Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

Leadership Vision: AI for Business in the New Normal บทสัมภาษณ์คุณปฐมา จันทรักษ์ IBM Thailand

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ทั่วโลกนี้ AI จะเข้ามาช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้อย่างไร? และภาคธุรกิจจะคว้าโอกาสใหม่ๆ ด้วย AI ได้อย่างไรบ้าง? มาพบกับคำตอบของคำถามเหล่านี้ได้ในบทความ “Leadership Vision: AI for Business in the New Normal” บทสัมภาษณ์คุณปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย

ผู้ถูกสัมภาษณ์: คุณปฐมา จันทรักษ์

บริษัท: ไอบีเอ็ม ประเทศไทย

ตำแหน่ง: รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่

ประวัติโดยย่อ: คุณปฐมามีประสบการณ์กว่า 30 ปีในการทำงานร่วมกับลูกค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก เพื่อช่วยลูกค้าให้ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีก้าวล้ำอย่าง Cloud, AI, Blockchain และ Analytics เข้าขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จในยุค Digital Transformation คุณปฐมาเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ปัจจุบัน คุณปฐมาดำรงตำแหน่งรองประธานด้านการขยายธุรกิจ ในกลุ่มประเทศอินโดจีนและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย

ช่องทางการติดต่อ:

Q: ขอทราบข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับการลงทุนใน AI ทั้งก่อนและหลังสถานการณ์โควิด-19

โลกกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็วโดยมี AI เป็นปัจจัยผลักดันที่สำคัญ AI กำลังพลิกโฉมรูปแบบการทำงาน การดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าในทุกอุตสาหกรรม

รายงานประจำปี 2561 โดย McKinsey Global Institute ระบุว่า AI จะเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 16 หรือประมาณ 13 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานเฉลี่ยรายปีตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2573 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.2 และคาดว่าในอีก 18-24 เดือนข้างหน้า อัตราการนำ AI มาใช้ในธุรกิจต่างๆ อาจพุ่งขึ้นสูงถึงร้อยละ 80 หรืออาจสูงถึงร้อยละ 90

ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 คนทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจและตื่นเต้นกับ AI แต่ในโลกธุรกิจนั้น อัตราการนำ AI มาใช้จนถึงปี 2019 มีปริมาณลดลง แม้ผู้นำองค์กรส่วนใหญ่จะเชื่อว่า AI ช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ล่าสุดพบว่ามีการนำ AI มาใช้ในองค์กรไม่ถึงร้อยละ 20 แต่เมื่อเข้าสู่ปีนี้ ธุรกิจต่างๆ ไม่เพียงแต่ให้ความสนใจมากขึ้น แต่ยังมีการนำ AI มาใช้เพิ่มมากขึ้นด้วย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็น “จุดเปลี่ยน” ของหลายองค์กร โดยเป็นทั้งตัวขับเคลื่อนดิสรัปชันที่ทรงพลังและโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิด จึงถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่องค์กรต้องสร้างธุรกิจและเครือข่ายให้ยืดหยุ่นพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อพร้อมรับความท้าทายที่คาดไม่ถึงจากผลกระทบโควิด-19 และหันมาพัฒนาโซลูชันใหม่ รูปแบบการทำงานใหม่ และความร่วมมือรูปแบบใหม่ๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งองค์กรและลูกค้า ไม่เพียงเฉพาะสำหรับวันนี้ แต่ยังยาวไปถึงอีกหลายปีข้างหน้าด้วย

วิกฤตการณ์ที่เรากำลังเผชิญทำให้เห็นว่าองค์กรต่างๆ มีช่องโหว่อยู่หลายประการ และบริษัทหลายแห่งรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยการนำ AI และสถาปัตยกรรม IT แบบไฮบริดคลาวด์เข้ามาใช้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บริษัทมีความคล่องตัวและฟื้นตัว อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่บริษัทก่อนจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง 5G และ Edge Computing เข้ามาใช้ โดยไอบีเอ็มมองว่าบริษัททุกแห่งจะกลายเป็นองค์กรที่บริหารงานโดยใช้ AI ไม่ใช่เพราะว่าเป็นได้ แต่ต้องเป็น

Q: AI ช่วยให้สถานการณ์ในปัจจุบันดีขึ้นอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างได้หรือไม่

ตลอด 109 ปีที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนแก่ลูกค้าทั่วโลกให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์หลายๆ ครั้งไปได้ และสำหรับวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ ไอบีเอ็มก็ได้ยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่บริษัททั่วโลก ในการนำบุคลากรและขีดความสามารถในด้านต่างๆ เข้าให้บริการในทุกที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยที่ผ่านมา พนักงานไอบีเอ็มได้เข้าไปทำงานร่วมกับลูกค้า หน่วยงานภาครัฐ นักวิทยาศาสตร์ นักพัฒนา คู่ค้า สถาบันวิชาการ องค์กรด้านสุขภาพ และอื่นๆ อีกมากมายเพื่อทำสิ่งที่เราถนัดที่สุด นั่นก็คือ การนำข้อมูล ความรู้ พลังในการประมวลผล และข้อมูลเชิงลึกมาใช้แก้ปัญหาซับซ้อนเหล่านี้

ไอบีเอ็มอยู่เบื้องหลังระบบที่สำคัญที่สุดของโลกไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน โทรคมนาคม การเดินทาง การค้า การดูแลสุขภาพ หรือภาครัฐ และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบบ mission-critical เหล่านี้ก็ต้องเดินหน้าต่อไปได้แบบไม่มีสะดุด พร้อมที่จะช่วยองค์กรให้เร่งฟื้นตัวและรับมือกับความปกติใหม่

ในการรับมือกับโควิด-19 ไอบีเอ็มเน้นให้ความสำคัญกับ 3 ด้านได้แก่ เทคโนโลยีเพื่อการค้นคว้าวิจัย เทคโนโลยีที่ช่วยให้ทุกฝ่ายเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกที่เชื่อถือได้ และการช่วยให้องค์กรปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น

  • Watson Assistant for Citizens ซึ่งเป็น virtual agent ที่ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานด้านการดูแลสุขภาพ และสถาบันการศึกษา สามารถถ่ายทอดข้อมูลที่เชื่อถือได้ให้แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ จำนวนมากได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที โดยผนวกความสามารถของการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing หรือ NLP) จากศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม เข้ากับความสามารถขั้นสูงของ Watson Discovery ที่สามารถเข้าใจเจตนาและประเด็นคำถามของผู้ถาม และเลือกประเภทของคำตอบได้อย่างถูกต้องแม่นยำ อาทิ อาการของโรค การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ สถานที่ที่สามารถตรวจโรคโควิด-19 ได้ มาตรการสำหรับผู้ที่ต้องเดินทาง หรือข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกําหนดฉุกเฉิน เป็นต้นการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ช่วยให้องค์กรมองเห็นโอกาสที่จะใช้ AI ในการตอบคำถามทั่วๆ ไปจากคนจำนวนมาก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ contact center หันมาเน้นให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่จริงๆ ได้ โดยที่ผ่านมา Virtual AI Assistant สามารถตอบคำถามกว่าร้อยละ 80 ได้โดยอัตโนมัติ
    Watson Assistant for Citizens automates responses to frequently asked questions about COVID-19 on topics such as symptoms, testing and protective measures. (Credit: IBM)
  • การระดมขีดความสามารถในการประมวลผลกว่า 360 เพตะพล็อปส์ให้แก่นักวิจัย เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาแยกตามพื้นที่ผ่านทาง The Weather Channel รวมถึงใช้ AI ช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับโควิด-19 ผ่านแดชบอร์ดแบบอินเทอร์แอคทีฟ เพื่อให้ข้อมูลเคสที่ได้รับการยืนยันแล้ว ผู้ป่วยที่อาการดีขึ้น รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ด้วย โดยผู้ใช้สามารถดูข้อมูลแบบเจาะลึกลงไปในระดับประเทศ ภูมิภาค และเมือง
  • การสนับสนุนหน่วยงานวิจัยพัฒนา สถาบันทางการแพทย์ ตลอดจนโรงพยาบาลต่างๆ ที่กำลังพัฒนายาต้านไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โดยเปิดให้ใช้เครื่องมือ IBM Clinical Development (ICD) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมร่วมทำงานกับหน่วยงานเหล่านี้เพื่อเร่งการพัฒนาตัวยาสำหรับต้านไวรัส
  • การเปิดให้องค์กรไทยและผู้ที่ต้อง work from home เข้าใช้เครื่องมือต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อาทิ เทคโนโลยีรับส่งไฟล์ขนาดใหญ่ระดับ GB ที่แม้แต่เน็ตมือถือก็ไม่มีสะดุด เทคโนโลยีวิดีโอสตรีมมิงที่ใช้ความสามารถ text-to-speech และ image recognition ของ AI เข้ามาช่วย เทคโนโลยี MaaS360 ที่ช่วยให้องค์กรสามารถควบคุมและจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่เชื่อมต่อเข้ามาในเครือข่ายขององค์กร ป้องกันความเสี่ยงด้านซิเคียวริตี้ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น

Q: ในการนำ AI มาใช้นั้น ธุรกิจควรเริ่มตรงไหนและควรเริ่มอย่างไร

ในประเทศไทยรวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปสู่ระบบดิจิทัลเป็นสิ่งที่ธุรกิจทุกภาคส่วนต่างก็พูดถึงมาได้สักพักหนึ่งแล้ว แต่ขณะนี้โลกได้เปลี่ยนไปมากกว่าที่เราเคยคาดไว้ สถานการณ์ดังกล่าวได้พลิกโฉมรูปแบบวิธีการดำเนินธุรกิจและประเภทธุรกิจที่เราจะทำ มีบริษัทบางแห่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเช่น AI มาใช้ในช่วงก่อนการระบาดใหญ่ แต่บางแห่งไม่แน่ใจว่าควรใช้เทคโนโลยีดังกล่าวดีหรือไม่ ถ้ามองว่าการหันมาใช้ระบบดิจิทัลเป็นขั้นตอนหลักของการพลิกโฉมธุรกิจ ก็จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นทีละนิดเหมือนแต่ก่อน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบข้ามขั้นจนกลายเป็นความปกติในรูปแบบใหม่ ช่วงเวลานี้จึงสำคัญที่สุดและเหมาะกับการที่ธุรกิจต่างๆ จะเริ่มใช้ระบบดิจิทัลหรือแม้แต่ทำให้ระบบดิจิทัลกลายเป็นองค์ประกอบหลักขององค์กรต่อไป

ในงาน THINK 2020 คุณอาร์วินด์ กฤษณะ ซีอีโอของไอบีเอ็มได้กล่าวว่า “ไฮบริดคลาวด์และ AI จะเป็นพลังหลักที่ขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน”

ปัจจุบันไอบีเอ็มเป็นเวนเดอร์รายเดียวที่มีแพลตฟอร์มข้อมูลที่ช่วยให้องค์กรต่างๆ บริหารจัดการ AI ได้ ไม่ว่าข้อมูลขององค์กรจะได้รับการจัดเก็บไว้บน public cloud, private cloud, on premise หรือบนระบบ multicloud แบบไฮบริด

แม้บริษัทส่วนใหญ่จะมองว่า AI เป็นเรื่องของกลยุทธ์ แต่การนำมาใช้จริงนั้นพบเห็นได้น้อย หลักๆ แล้วเป็นเพราะการขาดทักษะและบุคลากรด้าน AI และ data science รวมถึงข้อมูลที่มีความซับซ้อนมากขึ้นและมีปริมาณมากแต่มีเพียงคนกลุ่มเดียวที่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลในเรื่องขีดความสามารถของ AI เช่น สงสัยว่าการตัดสินใจของ AI จะเชื่อถือได้หรือไม่ มีความเอนเอียงหรือไม่ มีเหตุผลรองรับหรือไม่ และมีความปลอดภัยหรือไม่ เป็นต้น

Q: ขอคำแนะนำว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ธุรกิจควรลงทุนใน AI อย่างไร

โควิด-19 ได้พลิกรูปแบบการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนหลายร้อยล้านทั่วโลก ทั้งยังผลักดันให้องค์กรทุกขนาดต้องบริหารจัดการเทคโนโลยีเพื่อให้พนักงานสามารถทำงานแบบ remote ได้ การที่พนักงานทำงานนอกสถานที่มากขึ้นทำให้ IT infrastructure ทวีความสำคัญขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ผู้บริหารด้านไอทีจะพยายามตามให้ทันนวัตกรรมดิจิทัลในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ความท้าทายใหม่ๆ ที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดอย่างเช่นการเพิ่มปริมาณของข้อมูล การบริหารจัดการ multicloud การเพิ่มขีดความสามารถด้าน resiliency ให้กับองค์กร อาชญากรไซเบอร์ที่พัฒนาเทคนิคซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ หรือการที่ต้องทำหน้าที่ช่วยองค์กรของตนให้ฟื้นตัวและเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นทั่วโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ ไอบีเอ็มได้เปิดตัว IBM Watson AIOps ซึ่งเป็นเครื่องมือและบริการที่นำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยบริหารจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีให้ยืดหยุ่นและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงช่วยองค์กรลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง ช่วยให้องค์กรสามารถตรวจจับเหตุผิดปกติของระบบไอทีได้อัตโนมัติ พร้อมวิเคราะห์และทำการตอบสนองต่อปัญหาแบบเรียลไทม์ ช่วยองค์กรหลีกเลี่ยงเหตุขัดข้องทางไอทีที่ไม่คาดคิดที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งในแง่รายได้และชื่อเสียง

Q: AI มีบทบาทอย่างไรต่อการเดินหน้าของธุรกิจ

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าฝ่าวิกฤติโรคโควิด-19 พร้อมผลักดันเรื่อง digital economy การนำ AI เข้ามาใช้จะเป็นเครื่องมือช่วยให้องค์กรได้รับประโยชน์สูงสุดจากข้อมูลมหาศาล ขณะเดียวกันก็ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิต รวมถึงสนับสนุนการตัดสินใจทางธุรกิจ

ที่ผ่านมาได้มีองค์กรไทยหลายแห่งที่เริ่มนำ AI เข้ามาใช้ อาทิ ในด้านการเกษตร ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับไอบีเอ็มและกลุ่มมิตรผล ในการนำร่องพัฒนาแดชบอร์ดอัจฉริยะและแอพพลิเคชันบนมือถือ เพื่อช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญและชาวไร่ได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพของอ้อย ความชื้นของดิน ความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีจากโรคและศัตรูพืช การคาดการณ์ผลผลิต และดัชนีค่าคุณภาพความหวานของอ้อย (ซีซีเอส) โดยอาศัยเทคโนโลยี AI, IoTและข้อมูลสภาพอากาศที่มีความแม่นยำสูง ร่วมกับข้อมูลความสัมพันธ์เชิงเวลาและพื้นที่ (เช่น ภาพถ่ายพืชผลจากกล้องหลายช่วงคลื่นที่เก็บภาพมาจากดาวเทียมหลายตัว ข้อมูลดิน ข้อมูลแบบจำลองความสูงของภูมิประเทศในรูปแบบดิจิทัล) ร่วมกับข้อมูลทางการเกษตร (เช่น สุขภาพของอ้อย ระดับความชื้นของดิน พยากรณ์ความเสี่ยงโรคและศัตรูพืช ปริมาณผลผลิต และดัชนีค่าคุณภาพความหวานของอ้อย)

ด้านการผลิต ที่ต่างประเทศได้นำระบบ predictive maintenance เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลจากเซ็นเซอร์จำนวนมากที่ติดตั้งอยู่ที่อุปกรณ์สำคัญๆ ในโรงแยกก๊าซทั้ง 6 แห่ง เช่น อุปกรณ์ gas turbine ที่มีความสำคัญต่อกระบวนการผลิตสูง เพื่อคาดการณ์โอกาสเสียหายหรือซ่อมบำรุงมากล่วงหน้า 3 เดือน ซึ่งทำให้ทางปตท. สามารถลดค่าเสียหายอันเกิดจากอุปกรณ์ชำรุดได้หลายร้อยล้านบาท

ในด้านการแพทย์ ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการไซเบอร์ซิเคียวริตี้ (SOC) เพื่อปกป้องข้อมูลผู้ป่วย 1.1 ล้านราย โดยการนำเทคโนโลยีตรวจจับภัยคุกคามอัจฉริยะระดับโลก ช่วยสอดส่องและตรวจจับภัยคุกคามทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งเตือนให้ทีมซิเคียวริตี้ของโรงพยาบาลสามารถจัดการและตอบสนองต่อเหตุต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ลดผลกระทบที่จะเกิดต่อการปฏิบัติงานในส่วนต่างๆ ลง รวมถึงการจำลองเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้โรงพยาบาลสามารถเตรียมพร้อม ตอบสนอง และกู้ระบบ ในกรณีที่มีเหตุด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้เกิดขึ้น

IBM Cyber Security X-Force Command Center Cambridge, MA (John Mottern/Feature Photo Service for IBM)

หรือ INET ที่นำเทคโนโลยี IBM Visual Insights ซึ่งเป็นการใช้ AI ในการวิเคราะห์ภาพนิ่งและไฟล์วิดีโอ มาใช้ในการแปลผลภาพเอ็กซเรย์ เพื่อช่วยรังสีแพทย์ในการตรวจหาวัณโรคจากภาพเอ็กซเรย์ทรวงอก ช่วยให้ผู้ป่วยนับพันรายในโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ขาดแคลนรังสีแพทย์และต้องส่งภาพเอ็กซเรย์ไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่าเพื่อแปลผลภาพเอ็กซเรย์ จนเป็นเหตุให้ต้องรอผลการวินิจฉัยนานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนกว่าจะได้รับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที ปัจุบัน­มีการใช้งานแล้วในโรงพยาบาล 75 แห่งทั่วประเทศ

Q: ผู้บริหารและทีมงานฝ่ายไอทีควรมีทักษะใดบ้างจึงจะใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ในบริษัทที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่หรือไม่ได้เน้นการให้ความสำคัญกับข้อมูล การเลือกโครงการที่จะดำเนินการทั่วทั้งองค์กรมักจะพบปัญหาการขาดแคลนทักษะและบุคลากรด้าน AI เมื่อถึงจุดหนึ่ง ทุกธุรกิจที่พยายามจะนำ AI เข้ามาใช้จะเริ่มถกเถียงกันว่าควร “สร้างหรือซื้อ”
ประเด็นนี้มักเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับบริษัทที่เห็นประโยชน์ของการนำ AI และแมชชีนเลิร์นนิ่งมาใช้ แต่ไม่ทราบว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างไร ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราพบว่าจำนวนองค์กรที่ขาดแคลนทักษะด้าน AI นั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่การตระหนักถึง AI และความคาดหวังต่อเทคโนโลยีดังกล่าวก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

การวิจัยของไอบีเอ็มระบุว่า องค์กรร้อยละ 37 มีความเชี่ยวชาญหรือความรู้ด้าน AI ในปริมาณจำกัด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการนำ AI มาใช้ในธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เนื่องจาก AI ถือว่าเป็นความรู้ที่ค่อนข้างใหม่ การจะดึงดูดให้พนักงานที่สามารถใช้ AI ผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจให้เข้ามาทำงานในองค์กร รวมถึงทำให้พนักงานดังกล่าวอยู่กับองค์กรไปนานๆ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย ธุรกิจต้องทราบว่าตนกำลังจะจ้างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลประเภทใด และจะประเมินชุดทักษะที่ต้องการได้อย่างไร

บริษัทที่มีทีมวิเคราะห์ข้อมูลหลายทีมอยู่ตามหน่วยธุรกิจต่างๆ มักจะพบว่าทีมเหล่านี้มีความแตกต่างกันมากในเรื่องของขนาด ความสามารถ และทักษะ บางทีมต้องการนำ AI มาใช้ บางทีมไม่ต้องการ มักมีเพียงไม่กี่ทีมที่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านแมชชีนเลิร์นนิ่ง และความต้องการทักษะด้านแมชชีนเลิร์นนิ่งก็เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วทั้งองค์กร ถ้าเป็นองค์กรที่ “เป็นเจ้าของ AI” งานของผู้บริหารดังกล่าวคือ (1) ช่วยให้ทีมงานเหล่านี้ทำงานร่วมกัน เรียนรู้จากกันและกัน และแชร์ความรู้ให้กันได้ และ (2) เพิ่มทักษะด้าน AI ให้ผู้ที่มีความสามารถ ในบางครั้งอาจต้องจ้างหรือเฟ้นหา แต่บางครั้งก็ต้องใช้วิธีจัดหานวัตกรรมมาจากภายนอกองค์กร ในสภาพแวดล้อมที่องค์กรขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้าน AI บริษัทหลายแห่งจะใช้วิธีจัดหานวัตกรรมมาจากที่อื่นๆ เช่น ห้องทดลองของมหาวิทยาลัย โอเพ่นซอร์สคอมมูนิตี้ งาน Hackathn ต่างๆ รวมถึงแหล่งเพาะธุรกิจและเร่งการเติบโตของธุรกิจ

IBM AI Skills Academy เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เปิดให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ และคอยให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรที่ต้องการนำ AI มาใช้ ทั้งในแง่ขั้นตอนในการระบุถึงโอกาสจากการใช้ AI การจัดลำดับความสำคัญของโครงการ AI ที่จะทำโดยพิจารณาจากคุณค่าทางธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับ หลักสูตรการเรียนรู้ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อลดช่องว่างในทักษะด้าน AI เป็นต้น

ในประเทศไทย ไอบีเอ็ม เอไอเอส ไมเนอร์ และกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกันเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้าน IT และ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) พร้อมเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านวิชาการ และเปิดโอกาสให้นักเรียน-นักศึกษาได้สัมผัสกับ ‘ตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็นต้องมีปริญญา’ (new collar) ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและการบริการ ในรูปแบบโปรแกรมการเรียน 5 ปี และเน้นการศึกษาในสายอาชีวศึกษา โดยนักศึกษาที่จบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรขั้นสูงตามสาขาที่เรียน นักเรียนที่ร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนจากไอบีเอ็มและพันธมิตรภาคธุรกิจที่เข้าร่วม ทั้งในแง่การแนะแนวจากผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีและด้านธุรกิจจากอุตสาหกรรมต่างๆ การเปิดโอกาสให้นักศึกษาเยี่ยมชมสถานที่ทำงานจริง และการรับนักศึกษาเข้าฝึกงานโดยได้รับค่าตอบแทน โดยนักเรียนที่ร่วมโครงการจะได้เรียนหลักสูตรต่างๆ ที่ครอบคลุมถึงทักษะที่จะเป็นที่ต้องการในศตวรรษที่ 21 อาทิ วิทยาศาสตร์ข้อมูล อนาไลติกส์ ดีไซน์ธิงค์กิง อไจล์ การสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น ภาวะผู้นำ เป็นต้น

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

Google Cloud เผยผลการทดลองสู่การนำ Gen AI ไปใช้งานจริงในปีนี้ [PR]

การก้าวตามเทคโนโลยีใหม่อย่าง Generative AI ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่ากลัว ไม่มีใครรู้เลยว่าบริษัทที่ใช้แนวทาง “รอดูไปก่อน” จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในขณะที่ระบบดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นของโควิด-19 และตอนนี้เราก็กำลังอยู่ในอีกหนึ่งช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญอีกครั้งของการปรับตัวกับการเข้ามาถึงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี Generative AI

ผสาน Automation และ Intelligence เข้าไปยังความสามารถของงานด้านการผลิต โดย Infor

การนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้งานในธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และแต่ละอุตสาหกรรมก็มีความท้าทายเฉพาะตัวที่ต้องเผชิญหน้า ในอุตสาหกรรมการผลิตเองก็เช่นกันที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความต้องการของลูกค้า Supply Chain และอื่นๆ