การยอมรับและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และค่านิยมทางวัฒนธรรม
เทคโนโลยีดิจิทัลมีวิวัฒนาการที่รวดเร็ว ทำให้เกิดการบริการและการใช้งานรูปแบบใหม่ ที่พลิกโฉมการทำงาน วิถีชีวิต การพักผ่อน และการสื่อสารของผู้คน นอกเหนือจากการใช้งานพื้นฐานอย่างการเข้าชมเว็บไซต์ ซึ่งปฏิวัติรูปแบบการเข้าถึงและแบ่งปันข้อมูลของผู้คนในช่วง ค.ศ. 1990 แล้ว ยุคดิจิทัลเกิดใหม่ยังรวมถึงการเชื่อมต่อของอุปกรณ์หลากหลายประเภทบนเครือข่ายอัจฉริยะ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างราบรื่นผ่านบริการที่หลากหลาย โดยการยอมรับและใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในสังคมวงกว้างนี้เอง เป็นพลังที่ขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจ สังคม และค่านิยมทางวัฒนธรรม ซึ่งสามารถวัดผลได้ เช่น การเพิ่มความสามารถในการผลิต การเพิ่มอัตราจ้างงาน และการยกระดับความปลอดภัย รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการจัดการปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตส่วนบุคคลที่เสถียรและมีราคาที่เหมาะสม เป็นรากฐานสำคัญของการสร้างสังคมดิจิทัล เมื่อรัฐบาลและธุรกิจก้าวสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น ประชาชนที่เข้าถึงระบบดิจิทัลจะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันช่องว่างทางสังคมมีความเด่นชัดขึ้น ระหว่างประโยชน์ที่ผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้รับ กับผลเสียจากการไม่สามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสวนทางกับประชากรจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้
นอกเหนือจากการเชื่อมต่อแล้ว ผู้กำหนดนโยบายต้องพัฒนาองค์ประกอบอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลในประเทศของตนด้วย โดยจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องพัฒนาก่อนหลังเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบดิจิทัลให้เป็นรูปธรรมและวัดผลได้ โดยจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้บริหารในภาครัฐ และต้องสร้างกรอบข้อบังคับที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ซึ่งกำลังต้องการเครือข่ายเชื่อมต่อมากขึ้น และสามารถใช้งานได้แบบหลอมรวม หรือ convergence
เอเชียสะท้อนภูมิศาสตร์ของสังคมดิจิทัลที่หลากหลาย ทั้งเกิดใหม่ เปลี่ยนผ่าน และก้าวล้ำ
ระดับการพัฒนาด้านดิจิทัลในแต่ละประเทศ เป็นตัวกำหนดว่าประเทศนั้น ๆ ควรจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาอะไรก่อน โดยเราได้กำหนดประเภทของสังคมดิจิทัลไว้กว้าง ๆ 3 ประเภท คือ เกิดใหม่ เปลี่ยนผ่าน และขั้นสูง สังคมดิจิทัลเกิดใหม่ส่วนใหญ่แล้วจะพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ และสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม สังคมดิจิทัลในช่วงเปลี่ยนผ่านจะให้ความสำคัญกับการบริการตามความต้องการส่วนบุคคล เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและสถาบัน ขณะที่สังคมดิจิทัลขั้นสูงจะให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการเชื่อมต่อและทำงานร่วมกัน รวมถึงการบริการระหว่างภาคส่วน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและประสิทธิภาพ
ประเทศในเอเชียมีสังคมดิจิทัลอยู่ทั้ง 3 ประเภท สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของภูมิศาสตร์ดิจิทัลในภูมิภาคนี้ ดังนั้นการพัฒนาไปสู่สังคมดิจิทัลซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดจึงไม่มีเส้นทางเดียว แต่ต้องเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบูรณาการ และการเชื่อมต่อกระบวนการและบริการต่าง ๆ เพื่อสร้างแนวทางใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ โครงสร้างหลักของการบริหารจัดการและการกำหนดข้อบังคับในแต่ละประเทศ จำเป็นต้องมีความชัดเจนเพื่อให้การพัฒนามีประสิทธิภาพ ซึ่งครอบคลุมถึงการคุ้มครองผู้บริโภค การแข่งขันในตลาด การปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัว ระบบความปลอดภัยของเครือข่าย การจัดเก็บภาษี และการบริการอย่างทั่วถึง รวมทั้งการเข้าถึงได้ง่าย
ขั้นตอนที่จำเป็นต่อการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าดิจิทัล
จากการวิเคราะห์สถานะการพัฒนาสังคมดิจิทัลและแผนงานใน 7 ประเทศทั่วเอเชีย ได้แก่ ออสเตรเลีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ปากีสถาน สิงคโปร์ และไทย แสดงให้เห็นว่าขั้นตอนสำคัญที่จำเป็นต่อการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าดิจิทัล คือ
- สังคมดิจิทัลเกิดใหม่ อย่างบังกลาเทศและปากีสถาน จำเป็นต้องวางแผนงานแบบองค์รวมก่อน เพื่อสร้างองค์ประกอบพื้นฐานที่จะทำให้สามารถดำเนินงานและทำธุรกรรมดิจิทัลที่มีระดับสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ยังต้องกำกับดูแลเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ที่สร้างสรรค์
- สังคมดิจิทัลช่วงเปลี่ยนผ่าน อย่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย จำเป็นต้องพัฒนาจากการเชื่อมต่อปกติ ไปสู่การเชื่อมต่อระดับสูง ( hyper-connectivity ) โดยมุ่งเน้นที่ความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่าย โดยไม่แบ่งแยกภาคส่วน และดำเนินงานอย่างเล็งการณ์ไกลถึงอนาคต โดยเครือข่ายดังกล่าวต้องสามารถรองรับบริการทุกรูปแบบได้
- สังคมดิจิทัลก้าวหน้า อย่างออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ควรให้ความสำคัญกับการยกระดับประสบการณ์ของประชาชนเมื่อใช้งานบริการสาธารณะ และที่สำคัญคือควรก้าวขึ้นมามีบทบาทผู้นำระดับภูมิภาค ในด้านแบบอย่างการกำหนดมาตรฐาน และแบ่งปันแนวทางปฏิบัติให้แก่ประเทศอื่น ๆ ( โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญอย่าง อินเตอร์เน็ตออฟธิงค์ หรือ IoT ) เพื่อสร้างสังคมดิจิทัลในเอเชียอย่างแท้จริง
หน่วยงานระดับภูมิภาคเตรียมมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการหลอมรวมและสร้างความร่วมมือ
หน่วยงานภาครัฐและเศรษฐกิจอาจมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของทั้งภูมิภาค ทั้งในด้านการกำหนดและสนับสนุนวาระการพัฒนาดิจิทัลระดับประเทศที่มองไกลถึงอนาคต รวมถึงการพัฒนาและสนับสนุนแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งข้ามชายแดน และมิติระหว่างประเทศ
ถึงแม้ในอดีต บางหน่วยงาน เช่น กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปก และอาเซียน ได้เคยใช้กฎหมายที่ยังไม่ตายตัว ( soft law ) สร้างฉันทามติเพื่อบรรเทาความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างชาติสมาชิก แต่ปัจจุบันถึงเวลาแล้วที่แนวทางเชิงรุกจะมีบทบาทมากขึ้น ในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและประสานกรอบการทำงานระดับภูมิภาค รวมทั้งจัดระเบียบสังคมดิจิทัลระดับประเทศให้สอดคล้องกันในบางประเด็น อาทิ ความเป็นส่วนตัว การทำธุรกรรม เกณฑ์ขั้นต่ำในการผ่อนปรน ( de minimis ) คลื่นความถี่ และอัตราค่าบริการข้ามแดน ทั้งนี้ แม้หน่วยงานเหล่านี้จะไม่มีเงื่อนไขผูกพันระหว่างกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกจำกัดให้อยู่นิ่งเฉย แต่หน่วยงานระดับภูมิภาคควรใช้อำนาจของการรวมกลุ่ม และสั่งการให้มองผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ร่วมกัน ( ซึ่งหลายกรณีนำไปสู่การรวมกลุ่มสมาชิกในท้ายที่สุด ) เพื่อดึงชาติสมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงกว้างมากขึ้นให้มารวมตัวกัน ทั้งภาคธุรกิจในทุกระดับ และเอ็นจีโอ เพื่อสร้างพื้นฐานสำหรับความร่วมมือกันอย่างแนบแน่นมากกว่าเดิม