่อน โดย Watson ได้ใช้เวลาในการเรียนรู้เทคนิคและกลยุทธ์ในการเล่นเกมจากศูนย์ถึง 3 ปีเต็ม
วินิจฉัยโรคมะเร็งปอดได้แม่นยำถูก 90%
จากรายงานของศูนย์รักษาโรคมะเร็ง Sloan-Kettering ระบุว่า ปกติแล้วแพทย์ใช้ความรู้เพียง 20% ในการวินิจฉัยโรคของคนไข้ และรักษาโรคตามประสบการณ์ที่เคยทำมาก่อน และถ้าต้องการอัพเดทความรู้ทางการแพทย์ใหม่ๆตลอดเวลา จำเป็นต้องใช้เวลาอ่านหนังสือมากกว่า 160 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่ Watson สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเหล่านั้นได้เพียงไม่กี่นาที จากการทดสอบผลลัพธ์ที่ได้พิสูจน์แล้วว่า Watson สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดได้แม่นยำสูงถึง 90% ในขณะที่หมอทั่วไปมีความแม่นยำประมาณ 50%
ปัจจุบันนี้ Watson ให้บริการ 28 เซอร์วิส (รวมเวอร์ชัน Beta) ได้แก่
นักพัฒนาสามารถเลือกใช้เพียงแค่บริการใดบริการหนึ่ง หรือใช้หลายๆบริการรวมกันเพื่อตอบโจทย์ในการพัฒนาแอพพลิเคชันได้
ตัวอย่าง Watson App: Your Entrepreneur Match
You Entrepreneur Match เป็นแอพพลิเคชันที่ใช้บริการ Personality Insights ซึ่งเป็นบริการสำหรับเรียนรู้ลักษณะพฤติกรรมของมนุษย์ แล้ววิเคราะห์ว่าเป็นบุคคลประเภทใด เพื่อที่จะได้เลือกหนทาง ตัวเลือก หรือทางออกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนนั้นๆได้ โดยแอพพิลเคชันนี้จะให้ใส่ชื่อ Twitter เพื่อวิเคราะห์ว่า จากทวีตที่ผ่านมาทั้งหมด บุคคลที่ทวีตข้อความเหล่านั้นมีลักษณะนิสัยตรงกับนักลงทุนชื่อดังคนไหนในโลกมากที่สุด
ทดลองเล่น: match.mybluemix.net
ตัวอย่าง Watson App: Cognitive Head Hunter
Cognitive Head Hunter เป็นการผสานระหว่างบริการ Concept Insights และ Personality Insights เพื่อตรวจสอบดูว่าผู้ใช้บริการที่มีลักษณะนิสัยแบบนี้ ความสามารถแบบนี้ เหมาะสำหรับทำงานที่ใด ตำแหน่งใด โดยอาศัยการเชื่อมต่อกับ Linkedin หรือการพิมพ์ข้อความแนะนำตนเองลงไปในระบบ ในทางกลับกัน ก็ช่วย HR ค้นหาว่า ด้วยความต้องการแบบนี้ ควรเลือกใครเข้ามาทำงาน
ทดลองเล่น: https://watson-pi-demo.mybluemix.net/
ทีมงาน TechTalkThai หวังว่า ข้อมูลและตัวอย่างในบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็น Developer, Start-ups หรือผู้ที่สนใจทางด้าน IT เข้าใจแนวคิดและความสามารถของระบบ Cognitive Computing และ Watson มากยิ่งขึ้น สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมและสาธิตการใช้บริการอื่นๆของ Watson สามารถดูได้ที่ http://www.ibm.com/smarterplanet/us/en/ibmwatson/developercloud/services-catalog.html หรือ GitHub ที่ https://github.com/watson-developer-cloud