IBM Flashsystem

แนะนำ AMD EPYC Server: อีกทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยลดค่าใช้จ่ายใน Data Center ขององค์กรได้อย่างคาดไม่ถึง

ท่ามกลางยุคแห่งการทำ Digital Transformation นี้ ยอดขายของ Server ทั่วโลกนั้นก็เติบโตขึ้นเป็นลำดับสอดคล้องกับความต้องการในการประมวลผลที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว AMD ในฐานะของผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการประมวลผลระดับโลก จึงได้นำเสนอ AMD EPYC หน่วยประมวลผลสำหรับ Server ที่ออกแบบด้วยแนวคิดต่างจาก x86 CPU ค่ายอื่นๆ เพื่อให้เหล่าธุรกิจองค์กรได้มีทางเลือกใหม่ที่คุ้มค่าในการลงทุน บทความนี้จะนำทุกท่านไปรู้จักกับ AMD EPYC Server สำหรับการใช้งานภายใน Data Center ของธุรกิจองค์กรโดยเฉพาะกันครับ

Credit: AMD

ล้างภาพ CPU ร้อน ด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมเบื้องหลังใหม่ทั้งหมด

เดิมทีหลายๆ ท่านอาจจะยังติดกับภาพของ AMD ที่ CPU ร้อน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ AMD ไม่ถูกเลือกใช้งานในหลายๆ ครั้ง ปัญหานี้ทาง AMD ก็ทราบดี และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้มาเป็นเวลานานหลายปี

AMD EPYC เป็น CPU ที่ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานภายใน Server โดยเฉพาะด้วยสถาปัตยกรรม Zen เช่นเดียวกับหน่วยประมวลผล AMD Ryzen ที่ถูกใช้งานกันอย่างแพร่หลายในเครื่อง PC และ Notebook ซึ่งหากใครใช้งานกันมาก่อนก็จะพอทราบกันแล้วว่า AMD ในยุคหลังๆ ไม่ได้ร้อนเหมือนอย่างในอดีตอีกแล้ว

ในระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนบทความนี้ ทางทีมงาน TechTalkThai เองก็ได้มีการพูดคุยกับทั้งฝั่งของผู้ขายและผู้ใช้งานบางส่วนในประเด็นด้านความร้อน และพบว่าจากการทดสอบใช้งาน AMD EPYC ก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความร้อนแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานภายใน Data Center จริงๆ นั้นก็ไม่ได้มีประเด็นปัญหานี้เลย

รู้จักกับ AMD EPYC หน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูงสำหรับใช้งานภายใน Server จาก AMD

Credit: AMD

AMD EPYC นี้เป็น CPU ที่ออกแบบมาเป็นระบบ System-on-Chip (SoC) ที่รวมเอาทั้งหน่วยประมวลผล, ระบบจัดการ I/O และระบบจัดการด้าน Security เอาไว้บนชิปเดียว ทำให้ความเร็วในการประมวลผลสูงและยังสามารถเชื่อมต่อไปยังภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้ง AMD เองก็ยังมีปรัชญาการออกแบบที่เน้นด้านความสมดุล จึงได้เปิดให้ AMD EPYC นั้นสามารถเชื่อมต่อไปยังทรัพยากรอื่นๆ ภายนอกได้ด้วยประสิทธิภาพสูง

AMD EPYC นี้รองรับการติดตั้งได้ 1-2 CPU บน Server แต่ละเครื่อง โดย CPU แต่ละชุดนั้นมีขนาดให้เลือกตั้งแต่ 8 – 32 Core ในชุดเดียว, รองรับการเชื่อมต่อ RAM ได้สูงสุดถึง 2TB และรองรับการเชื่อมต่อ PCIe ได้สูงถึง 128 Lane เลยทีเดียว ดังนั้นหากเทียบกับ x86 CPU อื่นๆ แล้ว AMD EPYC เพียง CPU เดียวก็มีประสิทธิภาพและทรัพยากรที่ใกล้เคียงกับ x86 CPU อื่นถึง 2 ชุดแล้ว

ในแง่ของความมั่นคงปลอดภัย ภายใน AMD EPYC SoC แต่ละชุดนั้นจะมีหน่วยประมวลผลสำหรับจัดการด้าน Security แยกออกมาต่างหากอยู่ภายใน เพื่อใช้ในการจัดการทำ Secure Boot Process เพื่อตรวจสอบ Firmware ต่างๆ ว่าเชื่อถือได้ก่อนเรียกใช้งาน, Memory Encryption เข้ารหัสข้อมูลบน RAM แยกสำหรับแต่ละ VM เพื่อเสริมความปลอดภัย และยังมีความสามารถเพื่อให้ SoC บน Server ต่างเครื่องกันสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างปลอดภัย รองรับการย้าย VM ข้ามเครื่องได้อย่างมั่นใจว่าข้อมูลจะถูกเข้ารหัสอยู่ตลอดเวลาโดยที่ Key ที่ใช้ในการเข้ารหัสนั้นจะไม่ถูกเปิดเผยแต่อย่างใด

สำหรับรุ่นของ AMD EPYC 7000 Series ซึ่งเป็นรุ่นหลักสำหรับรองรับการใช้งานภายใน Data Center และ Cloud นั้น จะมีรุ่นต่างๆ ดังนี้

Credit: AMD

ส่วนรุ่นของ AMD EPYC 3000 Embedded สำหรับรองรับการใช้งานภายใน Embedded Computing หรือ Network/Security Appliance นั้น จะมีรุ่นต่างๆ ดังนี้

Credit: AMD

ข้อได้เปรียบจากการใช้ AMD EPYC Server เมื่อเทียบกับ x86 Server อื่นๆ

จุดเด่นหนึ่งของ AMD EPYC ที่ชัดเจนมากในตลาดองค์กรนั้นก็คือเรื่องของประสิทธิภาพต่อ CPU ที่ทำให้ในหลายๆ กรณีนั้น ราคารวมของโครงการจัดซื้อ Server และ Software สำหรับติดตั้งใช้งานนั้นมีราคาที่ถูกลงไปอย่างมากทีเดียว ทำให้องค์กรสามารถนำเงินส่วนต่างไปใช้ลงทุนในส่วนอื่นๆ หรืออัปเกรด Server ให้ดีขึ้น หรือซื้อ License Software ในระดับที่สูงขึ้นมาอีกได้ ตัวอย่างดังเช่น

1 Socket AMD EPYC Server: ประหยัดค่า License ลงด้วย CPU เดียวที่แรงเท่า x86 CPU จากค่ายอื่นถึง 2 CPU

ด้วยความที่ AMD EPYC CPU แต่ละชุดนั้นสามารถมี Core ในการประมวลผลได้มากถึง 32 Core ดังนั้นจากการออกแบบ x86 Server เดิมที่เคยต้องใช้ x86 CPU ถึง 2 ชุดมารวมกันเพื่อให้มีจำนวน Core สูง 24 – 32 Core นั้น ก็สามารถออกแบบด้วย AMD EPYC Server แบบ Single Socket ได้เลย ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยตอบโจทย์สำหรับกรณีที่ License ของ Software ที่ใช้งานนั้นคิดตามจำนวน Socket ที่ติดตั้ง ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของ License เหล่านี้ลงไปได้มาก ในขณะที่ตัว AMD EPYC Server นั้นราคาอาจจะใกล้เคียงกับ Server แบบเดิมหรือราคาถูกกว่าอยู่แล้ว

นอกจากนี้ สำหรับกรณีที่ License ของ Software นั้นคิดตามจำนวน Core ที่ใช้ AMD EPYC ก็มีรุ่นอย่าง AMD EPYC 7371 ที่มีจำนวน Core เพียง 16 Core เท่านั้น ถือว่าน้อยกว่า CPU รุ่นอื่นๆ แต่ก็มี Base Frequency ที่สูง 3.1 – 3.6GHz เลยทีเดียว ทำให้ตอบโจทย์การออกแบบ Server ในกรณีนี้ได้ด้วย

ทั้งนี้ ด้วยหน่วยความจำที่สูงถึง 2TB และการเชื่อมต่อ PCIe ที่รองรับสูงถึง 128 Lane ก็ทำให้ AMD EPYC Server เหล่านี้รองรับการเพิ่มเติมส่วนประกอบต่างๆ หรือประสิทธิภาพในอนาคตได้อย่างง่ายดาย และรองรับ Application ที่เน้นด้านหน่วยความจำหรือ I/O เป็นหลักได้

2 Socket AMD EPYC Server: อัดทรัพยากรต่างๆ อย่างเต็มที่ใน Server เครื่องเดียว เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับกรณีที่ License ของ Software ไม่ใช่ประเด็นสำคัญต่อราคาของโครงการ AMD EPYC Server แบบ Dual Socket นั้นก็สามารถมีจำนวน Core ได้สูงถึง 64 Core และรองรับหน่วยความจำได้มากถึง 4TB รองรับงานประมวลผลประสิทธิภาพสูงและงานแบบ In-Memory Computing ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังประหยัดพื้นที่ติดตั้งบน Rack และการเชื่อมต่อเครือข่ายเป็นอย่างมากอีกด้วย

AMD EPYC Server กับความพร้อมสำหรับการใช้งานภายในธุรกิจองค์กร

เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วหลายๆ คนก็คงเริ่มเข้าใจภาพของเทคโนโลยี AMD EPYC กันมากขึ้น คราวนี้เรามาดูกันครับว่าปัจจุบัน AMD EPYC รองรับการใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีต่างๆ ในองค์กรได้อย่างไรบ้าง

  • รองรับการทำงานร่วมกับ Microsoft Windows Server, Linux (Red Hat, SUSE, Ubuntu), VMware โดย AMD EPYC ได้เข้าร่วมโครงการเพื่อผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการจากผู้ผลิตแต่ละรายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังผ่านการรองรับ VMware vSAN Ready Node ด้วย
  • AMD EPYC สามารถทำงานร่วมกับ Nutanix Acropolis ได้แล้ว โดยโซลูชันนี้เพิ่งถูกประกาศออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 ที่ผ่านมา ทำให้สามารถรองรับการทำ HCI ได้อีกทางหนึ่ง https://www.amd.com/system/files/documents/hyperconverged-solutions-that-are-simple.pdf
  • AMD EPYC ถูกนำไปให้บริการ Cloud ทั้งบน AWS, Microsoft Azure และ Oracle Cloud หลากหลายรุ่น ทำให้สามารถให้บริการ Instance ที่มี vCPU ขนาดใหญ่ และหน่วยความจำปริมาณมหาศาลได้ https://www.amd.com/en/processors/epyc-for-cloud
  • AMD EPYC รองรับการทำงานร่วมกับทั้ง Cloudera และ Hortonworks เพื่อใช้ภายในระบบ Big Data Analytics ได้เป็นอย่างดี ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นด้านปริมาณ Core การประมวลผลที่มีจำนวนมาก, การรองรับหน่วยความจำขนาดใหญ่ได้ และเชื่อมต่อ I/O ได้ด้วยประสิทธิภาพสูง https://www.amd.com/system/files/documents/epyc-cloudera-big-data-analytics.pdf, https://www.amd.com/system/files/documents/EPYC-Hortonworks.pdf
  • AMD EPYC สามารถทำงานร่วมกับ Docker ได้ และช่วยลด TCO ของระบบลงได้มากถึง 45% ด้วยพลังประมวลผลที่สูงและทรัพยากรปริมาณมหาศาล ทำให้การใช้งาน Container เป็นไปได้อย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น https://community.amd.com/community/amd-business/blog/2019/02/18/amd-epyc-makes-a-strong-case-for-containerized-apps

จะเห็นได้ว่าสำหรับระบบ IT และ Business Application สำหรับธุรกิจองค์กรนั้น AMD EPYC ก็ผ่านการทดสอบไปเป็นจำนวนมากแล้ว ส่วนสำหรับการใช้งานร่วมกับ SAP นั้นก็ต้องรอประกาศในอนาคตอีกไม่นานหลังจากนี้

ข้อแนะนำ: ขอราคาโซลูชันที่ใช้ AMD เอาไว้เป็นทางเลือก เพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมในแต่ละโครงการ

สำหรับธุรกิจองค์กรใดๆ ที่ต้องการจัดซื้อ Server เพื่อนำไปใช้งาน ก็สามารถลองพิจารณา AMD EPYC Server เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพิ่มเติมได้ด้วยการลองขอราคาจากผู้เสนอราคา ให้ออกแบบโซลูชัน AMD EPYC ที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับระบบ x86 Server ที่ต้องการใช้งาน และขอราคา License ของ Software ที่ต้องใช้สำหรับ AMD EPYC Server มาเปรียบเทียบกันได้ เพื่อจะได้เห็นภาพทั้งราคาของ Hardware และราคาของ Software มาเปรียบเทียบความคุ้มค่าในระยะยาว และเลือกทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุดต่อธุรกิจองค์กรได้

ซื้อ AMD EPYC Server ได้จากช่องทางใดบ้าง?

Credit: AMD

ปัจจุบันนี้ในประเทศไทยก็มีทีมงานของ AMD Thailand ที่คอยสนับสนุนด้านการขายและการให้บริการอยู่แล้ว และพันธมิตรของ AMD EPYC ในฝั่ง Server นั้นก็มีหลายรายในระดับโลก ส่วนที่มีการทำตลาดในไทยนั้นก็ได้แก่ HPE, Gigabyte และ Supermicro ซึ่งในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าอาจจะมีรายใหม่ๆ ที่เข้ามาทำตลาดเพิ่มเติมอีกอย่างต่อเนื่อง

ติดต่อ AMD Thailand

สำหรับผู้ที่สนใจในโซลูชันของ AMD EPYC สามารถติดต่อทีมงาน AMD Thailand ได้โดยตรงที่คุณ สิริพิมล โทร 099 624 5954 หรืออีเมล์ siripimon.r@amdthailand.com

About techtalkthai

ทีมงาน TechTalkThai เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสาย Enterprise IT ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Network, Security, Server, Storage, Operating System และ Virtualization มารวมตัวกันเพื่ออัพเดตข่าวสารทางด้าน Enterprise IT ให้แก่ชาว IT ในไทยโดยเฉพาะ

Check Also

ขอเชิญร่วมงาน TTT x JobPrompt Virtual Job Fair 2025: IT Industry Edition [15 พ.ค. 2025 – 13.15น.]

TechTalkThai และ JobPrompt ขอเรียนเชิญทุกท่านเข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์ฟรี Virtual Job Fair 2025: IT Industry Edition ในวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2025 เวลา 13.15น. - 16.00น. ภาษา: ไทย เพื่อรับชมการบรรยายแนวโน้มตลาดงานในอุตสาหกรรม IT ภาพรวม พร้อมเจาะลึกงานในแต่ละตำแหน่งจากธุรกิจชั้นนำในวงการ ครอบคลุมทั้งตำแหน่งงานทางด้าน AI, Software Development, IT Infrastructure, Data Science และ Cybersecurity

ความเสี่ยงด้านภาษีศุลกากรทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น แบรนด์คลาวด์ในประเทศ กลายเป็นทางเลือกใหม่ขององค์กรในการสร้างความแข็งแกร่ง [Guest Post]

นโยบายด้านภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกาที่เปลี่ยนแปลงบ่อยและคาดเดาได้ยาก กำลังสร้างแรงกดดันอย่างมหาศาลให้กับห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ผลกระทบดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในภาคการผลิตแบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจในประเทศไทยที่พึ่งพาแพลตฟอร์มคลาวด์ของสหรัฐฯ อย่างสูง ซึ่งอาจต้องเผชิญกับความท้าทายด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการจัดซื้อบริการคลาวด์ รวมถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่มากขึ้น ในสภาพแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนสูง การกระจายความเสี่ยงบนคลาวด์จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับองค์กรที่ต้องการคงเสถียรภาพในการดำเนินงาน