เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมาทางทีมงาน TechTalkThai ได้รับเกียรติจากบริษัท Huawei เชิญไปร่วมงาน Huawei Asia Pacific ISP Summit 2018 โดยงานจัดขึ้นที่ ฮ่องกง ซึ่งนำเสนอโซลูชันตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่ม ISP และถือเป็นธุรกิจหลักของ Huawei ในด้านของเทคโนโลยีสารสนเทศเลยทีเดียว โดยภายในงานมีการบรรยายช่วงภาพรวมของการตลาดในปีที่ผ่านมาโดย คุณ ฉิว เล่ย รองประธานบริหาร ฝ่ายการตลาดและการขายโซลูชั่น กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ และในด้านวิสัยทัศน์ที่บริษัทมุ่งไป เช่น Compute, Storage, Network และการตอบโจทย์ด้าน Data Center Interconnect (DCI) ได้รับเกียรติจากคุณ หวิ่ง คิน เหลิง CTO ฝ่ายการตลาดและการขายโซลูชั่นมาเป็นผู้บรรยาย พร้อมกันนี้เรายังได้มีโอกาสสัมภาษณ์สั้นๆ กับ คุณ สันติ เมธาวิกุล กรรมการผู้จัดการจากบริษัท UIH ประเทศไทยซึ่งมาในฐานะของคู่ค้ารายใหญ่กับโซลูชันของ Huawei ด้วยครับ

ในช่วงแรกที่ได้รับเกียรติจาก คุณ ฉิว เล่ย มาบรรยายนั้นได้พูดถึงภาพรวมของการดำเนินงานว่า “ในปี 2017 ที่ผ่านมา เราเน้นการทำงานเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าของเราดังเช่นเคย ยอดขายของเราสูงถึง 92.6 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าปีก่อนหน้าถึง 15.7% โดยรายได้ของกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์เราคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของรายได้ทั้งหมด สูงขึ้นจากปี 2016 ถึง 35% โดยยอดขายของกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ 20% ก็มาจากอุตสาหกรรม ISP ในประเทศต่างๆ (ยกเว้นจีน) และมีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเป็นตัวนำ ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ให้การสนับสนุนเรามา ณ ที่นี้ด้วย”
โดยนอกจากนี้ยังได้ให้ความสำคัญถึงทีมพัฒนาหลังบ้านของ Huawei ว่า “R&D ของเรา ซึ่งมีพนักงานทำงานในด้านนี้ราว 80,000 คน ซึ่งคิดเป็น 45% ของพนักงานหัวเว่ยทั้งหมด ในปี 2017 ค่าใช้จ่ายทางด้าน R&D ของเรารวมสูงถึง 90,000 ล้านหยวน หรือราว 15% ของรายได้ทั้งหมด และเราได้ใช้เงินลงทุนกว่า 400,000 ล้านหยวนในการวิจัยและพัฒนาตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยรวมจำนวนสิทธิบัตรที่หัวเว่ยได้รับทั้งสิ้น 74,307 ฉบับ ”

คุณ หวิ่ง คิน เหลิง ได้บรรยายถึงวิสัยทัศน์ของ Huawei ในด้านต่างๆ ดังนี้
ด้านการประมวลผล (Compute) – Huawei ได้มุ่งเน้ตอบโจทย์เพื่อรองรับการ Scale-out และ Scale-up ทั้งนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของ Hyper Converged Infrastructure (HCI) ด้วย แต่จุดเด่นที่ผู้บรรยายเน้นย้ำคือคอนเซปต์ของ Heterogeneous Computing หรือ การออกแบบการประมวลผลให้เหมาะสมกับการทำงานในแต่ละงาน เช่น มีการช่วยเหลือ Alibaba CDN ให้รองรับกับการทำงานอย่างรวดเร็วด้วยการนำ FPGA เข้าไปใช้ หรือการเพิ่มชิปประมวลผลอย่าง ARM GPU หรืออื่นๆ เพื่อใช้งานด้านบริการเกม IoT หรือ การประมวลผลกับฐานข้อมูลหนักๆ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เองตอนนี้ทาง Huawei ได้ใช้งานสิ่งที่เรียกว่า Distribute Heterogeneous กับลูกค้าเรียบร้อยแล้วโดยที่ไม่ส่งผลกระทบกับวิธีการทำงานของลูกค้าแต่ได้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น โดยบริษัทเชื่อว่าในอนาคตต่อจากนี้นี่คือหัวใจสำคัญต่อเทคโนโลยีด้านการประมวลผล
การเก็บข้อมูล (Storage) – ทาง Huawei เชื่อว่าปัจจัยสำคัญของการประมวลผลมี 3 ด้าน คือ Low-Latency นี่คือสิ่งที่บริษัทจะต้องดำเนินต่อไปเหมือนอย่างที่ทำในทุกวันนี้ ในเรื่องสำคัญอีกเรื่องคือต้องรองรับการ Scale-out เนื่องจากแนวโน้มการใช้งานข้อมูลมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเรื่องสุดท้ายคือ Software Define ที่จะเข้ามาช่วยให้ขั้นตอนการทำงานนั้นง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามทาง Huawei มีประสบการณ์ว่างานแต่ละงานมีความต้องการไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงมีโซลูชันให้ลูกค้าเลือกได้ตามความต้องการของตัวเองอย่างเช่น All Flash Storage ที่ตอบสนองเรื่องของความเร็ว หรือ Fusion Storage และ OceanStor ( สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ Huawei Storage )
เครือข่าย (Networking) – ตรงนี้ทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าในส่วนของ Switching & Routing ของ Huawei นั้นแข็งแรงทีเดียวแต่ในส่วนที่จะมาเสริมธุรกิจตลาด Data Center ซึ่งผู้บรรยายกล่าวถึงคือเทคโนโลยี SDN ของ Huawei ที่จะเข้ามาช่วยให้การทำงานเป็นไปได้รวดเร็วมากขึ้นนั่นเอง
คลาวด์ (Cloud) – Huawei เองเป็นหนึ่งในผู้ที่นำตัว Openstack มาพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ของตนเองที่ชื่อว่า Fusion ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ให้บริการที่ดูแลจัดการ Cloud ให้ลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยรองรับการทำงานกับ Hybrid Cloud ซึ่งในส่วนของ Public Cloud สามารถรองรับการจัดการทรัพยากรบน AWS หรือ Azure Stack ได้อีกด้วย
การเชื่อมต่อ Data Center หรือ Data Center Interconnect (DCI) – Huawei ก็มุ่งเน้นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการส่งข้อมูลระดับ Backbone ให้ได้ถึง 2 TB ได้ในเร็ววัน ปัจจุบันในกลุ่มใช้งานจริงมีไปถึง 400 Gb แล้วและคาดว่าในปีหน้าน่าจะไปได้ถึง 600 Gb รวมถึงในระดับ IP Routing การส่งข้อมูลในระดับ 50 Gb จะมีต้นทุนต่ำลงจนกระทั่งสามารถนำมาใช้งานจริงได้อย่างแพร่หลาย จะเห็นได้ว่าเรามีทางเลือกในการส่งข้อมูลได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีอย่าง SD-WAN ที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์การบริหารจัดการระหว่างสาขากับองค์กร

ในส่วนการสัมภาษณ์คุณ สันติ เมธาวิกุล นั้นได้เล่าให้เราฟังคร่าวๆ ว่าธุรกิจของ UIH นั้นเป็นทั้งผู้ให้บริการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริหารคลาวน์ และส่วนของพื้นที่ Datacenter โดยทาง UIH เองได้มีส่วนร่วมกับทาง Huawei มาเนิ่นนานแล้วกับเทคโนโลยี DWDM (Dense Wavelenght Division Multiplexing) ซึ่งช่วยให้การส่งข้อมูลของสายระยะทางไกลระดับหลายร้อยกิโลเมตรยังรักษาความเร็วในการส่งได้ดี นอกจากนี้ยังมีการใช้งาน Server และ Storage ของทาง Huawei อีกด้วย อย่างไรก็ตามทางโซลูชันล่าสุดที่ได้ทำงานร่วมกับ Huawei คือตัว Cloud Campus ที่เปิดตัวในงานนี้ซึ่ง UIH นำมาใช้ในการบริหารจัดการอุปกรณ์ Wi-Fi ให้ลูกค้าทำให้สามารถบริหารจัดการผ่าน Cloud ซึ่งค่อนข้างยืดหยุ่นและสะดวกสบาย