Microsoft Azure by Ingram Micro (Thailand)

เปิดตัว AIS 5G Fixed Wireless Access พร้อมให้บริการ 5G Business Network 77 จังหวัดทั่วไทย

AIS ได้ออกมาประกาศเปิดตัวบริการ 5G แรกสำหรับธุรกิจด้วยการเปิดตัว 5G Fixed Wireless Access (FWA) เพื่อใช้ในการให้บริการ Business Network รูปแบบต่างๆ เช่นบริการประเภท Corporate Internet และ MPLS ผ่านสัญญาณ 5G ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่า 4G พร้อมความสามารถใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ต่อการใช้งานในภาคธุรกิจองค์กรได้แล้ว ในบทความนี้เราจะแนะนำทั้งแนวคิดของ FWA, จุดเด่นของ 5G สำหรับธุรกิจองค์กร และบริการ AIS 5G FWA ไปพร้อมๆ กันครับ

รู้จักกับ Fixed Wireless Access (FWA) กันก่อน

อันที่จริงแล้ว Fixed Wireless Access หรือ FWA นี้ก็ไม่ใช่แนวคิดใหม่แต่อย่างใด โดยหากอธิบายอย่างย่นย่อแล้ว FWA นี้ก็คือการจ่ายสัญญาณ Internet ผ่านคลื่นไร้สายไปยังตัวรับสัญญาณ เพื่อให้ตัวรับสัญญาณนี้ทำการจ่ายสัญญาณต่อไปยังระบบเครือข่ายภายในอาคาร เรียกง่ายๆ ว่าจากเดิมที่เราเคยต้องเดินสายไปยัง Router เพื่อกระจายสัญญาณผ่าน LAN หรือ Wi-Fi ในบ้าน เราก็เปลี่ยนจากการเดินสายนั้น เป็นการเชื่อมต่อสัญญาณอย่าง 3G หรือ 4G นั่นเอง

ข้อดีของ FWA นี้ก็คือการที่ไม่ต้องเดินสายสัญญาณไปยังจุดติดตั้งตัวรับสัญญาณ ทำให้สามารถลดต้นทุนการเดินสายลงไปได้มาก และใช้เวลาในการติดตั้งรวดเร็ว รวมถึงยังสามารถใช้งานได้ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการเดินสายสัญญาณ แต่ก็มีข้อเสียคือสัญญาณ 3G หรือ 4G นั้นยังมีความรวดเร็วไม่สูงนักเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีแบบมีสาย และทั้งสองเทคโนโลยีนี้ต่างก็มุ่งเน้นการออกแบบมาเพื่อรองรับการเชื่อมต่อสำหรับอุปกรณ์ Endpoint อย่างเช่น Smartphone, Tablet หรืออื่นๆ เป็นหลัก ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้ FWA อย่างเต็มตัว

อย่างไรก็ดี การมาของ 5G ก็ทำให้ FWA กลับกลายมาเป็นแนวคิดที่น่าสนใจอีกครั้งหนึ่ง ด้วยคุณสมบัติของ 5G ที่จะมาเติมเต็มสิ่งที่ยังคงขาดไปใน 4G ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความสามารถ

5G เหนือกว่า 4G อย่างไร? ทำไมถึงนำมาใช้ทำ Business Network ได้

5G นี้ถือเป็นการพัฒนาต่อจาก 4G อย่างก้าวกระโดด และมีความสามารถใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมามากมาย แต่สำหรับการประยุกต์นำ 5G มาใช้ในการทำ FWA นั้น จุดเด่นที่เกี่ยวข้องซึ่งควรจะทำความรู้จักกันเอาไว้จะมีดังต่อไปนี้

1. คุณสมบัติที่รองรับงานได้หลากหลายยิ่งขึ้น

ใน 5G ได้มีการเพิ่มคุณสมบัติที่โดดเด่น 3 ประการ ได้แก่

  • eMBB (Enhanced Mobile Broadband) มีความเร็วที่สูงยิ่งขึ้น โดยในเชิงทฤษฎีนั้น 5G จะมีความเร็วที่สูงกว่า 4G ได้ถึง 20 เท่า ทำให้สามารถรองรับ Application ที่ต้องการ Bandwidth สูงได้เป็นอย่างดี
  • mMTC (Massive Machine Type Communications) สามารถรองรับอุปกรณ์ได้มากขึ้น โดยในเชิงทฤษฎีนั้น 5G จะรองรับอุปกรณ์ที่มาเชื่อมต่อได้มากกว่า 4G ถึง 10 เท่า หรือประมาณ 1 ล้านอุปกรณ์ต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ตอบโจทย์การนำไปใช้รองรับอุปกรณ์ IoT ใน Smart City หรือ Smart Manufacturing ได้อย่างเหมาะสม
  • URLLC (UltraReliable & Low Latency Commumications) สามารถลด Latency ของการรับส่งข้อมูลลงได้ โดยในเชิงทฤษฎีนั้น 5G จะมี Latency ที่ต่ำกว่า 4G ได้ถึง 30 เท่า ลดจาก 30ms เหลือเพียงต่ำกว่า 1ms รองรับ Application ที่มีความละเอียดอ่อนต่อ Latency ได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี คุณสมบัติเหล่านี้ไม่สามารถเปิดใช้พร้อมกันทั้งหมดได้ และการเลือกใช้นั้นก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน ใน 5G จึงได้มีการนำเสนอเทคโนโลยีถัดมาก็คือ Network Slicing

2. การทำ Network Slicing เพื่อควบคุมคุณภาพของการให้บริการในระดับที่แตกต่างกันได้

แนวคิดของการทำ Network Slicing นั้นจะมีความคล้ายคลึงกับการทำ Quality-of-Service หรือ QoS ในระบบเครือข่ายของธุรกิจองค์กร โดยใน 5G การทำ Network Slicing นี้จะทำให้เราสามารถมีสัญญาณที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการใช้งานรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในพื้นที่เดียวกันได้ เช่น รองรับการใช้ eMBB สำหรับอุปกรณ์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ที่ต้องการเข้าถึง Content ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว, รองรับการใช้ mMTC สำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT Sensor และ URLLC สำหรับรองรับ Application เฉพาะทาง หรือกำหนดคุณสมบัติเองเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในรูปแบบที่เราต้องการได้

นอกจากนี้ Network Slicing ยังจะช่วยให้ในพื้นที่เดียวกัน มีการเชื่อมต่อสำหรับธุรกิจองค์กรด้วย Priority ที่สูงกว่าการใช้งานทั่วไป ทำให้ผู้ให้บริการสัญญาณ 5G สามารถแบ่งระดับการให้บริการสำหรับผู้ใช้งานเชิงธุรกิจออกจากการใช้งานทั่วไปได้ ต่างจาก 4G ที่สัญญาณในพื้นที่เดียวกันนั้นทุกคนได้ระดับความสำคัญที่เท่ากันหมด และไม่สามารถรับประกันการใช้งานให้กับผู้ใช้งานเชิงธุรกิจได้

3. การใช้ย่านความถี่ 3 ระดับ ตอบโจทย์ความต้องการได้ตรงวัตถุประสงค์

ภายใน 5G จะมีการแบ่งย่านความถี่ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  • Low Band ย่านความถี่ต่ำ มีคุณสมบัติคือมีพื้นที่ครอบคลุมที่กว้าง แต่รองรับผู้ใช้งานได้จำนวนไม่มาก เหมาะสำหรับพื้นที่กว้าง
  • Mid Band ย่านความถี่ปานกลาง มีคุณสมบัติคือครอบคลุมพื้นที่น้อยกว่า Low Band แต่รองรับผู้ใช้งานได้มากขึ้น เหมาะสำหรับการใช้งานภายในเมือง
  • High Band ย่านความถี่สูง มีคุณสมบัติคือมีพื้นที่ครอบคลุมน้อยที่สุด แต่รองรับผู้ใช้งานได้จำนวนมากที่สุด เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูง

ทั้ง 3 จุดเด่นนี้สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับงานได้ เรียกได้ว่า 5G นั้นมีความยืดหยุ่นที่เหนือกว่า 4G เป็นอย่างมากเลยนั่นเอง

AIS 5G: รายแรกและเบอร์หนึ่งของไทยสำหรับ 5G ด้วยย่านความถี่ที่มากที่สุด, ครบถ้วนเต็มประสิทธิภาพ และครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วไทย

สำหรับ AIS นั้นได้ออกมาประกาศตัวว่าเป็นผู้ให้บริการ 5G อันดับหนึ่งและรายแรกสำหรับภาคธุรกิจ ด้วยการมีย่านความถี่มากที่สุด และมีความครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย พร้อมให้เปิดใช้งานได้แล้วทุกวันนี้

หากใครติดตามข่าวการประมูลคลื่นสัญญาณเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่า AIS นั้นประมูลคลื่นมาได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ ในไทย โดยอาศัยหลักการในการประมูลตาม Best Practice ของ 3GPP ให้มีความถี่ในแต่ละช่วงเพียงพอที่จะนำมารวมกันเพื่อทำ Super Block Spectrum Bandwidth ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ ด้วยย่านความถี่ Low Band 30MHz, Mid Band 100MHz และ High Band 1200MHz ดังนั้นไม่ว่าจะในกรณีการใช้งานใด AIS 5G ก็จะรองรับการใช้งานด้วยประสิทธิภาพสูงสุดได้อยู่เสมอ

เปิดตัวบริการ 5G แรกสำหรับภาคธุรกิจ AIS 5G FWA เติมเต็มตลาด SD-WAN, MPLS, Corporate Internet, Wi-Fi และ Broadband

AIS 5G FWA ถือเป็นบริการ 5G แรกสำหรับภาคธุรกิจ โดยจากแนวโน้มในอนาคตที่มีการทำนายว่าภายในปี 2026 ตลาด FWA ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 26,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐหรือราวๆ 780,000 ล้านบาท จากการที่ FWA นั้นจะเข้ามาทดแทนบางส่วนของการเชื่อมต่อ Internet แบบเดิมด้วยความคุ้มค่าในการลงทุนที่สูงขึ้น และเติมเต็มในกรณีการใช้งานที่เทคโนโลยีแบบเดิมนั้นไม่ตอบโจทย์ ทำให้ผู้ให้บริการโครงข่ายหลายรายเลือกที่จะนำ 5G มาให้บริการ FWA เป็นบริการแรกสำหรับภาคธุรกิจ และ AIS ก็จะไม่ตกรถไฟขบวนนี้อย่างแน่นอน

ในมุมของ AIS นั้น บริการ 5G FWA จะกลายมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของภาคธุรกิจในการเลือกใช้งานระบบ Business Network ในแง่มุมต่างๆ โดยความเร็วที่สูงขึ้นของ 5G นี้ก็สามารถตอบโจทย์การใช้งานในภาคธุรกิจได้อย่างเพียงพอ, การทำ Network Slicing ก็จะมาตอบโจทย์การรับประกันคุณภาพของสัญญาณที่เชื่อมต่อและใช้งาน ในขณะที่ย่านความถี่แต่ละแบบก็จะทำให้ภาคธุรกิจมีความครอบคลุมของสัญญาณและความเร็วในการใช้งานให้เลือกแตกต่างกันออกไป โดยตลาดของ 5G FWA จะแบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลักๆ สำหรับธุรกิจองค์กร ดังนี้

  • 5G SDWAN สามารถทำ SD-WAN โดยมี 5G เป็นอีกหนึ่งช่องทางการเชื่อมต่อเครือข่าย พร้อมความสามารถในการทำ Load Balancing, QoS และ VPN ที่ดีขึ้น
  • 5G MPLS สามารถสร้าง Private Network ผ่าน 5G เพื่อทดแทน MPLS ได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
  • 5G Corporate Internet เป็นอีกทางเลือกของ Corporate Network ที่สามารถรับประกัน Bandwidth และ Quality ได้
  • 5G WiFi นำสัญญาณ 5G ไปกระจาย Wi-Fi ต่อในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้การให้บริการ Wi-Fi แก่ผู้ใช้งานมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
  • 5G Broadband นำ 5G ไปให้บริการ Broadband ได้ในราคาที่คุ้มค่า

จุดเด่นของบริการเหล่านี้ คือความรวดเร็วในการติดตั้งใช้งานที่สูงมากจากความง่ายดาย เพียงแค่นำอุปกรณ์ไปวางในจุดติดตั้งก็พร้อมใช้งานได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องมีการเดินสาย ซึ่งจุดนี้เองก็ทำให้ในหลายๆ พื้นที่ การใช้ 5G FWA นี้มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าทางเลือกอื่นๆ มาก และเป็นทางเลือกที่มีความคุ้มค่าสูงสุด

ในการทดสอบการใช้งานจริงของ AIS 5G บนคลื่นความถี่ย่าน Mid Band (2600 MHz) นั้นพบว่าความเร็วเฉลี่ยของการใช้งาน 5G Corporate Internet นั้นจะอยู่ที่ 73-420Mbps, ความเร็วเฉลี่ยในการใช้งาน Broadband Internet นั้นอยู่ที่ 337-510Mbps และความเร็วเฉลี่ยในการใช้งาน 5G MPLs นั้นอยู่ที่ 200-585Mbps สำหรับการ Download และ 75-76Mbps สำหรับการ Upload นอกจากนี้ทาง AIS กำลังทำการทดสอบการใช้งานจริงบนคลื่นความถี่ย่าน High Band (26 GHz) ซึ่งจะสามารถทำความเร็วได้สูงกว่านี้อีกมาก ถึงแม้หลายกรณีความเร็วของ 5G นั้นจะเพียงพอต่อการใช้งาน แต่สำหรับธุรกิจที่ต้องการ Bandwidth ที่สูงยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ก็อาจต้องเลือกใช้บริการ เชื่อมต่อแบบมีสายของ AIS Business Network

ในแง่ของความมั่นคงปลอดภัย ทาง AIS ระบุว่าไม่ต้องกังวลเรื่องการดักฟังข้อมูล เพราะด้วยมาตรฐานของ 5G ที่มีการเข้ารหัสที่ซับซ้อนโดยมีการปรับปรุงจากมาตรฐาน 3G หรือ 4G การดักฟังข้อมูลถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมาก และในไทยก็ยังไม่เคยเกิดกรณีที่มีผู้ดักขโมยข้อมูลผ่านคลื่นสัญญาณเหล่านี้ได้สำเร็จมาก่อน

บริการ AIS 5G FWA นี้จะเปิดตัวภายในเดือนมิถุนายน 2020 ดังนั้นผู้ที่สนใจก็สามารถติดตามข่าวสารและแผนราคาจากทาง AIS ได้โดยตรงครับ

เมื่อไหร่ถึงควรเลือกใช้ AIS 5G FWA?

สำหรับกรณีที่การใช้ AIS 5G FWA จะมีความคุ้มค่าสูงสุดนั้น ได้แก่

  • การเชื่อมสัญญาณ Internet สำหรับธุรกิจไปยังพื้นที่ที่ยากต่อการเดินสาย เช่น พื้นที่ห่างไกลตัวเมือง, อาคารพาณิชย์บางแห่งที่มีข้อจำกัด หรืออื่นๆ
  • ธุรกิจที่มีสาขากระจายอยู่หลายแห่งซึ่งต้องการความคล่องตัวในการติดตั้งสัญญาณ Internet
  • ธุรกิจที่ต้องการสัญญาณสำรองสำหรับเชื่อมต่อเครือข่าย

ทั้งนี้ถ้าหากภาคธุรกิจมีความต้องการที่จะใช้ Internet สำหรับธุรกิจ การขอราคาหลายๆ ทางเลือกทั้งแบบมีสายและ 5G ที่เป็นแบบไร้สายนี้มาเปรียบเทียบกันก็จะทำให้มองเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นในการลงทุน และเลือกในสิ่งที่เหมาะสมต่อธุรกิจที่สุดได้

สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลและสมัครใช้บริการต่างๆ กับทาง AIS Business ได้ทันที

สำหรับธุรกิจองค์กรที่สนใจสมัครใช้บริการ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ AIS Business ที่ดูแลองค์กรของท่าน หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ AIS Business ได้ที่ https://business.ais.co.th/5g/ หรือติดต่อ AIS CORPORATE CALL CENTER 1149

About nattakon

จบการศึกษา ปริญญาตรีและโท สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ KMITL เคยทำงานด้าน Engineer/Presale ดูแลผลิตภัณฑ์ด้าน Network Security และ Public Cloud ในประเทศ ปัจจุบันเป็นนักเขียน Full-time ที่ TechTalkThai

Check Also

ผสาน Automation และ Intelligence เข้าไปยังความสามารถของงานด้านการผลิต โดย Infor

การนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้งานในธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และแต่ละอุตสาหกรรมก็มีความท้าทายเฉพาะตัวที่ต้องเผชิญหน้า ในอุตสาหกรรมการผลิตเองก็เช่นกันที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความต้องการของลูกค้า Supply Chain และอื่นๆ 

Cisco ปิดดีลเข้าซื้อ Splunk มูลค่า 1 ล้านล้านบาท

หลังจากผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจนได้รับอนุมัติเรียบร้อย ล่าสุดทาง Cisco ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการของ Splunk ที่มูลค่า 28,000 ล้านเหรียญหรือราวๆ 1 ล้านล้านบาทอย่างเป็นทางการแล้ว