วันนี้เราได้สรุปบทความที่สะท้อนถึงมุมมองในด้านความมั่นคงปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ของคนยุค Millenials หรือที่เรียกว่า Gen Y (กลุ่มคนที่เกิดในปี 1980-1990) เพื่อองค์กรต่างๆ จะได้เข้าใจว่ากลุ่มคนเหล่านี้คิดเหมือนหรือคิดต่างอย่างไรและอะไรเป็นเหตุผลเบื้องหลังความคิดเหล่านั้นมาให้ได้ติดตามกัน
การรับรู้ของ Gen Y ต่อความมั่นคงปลอดภัยบนโลกไซเบอร์
คน Gen Y จะค่อนข้างมีอุดมการณ์และมีข้อจำกัดไม่มากเมื่อเทียบกับคนรุ่นอื่น คนกลุ่มนี้โตมากับยุคที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายและอุปกรณ์ดิจิทัลมากมาย สิ่งนี้เป็นแรงผลักดันทำให้เกิดการตระหนักรู้พร้อมๆ กับการเพิกเฉยต่อบางสิ่งในด้านความมั่นคงปลอดภัย
จากผลสำรวจพบว่าคน Gen Y เชื่อถือในสถาบันที่ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของตนมากกว่าคนรุ่นอื่น เช่น ธนาคาร บริษัทประกันภัย บริษัทบัตรเครดิต บริษัทโทรศัพท์ ผู้ให้บริการอีเมล เป็นต้น โดยผลสำรวจพบว่า 67% ของ Gen Y เชื่อถือธนาคารในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเมื่อเทียบกับ Gen อื่นที่มีเพียง 56% เท่านั้น อย่างไรก็ตามความเชื่อนี้ไม่ได้เป็นความเชื่ออย่างไร้เหตุผล ซึ่งผลสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกาฯ และอังกฤษพบว่า 70% ของ Gen Y เชื่อว่าความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์จะถูกแทรกแซงได้ในไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้นพวกเขาจึงเข้าใจถึงความเสี่ยงบนโลกออนไลน์และช่องโหว่ที่เกิดขึ้นแต่มีความเชื่อมากพอว่ามันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น
ในมุมมองที่คน Gen Y ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักคือเรื่องของความเป็นส่วนตัว ซึ่งมีสาเหตุมาจากที่คนเหล่านี้เติบโตมากับยุคของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและ Social Media ดังนั้นจึงรู้สึกคุ้นเคยและไม่ได้ตระหนักถึงหายนะของผลการกระทำที่เกิดขึ้นนี้ และจากข่าวเหตุการณ์รอยรั่วด้านความมั่นคงปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับรากฐานความเป็นส่วนตัวมากนัก คน Gen Y จึงเข้าใจดีว่าต่อให้มีระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยดีแค่ไหนก็มีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดได้แต่มันก็ไม่ใช่วันสิ้นโลก
ผลกระทบในสถานที่ทำงาน
- คน Gen Y มีแนวโน้มที่จะเชื่อถือบริษัทออนไลน์มากกว่าคน Gen อื่น เช่น การใช้งานลายเซ็นดิจิทัลหรือการเก็บข้อมูลธุรกิจไว้บน Cloud แต่ก็ตระหนักดีถึงช่องโหว่ที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านั้น ดังนั้นจึงวางใจให้ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาทำการตรวจสอบแทน
- กลุ่มคน Baby Boomers จะกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์จึงมีแนวโน้ม เช่น เลือกเก็บข้อมูลงานไว้บนคอมพิวเตอร์ส่วนตัวมากกว่า หรือ หลีกเลี่ยงการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันฟรีมาลงบนอุปกรณ์ที่ใช้ทำงาน ในทางกลับกันกลุ่มคน Gen Y จะใส่ใจกับช่องโหว่เฉพาะด้านและแก้สาเหตุของปัญหามากกว่ากลัวไปก่อนแล้วจำกัดการใช้งานออนไลน์ เช่น ปัญหาช่องโหว่ของโปรแกรม หรือ อีเมลหลอกลวงที่อ้างว่าเป็นเพื่อนร่วมงาน
- Baby Boomers จะมองปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภาพกว้าง เช่น ความล้มเหลวของบริษัทหากเกิดเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหล แต่คน Gen Y จะใส่ใจข้อมูลส่วนตัวมากกว่า เช่น มีการแชร์ข้อมูลอย่างรอบคอบ เปลี่ยนรหัสสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการแชร์ข้อมูลกับแหล่งที่มาอันไม่น่าไว้ใจ
สุดท้ายนี้ไม่มีปรัชญาไหนถูกต้องกับความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์และความมั่นคงปลอดภัยส่วนบุคคลไปเสียหมด หากแต่คุณเข้าใจธรรมชาติเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยและเตรียมตัวให้พร้อม คุณจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเองและมีความเป็นมืออาชีพแล้วทุกอย่างจะดีเอง