ภายในงานประชุม Asia Pacific Economic Cooperation (APEC) Leaders’ Meeting ที่เพิ่งจัดไป Google และรัฐบาลไทย นำโดยคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อผลักดันการแข่งขันด้านดิจิทัลและการพัฒนานวัตกรรม AI ในประเทศไทย ด้วยข้อตกลง 4 ประการ ได้แก่ การขยายการลงทุนด้าน Digital Infrastructure, การพลิกโฉมบริการภาครัฐด้วย AI, การผลักดันนโยบาย Cloud-first และการช่วยให้คนไทยเข้าถึงทักษะดิจิทัลได้ง่ายยิ่งขึ้น
“การเป็นพันธมิตรกับ Google เป็นก้าวย่างสำคัญในการบรรลุวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการพลิกโฉมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชนไทย ธุรกิจ และนักลงทุน ผ่านทางนโยบาย Cloud-first รวมถึงสร้างโลกไซเบอร์ที่ปลอดภัยกว่าเดิม ความเชี่ยวชาญและการลงทุนด้าน Digital Infrastructure, งานวิจัยด้าน Responsible AI, การพัฒนาทักษะดิจิทัล และการสร้างแพลตฟอร์มเทคโนโลยีให้มั่นคงปลอดภัยในสเกลระดับโลก จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวกระโดดสู่การเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เปิดโอกาสในการสร้างงานที่มีมูลค่าสูง และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน” — นายกเศรษฐากล่าว
ข้อตกลงที่ 1 – ขยายการลงทุนด้าน Digital Infrastructure
ก่อนหน้านี้ Google ได้ประกาศเตรียมสร้าง Cloud Region แห่งแรกในไทย และด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลนี้ ยืนยันแล้วว่า Cloud Region แห่งแรกจะถูกตั้งขึ้นแน่นอนในกรุงเทพฯ การนำเทคโนโลยี Google Cloud ให้เข้าไปใกล้ชิดกับธุรกิจไทยมากยิ่งขึ้นจะช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถส่งมอบบริการดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว น่าเชื่อถือ และขยายระบบได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งยังมีนวัตกรรม AI ช่วยสนับสนุน คาดการณ์ว่าการลงทุนนี้จะช่วยยกระดับผลิตภาพเชิงเศรษฐกิจมากกว่า 145,000 ล้านบาทต่อ GPD ภายในปี 2030 และสร้างงานให้แก่ประเทศไทยกว่า 50,300 ตำแหน่ง
ข้อตกลงที่ 2 – เร่งการประยุกต์ใช้ AI กับหน่วยงานรัฐ พร้อมเสริมแกร่งด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
Google และรัฐบาลไทยจะร่วมมือกันเริ่มโครงการพัฒนา Responsible AI และเร่งการประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันในกระทรวง หน่วยงานรัฐ และอุตสาหกรรมหลักของไทย ไม่ว่าจะเป็นการนำ Generative AI เข้ามาใช้โดยอาศัยเทคโนโลยี Google Cloud ในการวางโซลูชันแก่สินค้าสาธารณะ บริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ เทคโนโลยีด้านการเงิน สาธารณสุข การศึกษา และขนส่งมวลชน รวมถึงการแชร์ความเชี่ยวชาญและกรอบการทำงาน AI อย่างมั่นคงปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงของระบบ AI สู่การพัฒนา AI ที่มีจรรยาบรรณ (Responsible AI)
นอกจากนี้ Google ยังร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภัยคุกคามไซเบอร์และสนับสนุนการก่อตั้ง National CyberShield Alliance เพื่อช่วยให้รัฐบาลสามารถนำเทคโนโลยี Automation, Analytics, Threat Intelligence และ AI มาใช้ตรวจจับ วิเคราะห์ และป้องกันการโจมตีไซเบอร์ระดับสูงที่พุ่งเป้าโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศได้
ข้อตกลงที่ 3 – ผลักดันกลยุทธ์ Cloud-first สู่ประเทศไทย
Google จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านนโยบายและเทคโนโลยีสนับสนุนการพัฒนากลยุทธ์ Go Cloud-first ของกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้มั่นใจว่า Digital Infratrastructure ของไทยจะถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มีความแข็งแกร่ง และคุ้มค่าต่อการลงทุน Go Cloud-first เป็นตัวเน้นย้ำความพยายามของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการใช้บริการ Cloud ระดับโลกที่มาพร้อมกับมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในการดำเนินงานของรัฐบาล แทนที่จะใช้โซลูชันแบบ On-premises ที่ต้องลงทุนสูง
ข้อตกลงที่ 4 – การช่วยให้คนไทยเข้าถึงทักษะดิจิทัลได้ง่ายยิ่งขึ้น
ด้วยความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม และ BOI ทาง Google จะมอบทุนการศึกษา Google Career Certificate เพิ่มให้อีก 12,000 ทุนภายใต้โครงการ Samart Skills ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนตุลาคม 2022 รวมเป็น 34,000 ทุน ทุนการศึกษานี้จะช่วยให้คนไทยสามารถพัฒนาทักษะและได้รับใบรับรองระดับเริ่มต้นในสาขาที่ตลาดกำลังต้องการ เช่น Cybersecurity, Data Analytics, IT Support, e-Commerce & Digital Marketing ฟรี นอกจากนี้ยังสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับ Generative AI ผ่านทาง Google Cloud Skills Boost Program โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย