หลังจากที่ Cohesity ได้ประกาศดีลใหญ่ในการเข้าซื้อกิจการส่วน Data Protection และ Data Management ของ Veritas จนกลายเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในทุกมิติของการปกป้องข้อมูล ในครั้งนี้ทาง Cohesity ก็ได้จัดงานสัมมนาในประเทศไทยเพื่อประกาศถึงทิศทางแห่งอนาคตร่วมกันระหว่างทีมงานของ Cohesity และ Veritas ในประเทศไทยอย่างชัดเจน
ในครั้งนี้ทีมงาน TechTalkThai มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณ Mark Nutt ผู้ดำรงตำแหน่ง Senior Vice President, International Sales แห่ง Cohesity, คุณ Peter Hanna ผู้ดำรงตำแหน่ง Head of Channels & Alliances – Asia Pacific and Japan แห่ง Cohesity และคุณประมุท ศรีวิเชียร ผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการประจำ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน โคฮีซิตี้ อิงค์ ในประเด็นด้านกลยุทธ์แห่งอนาคตของ Cohesity และความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นของบริษัทและผลิตภัณฑ์ จึงขอนำสรุปประเด็นที่สำคัญจากการพูดคุยในครั้งนี้เอาไว้ในบทความนี้ครับ
Cohesity เข้าซื้อธุรกิจส่วน Data Protection ของ Veritas เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2024 พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนนวัตกรรมต่อโดยไม่ทิ้งลูกค้าหรือพาร์ทเนอร์รายใดเอาไว้ข้างหลัง
แน่นอนว่าดีล Cohesity เข้าซื้อธุรกิจในส่วน Data Protection และ Data Management ของ Veritas นั้นถือเป็นดีลที่วงการ IT ทั่วโลกต้องจับตามอง เพราะดีลนี้จะทำให้ Cohesity ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมด้านการสำรองและบริหารจัดการข้อมูลทันที ซึ่งดีลนี้ก็ปิดกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2024 ที่ผ่านมา โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับทั้งฝั่งของ Cohesity และ Veritas จะมีดังนี้
- Cohesity จะกลายเป็นแบรนด์หลักในการดำเนินธุรกิจหลังจากนี้ และมีฐานลูกค้ารวมกันมากกว่า 12,000 องค์กร ในขณะที่มีการสำรองข้อมูลขนาดรวมกันหลายร้อย Exabyte และมีรายได้ต่อปีรวมกันกว่า 1,700 ล้านเหรียญหรือราวๆ 58,000 ล้านบาท
- ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Cohesity จะยังคงมีอยู่ต่อไป พร้อมทั้งมี Roadmap การพัฒนาต่อเนื่องในอนาคตที่ชัดเจน
- ผลิตภัณฑ์ของ Veritas ที่จะมาอยู่ภายใต้ Cohesity นั้นจะเป็นโซลูชันในฝั่ง Enterprise Data Protectionอย่างเช่น NetBackup, NetBackup Appliances และ Alta Data Protection ซึ่งจะมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคตที่ชัดเจนเช่นกัน Cohesity จะยังคงลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการพัฒนาโซลูชันแบบบูรณาการที่รวมเทคโนโลยีที่ดีที่สุดจากทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกัน ในขณะที่ ผลิตภัณฑ์ Backup Exec จะไม่ได้ถูกซื้อมาด้วย
- นโยบายหลักของ Cohesity คือ “No Customer Left Behind” Cohesity ใหม่มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของ Cohesity และ Veritas ที่มีอยู่เดิมต่อไปอีกหลายปี เรามุ่งมั่นที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านของลูกค้าเป็นไปอย่างราบรื่นและตามกรอบเวลาของลูกค้าเอง สำหรับพันธมิตรด้านการจัดจำหน่าย จะยังคงสถานะเดิมในช่วงการควบรวมนี้ และในอนาคตจะรวมกันเป็นโปรแกรมเดียว และสามารถขายโซลูชันใหม่ๆ ที่เกิดจากการควบรวมกิจการครั้งนี้ได้ ในอนาคต การบริหารจัดการและโซลูชันของ Cohesity และ Veritas จะค่อยๆ ถูกผสานรวมให้ทำงานร่วมกันได้มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้น Cohesity ยังมุ่งมั่นที่จะนำเสนอโซลูชั่น ด้านความปลอดภัยของข้อมูล (เช่น Cohesity DataHawk) และ เครื่องมือในการนำข้อมูลเชิงลึก ของข้อมูลในองค์กรมาใช้ประโยชน์ ด้วย AI-Powered (เช่น Cohesity Turing) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้โซลูชันผสานกันอย่างเต็มรูปแบบ โดยมอบความปลอดภัยของข้อมูลที่ทรงพลังด้วย AI และข้อมูลเชิงลึกที่ไม่มีใครเทียบได้ให้กับลูกค้าของเรา
จะเห็นได้ว่า Cohesity นั้นมีความเข้าใจในตลาดองค์กรเป็นอย่างดี ทำให้การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้มีความเรียบง่ายและไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้าองค์กรรวมถึงพันธมิตรทั่วโลก ทำให้การดำเนินธุรกิจนั้นสามารถเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและง่ายดายหลังจากนี้ ในขณะที่โซลูชันภายใต้ Cohesity จะมีความหลากหลายมากขึ้นจากการนำเทคโนโลยีของ Veritas เข้ามาผนวกรวมกัน ทำให้การนำเสนอโซลูชันด้านการสำรองและบริหารจัดการข้อมูลนั้นมีความครอบคลุมยิ่งกว่าที่เคย โดยในอนาคต การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการปกป้องข้อมูลนั้นก็จะยิ่งทวีความเร็วมากขึ้นไปอีกจากการรวมพลังกันระหว่างทีม R&D ของ Cohesity และ Veritas
สำหรับในประเทศไทย ทีมงานของ Veritas เดิมทั้งหมดจะกลายเป็นทีมงานของ Cohesity และสามารถจำหน่ายหรือให้บริการโซลูชันของ Cohesity เพิ่มเติมได้นอกเหนือจากโซลูชันเดิมของ Veritas ซึ่งที่ผ่านมา ทีมงานของ Veritas ก็ได้ดำเนินการในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลากว่า 24 ปี โดยมีทีมงานหลายสิบคน จึงสามารถมั่นใจได้ในแง่ความต่อเนื่องของการให้บริการ Cohesity ต่อไปในอนาคต
Data Protection แห่งอนาคต: รองรับ Workload หลากหลาย, เพิ่มขยายได้เร็ว, ตอบโจทย์ Data Security, ใช้งานง่ายขึ้นด้วย AI
ในปี 2025 ที่กำลังจะมาถึงนี้ Cohesity ได้ให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลด้วยแนวคิด 5S ได้แก่
- Security การเสริมความมั่นคงปลอดภัยให้กับการปกป้องข้อมูล และการผสานรวมการตรวจสอบด้านความมั่นคงปลอดภัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องข้อมูลด้วย เพื่อให้การปกป้องข้อมูลกลายเป็นหนึ่งในกระบวนการในการจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยและการรับมือกับภัยคุกคาม ดังนั้น Data Security จะต้องกลายเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของการสำรองข้อมูลในอนาคต
- Speed ความเร็วในการสำรองและกู้คืนข้อมูลจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทั้งจากปริมาณข้อมูลที่มีมากขึ้น และการกู้คืนข้อมูลหรือระบบในยามที่จำเป็นได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจโดยตรง ซึ่งองค์กรหลายแห่งได้เห็นความสำคัญของความเร็วในการกู้คืนข้อมูลมากขึ้นกว่าเดิม โดยองค์กรบางแห่งมองว่าความเร็วนี้เป็นปัจจัยสำคัญอันดับ 1 ในการออกแบบระบบสำรองและกู้คืนข้อมูลแล้วในทุกวันนี้
- Scale ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของทั้ง Application ใหม่ๆ ในองค์กร และการเติบโตของปริมาณข้อมูลภายในองค์กร ระบบสำหรับการสำรองข้อมูลจึงต้องสามารถเพิ่มขยายได้อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อการเกิดขึ้นของระบบและข้อมูลใหม่ๆ ภายในองค์กรให้ทัน
- Simplicity การสำรองและกู้คืนข้อมูลจะต้องเป็นเรื่องที่สามารถทำได้อย่างง่ายดายยิ่งกว่าเดิม เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานท่ามกลางระบบ IT ที่นับวันจะยิ่งทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจากสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและ Workload ใหม่ที่มีความซับซ้อน โดย AI จะมีบทบาทสำคัญในฐานะของผู้ช่วยในการสำรองข้อมูล และในอนาคตบทบาทของการสำรองและกู้คืนข้อมูลจะไม่ได้ตกเป็นของผู้ดูแลระบบ IT เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องกลายเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบ IT สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง
- Smarts การสำรองข้อมูลจะต้องมีความชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น ผู้ดูแลระบบ IT จะต้องมีข้อมูลสถิติและการตรวจสอบการสำรองข้อมูลที่เข้าใจง่ายและชัดเจน ในขณะที่ข้อมูลซึ่งถูกนำมาสำรองเอาไว้ ควรจะต้องสามารถนำไปสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้กับองค์กรในฐานะของ Secondary Data ได้ และการประยุกต์นำ AI มาใช้ในกระบวนการการสำรองข้อมูลจะต้องเกิดขึ้น
Cohesity ได้นำแนวทางทั้งหมดเหล่านี้มาวางกลยุทธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันของตนเองร่วมกับ Veritas เพื่อให้ภาคธุรกิจองค์กรนั้นสามารถปกป้องข้อมูลและเดินหน้าสู่กลยุทธ์ใหม่ในการปกป้องข้อมูล และสอดรับกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบ IT ภายในองค์กรได้
ในการพูดคุยกันครั้งนี้ คุณ Mark ได้เน้นยำถึงความสำคัญของ Speed of Recovery ที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกระบบสำรองข้อมูลขององค์กรหลายแห่ง ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้อย่างคล่องตัว ในขณะที่การมาของ AI เองก็ทำให้การสำรองข้อมูลมีความรวดเร็วและง่ายดายมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ Cohesity เองก็ยังสามารถถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้าน AI ในองค์กรได้ ด้วยการเปลี่ยนให้ข้อมูลที่ถูกนำมาสำรองกลายเป็นอีกหนึ่ง Data Source เพื่อนำไปใช้ฝึก AI ได้อีกทางหนึ่ง ทำให้องค์กรสามารถสร้างคุณค่าและเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุนระบบสำรองข้อมูลได้ โดยแนวทางดังกล่าวนี้ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และส่งผลให้ NVIDIA เองได้เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนให้แก่ Cohesity เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทางด้านคุณ Peter ก็ได้เสริมในเรื่องของแนวโน้มการเติบโตของการสำรองและการกู้คืนข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการผลักดันเชิงกฎหมายทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่หลายประเทศมีข้อกำหนดด้าน Data Security และ Data Protection ที่ชัดเจน ซึ่งส่งผลให้องค์กรต้องให้ความสำคัญต่อความสามารถในการกู้คืนข้อมูลเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ และต่อยอดไปสู่แนวทาง Not to pay for ransom ที่องค์กรจะต้องมั่นใจว่าหากถูก Ransomware โจมตีแล้ว องค์กรจะมีข้อมูลที่พร้อมกู้คืนมาใช้งานทดแทนระบบเดิมได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าไถ่ให้กับผู้โจมตีอีกต่อไป
อีกประเด็นหนึ่งที่ถูฏหยิบยกมาพูดถึงก็คือ Data Security ทั้งในแง่ของการปกป้องระบบสำรองข้อมูลไม่ให้ถูกโจมตี, การตรวจสอบข้อมูลที่สำรองเอาไว้ว่าไม่มีภัยคุกคามแอบแฝงอยู่ ไปจนถึงการทำงานร่วมกับ Cybersecurity Solution และการใช้ AI-Driven Security ที่จะช่วยเสริมความมั่นคงปลอดภัยให้กับทั้งองค์กรตั้งแต่ระบบเบื้องหน้าไปจนถึงเบื้องหลัง ซึ่ง Cohesity ก็ให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้เป็นอย่างมาก
องค์กรไทยยังให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูล การรับมือกับ Ransomware ให้ได้บนทุกสถาปัตยกรรม IT คือหัวใจในการสร้าง Cyber Resilience
ทางด้านแนวโน้มการปกป้องข้อมูลในประเทศไทยของปี 2024 ที่ผ่านมา คุณประมุทได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่าธุรกิจองค์กรไทยให้ความสำคัญต่อการปกป้องข้อมูลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมือกับ Ransomware จากการที่มีกรณีของการโจมตีที่รุนแรงเกิดขึ้นให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ทุกวันนี้สิ่งที่ภาคธุรกิจองค์กรมองหานั้นไม่ใช่เพียงแค่ระบบ Backup & Recovery แต่จะต้องเป็น Cybersecurity Recovery ที่จะมีกระบวนการตรวจสอบด้านความมั่นคงปลอดภัยก่อนทำการกู้คืนข้อมูลหรือระบบกลับมาใช้งานเพิ่มเติมด้วย
ด้วยเหตุนี้ หลายองค์กรที่นำ NIST 2.0 มาใช้เป็น Framework ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจัดการกับภูมิทัศน์ภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และบทบาทที่เพิ่มขึ้นของความปลอดภัยทางไซเบอร์ในโลกที่เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น ก็เริ่มมองถึงการเสริมให้องค์กรมี Cyber Resilience ที่ดีขึ้น ซึ่ง Cohesity เองก็สามารถตอบโจทย์นี้ได้ด้วยความสามารถในการสำรองข้อมูล, การตรวจสอบวิเคราะห์และยืนยันข้อมูลที่สำรองเอาไว้, การตรวจสอบค้นหาภัยคุกคามที่แอบแฝงอยู่ในข้อมูลที่สำรอง ไปจนถึงการกู้คืนข้อมูลหรือระบบได้อย่างมั่นใจให้สอดคล้องต่อข้อกำหนดด้าน Governance ที่เพิ่มเข้ามาใน Framework ดังกล่าว โดย เพิ่มองค์ประกอบเพิ่มเติมภายใต้ข้อกำหนดด้าน “RECOVER (RC)” สำหรับการดำเนินแผนการกู้คืนข้อมูล (Recovery Plan Execution) ซึ่งรวมถึง:
- การตรวจสอบสภาพแวดล้อมการกู้คืนข้อมูล ที่แยกขาดจากระบบหลัก (Isolated Recovery Environments)
- การสแกนข้อมูลสำรอง ที่ไม่สามารถเขียนทับได้ (Immutable Backups)
- การจัดลำดับความสำคัญของการกู้คืนข้อมูลที่สำคัญ (Prioritizing Recovery of Critical Data)
อีกหนึ่งประเด็นที่จะเป็นตัวเร่งสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ให้แก่องค์กรได้ดีนั้นก็คือแรงผลักดันทางด้านกฎหมาย ซึ่งคุณประมุทเองก็เห็นแนวโน้มนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน โดยบางประเทศก็มีความเข้มงวดถึงขั้นที่ระบบของธนาคารห้ามล่มเป็นเวลานานเกิน 2 ชั่วโมงแล้ว และในหลายๆ ประเทศก็มีแนวโน้มที่กฎหมายลักษณะนี้จะมีความเข้มงวดมากขึ้น ดังนั้นทางที่ดีคือภาคธุรกิจองค์กรจึงควรนำ NIST 2.0 มาประยุกต์ใช้ และนำข้อบังคับในภาคอุตสาหกรรมการเงินมาเป็นแนวทางในการกำหนดเป้าหมายด้าน Cyber Resilience ขององค์กร ซึ่งจะส่งผลให้องค์กรสามารถรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ ได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น
แนะธุรกิจองค์กรไทย ทำงานร่วมกับ Cohesity ในเชิงกลยุทธ์ ร่วมสร้างนวัตกรรมการปกป้องข้อมูลที่ตอบโจทย์ต่อบริบทของเมืองไทยให้เกิดคุณค่าในระยะยาว
คุณ Mark ได้ทิ้งท้ายถึงธุรกิจองค์กรไทยในการพูดคุยครั้งนี้ ด้วยการเชิญชวนให้ธุรกิจองค์กรไทยมาร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับ Cohesity และทำงานร่วมกันโดยตรง เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการปกป้องสำรองข้อมูลด้วยกัน รวมถึงนำความสามารถใหม่ๆ ของ Cohesity ไปใช้งานได้อย่างรวดเร็วก่อนคู่แข่ง เพื่อสร้างคุณค่าที่เหนือกว่า และกำหนด Roadmap เพื่อสร้างความมั่นคงเชิงดิจิทัลให้กับองค์กรร่วมกันได้เลย
ทางด้านคุณ Peter ก็ได้ให้ข้อคิดถึงการรับมือกับเหตุการณ์ภัยคุกคาม ที่สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่องค์กรจะต้องเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด และมีภาคส่วนต่างๆ นอกเหนือจาก IT เข้ามาร่วมกันตัดสินใจแก้ไขปัญหา เช่น ฝ่ายกฎหมายหรือฝ่ายธุรกิจ โดยควรจะต้องมีการวาง Best Practice เหล่านี้ร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าการมีข้อมูลสำรองที่สามารถกู้คืนได้อย่างรวดเร็ว และมั่นใจว่าไม่มีภัยคุกคามใดแอบแฝงอยู่ได้นั้น จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ ได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น