ในงาน Google Cloud Next 2017 ที่ผ่านไปนี้ ทาง Google ได้ออกมาเปิดเผยถึงสิ่งที่เหล่า Network Engineer ต้องทำการปรับตัวเมื่อโลกของเราหันไปสู่การใช้ Cloud กันเป็นหลัก โดยทาง NetworkComputing ได้ออกมาเขียนสรุปเอาไว้ได้น่าสนใจดีทีเดียว ทาง TechTalkThai จึงนำมาเล่าต่อเป็นภาษาไทยให้ผู้อ่านได้อ่านกัน ดังนี้ครับ

ระบบเครือข่ายเบื้องหลัง Google Cloud
Google นั้นต้องทำการพัฒนาเทคโนโลยีระบบเครือข่ายของตัวเองขึ้นมาเพื่อใช้ภายใน Data Center ของตนเองทั่วโลก สำหรับรองรับทั้งระบบ Application, Search และระบบโฆษณา จากนั้นจึงได้นำเทคโนโลยีที่ใช้งานอยู่นี้มาใช้ใน Google Cloud ด้วย โดยเทคโนโลยีทางด้าน Network ของ Google นี้แบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ ได้แก่ Physical Infrastructure และการเชื่อมระบบ Infrastructure เหล่านี้เข้ากับ Workload ของผู้ใช้งาน เพื่อให้ผู้ใช้งานนำไปใช้เชื่อมต่อบริการต่างๆ เข้าด้วยกัน
ทั้งนี้เทคโนโลยีฝั่ง Private Network ของ Google ที่สร้างขึ้นมานี้ก็มีประสิทธิภาพสูงและครอบคลุมการใช้งานได้ทั่วโลก โดยไม่มีการเปิดเผย Traffic ใดๆ ออกมาสู่สาธารณะเลย ทำให้สามารถทำการคุม Quality of Service (QoS) และ User Experience (UX) สำหรับ Workload แต่ละรูปแบบได้ดี โดยมีทั้ง Latency และอัตรา Data Loss ที่ต่ำ ซึ่งการสร้างระบบเครือข่ายภายที่มีความสามารถในระดับนี้ภายในองค์กรนั้นก็ถือเป็นเรื่องยากทีเดียว
มุ่งสู่บริการ Network as a Service
สำหรับการใช้บริการ Google Cloud นั้น ผู้ใช้งานจะไม่ต้องกังวลกับการปรับแต่งค่าระบบเครือข่ายใดๆ อีกต่อไป เพราะ Network Infrastructure นี้ถูกนำเสนออกมาในรูปแบบของบริการรวมอยู่กับ Workload ต่างๆ ของ Server อยู่แล้ว ทำให้เครื่อง Endpoint อย่าง Virtual Machine (VM) ที่ทำงานอยู่ภายในบริการนั้นๆ ถูกเชื่อมต่อเข้ากับระบบเครือข่ายของ Google ทันที ในขณะที่ระบบอื่นๆ ซึ่งมีหน้าที่ในการทำให้ระบบเครือข่ายของ Google นั้นให้บริการต่อไปได้อย่างทนทานเองก็เป็นงานของ Google โดยตรงไป ดังนั้นงานในรูปแบบเดิมๆ ที่เหล่า Network Engineer เคยต้องทำอย่างเช่นการกำหนดค่าการทำงานของ Top-of-Rack Switch, การตั้งค่า Application Delivery Controller (ADC) หรือการทำ Load Balancer นั้นก็ไม่ต้องทำเองอีกต่อไป และกลายเป็นงานของ Google ไปแทน
Google Cloud เองนั้นก็ยังช่วยให้การบริหารจัดการ Network Service และระบบ Software-Defined Networking (SDN) ของตนนั้นกลายเป็นเรื่องง่าย โดยระบบเครือข่ายทั่วไปที่จะต้องมีการวางแผนการตั้งค่าอย่างระมัดระวัง, การนำบริการต่างๆ เข้ามาเชื่อมต่อด้วยกัน หรือการบังคับใช้นโยบายรักษาความมั่นคงปลอดภัยนั้นก็จะไม่ต้องทำบน Google Cloud เลย ทำให้เหล่า Network Engineer นั้นต้องพบกับความท้าทายแบบใหม่ๆ ในการปรับวิธีคิดในการออกแบบระบบเครือข่ายจากเดิมที่เป็น Physical นั้นให้มีความเป็น Logical มากขึ้น โดย Google Cloud นั้นมีการใช้งาน SDN เป็นหลัก ทำให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบเครือข่ายนั้นสามารถถูกเรียกใช้งานได้อย่างง่ายดายผ่านทาง User Interface และ API อีกด้วย
ภาระหน้าที่ของ Network Engineer ที่เปลี่ยนไป
คำถามที่ถูกตั้งขึ้นมาก็คือ Network Engineer นั้นจะหมดบทบาทไปทันทีหากมีการใช้บริการ Cloud อย่าง Google Cloud หรือไม่? คำตอบก็คือ ไม่ใช่ Network Engineer นั้นยังคงมีงานอยู่แน่นอน แต่เนื้องานจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โดยงานในการทำให้ระบบ Network นั้นเชื่อมต่อและทำงานได้อย่างถูกต้องนั้นหายไปและจะตกเป็นงานของผู้ให้บริการ Cloud อย่าง Google แทน และ Network Engineer นั้นก็จะไปรับบทบาทในการทำให้มั่นใจว่าความต้องการทางธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบ Network นั้นสามารถถูกตอบสนองได้บนบริการ Cloud ต่างๆ จริงๆ แทน โดย Google Cloud นั้นเปิดให้เหล่า Network Engineer สามารถเข้ามากำหนดนโยบายการทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบเครือข่ายได้ และยังคงต้องใช้ความรู้พื้นฐานทางด้านระบบเครือข่ายที่แข็งแรง เช่น การจัดการกับ IP Subrange ซึ่งเหล่า Network Engineer ก็จะทำงานเหล่านี้ได้อย่างง่ายดายโดยใช้เวลาน้อยลงกว่าแต่ก่อน โดยที่งานเหล่านี้ยังคงมีความสำคัญสูงอยู่
ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรต่างๆ เองนั้นก็ยังมีแนวโน้มที่จะลงทุนในระบบ Data Center ของตนเองเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ และงานในการเชื่อม Data Center เหล่านี้เข้ากับบริการ Cloud ของเหล่า Cloud Service Provider นั้นก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็จะเป็นอีกงานหลักของเหล่า Network Engineer ในการสร้าง Hybrid Cloud เหล่านี้ขึ้นมาให้ได้จากการเชื่อมต่อระบบเครือข่าย, การบริหารจัดการการทำงาน และการตรวจสอบการทำงานของระบบเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ทั้งหมดขึ้นมาให้ได้นั่นเอง
ในการสร้าง Hybrid Cloud ขึ้นมานั้น ถึงแม้บน Google Cloud จะไม่มีการเปิดให้ติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายใดๆ ขึ้นมาเองได้ก็ตาม แต่ระบบ Gateway บน Google, Virtual Appliance และ Cloud-based Application ก็สามารถนำมาใช้ทดแทนการติดตั้ง Hardware จริงได้ทั้งหมด เช่น การสร้างระบบ Mesh Overlay Network ขึ้นมาใช้งานก็สามารถทำได้จริง และการเชื่อมต่อระบบต่างๆ เข้าด้วยกันจนเกิดเป็น Hybrid Cloud นี้ก็ต้องอาศัย Network Engineer ที่มีความเข้าใจในสถาปัตยกรรมของ Cloud เป็นอย่างดี ดังนั้นคำแนะนำสำหรับเหล่า Network Engineer เบื้องต้นนั้นจึงเป็นการที่เหล่า Network Engineer ต้องไปเริ่มทำความเข้าใจกันก่อนว่าระบบเครือข่ายภายในแต่ละบริการก Cloud นั้นเป็นอย่างไร, การปรับแต่งค่าต่างๆ สามารถทำได้อย่างไร และจะเชื่อมต่อระบบ Cloud เข้ากับระบบเครือข่ายขององค์กรได้อย่างไร
ที่สำคัญที่สุดก็คือ Network Engineer อาจจะต้องใช้เวลามากขึ้นในการทำความเข้าใจความต้องการทางธุรกิจว่าต้องการใช้ Cloud ในรูปแบบใดบ้าง และให้คำแนะนำได้ดีเกี่ยวกับการเลือกใช้บริการ Cloud จากผู้ให้บริการแต่ละรายว่าสมีความแตกต่างอย่างไร และจะเชื่อมต่อระบบ Cloud นั้นๆ เข้ากับระบบเครือข่ายขององค์กรได้อย่างไร เพื่อให้ในระยะยาวแล้วองค์กรได้เลือกใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็จะเป็นคุณค่าที่สำคัญสำหรับเหล่า Network Engineer โดยตรง
ที่มา: http://www.networkcomputing.com/cloud-infrastructure/google-cloud-and-network-engineer/1877519107