ปี 2017 นี้เป็นปีที่ IBM Thailand ได้มีอายุครบ 65 ปีไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในครั้งนี้ ทางทีมงาน IBM Thailand จึงได้จัดทำเว็บไซต์ขึ้นมาเป็นนิทรรศการจำลองเพื่อแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทาง IBM ได้ร่วมสร้างสรรค์กับเหล่าธุรกิจในไทยและทั่วโลกที่ http://www.ibmthailand65.com ทางทีมงาน TechTalkThai เห็นว่ามีหลายๆ ประเด็นน่าสนใจที่ไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ IBM Thailand ได้มีส่วนร่วมสร้างขึ้นมาทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก และเชื่อว่าผู้อ่านหลายๆ ท่านก็คงไม่เคยทราบมาก่อนด้วยเช่นกัน จึงขอหยิบยกเนื้อหาบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ครับ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 กับ IBM Thailand
ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2503 เป็นต้นมา ทางทีมงาน IBM Thailand นั้นก็ได้มีโอกาสรับใช้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยทาง IBM ได้ระบุเนื้อหาเอาไว้ที่ http://www.ibmthailand65.com/p/in-remembrance-of-his-majesty-king-bhumibol-adulyadej ดังนี้
- ในปี พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยี่ยมชมโรงงานซานโฮเซ่ของไอบีเอ็มในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในภาพ พระองค์กำลังทรงรับฟังการอธิบายเกี่ยวกับเครื่องประมวลผลข้อมูล
- ในปี พ.ศ. 2504 ไอบีเอ็มถวายเครื่องพิมพ์ดีดภาษาฝรั่งเศสแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
- ในปี พ.ศ. 2506 ไอบีเอ็มถวายเครื่องพิมพ์ดีดสองภาษาแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในปีเดียวกันนี้ ไอบีเอ็มยังให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ชนบท อันเป็นโครงการในพระราชดำริ
- ในปี พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ มร.เอ. เค. วัตสัน ประธานบริษัท ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กรุงเทพฯ ประเทศไทย
- ในปี พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยี่ยมชมบูธจัดแสดงของไอบีเอ็ม ในงานนิทรรศการการพิมพ์แห่งชาติ
- ในปี พ.ศ. 2547 ไอบีเอ็มถวายซอฟต์แวร์การเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) ของไอบีเอ็มเพื่อสนับสนุนโครงการการศึกษาทางไกลไกลกังวลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
- ในปี พ.ศ.2547 ทีมงานไอบีเอ็มที่ศูนย์วิจัยอัลมาเดน (Almaden Research Center) ให้ความช่วยเหลือแก่นักวิจัยไทยในการจัดเรียงอะตอมเป็นตัวอักษรไทยเป็นครั้งแรกของโลก โดยเป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ตัวอักษรรูปพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ระดับนาโนนี้ได้รับการจัดแสดงถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพ ระหว่างวันที่ 19-23 ตุลาคม 2547
นอกจากนี้หลายๆ คนก็อาจจะไม่ทันสังเกตมาก่อนว่าที่ตึก IBM ถนนพหลโยธินนั้น ตรงชื่อของบริษัท IBM ที่เป็นภาษาไทยนั้นมีตราครุฑอยู่ด้วย ซึ่งตราครุฑนี้ทาง IBM ก็ได้เล่าถึงที่มาอยู่ว่า “ในปี พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งห้าง (ตราครุฑ) แก่บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ในฐานะที่เป็นองค์กรซึ่งทำประโยชน์แก่สังคมไทย นับเป็นบริษัทไอทีต่างชาติแห่งเดียวของไทยที่ได้รับพระราชทานตราครุฑ ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้”
ผลักดันสถาบันการเงินไทย นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ผสานใช้ในธนาคารและสถาบันการเงิน
หากพูดถึงชื่อ IBM เราก็ต้องนึกถึงภาพของผู้ผลิตเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจการเงินและธนาคารอย่างแน่นอน ซึ่งทาง IBM นั้นก็ได้มีส่วนร่วมอย่างมากในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจการเงินนี้เติบโตในไทยมาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
- การนำตู้ ATM เข้ามาให้บริการในไทยภายในปีพ.ศ. 2526
- การร่วมมือกับบริษัท PCC เพื่อพัฒนาระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่กรมสรรพากรของประเทศไทย
- การจับมือกับธนาคารกสิกรไทยเพื่อนำ Blockchain มาใช้รับรองเอกสารต้นฉบับเป็นครั้งแรกของโลก
- การร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ นำแนวคิด Design Thinking ผสานกับ Agile เพื่อปรับปรุงกระบวนการการให้คำแนะนำด้านประกันชีวิต
- การร่วมมือกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา นำ Blockchain มาใช้ในการบริหารจัดการกระบวนการจัดเก็บเอกสารการให้บริการต่างๆ
- ธนาคารกสิกรไทย เลือกใช้ IBM Safer Payment ช่วยให้ธนาคารตรวจสอบการทำธุรกรรมต่างๆ ต่อต้านการฉ้อโกง
- ก่อตั้ง IBMSD และให้บริการ IT Outsource แก่ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยทนุ รวมถึงธนาคารและบริษัทชั้นนำอื่นๆ ในเวลาต่อมา อาทิ ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กลุ่มบริษัทไมเนอร์ เอไอเอ เป็นต้น
- ปรับปรุงกระบวนการการทำงานธุรกิจใหม่ในโครงการ Business Process Management ร่วมกับทางกรุงเทพประกันภัย
- การให้บริการ IT Outsourcing แก่ AIA
- การให้บริการโซลูชัน IBM MobileFirst ช่วยให้ AIA สามารถเปิดบริการ AIA iService สร้างบริการประกันชีวิตบน Smartphone
ตอบโจทย์ค้าปลีกไทย เสริมความคล่องตัวด้วยเทคโนโลยีจาก IBM
อีกชื่อเสียงหนึ่งของ IBM นั้นก็คือระบบ Point-of-Sales ที่เรามักเห็นกันตามสถานที่ต่างๆ อย่างคุ้นชิน แน่นอนว่าหลายๆ เทคโนโลยีนั้น IBM ก็เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการนำเข้ามาใช้งานในเมืองไทย ดังนี้
- เริ่มต้นสร้างเทคโนโลยี UPC Barcode ในปีพ.ศ. 2517 เป็นก้าวแรกๆ ของการนำ Barcode ไปใช้งานทั่วโลก
- 7-Eleven นำ IBM Content Manager OnDemand มาช่วยเปลี่ยนเอกสารในร้านค้าสาขาต่างๆ ให้อยู่ในรูป Digital ทั้งหมด ประหยัดเงินได้ 150 ล้านบาทในเวลา 5 ปี
- CP All นำ IBM Notes มาใช้งานเพื่อสื่อสารและจัดการ Workflow ตอบโจทย์การทำงานต่างๆ ภายในองค์กร
- ร่วมกับ CP Retaillink พัฒนาระบบเพื่อเชื่อมโยงสาขา, พนักงาน และอุปกรณ์ทั้งหมดหลายแสนรายการเข้าด้วยกัน
- การนำ Blockchain มาเปิดให้บริการบน IBM Cloud ให้ธุรกิจต่างๆ นำไปใช้งานได้อย่างง่ายดาย
- SAMART ใช้ IBM Verse เพื่อทำการสื่อสารภายในองค์กร พร้อมมี Cognitive Computing ช่วยจัดการค้นหาเอกสารและการสื่อสารต่างๆ
นำ AI และ Analytics สู่วงการแพทย์ในประเทศไทย
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ถือเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกๆ ในโลกที่ได้มีการนำเทคโนโลยีด้าน AI หรือ Cognitive Computing เข้ามาช่วยในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ด้วยการใช้ IBM Watson for Oncology ที่ถูกฝึกฝนมาแล้วเป็นอย่างดีจากการเรียนรู้หลักฐานทางการแพทย, เอกสารวิชาการ, งานวิจัย และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจากแพทย์ของศูนย์มะเร็ง Memorial Sloan-Kettering (MSK) เพื่อนำข้อมูลผู้ป่วยแต่ละรายไปทำการวิเคราะห์และให้คำแนะนำในการรักษาที่มีความแม่นยำสูง
ความพยายามในการร่วมรักษาโรคมะเร็งของ IBM ยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น โดย IBM ได้นำโครงการ World Community Grid ที่เปิดให้ผู้คนทั่วไปสามารถนำเครื่อง PC หรือ Smartphone ของตนเองมาช่วยประมวลผลในงานขนาดใหญ่ได้ มาเปิดให้มหาวิทยาลัยการแพทย์ต่างๆ ได้นำไปใช้วิจัยงานทางด้านการค้นหาวิธีรักษาโรคมะเร็ง พร้อมทั้งนำโครงการนี้เข้ามาสู่เมืองไทยด้วยการจับมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต, สหยูเนี่ยน และคอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน ให้มาร่วมบริจาคพลังประมวลผลเพื่อผลักดันโครงการนี้ด้วยอีกแรงหนึ่ง
นอกจากนี้ หากพูดถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเมื่อปีพ.ศ. 2547 ซึ่งนับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของประเทศไทยนั้น ทาง IBM เองก็ได้สนับสนุนคอมพิวเตอร์จำนวน 100 เครื่องพร้อมอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อใช้ในการบรรเทาสาธารณภัยในครั้งนี้ อีกทั้งทาง IBM ก็ได้เคยร่วมมือกับศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เพื่อนำเทคโนโลยี Business Analytics มาช่วยให้ทางศูนย์วิจัยสามารถวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ใช้ IoT หนุนอุตสาหกรรมไทย สร้างนวัตกรรมใหม่ในธุรกิจ
สำหรับกรณีของการใช้ IoT ในภาคธุรกิจไทยจาก IBM นี้ก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย โดยมีทั้งเรื่องราวของ KCE Electronics ที่เป็นผู้ผลิต PCB ไทยอันดับ 5 ของโลก ได้นำ IBM ILOG Optimization มาใช้วิเคราะห์และทำนายข้อมูลที่เกิดขึ้นในสายการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิด, จัดการค่าใช้จ่าย และลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในการผลิต ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้ 2-4% คิดเป็นเงินถึงหลายร้อยล้านบาทในแต่ละปี
ส่วนอีกกรณีนั้นเป็นของ ปตท. ที่ได้นำ IBM Watson IoT มาใช้งานร่วมกับระบบ Gas Turbine และเครื่องจักรภายในโรงงานแยกก๊าซ สำหรับรวบรวมข้อมูลการแจ้งเตือนจากเครื่องจักรเหล่านี้ที่มีทั้งจำนวนมากและมีความผิดพลาดสูง มาให้ระบบ AI ช่วยทำการวิเคราะห์และค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากข้อมูลที่มีในระบบ Data Lake ของตน
หนุนวงการ Cloud และ Startup ไทย ให้เติบโตเคียงคู่กันไป
หากจะพูดถึง Startup ไทยที่ประสบความสำเร็จนั้น ก็คงต้องนึกถึงชื่อของ Zanroo ผู้พัฒนาเครื่องมือทางการตลาดสำหรับติดตามข้อมูลแบรนด์จากช่องทางออนไลน์และ Social Media แบบ Real-time ที่ขยายสาขาไปทั่วโลก โดย Zanroo เองนั้นได้เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยอัตราการเติบโตกว่า 400% นั้นก็ได้ย้ายระบบของตนเองที่มี Virtual Machine กว่า 800 เครื่องขึ้นไปสู่บริการ IBM Cloud เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยสำหรับการจัดเก็บข้อมูล และพร้อมจะขยายไปยังตลาดระดับโลกในอนาคต
ส่วน TCCT นั้นเลือกใช้ IBM ในการออกแบบและบริหารจัดการ Data Center Infrastructure สำหรับศูนย์ข้อมูลที่ต้องการมุ่งเน้นให้ตอบโจทย์ด้านการเป็น Green Data Center ชั้นแนวหน้าของไทย ในขณะที่ CAT เองนั้นก็เลือกใช้ IBM ในการพัฒนาบริการ Cloud และการให้บริการ Cloud Managed Services อีกด้วยเช่นกัน
ผลักดันการศึกษาไทย สร้างบุคลากรด้าน IT และ Data อย่างต่อเนื่อง
เมื่อปีพ.ศ. 2547 ทาง IBM ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อเปิดตัวโครงการ Thai Grid Drug Design Portal สำหรับการคิดค้นสูตรยาใหม่ๆ อีกทั้งยังได้มอบเครื่อง IBM eServer xSeries สำหรับใช้ในการประมวลผลภายในโครงการดังกล่าว ทำให้นักวิจัยสามารถใช้ระบบนี้ในการประมวลผลสำหรับการสร้างสูตรยาใหม่ๆ และอาจช่วยให้เหล่านักวิจัยชาวไทยสร้างยาต้านไวรัสเอดส์ที่มีประสิทธิภาพได้อีกด้วย
ถัดมาในปีพ.ศ. 2549 ทาง IBM ก็ได้เปิดตัวโครงการ IBM Academic Initiative ในไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อสนับสนุนการศึกษาทางด้าน IT ในไทยด้วยการจัดวางระบบ IT Infrastructure และ Software สำหรับใช้ในการศึกษา โดยร่วมมือกับทางคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นแห่งแรก อีกทั้งในปีพ.ศ. 2557 ก็ได้มีความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือทีเอ็มเอ (TMA) เพื่อพัฒนาความรู้ด้าน Analytics ให้กับเหล่านิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็นทักษะที่จะมีความต้องการในตลาดที่สูงมากในอนาคต
ก้านกล้วย: ภาพยนตร์ 3D Animation เรื่องแรกของไทย IBM ก็มีส่วนในเบื้องหลัง
หากใครยังจำ “ก้านกล้วย” ภาพยนตร์ 3D Animation เรื่องแรกของไทยที่สร้างโดยกันตนาได้นั้น อันที่จริงแล้ว IBM ก็ได้เข้าไปมีส่วนในโครงการนี้ เนื่องจากทางกันตนานั้นเลือกใช้ระบบ IBM Scale-out File Services (SoFS) เพื่อให้ทีมงานสามารถทำการจัดเก็บและแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้ ทำให้การสร้างสรรค์ผลงาน 3D Animation เรื่องนี้สามารถส่งต่อไฟล์งานและทำงานร่วมกันได้อย่างคล่องตัวนั่นเอง
จากการทดลองเลซอร์แกะสลักกระดูกไก่ สู่การสร้างผ่าตัดเลสิค
เรื่องราวนี้ไม่ค่อยธรรมดาเท่าไหร่นัก แถมเป็นเรื่องเดียวที่ทีมงาน TechTalkThai หยิบมาเขียนโดยไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในไทยด้วย กับต้นกำเนิดของการผ่าตัดเลสิคที่เกิดขึ้นจากการทดลองใช้งานเลเซอร์ในการทำสิ่งต่างๆ ของทาง IBM นั่นเอง โดยทีมวิจัยของ IBM ได้นำเศษกระดูกไก่งวงที่เหลือจากงานเลี้ยงอาหารค่ำวันขอบคุณพระเจ้ามาทำการแกะสลักด้วย Excimer Laser ที่ 193 นาโนเมตร สร้างเป็นลวดลายต่างๆ และพบว่าผลลัพธ์นั้นมีความละเอียดประณีตสวยงาม อีกทั้งเศษเนื้อเยื่อหรือกระดูกอ่อนที่ติดอยู่รอบๆ นั้นก็ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด และเทคโนโลยีนี้เองก็ได้กลายเป็นต้นกำเนิดของการผ่าตัดเลสิค (LASIK) ที่เรามักได้ยินในการผ่าตัดปรับระดับสายตาในปัจจุบันนั่นเอง
ติดตามเรื่องราวทั้งหมดด้วยตัวเองที่เว็บไซต์ของ IBM ได้ทันที
ในเว็บไซต์ http://www.ibmthailand65.com นี้ยังมีเรื่องราวอื่นๆ เกี่ยวกับนวัตกรรมซึ่ง IBM สร้างสรรค์ขึ้นมาที่น่าสนใจอีกมากมาย ทางทีมงาน TechTalkThai ขอแนะนำให้ทุกท่านลองเข้าไปเยี่ยมชมดูซักครั้ง เผื่อเจอเคสที่น่าสนใจนะครับ